Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

ลอนดอน – เป็นเวลาหลายศตวรรษที่เราถูกกรอกหูว่าคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าไม่ต่างอะไรกับสัตว์ที่เห็นแก่ตัว เอาแต่ต่อสู้แย่งชิงชิ้นเนื้อของตน ตามระบบศีลธรรมเพียงรูปแบบเดียวที่มี ไม่ต่างอะไรกับฝูงหมาป่า ขณะเดียวกัน ก็กล่าวกันว่า มีเพียงศาสนาเท่านั้นที่สามารถยกระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ให้สูงขึ้นกว่าเดิมได้ ทุกวันนี้ เมื่อศาสนากลับกลายเป็นต้นตอของความรุนแรงที่อันตรายยิ่งทั่วโลก ความเชื่อมั่นที่ว่ามีแต่ชาวคริสต์ ชาวมุสลิม หรือชาวฮินดูหัวรุนแรงเท่านั้นที่ตีความสารทางจิตวิญญาณอันสูงศักดิ์ตามความเชื่อของตนไปในทางที่ผิด นับวันก็ยิ่งกลายเป็นเพียงความลวง จะเป็นอย่างไร หากเรากอบกู้เกียรติภูมิของการไม่เชื่อในพระเจ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในมรดกที่ยิ่งใหญ่ของยุโรป และอาจเป็นโอกาสเดียวที่จะนำทางเราสู่สันติภาพกลับคืนมา  

ย้อนไปกว่าหนึ่งศตวรรษ ในนวนิยายเรื่อง “The Brothers Karamazov” และผลงานอื่น ๆ อีกหลายชิ้น ดอสโตเยฟสกี[3] ได้เตือนเราถึงอันตรายของสุญนิยมทางศีลธรรมที่ไร้พระเจ้า เขาโต้แย้งว่า หากพระเจ้าไม่มีอยู่จริง ทุกสิ่งย่อมได้รับอนุญาต อ็องเดร กลุกสฺมันน์[4] นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ยังเคยปรับใช้ข้อวิจารณ์ของดอสโตเยฟสกีเกี่ยวกับสุญนิยมที่ไร้พระเจ้าเพื่ออธิบายเหตุการณ์ 9/11 ดังเห็นได้จากหนังสือของเขาที่ใช้ชื่อว่า “Dostoyevsky in Manhattan”

ข้อโต้แย้งข้างต้นไม่จริงเลยแม้แต่น้อย สิ่งที่เราเรียนรู้จากการก่อการร้ายในทุกวันนี้ก็คือ หากพระเจ้ามีอยู่จริง ทุกสิ่งซึ่งรวมถึงการวางระเบิดสังหารไทยมุงผู้บริสุทธิ์เป็นพันคน ย่อมได้รับอนุญาตให้กระทำได้ อย่างน้อยที่สุดก็สำหรับผู้ที่อ้างว่าตนกระทำการในนามของพระผู้เป็นเจ้า เพราะเห็นได้ชัดว่าความเชื่อมโยงโดยตรงต่อพระเจ้านี่เองที่ให้ความชอบธรรมกับการละเมิดมนุษยธรรมและขีดจำกัดของการเป็นมนุษย์ กล่าวโดยย่อ กลุ่มหัวรุนแรงทั้งหลายไม่ได้ต่างอะไรกับพวกคอมมิวนิสต์สายสตาลินที่ “ไม่เชื่อในพระเจ้า” สำหรับคนเหล่านี้แล้ว ทุกสิ่งล้วนได้รับอนุญาตเนื่องเพราะพวกเขามองว่าตนเองเป็นเครื่องมือของพระผู้เป็นเจ้า หรือเป็นเครื่องมือของความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ในการมุ่งหน้าสู่สังคมคอมมิวนิสต์

กลุ่มหัวรุนแรงทำในสิ่งที่ตนเองคิดว่าเป็นการกระทำที่ดีเพื่อเติมเต็มพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและเพื่อให้ได้รับการไถ่บาป ขณะที่คนที่ไม่เชื่อในพระเจ้าทำสิ่งต่าง ๆ เพียงเพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ใช่หรือไม่ว่า นี้เองที่เป็นประสบการณ์ทางศีลธรรมขั้นพื้นฐานที่สุดสำหรับเรา เมื่อผมทำสิ่งที่ดี ผมไม่ได้ทำไปด้วยความหวังให้พระผู้เป็นเจ้าพอใจ ผมทำเพราะหากผมไม่ทำแบบนั้น ผมคงไม่กล้ามองตัวเองในกระจก โดยนิยามแล้ว การกระทำทางศีลธรรมคือสิ่งที่ให้ผลตอบแทนในตัวเอง เดวิด ฮิวม์[5] กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้อย่างแหลมคมเมื่อเขาเขียนว่า หนทางเดียวในการแสดงความเคารพต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง คือการกระทำตามครรลองศีลธรรมในยามที่เราไม่สนใจการมีอยู่ของพระองค์

สองปีก่อน ชาวยุโรปกำลังถกเถียงกันอยู่ว่า อารัมภบทของธรรมนูญยุโรปควรระบุคำว่า “คริสต์ศาสนา” ลงไปด้วยหรือไม่ เช่นทุกครั้ง ผลของการโต้เถียงลงเอยด้วยการประนีประนอม ด้วยการระบุไว้กว้าง ๆ ถึง “มรดกทางศาสนา” ของทวีปยุโรป ทว่าแล้วมรดกที่ล้ำค่าที่สุดของยุโรปสมัยใหม่อย่างอเทวนิยมล่ะ สิ่งที่ทำให้ยุโรปสมัยใหม่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่ตรงที่ว่า อารยธรรมยุโรปเป็นอารยธรรมแรกและอารยธรรมเดียวที่อเทวนิยมเป็นทางเลือกที่ชอบธรรมอย่างเต็มที่ มิได้เป็นอุปสรรคต่อหน้าที่สาธารณะแต่ประการใด

อเทวนิยมคือมรดกของยุโรปที่ควรค่าแก่การต่อสู้เพื่อให้ได้มา เหตุผลสำคัญประการหนึ่งเพราะอเทวนิยมสร้างพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยให้กับผู้ที่เชื่อ ลองพิจารณาถึงข้อถกเถียงที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในลูบเยียนา เมืองหลวงของสโลเวเนีย บ้านเกิดของผม เกี่ยวกับกฎเกณฑ์พื้นฐานที่ว่าเราควรอนุญาตให้ชาวมุสลิม (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานย้ายถิ่นจากอดีตรัฐยูโกสลาเวีย) สร้างมัสยิดหรือไม่ ในขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมต่อต้านการสร้างมัสยิดด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรม การเมือง รวมถึงสถาปัตยกรรม นิตยสาร Mladina นิตยสารรายสัปดาห์หัวเสรีนิยมได้แสดงจุดยืนสนับสนุนการสร้างมัสยิดอย่างสม่ำเสมอ สอดคล้องกับความกังวลที่พวกเขามีต่อสิทธิของผู้ที่อพยพมาจากอดีตรัฐยูโกสลาเวีย

ไม่น่าแปลกใจที่นิตยสาร Mladina ซึ่งมีทัศนคติแบบเสรีนิยม ยังเป็นหนึ่งในสิ่งพิมพ์ไม่กี่ฉบับในสโลเวเนียที่นำภาพล้อเลียนนบีมุฮัมหมัดมาตีพิมพ์ซ้ำ และในทางกลับกัน ผู้ที่แสดง “ความเข้าอกเข้าใจ” อย่างลึกซึ้งต่อการประท้วงต่อต้านการ์ตูนล้อเลียนดังกล่าวอย่างรุนแรงโดยชาวมุสลิม ก็คือผู้ที่ปกติแล้วแสดงความวิตกกังวลต่อชะตากรรมของคริสต์ศาสนาในยุโรปด้วยนั่นเอง

พันธมิตรอันแปลกประหลาดเหล่านี้ประจันหน้ากับชาวมุสลิมในยุโรปด้วยทางเลือกที่ยากลำบาก ด้านหนึ่ง พลังทางการเมืองเพียงฝ่ายเดียวที่ไม่ได้ลดทอนชาวมุสลิมให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง ทั้งยังอนุญาตให้พวกเขามีที่ทางในการแสดงออกอัตลักษณ์ทางศาสนาของตนเอง คือกลุ่มเสรีอเทวนิยมที่ “ไม่เชื่อในพระเจ้า” แต่อีกด้านหนึ่ง ฝ่ายที่มีวิถีปฏิบัติทางศาสนาใกล้เคียงกับชาวมุสลิมราวภาพสะท้อนบนกระจกอย่างชาวคริสต์ กลับเป็นศัตรูทางการเมืองที่สำคัญยิ่งสำหรับชาวมุสลิมเอง

สิ่งที่ย้อนแย้งก็คือ พันธมิตรที่แท้จริงเพียงฝ่ายเดียวสำหรับชาวมุสลิม ไม่ใช่ผู้ที่ตีพิมพ์การ์ตูนล้อเลียนในครั้งแรกเพื่อกระตุ้นความเกลียดชัง แต่เป็นผู้ที่ตีพิมพ์การ์ตูนดังกล่าวซ้ำอีกครั้ง ด้วยจุดยืนที่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ในขณะที่ผู้ที่ไม่เชื่อในพระเจ้าโดยแท้จริงไม่จำเป็นต้องสนับสนุนจุดยืนของตนเองด้วยการยั่วยุดูหมิ่นผู้ที่ศรัทธาในพระเจ้า พวกเขายังปฏิเสธการลดทอนปัญหาของการ์ตูนล้อเลียนนบีมุฮัมหมัด ให้กลายเป็นหนึ่งในวิธีการเคารพความเชื่อของผู้อื่นอีกด้วย การเคารพความเชื่อของผู้อื่นในฐานะคุณค่าอันสูงสุดมีความหมายเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าไม่ใช่การปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเกื้อกูลและหลีกเลี่ยงการทำร้ายคนเหล่านั้นเพื่อรักษาภาพลวงตาของพวกเขาไว้ให้ปลอดภัย ก็เป็นการปรับใช้จุดยืนอันสัมพัทธ์ว่าด้วย “ระบอบแห่งความจริง” ที่หลากหลาย ซึ่งไม่มีคุณสมบัติของการยัดเยียดว่าความยึดมั่นอันแจ่มชัดใด ๆ คือความจริงแท้ด้วยวิธีการที่รุนแรง

จะเป็นอย่างไร หากเราวิเคราะห์ศาสนาอิสลาม รวมถึงศาสนาอื่น ๆ ด้วยความเคารพ และแสดงความเคารพนั้นด้วยการวิเคราะห์อย่างวิพากษ์วิจารณ์และไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมไปพร้อม ๆ กัน มีแต่การปฏิบัติต่อชาวมุสลิมในฐานะผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบต่อความเชื่อของตนเท่านั้นที่เป็นวิธีการในการแสดงความเคารพต่อพวกเขาอย่างแท้จริง.




[1] แปลจาก Slavoj Zizek. “Atheism is a legacy worth fighting for” New York Times.

http://www.nytimes.com/2006/03/13/opinion/13iht-edzizek.html?_r=2&

[2] สลาวอย ชิเชค (Slavoj Žižek, 1949- ) นักปรัชญาชาวสโลเวเนีย

[3] ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoyevsky, 1821-1881) นักเขียนชาวรัสเซีย

[4] อ็องเดร กลุกสฺมันน์ (André Glucksmann, 1937- ) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส

[5] เดวิด ฮิวม์ (David Hume, 1711-1776) นักปรัชญาชาวสก็อต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net