Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สรุปสถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกปี 2557 : การฟ้องคดีหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อปิดกั้นการแสดงออก  ปี 2557 กฎหมายหมิ่นประมาทและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ยังเป็นอาวุธที่ทั้งภาครัฐและเอกชนใช้เพื่อปิดกั้นหรือตอบโต้กับเรื่องราวที่ไม่อยากได้ยิน ในปีนี้มีกรณีที่การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หรือให้ความเห็นทางวิชาการ วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะเป็นเหตุให้ถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาทหลายกรณี 

การฟ้องคดีใหม่ๆ ในรอบปีที่ผ่านมาตอกย้ำให้เห็นถึงความเสี่ยงของสื่อมวลชน นักเคลื่อนไหว หรือนักวิชาการ ที่มุ่งนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสังคม รวมไปถึงชาวบ้านที่ใช้เสรีภาพการแสดงออกเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง และทำให้วัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อการตรวจสอบความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนถูกคุกคาม
 
คดีหมิ่นประมาท และการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่เกิดขึ้นใหม่ในปี 2557
 
คดีบริษัททุ่งคำ ฟ้อง ชาวบ้านจังหวัดเลย 2 คดี
กรณีความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานระหว่างบริษัททุ่งคำ ที่ได้รับประทานบัตรเหมืองทองคำ ในพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย กับกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมือง นำมาสู่การฟ้องคดีหมิ่นประมาท หลังเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มชายชุดดำที่ต้องการขนแร่ผ่านหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 มีสื่อมวลชนและองค์กรต่างๆ ลงพื้นที่ไปทำข่าวจำนวนมาก
 
บริษัททุ่งคำ ยื่นฟ้องจำเลยที่เป็นชาวบ้าน 2 คน 2 คดี ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 คือ สุรพันธุ์ หรือ “พ่อไม้” จากการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวช่อง TNN24 ถึงกรณีที่มีเหตุไฟไหม้เต็นท์ของคนงานเหมือง และพรทิพย์ หรือ “แม่ป๊อป” จากการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวช่อง Nation TV ถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านต้องประสบ 
 
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทั้งสองคดีนี้บริษัททุ่งคำเลือกยื่นฟ้องที่ศาลจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดที่โจทก์มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ ทำให้จำเลยต้องรับภาระอย่างหนักในการเดินทาง การต่อสู้คดี และยังต้องแบกรับความเสี่ยงต่อชีวิตและร่างกายขณะเดินทางออกนอกพื้นที่ด้วย
 
ในวันที่ 4 ธันวาคม 2557 ตัวแทนชาวบ้านจาก อ.วังสะพุง จ.เลย เจรจาและลงนามบันทึกข้อตกลงกับกรรมการผู้จัดการ บริษัททุ่งคำ โดยตกลงกันว่าบริษัทยินดีถอนฟ้องทุกคดี แลกกับการที่ชาวบ้านยินยอมให้ขนแร่ที่ขุดแล้วออกจากพื้นที่ทำเหมือง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเลย อัยการจังหวัดเลย และนายอำเภอวังสะพุง เป็นพยานการทำบันทึกข้อตกลง วันที่ 8 ธันวาคม 2557 โจทก์จึงส่งทนายความเข้ายื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีที่มีการฟ้องร้องชาวบ้านทั้งหมด 
 
 
15 สิงหาคม 2557 เอกศักดิ์ ญาโนทัย ผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงพลังงาน ยื่นฟ้อง ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คเพจ “คุยกับหม่อมกร” ทำนองว่า ราคาขายน้ำมันดีเซลที่ส่งไปจำหน่ายที่ สปป.ลาว ต่ำกว่าราคาจำหน่ายในประเทศไทย ทำให้กระทรวงพลังงานได้รับความเสียหาย
 
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงรับฟ้องไว้พิจารณา และนัดสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 คู่ความทั้งสองฝ่ายได้มาที่ศาล เพื่อตกลงวันนัดสืบพยานกันโดยเป็นการสืบพยานโจทก์ 4 นัด สืบพยานจำเลย 9 นัด ศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ เพราะจำเลยอาจมาศาลไม่ได้ทุกนัด 
 
