[คลิป] 10 ปี สื่อทางเลือก: ทบทวนเพื่อก้าวต่อ

คลิปจากการเสวนา '10 ปี สื่อทางเลือก: ทบทวนเพื่อก้าวต่อ' อภิปรายโดย สุชาดา จักรพิสุทธิ์, สฤณี อาชวานันทกุล, รอมฎอน ปันจอร์, สุชัย เจริญมุขยนันท และธีรมล บัวงาม ดำเนินรายการโดย พิณผกา งามสม

25 ม.ค. 2558 - คลิปจากการเสวนา '10 ปี สื่อทางเลือก: ทบทวนเพื่อก้าวต่อ' จัดที่โรงแรมเอทัส ลุมพินี ดำเนินรายการโดย พิณผกา งามสม บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท โดยผู้อภิปรายเป็นบุคคลในวงการสื่อทางเลือก ประกอบด้วย สุชาดา จักรพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) สฤณี อาชวานันทกุล ผู้เขียนบล็อก "คนชายขอบ" ผู้ร่วมก่อตั้งและคณะบรรณาธิการสำนักข่าวไทยพับลิก้า รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) สุชัย เจริญมุขยนันท เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี และ ธีรมล บัวงาม บรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม

สำหรับการเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของเวที "10 ปี สื่อทางเลือก ทบทวนและท้าทาย" จัดโดย มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน โครงการศูนย์การเรียนรู้สื่อ และเว็บไซต์ประชาไท

000

สุชาดา จักรพิสุทธิ์

ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ)

อนาคตของสื่อทางเลือก มองว่า จะมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น โดยสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นพร้อมความตายของสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะสื่อกระดาษ นอกจากนี้ยังพบความพยายามของสื่อทางเลือกที่จะจัดตั้งตัวเองมากขึ้น เข้าถึงคนและทุนมากขึ้น พยายามตั้งตัวเป็นสถาบันเช่นเดียวกับสื่อในระบบทุน เห็นได้จากความพยายามสร้างองค์ความรู้ ถอดบทเรียน สร้างงานวิจัย เพื่อยกระดับสื่อทางเลือกไปด้วยกัน ไม่ว่าจะถูกเรียกว่าอะไรก็ตาม

000

สฤณี อาชวานันทกุล

ผู้ร่วมก่อตั้งและคณะบรรณาธิการสำนักข่าวไทยพับลิก้า

ไทยพับลิก้า ซึ่งเกิดจากความพยายามเพิ่มข่าวที่ตัวเองชอบอ่านและเห็นว่าควรมี โดยเฉพาะข่าวสืบสวนสอบสวนเชิงเศรษฐกิจ จึงชวนนักข่าวจากประชาชาติธุรกิจมาร่วมงานด้วย โดยเน้นประเด็นสืบสวนสอบสวน คอร์รัปชันโดยรัฐ โดยเอกชน ความโปร่งใสและความยั่งยืน พบความท้าทายในการทำงานเมื่อนักข่าวค่ายใหญ่โดดมาทำสื่อเอง ซึ่งต้องทำเองทั้งการระดมทุน กราฟิก ตรวจปรู๊ฟ

อีกความท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้คนทำงานในทีม ซึ่งประกอบด้วยคนที่มีอาวุโสในวงการสื่อที่เจนสนามและการจับประเด็น กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีความคุ้นเคยกับโซเชียลมีเดีย มาทำงานด้วยกัน โดยใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่ายและช่วยกันยกระดับคนทั้งทีม นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสำคัญคือ เรื่องที่เมื่อนักข่าวเริ่มมีแหล่งข่าวที่ไว้ใจ จึงท้าทายที่นักข่าวจะรักษาความไว้วางใจของแหล่งข่าว โดยไม่เลยเส้นจนเป็นความสนิทสนมและกระทบการรายงานข่าว ต้องหาเส้นแบ่งให้ดี แนวนโยบายของกอง บ.ก. จึงเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่การกำกับดูแลกันเองก็มองว่าทำไม่ได้จริง เพราะบางสื่อ เมื่อไม่สบายใจกับการสอบสวน ก็แค่ลาออก จึงเสนอว่าอาจต้องเป็นการกำกับดูแลร่วมหรือไม่

การทำงานของสื่อทางเลือกหลายประเด็นท้าทายไม่ต่างจากสื่อกระแสหลัก เพราะสื่อก็อยากสร้างผลกระทบ เข้าถึงคนอ่าน อย่างไรก็ตามสื่อกระแสหลักยังเข้าถึงคนหมู่มากได้อยู่ ทำอย่างไรให้สื่อกระแสหลักหยิบไปใช้

000

รอมฎอน ปันจอร์

บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)  

แนวคิดการสร้างสื่อทางเลือกในภาคใต้ เป็นการต่อสู้กันระหว่างไอเดีย "กระบอกเสียง" กับ "พื้นที่กลางในการสื่อสาร" ท่ามกลางความขัดแย้ง สื่อทางเลือกเกิดเพราะอึดอัดใจกับสื่อหลัก สะท้อนเสียงออกมาผ่านข่าว บทความ จึงเลือกประเด็นที่ชาวบ้านถูกกระทำ ไม่เป็นข่าวในสื่อกระแสหลักมานำเสนออย่างต่อเนื่อง จึงไม่แปลกที่จะถูกรัฐมองว่าหมิ่นเหม่เข้าข้าง "โจรใต้" ขณะที่อีกฝั่งคิดว่า ต้องนำเสนอพร้อมคำอธิบายแบบอื่น ทำให้ความจริงมีหลายชุดในพื้นที่เดียวกัน

ตอนนี้ ภาคใต้ตกตะกอน เลิกใช้ "สื่อทางเลือก" โดยเลือกใช้ "สื่อสันติภาพ" เพราะมองว่า เมื่อสื่อสาร ฟังเสียงต่างมากขึ้น สู้กันด้วยความคิด ข้อเท็จจริง เหตุผลหรือความจำเป็นในการใช้กำลังจะน้อยลง

เวลาพูดถึงการเปลี่ยแปลงเชิงนโยบาย มักเสนอต่อผู้กำหนดนโยบาย แต่ในภาคใต้ เวลาเสนอจะเสนอฝ่ายเดียวไม่ได้แล้ว ต้องเสนอต่อคู่ขัดแย้งหลักด้วย เช่น หากเสนอลดการใช้กำลังต้องเสนอต่อสองฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายที่อยู่ในเงามืด

000

สุชัย เจริญมุขยนันท

เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี

แม้จะมีโซเชียลมีเดีย แต่อินเทอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึงชนบท ขณะที่ทีวีดิจิทัลชุมชน ซึ่งเดิมตามโรดแมปของ กสทช. ตามกำหนดธันวาคม ปีที่ผ่านมาต้องเกิดแล้ว ตอนนี้ก็ยังไม่ปรากฏ ทราบมาว่านายทุนได้คลื่นดิจิทัลไปหมดแล้ว คงต้องรอให้ช่องอนาล็อกหยุดออกอากาศ จึงจะนำคลื่นมาใช้ได้ ก็คงต้องรออีกปี สองปี นอกจากนี้ ในยุคที่มีความพยายามครอบงำการสื่อสาร ก็ไม่แน่ใจว่า ในอนาคตทีวีดิจิทัลชุมชนยังจะมีอยู่ไหม

000

ธีรมล บัวงาม

บรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม

ความท้าทายสำคัญคือ เดิมที่สื่อทางเลือกเป็นเหมือนการนำเสนอด้านเดียว พูดบอกว่าไม่ต้องสนใจความเป็นกลาง สนใจแต่ความเป็นธรรม สร้างการถ่วงดุลข้อมูล ช่วงนึงอาจจะโอเค แต่พอสังคมหลากหลายขึ้น ทุกคนทำแบบนั้นไม่ได้ ไม่ใช่เขาเป็นกรด เราเป็นด่าง มันมีเบกกิ้งโซดา เราจะสร้างตัวนี้ได้อย่างไร โยงกับประเด็นใหญ่ คือ จะทำข่าวสารข้ามเครือข่ายได้หรือไม่ ไม่ใช่ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน และกดไลค์ในเฟซบุ๊ก เพราะแรงกระเพือมในเรื่องนั้นมันไม่พอ จะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายเข้ามาพูดคุยกันได้ ต้องอดทน เมื่อพยายามสร้างดีเบต ท้าทายเรื่องใหม่ๆ ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ส่วนเรื่องนักข่าวเชิงข้อมูล หรือ data journalism นั้นจะทำอย่างไรให้การสื่อสารยุคปัจจุบัน ที่มีการสื่อสารเต็มไปหมด ทำให้เกิดการเชื่อมโยงของข้อมูลที่คนทำงานต้องคิดมากขึ้น

ในยุคสื่อหลอมรวม ขณะนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพยายามผลักดันกฎหมายที่มีมิติเรื่องความมั่นคง ต้องต่อสู้ว่าจะทำให้โปร่งใสได้อย่างไร จะสร้างสมดุลระหว่างฝ่ายรัฐกับประชาชนได้อย่างไร เพื่อรักษาพื้นที่ในการสื่อสารในอนาคต จะต้องผลักดันและมอนิเตอร์อย่างมาก 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท