Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 



เป็นที่เข้าใจได้ว่าใน psyche ของชนชั้นนำในกรุงเทพฯนั้นคงรู้สึกกระอักกระอ่วนใจน่าดูเกี่ยวกับท่าทีของสหรัฐต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทย เพราะของที่เคยๆกัน (business as usual) นั้นมันเปลี่ยนแปลงไปโดยที่พวกชนชั้นสูงตั้งตัวไม่ทัน

แต่ไหนแต่ไรมาการรัฐประหารเป็นสิ่งที่วอชิงตันไม่เคยขัดข้องเลย (ถ้าบอกกันก่อน) ทั้งยังจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มทีด้วย ทว่าโลกกลับเปลี่ยนแปลงไปมาก ความห่วยแตกของการใช้กำลังทหารแก้ปัญหาการเมืองในทุกทีของโลกมันหลอนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความพยายามของสหรัฐที่จะไปหนุนกองกำลังโน่นนี่นั่นยึดอำนาจรัฐนั้นมันให้ผลร้ายทุกที

การรัฐประหาร 2-3 ครั้งที่ผ่านในประเทศไทยนั้น มองจากมุมวอชิงตันแล้ว ไม่ใช่อะไรที่จำเป็นต้องทำเลย ท่านนายกและรมต.ต่างประเทศไม่ต้องโชว์กึ๋นถามเขาว่า จะให้ทำอย่างไรหรอก วันนั้น แดเนียล รัสเซล ไม่ตอบก็ไม่ใช่ว่าตอบไม่ได้ ก็คงเพราะจะไว้ไมตรีและสมเพชจนไม่รู้ว่าอย่างไรมากกว่า คำตอบมันง่ายนิดเดียวจากมุมมองของอเมริกัน (ซึ่งทหารของเขาไม่เคยยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง) คือ มีปัญหากับรัฐบาลก็เลือกตั้งใหม่แค่นั้นเอง

ความเห็นที่แตกต่างในเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาการเมืองระหว่างไทยกับสหรัฐนั้นก็อยู่ใต้ก้นบึ้งแห่งจิตสำนักในความเข้าใจวิถีแห่งอำนาจที่ต่างกัน คนอเมริกันเขาถือปัจเจกชนนิยม อำนาจจะอยู่ที่ประชาชนทุกรูป ทุกนาม พวกเขามอบอาณัติแห่งอำนาจนั้นให้ประธานาธิบดีผ่านการเลือกตั้ง ทหารนั้นเป็นแค่กลไกรัฐ ไม่ใช่ผู้ควบคุมอำนาจรัฐ ทหารทำหน้าที่ตามอาณัติที่ประชาชนมอบผ่านรัฐบาลเท่านั้น

ทว่าชนชั้นปกครองในประเทศไทยนั้นคิดว่า อำนาจเป็นของตัวเองฝ่ายเดียว ทหารมีหน้าที่ปกปัองมัน ประชาชนเป็นไพร่คอยรับแต่คำบัญชา พอมีปัญหาว่าประชาชนอยากจะได้อำนาจบ้างหรืออยากจะใช้มันบ้าง ทหารก็ทำหน้าที่ออกมาปกป้องอำนาจนั้นให้อยู่แต่ในมือของชนชั้นปกครองตลอดไป เปลี่ยนแปลงการปกครองมา 80 กว่าปีแล้ว ความคิดแบบนี้ยังไม่เคยเปลี่ยน 

ถามว่าสหรัฐยอมทำแบบเคยๆกันบ้างจะได้มั๊ย ทำไมต้องมาวิพากษ์วิจารณ์อะไรกันหนักหนาราวกันว่ายิ่งลักษณ์เป็นอองซานซูจีก็ไม่ปาน คำตอบคือไม่ได้เพราะ ถ้าสมยอมแล้วสหรัฐจะไม่มีประเด็นอะไรต่อรองเลยสำหรับการเมืองย่านนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มอาเซียนนั้น ไทยและฟิลิปปินส์ เป็นประเทศที่สหรัฐสปอยได้มาโดยตลอด พูดให้เป็นวิชาการหน่อยต้องว่าเป็น treaty ally แปลว่าเป็นพันธมิตรแบบมีพันธสัญญา หมายความว่าต้องยึดถือคุณค่าอะไรบางประการร่วมกัน รัสเซล พูดแล้วแต่ผู้นำไทยไม่ค่อยเข้าใจ คุณค่าที่ว่านั้นคือ democracy and rule of law สำหรับพวกคาวบอยแล้วเป็นพวกเดียวกันต้องยึดถืออุดมการณ์บางอย่างร่วมกันได้

สมัยก่อนจะยึดอำนาจกี่ครั้งก็ไม่ว่าแถมจะหนุนด้วยเพราะถือคุณค่าแห่งการต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วยกัน เมื่อก่อนการรัฐประหารนั้นแค่เปลี่ยนจากเผด็จการกลุ่มหนึ่งไปอีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่อย่างอื่นอยู่ครบหมด สมัยนี้แตกต่างกัน การรัฐประหารสมัยนี้ทำลายคุณค่าใน doctrine ของประชาธิปไตยไปด้วยเพราะพวกไพร่ตื่นตัวทางการเมืองมากจนรู้ว่าควรใช้ประโยชน์จากการเลือกตั้งอย่างไร แล้วถ้าสหรัฐไม่วิจารณ์เรื่องพวกนี้จะมีสหรัฐอยู่แถวนี้ทำไม ไทยก็จะกลายเป็นประเทศที่เหมือนกับจีนไปฉิบ 

แต่ชนชั้นสูงของไทยจะวิพากษ์วิจารณ์วอชิงตันอย่างถึงพริกถึงขิงอย่างที่ลูกหาบและกองเชียร์ทั้งหลายต้องการได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะ "เกรงใจ" ด่ามากไปก็มีแต่เข้าเนื้อ จะลดจะทอนความสัมพันธ์อะไรนั้นก็อย่าหวังว่าจะทำได้ เพราะมีประโยชน์ร่วมกันอยู่มากมาย แอลเอนั่นมัน little Thailand ชัดๆ ลูกหลานชนชั้นผู้ปกครองคนไหนไม่ถือสองสัญชาติ (ไทย-อเมริกัน) บ้าง หลายคนตั้งใจไปเกิดที่โน่นเพื่อให้ได้สัญชาติอเมริกัน (แม้ว่า อาก๋ง อาม่า อีจะเป็นเจ๊กก็ตาม)

ดังนั้นวันนี้ทำได้ก็แค่กระฟัดกระเฟียดเท่านั้นแหละ จะให้สะใจพระเดชพระคุณ ไล่อเมริกันออกไปอย่างพวกหัวก้าวหน้าทำสมัย 1970s นั่นเมินเสียเถอะ พวกอดีตหัวก้าวหน้าที่ด่าอเมริกันด้วยสำเนียงแบบเดิมๆทุกวันกลายเป็นพวกไม่รู้เรื่องรู้ราว เหมือนเพิ่งกลับจากดาวอังคารเมื่อวานนี้ยังไงก็ไม่รู้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net