Skip to main content
sharethis

ซุปเปอร์บอร์ด ผ่าบินไทย ลดพนง. 5 พันคน ปรับประสิทธิภาพและการตรวจสภาพรถไฟ กำหนดบทบาทให้ ขสมก. เป็นผู้ให้บริการเดินรถ ชงเข้าครม. เพิ่มเงินเดือน 35 รัฐวิสาหกิจ 6.5% ขณะที่3 ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเตรียมนำแผนฟื้นฟูเสนอบอร์ด

27 ม.ค.2558 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาค เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ดเมื่อวันที 26 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ที่ปะชุมได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูของบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) การรถแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)แล้ว ส่วนราละเอียดของแผนที่จะต้องใช้เงินงบประมาณจะต้องสรุปเพื่อเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป

ผ่าบินไทย ลดพนง. 5 พันคน

สำหรับของแผนฟื้นฟูการบินไทยมี 5 ประเด็นหลัก คือ

1. การปรับเส้นทางบิน

2. การปรับแผนการตลาด

3. การขายทรัพย์สินและอากาศยานที่ไม่ได้ใช้งาน

4. การปรับโครงสร้างอัตรากำลังลดจาก 2.5 หมื่นคน ให้เหลือ 2 หมื่นคน

5. การปรับปรุงและพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทย เช่น กิจการโรงแรม และกิจการขนส่งน้ำมัน เป็นต้น

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า การปรับเส้นทางบิน จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ เส้นทางบินที่ขาดทุนอย่างแน่นอนและขาดทุนอย่างต่อเนื่องจะให้หยุดบินไปก่อน และใช้เวลา 6 เดือน 12 เดือน และ 18 เดือน ในการพิจารณาที่จะกลับมาฟื้นฟูการบินอีกครั้ง ส่วนเส้นทางที่ขาดทุนแต่มีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้ก็ให้พิจารณาปรับลดจำนวนเที่ยวบินลงและให้ฟื้นฟูกลับมาภายใน 6 – 12 เดือน ส่วนเส้นทางที่พอมีกำไรให้พิจารณาในการพัฒนาและเพิ่มการบริการ โดยเน้นการเชื่อมต่อเส้นทางบินเพื่อมิให้ขาดช่วง โดยเฉพาะในส่วนของ 2 กลุ่มแรกที่มีการหยุดบินและลดจำนวนเที่ยวบินจะต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้ผู้โดยสารไม่ได้รับผลกระทบ

ส่วนการปรับแผนการตลาด จะเน้นการปรับกลยุทธ์ในการขายตั๋ว ให้เพิ่มสัดส่วนการขายตั๋วผ่านระบบออนไลน์และการจำหน่ายตั๋วเอง รวมทั้งการขยายเครือข่ายการขายตั๋วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้มากขึ้น

สำหรับ แผนการขายทรัพย์สินและอากาศยานที่ไม่ได้ใช้งาน เช่น ปลดระวางเครื่องบิน 22 ลำ เพราะมีการปรับลดและเลิกเส้นทางบินจึงต้องปรับลดจำนวนเครื่องบินให้เหมาะสมด้วย ดังนั้นเครื่องบินที่ไม่เหมาะสมหรือสิ้นเปลืองน้ำมันก็ต้องปลดระวางหรือดำเนินการขายทิ้ง เพื่อช่วยลดภาระด้านการซ่อมบำรุงและค่าจอดต่างๆ

ขณะที่การปรับโครงสร้างอัตรากำลัง  พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ยังไม่กำหนดช่วงเวลา ซึ่งจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนการเกษียณก่อนกำหนดและแผนสมัครใจลาออกด้วย ส่วนปรับปรุงพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทย จะต้องไปพิจารณารายละเอียดว่าส่วนใดจะโอนออกไปหรือขายอีกครั้ง

“การหยุดเลือดของการบินไทยได้ ต้องตัดในส่วนที่ทำให้ติดลบมากๆอออกไปก่อน เช่น เคยลงทุน 2 แสนล้านต่อปี อาจลดลงเหลือ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ส่วนแผนการรับมอบเครื่องบินใหม่และการชำระหนี้เครื่องบินนั้นก็ให้มีการเจรจาเพื่อขอยืดเวลาการรับมอบและการชำระหนี้ออกไป แต่ไม่ได้ยกเลิกแผนการสั่งซื้อเครื่องบิน” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

“เรื่องการขายสินทรัพย์ของการบินไทยมี 2 ส่วน คือ การขายเครื่องบินที่ไม่ได้ใช้งานกับการขายที่ดินหรืออาคารหากพิจารณาว่าไม่ได้มีการใช้งาน ส่วนรายละเอียดฝ่ายบริหารจะไปพิจารณาเพื่อนำข้อมูลเสนอ คนร.ในครั้งต่อไป”พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

ปรับประสิทธิภาพและการตรวจสภาพรถไฟ

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ในส่วนของแผนฟื้นฟู ร.ฟ.ท.นั้น คนร.เห็นชอบให้เพิ่มบริการที่มีอยู่ให้มีศักยภาพ เช่น ปรับปรุงประสิทธิภาพทางรถไฟ ปรับปรุงการให้บริการตรวจสภาพรถไฟ เพื่อให้บริการได้ตรงเวลาและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนปัญหาหนี้สินรวม 8.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกิดจากภาระดอกเบี้ยที่รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับ ร.ฟ.ท.ล่าช้า กรณีรถไฟฟรี หรือการไม่ได้ปรับขึ้นค่าโดยสารที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง รวมทั้งภาระจากเงินบำนาญของพนักงานนั้น ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร.ฟ.ท. และกระทรวงการคลังหารือถึงแนวทางให้ได้ข้อสรุปภายใน2 สัปดาห์ และรายงาน คนร.ต่อไป

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า สำหรับการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการทำงานตามภารกิจใหม่ เพราะต่อไปจะมีการเดินรถไฟทั้งระบบเดิมทางคู่ขนาด 1 เมตร และรางมาตรฐาน 1.435 เมตรนั้น ที่ประชุมมอบให้ ร.ฟ.ท.กลับไปศึกษาแนวทางการปรับลดสัดส่วนของพนักงานแต่ละกลุ่มให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับภารกิจใหม่ที่เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของผู้บริหาร วิศวกร ช่างเทคนิค และพนักงานทั่วไป จะมีการเสนอที่ประชุม คนร.ในครั้งหน้า โดยจะเสนอขอแก้ไขมติคณะรัฐมนตรี ปี 2541 ที่กำหนดให้ ร.ฟ.ท. รับพนักงานใหม่ได้ไม่เกิน 5% ของพนักงานที่เกษียนด้วย เพราะตามแผนฟื้นฟู ร.ฟ.ท.กำหนดให้รับพนักงานเพิ่มระหว่างปี 2558-2565 รวม 2,500 คน ซึ่งจะทำให้อัตรากำลังของ ร.ฟ.ท.ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 - 1.7หมื่นคน จากปัจจุบันมี 1.4 หมื่นคน

กำหนดบทบาทให้ ขสมก. เป็นผู้ให้บริการเดินรถ

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ส่วนแผนฟื้นฟู ขสมก. เห็นชอบให้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและผู้บริหารให้สอดคล้องกับการทำงานและการกิจ โดยกำหนดบทบาทให้ ขสมก. เป็นผู้ให้บริการเดินรถ ดังนั้นงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลจะโอนให้กรมการขนส่งทางบก(ขบ.)เข้ามารับผิดชอบแทน แต่ในเรื่องของสัดส่วนการเดินรถและเส้นทางเดินรถต่างๆจะให้สิทธิกับ ขสมก.มากกว่ารถร่วมบริการ ซึ่งรายละเอียดจะต้องไปหารือร่วมกันอีกครั้ง ส่วนที่หนี้สินสะสม 92,000 ล้านบาทนั้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือร่วมกันว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ก่อนที่จะเสนอ คนร.ต่อไป

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะเริ่มใช้มาตรการดังกล่าวได้ทันที ซึ่งเป็นไปตามอำนาจของฝ่ายบริหารและบอร์ดการบินไทย ส่วนการปรับลดหรือยกเลิกเส้นทางบินหรือการขายตั๋วนั้นฝ่ายบริหารสามารถดำเนินการได้ทันที แต่แผนที่จะต้องมีการใช้งบประมาณจะต้องเสนอขออนุมัติจาก ครม. เช่น การปรับลดบุคลากร ต้องเสนอ ครม.ก่อน

ชงเข้าครม. เพิ่มเงินเดือนรัฐวิสาหกิจ 6.5%

วันเดียวกันที่ประชุมซูเปอร์บอร์ดมีมติเห็นชอบในหลักการให้ปรับปรุงอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ จำนวน 35 แห่ง ที่ใช้บัญชีเงินเดือนค่าจ้าง 58 ขั้น ตามประกาศคณะกรรม การรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน

โดย กุลิศ สมบัติศิริ ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า โดยให้ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยขั้นละ 6.5 เปอร์เซ็นต์ คือจากขั้นต่ำสุดที่เดือนละ 5,780 บาท เป็น 9,040 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมทั้งเป็น การสร้างแรงจูงใจในการทำงานของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ส่วนกรณีรัฐวิสาหกิจจะขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นสูงขึ้นไปสูงกว่าที่ใช้ บังคับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันเงินเดือนขั้นสูงสุดอยู่ที่เดือนละ 113,520 บาท หากปรับขึ้นอีก 6.5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 142,830 บาท แล้วเกินวงเงินจากเพดานขั้นสูงที่กำหนดไว้ รัฐวิสาหกิจต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และครม.เป็นรายกรณีไป

กุลิศ กล่าวต่อว่า การขยายเพดานค่าจ้างขั้นสูงต้องสอดคล้องกับขนาด ภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบของรัฐวิสาหกิจที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม รวมทั้งความสามารถในการรองรับภาระค่าใช้จ่ายบุคลากรที่เพิ่มขึ้นของรัฐ วิสาหกิจด้วย ไม่ใช่ปรับขึ้นตามอำเภอใจ ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่เหลือ ที่ไม่ได้ใช้บัญชีเงินเดือนของกระทรวงแรงงาน กำหนดให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจ เบื้องต้นคาดเตรียมนำเข้าครม. เพื่อพิจารณาในสัปดาห์หน้า

3 ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจเตรียมนำแผนฟื้นฟูเสนอบอร์ด

วันนี้(27 ม.ค.) หลังจากซุปเปอร์บอร์ดผ่านความเห็นชอบให้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูของรัฐวิสาหกิจทั้ง 3 แห่งที่อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ประเสริฐ อัตตะนันทน์ รักษาการผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ (27 ม.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมการ รฟท. ฝ่ายบริหารจะรายงานข้อมูลเบื้องต้นให้คณะกรรมการทราบถึงการผ่านความเห็นชอบของ คนร. และประเด็นที่ต้องทำตามแผนฟื้นฟูภาพรวมทั้งหมดฝ่ายบริหารได้นำเสนอข้อมูลถึงความจำเป็นต้องฟื้นฟูเร่งด่วนหลังจากนี้ ส่วนรายละเอียดและความเห็นที่ คนร.ตั้งข้อสังเกต ทางฝ่ายบริหาร รฟท.ไม่ได้เข้าชี้แจงในที่ประชุม ดังนั้น จะต้องรอรายละเอียดฝ่ายเลขานุการของ คนร.ทำหนังสือแจ้งแต่ละหน่วยงานให้ทราบอีกครั้ง

ขณะที่ปราณี ศุกระศร กรรมการและรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (28 ม.ค.) ช่วงบ่ายจะมีการประชุมคณะกรรมการ ขสมก. ฝ่ายบริหารจะมีการรายงานประเด็นที่ผ่านความเห็นชอบของ คนร.ให้คณะกรรมการทราบ ส่วนการตั้งข้อสังเกตที่จะมีการโยกการบริหารส่วนการกำกับดูแลของรถร่วมบริการเอกชนทั้งหมดไปให้กรมการขนส่งทางบกดูแล โดย ขสมก.จะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้เดินรถให้บริการนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากจะทำให้การบริหารการเดินรถของ ขสมก.คล่องตัวขึ้น

ส่วนการบินไทยภายหลัง จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย ได้ชี้แจงแผนปฏิรูปองค์กรการบินไทยตามแนวทาง 3 ขั้นตอน 6 กลยุทธ์เมื่อวานที่ผ่านมา หลังจากนี้ฝ่ายบริหารการบินไทยจะมีการรายงานผลการประชุมอนุมัติแผนฟื้นฟูของ คนร.ให้คณะกรรมการการบินไทยทราบวันที่ 28 มกราคมนี้ ก่อนจะเร่งเดินหน้าตามแผนฟื้นฟู ซึ่งนายจรัมพร ระบุว่าจะเป็นการดำเนินการตามแผน 2 ปี โดยปีแรกจะใช้ความพยายามหยุดปัญหาผลขาดทุนหลังผลประกอบการการบินไทย 5 ไตรมาสที่ผ่านมาประสบผลขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

 

เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์, สำนักข่าวไทย และข่าวสดออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net