 
25 สิงหาคม 2557 ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองยื่นฟ้องมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย, ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์  ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา และเสนาะ สุขเจริญ บรรณาธิการสำนักข่าวอิศรา ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) กรณีนำเสนอข่าวว่า ดิเรกฤทธิ์มีบันทึกส่วนตัวหรือที่เรียกกันว่า “จดหมายน้อย” ขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สนับสนุนการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจรายหนึ่ง
 
28 สิงหาคม 2557 มีรายงานว่า ดิเรกฤทธิ์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีแพ่งจำนวน 50 ล้านบาทด้วย หลังยื่นฟ้องคดีอาญาแล้วจำเลยยังไม่หยุดพฤติกรรมดังกล่าว
 
10 พฤศจิกายน 2557 ศาลอาญามีคำวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์ โดยให้เหตุผลว่า การกระทำของโจทก์เป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปย่อมตำหนิติเตียนได้ทั้งนั้น และยิ่งโจทก์เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองยิ่งต้องถูกบุคคลอื่นๆ ในสังคมตำหนิติเตียนได้หนักขึ้น และการที่จำเลยทั้งสามลงโฆษณาข้อความเช่นนั้น จึงถือว่าจำเลยทั้งสามแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนที่ย่อมกระทำได้
 
8 กันยายน 2557 บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (ช่อง 3) ยื่นฟ้องสุภิญญา กลางนรงค์ หนึ่งในคณะกรรมการ กสทช. ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) จากการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อต่างๆ และรีทวีตข้อความ ในประเด็นความขัดแย้งระหว่างช่องสามและ กสทช. เรื่องการโอนย้ายสัญญาณมาสู่ระบบดิจิทัล 
 
1 ธันวาคม 2557 ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้อง ทนายฝ่ายโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง คู่กรณีเจรจาตกลงกัน ต่างฝ่ายต่างไม่ติดใจดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อกัน ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง
 
138
 
 
คดีหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่มีความเคลื่อนไหวสำคัญในปี 2557 
 
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีผู้ชุมนุมหนองแซงดูหมิ่นนายก อบต. คดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2553 โดยผู้ชุมนุมกล่าวปราศรัยพาดพิงนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทำนองว่า เป็นสุนัขรับใช้โรงไฟฟ้า ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2556 ว่าจำเลยทั้งสามคนมีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ให้จำคุกคนละ 15 วัน ปรับคนละ 1,000 บาท  ให้รอการลงโทษ 2 ปี 
 
23 มกราคม 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เนื่องจากพยานโจทก์ทั้งหมดไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสาม อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น 
 
 
ถอนฟ้องคดี กสทช. ฟ้องหมิ่นประมาท ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และณัฏฐา โกมลวาทิน เป็นคดีความที่ต่อเนื่องมาจากปี 2556 โดยสำนักงาน กสทช. ยื่นฟ้องนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ และผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ “ที่นี่ไทยพีบีเอส” จากกรณีที่ ดร.เดือนเด่น วิพากษ์วิจารณ์การออกประกาศ “ห้ามซิมดับ” ออกรายการดังกล่าว
 
10 กุมภาพันธ์ 2557 ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้อง และสั่งรับฟ้องในวันที่ 17 มีนาคม 2557 โดยศาลแนะนำให้คู่ความทั้งสองฝ่ายไปไกล่เกลี่ยกัน ต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2557 หลังนายสุทธิพล ทวีชัยการ หนึ่งในกรรมการ กสทช. ที่เป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ลาออกจากตำแหน่งไปดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ศาลนัดไกล่เกลี่ยประนีประนอมคดี คู่ความทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้และแถลงร่วมกันว่า ในชั้นนี้ได้ให้อภัยซึ่งกันและกัน ไม่ติดใจดำเนินคดีต่อไป โจทก์จึงขอถอนฟ้องจำเลย 
 
ศาลอุทธรณ์ลดโทษจำคุก คดีคธา : Wet dream คธา ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ข่าวลือเป็นเหตุให้หุ้นตกในปี 2552 ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) คดีนี้ไม่ใช่เรื่องการหมิ่นประมาทบุคคลแต่เป็นข้อกล่าวหาเรื่องการสร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก 4 ปี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2557 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้ว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปีแล้วลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือจำคุกกระทงละ 2 ปี รวม 4 ปีนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าหนักเกินไป ควรแก้ไขใหม่เป็นให้จำคุกกรรมละ 2 ปี รวม 4 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือจำคุก 2 ปี 8 เดือน 
 
10 มีนาคม 2557 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยเป็นการชั่วคราว โดยเห็นว่าศาลอุทธรณ์โทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน หากปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี
 
ส่งฟ้องคดี กองทัพเรือ ฟ้อง ภูเก็ตหวาน อลัน และชุติมา สองนักข่าวของภูเก็ตหวาน สำนักข่าวออนไลน์ในจังหวัดภูเก็ต ถูกกองทัพเรือแจ้งความฐานหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังเผยแพร่รายงานของรอยเตอร์ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่กองทัพเรือเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา
 
17 เมษายน 2557 อัยการนัดส่งตัวฟ้องที่ศาลจังหวัดภูเก็ต ศาลนัดสืบพยานวันที่ 14 - 16 กรกฎาคม 2558
หลังจากส่งฟ้องแล้วทั้งสองฝ่ายมีความพยายามเจรจา โดยมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นคนกลาง แต่ยังตกลงกันไม่ได้ ช่วงเดือนตุลาคมกองทัพเรือภาคที่สามแจ้งกับสื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตว่า ของดการให้ข่าวกรณีการดำเนินคดีกับภูเก็ตหวาน และห้ามผู้สื่อข่าวภูเก็ตหวานเข้ามาทำข่าวในพื้นที่ของกองทัพเรือ เนื่องจากการเผยแพร่ข่าวของภูเก็ตหวานก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองทัพเรือไทย 
 
พิพากษายืนยกฟ้อง คดีทิชา ณ นคร ถูก พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท โดยคดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2546  ซึ่งในวันที่22 เมษายน 2557 ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีการนัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา คำพิพากษาศาลฎีกาสรุปได้ว่า ก่อนที่จำเลยจะให้สัมภาษณ์และเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ มีข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมของโจทก์ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์ต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่เริ่มจากบทสัมภาษณ์และบทความของจำเลยเป็นคนแรก ทำให้คดีนี้ศาลทั้งสามชั้นพิพากษายกฟ้อง
 
 
เลื่อนการไต่สวนมูลฟ้องคดี บริษัท เบ็ทเทอร์ ลีฟวิ่ง ฟ้อง ประชาชาติธุรกิจ คดีนี้สืบเนื่องจากเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจและกรุงเทพธุรกิจ เผยแพร่เนื้อหากรณีมีบริษัททุนข้ามชาติขอจดโดเมนเป็น .thai ต่อมาทั้งหนังสือพิมพ์และแหล่งข้อมูลถูกบริษัทที่ถูกพาดพิงฟ้องฐานหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 แต่โจทก์ขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 4 สิงหาคม ก่อนที่จะเลื่อนนัดไต่สวนมูลฟ้องอีกครั้ง ไปเป็นวันที่ 19 มกราคม 2558
 
ยกฟ้องคดีหมิ่นประมาทของอานดี้ ฮอลล์  อานดี้ ฮอลล์ เป็นนักวิจัยด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ ถูกบริษัท เนเชอรัล ฟรุ๊ต ฟ้องหมิ่นประมาท จากการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอัลจาซีราถึงสภาพการจ้างงานในโรงงานผลิตสับปะรดแปรรูปในประเทศไทย นอกจากคดีนี้ อานดี้ถูกฟ้องเป็นคดีทั้งแพ่งและอาญาอีก 3 คดี เป็นคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯด้วย 1 คดี
 
วันที่ 2 - 10 กันยายน 2557 ศาลจังหวัดพระโขนง นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย และวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ศาลจังหวัดพระโขนงอ่านคำพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากมูลเหตุคดีนี้อานดี้ให้สัมภาษณ์ขณะอยู่ที่ประเทศพม่า โดยสำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้มีพนักงานอัยการอยู่ร่วมในชั้นสอบสวนด้วย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในชั้นสอบสวนมีเพียงพนักงานสอบสวน สน.บางนา เท่านั้น จึงถือเป็นการสอบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 
แม้ศาลจะยกฟ้องไป 1 คดี แต่ก็ยังเหลืออีก 3 คดี วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดไต่สวนมูลฟ้อง คดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยมีผู้สังเกตการณ์ชาวต่างชาติ จากสถานทูตฟินแลนด์ และทนายความด้านสิทธิมนุษยชนจากแคนาดามาร่วมสังเกตการณ์ด้วย แต่ตัวอานดี้ ฮอลล์ไม่มาศาล 
ก่อนเริ่มกระบวนพิจารณา ศาลขอให้คู่ความไกล่เกลี่ยยอมความกัน เพราะศาลยังไม่ได้สั่งฟ้องคดี แต่คู่ความตกลงกันไม่ได้ โจทก์ยืนยันว่าโรงงานของตนได้รับความเสียหายอย่างมากหลังจากงานวิจัยของฝ่ายจำเลยเผยแพร่สู่สาธารณะ  จึงมีการนัดไต่สวนมูลฟ้องครั้งต่อไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 
 
ถอนฟ้อง คดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ฟ้อง ไทยพับลิก้า คดีนี้สืบเนื่องจาก สำนักข่าวไทยพับลิก้าซึ่งทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน เผยแพร่บทสัมภาษณ์ประธานกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ฯ ในประเด็นความไม่โปร่งใสในการดำเนินกิจการของสหกรณ์ฯ และถูกศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการสหกรณ์ฟ้องฐานหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2556
 
2 มิถุนายน 2557 ศาลจังหวัดมีนบุรีนัดไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง เนื่องจากคณะกรรมการสหกรณ์ชุดปัจจุบันได้ประชุมกันในวันที่ 11 เมษายน 2557 แล้วมีมติให้ถอนฟ้อง ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง
 
ถอนฟ้องคดี จอน อึ๊งภากรณ์ ถูกกลุ่มหมอฟ้องหมิ่นประมาท คดีนี้จอน อึ๊งภากรณ์และพวกอีก 9 คน ถูกฟ้องว่าแจกเอกสารในงานเปิดตัว “กลุ่มคนรักสุขภาพ” เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาท
สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ว่ามีเจตนาล้มระบบหลักประกันสุขภาพ 
 
19 สิงหาคม 2557 ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดสืบพยานโจทก์ ผู้พิพากษากล่าวกับฝ่ายโจทก์และจำเลยว่า ศาลเห็นว่าควรไกล่เกลี่ยจึงเชิญทนายฝ่ายจำเลยและจำเลยทั้ง 6 คน ออกจากห้องพิจารณาเพื่อพูดคุยกับฝ่ายโจทก์ หลังจากนั้น จึงเชิญฝ่ายจำเลยพร้อมทนายมารับทราบการเจรจาระหว่างผู้พิพากษาและฝ่ายโจทก์ โดยข้อตกลงที่จะถอนฟ้องคือการทำหนังสือคำชี้แจง โจทก์และจำเลยยอมร่วมทำคำชี้แจง สุดท้ายตกลงกันได้ ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง 
 
ข้อสังเกต และแนวโน้มในปี 2557
 
ข้อสังเกตประการแรก เห็นได้ว่าคดีหมิ่นประมาทที่ฟ้องร้องดำเนินคดีกันมีแนวโน้มการไกล่เกลี่ยและถอนฟ้องค่อนข้างสูง กล่าวคือ ในปี 2557 จากคดีความ 12 คดี มีการถอนฟ้องกัน 6 คดี และยกฟ้อง 2 คดี มีคดีที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา 4 คดี ศาลยกฟ้องไปแล้ว 2 คดี และลงโทษ 1 คดี ซึ่งศาลพิพากษาให้รอการลงโทษ
 
สถิติเช่นนี้ทำให้เห็นว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทนั้น มีลักษณะเป็นการฟ้องเพื่อตอบโต้การนำเสนอข้อมูลที่ผู้ฟ้องคดีไม่ต้องการให้ปรากฏ เป็นการฟ้องเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของผู้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือเพื่อสร้างภาระให้กับจำเลยและขบวนการเคลื่อนไหวของจำเลย และปรามไม่ให้มีการกระทำเช่นนี้เกิดขึ้นอีก ไม่ใช่การฟ้องคดีเพื่อมุ่งลงโทษบุคคล เพื่อชดเชยความเสียหายที่โจทก์ได้รับ หากมีข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงภายหลังและสามารถตกลงกันได้ โจทก์ก็ยินยอมที่จะถอนฟ้องไม่ติดใจเอาความ
 
ข้อสังเกตประการที่สอง จะเห็นได้ว่าบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท ล้วนเป็นองค์กรที่มีฐานะอยู่เหนือกว่าผู้ถูกฟ้องคดีในแง่ต้นทุนในการต่อสู้คดี ตัวอย่างเช่น กรณีบริษัททุ่งคำ ยื่นฟ้องชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ หรือกรณีบริษัท เนเชอรัล ฟรุ๊ต ยื่นฟ้องอานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น 
 
นอกจากนี้ ในปี 2557 ยังเป็นปีที่เห็นปรากฏการณ์ว่าหน่วยงานของรัฐเข้ามาเป็นโจทก์ฟ้องหมิ่นประมาทเอกชนที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานหรือบุคลากรของหน่วยงาน เช่น กรณีกระทรวงพลังงาน ยื่นฟ้อง ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระ กรณีคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ฟ้อง ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ และณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ดำเนินรายการ “ที่นี่ไทยพีบีเอส” กรณีกองทัพเรือฟ้องสำนักข่าวภูเก็ตหวาน และกรณีสำนักงานศาลปกครองฟ้องสำนักข่าวอิศรา เป็นต้น
 
จึงเป็นประเด็นคำถามเด่นในปีนี้ว่า หน่วยงานรัฐในฐานะที่รับผิดชอบจัดทำบริการสาธารณะที่กระทบต่อประชาชน มีความชอบธรรมหรือไม่ที่จะนำงบประมาณและทรัพยากรของหน่วยยงานมาใช้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ หรือควรปล่อยให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์และติเตียนการปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาท 
 
ข้อสังเกตประการที่สาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 5 ปี ยังคงถูกนำมาใช้ฟ้องร้องคู่กับการหมิ่นประมาทเสมอ ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้มีเจตนาเพื่อใช้ปราบปรามการกระทำความผิดต่อระบบมากกว่าการจำกัดเนื้อหาบนโลกออนไลน์ การใช้กฎหมายที่ผิดไปจากเจตนามีผลให้จำเลยต้องรับภาระหนักขึ้นในการต่อสู้คดี ในการหาหลักทรัพย์ที่สูงขึ้นมาประกันตัว และในการเผชิญหน้ากับอัตราโทษตามกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นวัตถุประสงค์ที่โจทก์ต้องการก็ได้
 
 

สรุปสถานการณ์ประจำปี 2557 กรณีอื่นๆ

สรุปสถานการณ์ปี 2557 1/5 : การเรียกบุคคลไปรายงานตัว การจับกุมและการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก

สรุปสถานการณ์ปี 2557 2/5: คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เดินหน้าหนึ่งก้าวก่อนถอยหลังสามก้าว

สรุปสถานการณ์ปี 2557 3/5: เสรีภาพการชุมนุม/การแสดงออกสาธารณะ และการตั้งข้อหาทางการเมือง

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net