จันจิรา สมบัติพูนศิริ: เมื่อสยามเมืองยิ้มหัวเราะไม่เป็น...เราจะอยู่กันอย่างไร?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าไปดูละคอนเวทีเรื่อง “บาง-ละ-เมิด” (Bang-la-merd) ซึ่งผลิตโดยกลุ่มศิลปินคนรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง B-Floor แสดงเดี่ยวโดยอรอนงค์ ไทยศรีวงศ์ และอำนวยการสร้างโดยดุจดาว วัฒนปกรณ์ บุญใหญ่ เนื่องจากข้าพเจ้าไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการละคอนแต่อย่างใด ฉะนั้นจึงดูอย่าง “ชาวบ้าน” คือดูเอาประเด็น เนื่องจากดู “อาร์ต” ไม่เป็น เมื่อไปถึงโรงละคอน กลุ่มทีมงานยืนคุยกันว่าได้รับคำถาม “จากเบื้องบน” ว่าจะแสดงละคอน ขออนุญาตหรือยัง หลังจากที่ดูเหมือนผู้จัดได้รับอนุญาต “เบื้องบน” ได้ส่งผู้ช่วยมาคุมระเบียบสองคน ซึ่งถูกผนวกกลายเป็นส่วนหนึ่งของฉากละคอนในท้ายที่สุด

“บาง-ละ-เมิด” สะท้อนสภาวะเสรีภาพในการแสดงความเห็นและข้อจำกัดในสังคมปิด โดยเปิดฉากด้วยบรรยากาศห้องเรียน นักแสดงหลักสวมบทบาทเป็นคุณครูตามแบบฉบับโรงเรียนประถม-มัธยมไทยทั่วไป ทำทีเป็นเดินเข้ามาในห้องแล้วแสร้งทำเป็นว่าผู้ชมเป็นนักเรียน ระหว่างนี้คุณครูแสดงท่าทีซึ่งสะท้อนลักษณะ “ผู้ใหญ่แบบไทยๆ” เช่นการแสดงอำนาจอหังการให้นักเรียนผู้น้อยต้องปฏิบัติตามคำสั่ง การลากเสียงเรียกนักเรียนยาว “ลูกกกกกก” เพื่อแสดงตำแหน่งทางอำนาจที่สูงกว่าเด็ก หรือการพูดกรีดกรายและโบกมือสะบัดเหมือนฟ้อนรำไปในเวลาเดียวกัน เพื่อเน้นย้ำขนบแบบไทยๆ ท่าทีเหล่านี้ดูเกินเลย กระทั่งเพี้ยน จนเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมได้มาก บรรยากาศในห้องเรียนแบบเพี้ยนๆ ดำเนินถึงจุดขำขันที่สุด เมื่อคุณครูสั่งให้นักเรียนจับคู่เพื่อทดสอบว่าสามารถ “ยิ้มแบบไทยๆ” ได้ถูกต้องหรือไม่ ตัวอย่างการยิ้มเหล่านี้ได้แก่ “ยิ้มทำไม” “ยังมายิ้มอีก” “ยิ้มกะเรี่ยกะราด” และ “ยิ้มสยาม” เมื่อผู้ชม / นักเรียนได้ฟังโจทย์เหล่านี้ ก็พยายามทำท่ายิ้มตามแบบที่คุณครูสั่ง ทว่าก็ขำตัวเองไปด้วย โรงละคอนจึงกึกก้องไปด้วยเสียงหัวร่อต่อท่าทางการแสยะยิ้มแบบสุดเพี้ยนของบรรดาผู้ชม

ทันใดนั้น ผู้ชมท่านหนึ่งลุกขึ้นแล้วบอกกับนักแสดงว่าขอใช้สิทธิ์ออกจากโรงละคอน และขอใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นว่าละคอนเรื่องนี้ไม่มีประโยชน์ ทำให้ตนรู้สึกเสียเวลา นักแสดงผงะเล็กน้อยก่อนแสดงความเป็นมืออาชีพสวมบทบาทคุณครูต่อไปและถามกลับไปด้วยน้ำเสียงเป็นมิตรว่าผู้ชมท่านนั้นรู้สึกว่ามีส่วนไหนที่ทำให้ไม่พอใจเป็นพิเศษ ผู้ชมท่านเดิมตอบคำถาม โดยชี้แจงว่าเธอรู้สึกเหมือนการแสดงกำลังชักจูงความเห็นของตนไปยังข้อสรุปบางประการ (เช่นการวิพากษ์ความเป็นไทย หรือประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง)

เธอเห็นว่าสิ่งที่เราเรียกว่า “เสรีภาพในการแสดงความเห็น” ไม่ใช่สิ่งดีต่อสังคมเสมอไป โดยยกตัวอย่างกรณีสังหารหมู่นักหนังสือพิมพ์การ์ตูนล้อเลียน Charlie Hebdo ในกรุงปารีส เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านามา

นักแสดงเข้าใจและขอบคุณที่ผู้ชมท่านนี้แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ส่วนผู้ชมท่านอื่นในโรงละคอน หลังจากอึ้งกิมกี่ไปสักห้านาที ก็เริ่มแปลบทสนทนาระหว่างนักแสดงและผู้ชมท่านนั้นให้เพื่อนชาวต่างชาติฟัง เมื่อผู้ชมท่านนั้นเดินออกไปจากห้อง นักแสดงสีหน้าไม่ดีนัก ทว่าเสียงปรบมือให้กำลังใจของผู้ชมที่เหลือทำให้เธอมีกำลังใจแสดงต่อไปจนจบอย่างงดงาม

สำหรับข้าพเจ้า “ละครชีวิตฉากย่อย” ที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหันนี้ทำให้การแสดง “บาง-ละ-เมิด” สมบูรณ์แบบ ความทับซ้อนของฉากเล็กๆ นี้อาจคลี่คลายได้เป็นสามปม

ปมแรกได้แก่ การแสดงความไม่พอใจของผู้ชมท่านนี้ถือว่ากล้าหาญและซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตัวเอง (ถ้าเป็นคนไทยขี้เขียมอายทั่วไป คงแอบย่องเดินออกจากห้องตอนถึงฉากมืด) แม้เธอจะวิจารณ์หลักเสรีภาพในการแสดงความเห็น แต่กลับใช้หลักการนี้อย่างทรงเกียนติ

ปมที่สองได้แก่ การรับสถานการณ์ของนักแสดง แทนที่จะตัดบทสนทนาหรือรู้สึกโกรธตอบ เธอกลับแสดงบทบาทต่อไป ทั้งยังถามอย่างสุภาพว่าเหตุใดผู้ชมถึงรู้สึกเช่นนั้น นี่แสดงให้เห็นว่าหลักเสรีภาพในการแสดงความเห็นมิได้หมายเพียงความเห็นตนเป็นใหญ่และอาศัยสิทธินี้ในการพูดเพียงคนเดียว แต่กลับรับฟังความเห็นซึ่งวิจารณ์การแสดงของเธอขณะที่กำลังแสดงอยู่

ปมสุดท้ายซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกว่าน่าสนใจที่สุดคือ เนื้อหาตลอดจนบรรยากาศในโรงละคอนที่สร้างความไม่พอใจให้ผู้ชมท่านนี้ นั่นคือการล้อเลียนเสียดสีการยิ้มแบบไทย ในฐานะคนไทย เราถูกบอกมาแต่อ้อนแต่ออกว่ายิ้มสยามคือแก่นแห่งความเป็นไทยและชาติไทย ยิ้มสยามทำให้ต่างชาติประทับใจคนไทย ยิ้มสยามแสดงถึงการมองโลกเชิงบวกของคนไทย แม้ทุกข์ร้อนใดมากล้ำกราย เราก็ยิ้มละไมกลับไปพร้อมบอก “ไม่เป็นไร” การล้อเลียนยิ้มสยามจึงเท่ากับสั่นคลอนความเป็นไทยและโลกทรรศน์สบายๆแบบไทยๆ

กระนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าสิ่งที่รบกวนจิตใจผู้ชมท่านนั้นเป็นที่สุดคือการหัวร่อล้อเลียนยิ้มสยามอย่างพร้อมเพรียงของผู้คนในโรงละคอน คือนี่ “ช็อก” นะ ท่านไม่ “ช็อก” หรอกหรือ? เกิดอะไรกับเด็กสมัยนี้ที่ไม่เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมไทยที่ปู่ย่าตายายอุตส่าห์หวงแหน? ข้าพเจ้าคิดว่าอาการหงุดหงิดเช่นนี้มิได้เกิดกับผู้ชมท่านนั้นท่านเดียว แต่คงประสบกับผู้หลักผู้ใหญ่ชาวไทยหลายคนที่รู้สึกว่าโลกเปลี่ยนไปเร็ว จนกระวนกระวายว่า “รากเหง้า” ความเป็นไทย จะจางหายไป เลยต้องจับให้มั่น และหลายครั้งถึงกับทำให้ศักดิ์สิทธิ์ ล้อก็ไม่ได้ แซวก็ไม่ชอบ

สยามเมืองยิ้มที่หัวเราะให้ตัวเองไม่ได้กำลังเผชิญวิกฤตทางอัตลักษณ์ เสมือนวัยรุ่นที่รู้สึกไม่มั่นคงกับที่ทางของตนในสังคม ภาวะวัยรุ่นคือภาวะแห่งการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ และบทบาทของตน ฉะนั้นการล้อจิกกัด หากเพียงบางเบา ก็อาจกระทบจิตใจทำให้โมโหใหญ่โตได้ เมื่อเติบใหญ่มีวุฒิภาวะ และหันกลับไปมองเท่านั้น จึงขำความโกรธของตัวเองในช่วงวัยรุ่นได้

ฉันใดก็ฉันนั้น สยามเมืองยิ้มที่กำลังเติบโตในโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อาจต้องหัวเราะกับความเขลาของตัวเองเป็น มากกว่าถนัดเพียงการเยาะเย้ยคนอื่น การหัวเราะต่อตัวเองเป็นหาทางวิพากษ์ตัวตนที่ทึกทักว่าศักดิ์สิทธิ์ แตะต้อง ลบหลู่มิได้ การวิพากษ์ตนเช่นนี้ช่วยให้เราไม่น่ามืดตามัวคิดไปว่าสมบูรณ์แบบจนต้องรักษาความสมบูรณ์นั้นไว้ทุกกระเบียดนิ้ว จะทำเช่นนี้ได้ โครงสร้างสังคมการเมืองต้องสนับสนุนการวิพากษ์แบบสร้างสรรค์ มิใช่ปิดกั้นช่องทางสื่อสารหรือรวมศูนย์ช่องทางนี้ไว้ที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น สยามเมืองยิ้มที่หัวเราะต่อตัวเองน่าจะเอื้อให้สังคมเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งความสร้างสรรค์ ซึ่งโอบอุ้มความหลากหลายของผู้คนในสังคมไว้ได้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท