Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ หรือ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ฉบับที่ร่างโดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำลังจะถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตำรวจซึ่งเป็นผู้รับหน้าที่หลักในการดูแลควบคุมการชุมนุมทั้งใหญ่และเล็กที่เกิดขึ้น กำลังจะนำประสบการณ์และช่องโหว่ของกฎหมายที่มีอยู่มาร่างกฎหมายเพื่อหวังเพิ่มเครื่องมือในการทำงานให้กับตัวเอง

หากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน อาจมีหลักการหลายอย่างในการจัดการชุมนุมและการควบคุมการชุมนุมที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป ดังนี้
 

1. การชุมนุมจะต้องแจ้งก่อน และตำรวจอาจสั่งให้แก้ไขหรือมีคำสั่งห้ามชุมนุมก็ได้

ในร่างมาตรา11 เขียนไว้ว่า " ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะและการชุมนุมนั้นอาจจะกระทบต่อการรักษาความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีตลอดจนสุขอนามัยของประชาชน หรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ให้มีหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง

ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดหมายให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่หรือเครื่องขยายเสียงหรือขอให้ทางราชการอำนวยความสะดวกในการชุมนุมเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง”

แม้ภาษาของร่างฉบับนี้จะเขียนว่าผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมต้อง “มีหนังสือแจ้ง” แต่ขณะเดียวกันในร่างมาตรา 13 ตำรวจมีอำนาจสั่งให้ผู้จัดการชุมนุม “แก้ไข” ได้ ซึ่งหมายความว่าอาจถูกสั่งให้เปลี่ยนสถานที่ หรือวันเวลาการชุมนุม และหากไม่ยอมแก้ไข ตำรวจก็มีอำนาจสั่ง “ห้ามชุมนุม” ได้ ดังนั้นจึงเท่ากับร่างกฎหมายฉบับนี้ใช้คำว่าต้อง “มีหนังสือแจ้ง” แต่โดยกระบวนการที่กำหนดก็คือการต้อง “ขออนุญาต” นั่นเอง  

 

2. การชุมนุมอาจถูกตีความให้เข้าข่าย “การชุมนุมที่ไม่สงบ” ได้ง่าย

ในร่างมาตรา 7 วรรค 2 เขียนไว้ว่า “การชุมนุมสาธารณะใดมีการขัดขวางหรือกีดขวางมิให้ประชาชนใช้ทางหลวงหรือ ทางสาธารณะได้ตามปกติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาทางนั้น หรือทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร หรือมีการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือมีการกระทำการใด ๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองไม่เป็นการชุมนุมสาธารณะโดยสงบ”

การชุมนุมในที่สาธารณะหรือการออกมาเรียกร้องบนท้องถนน โดยสภาพแล้วย่อมเกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ใช้ทางสาธารณะเป็นปกติธรรมดาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การบัญญัติถึงขอบเขตเหตุแห่งการชุมนุมสาธารณะที่ไม่สงบกว้างจนเกินไป อย่างเช่นข้อความว่า “หรือมีการกระทำการใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองไม่เป็นการชุมนุมสาธารณะโดยเฉพาะ” “ หรือทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร” โดยไม่ชัดเจนว่าอะไรคือความหมายของ “เหตุอันควร” ? และต้องปล่อยให้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ นั้นเป็นอันตรายต่อการตีความในทางที่เป็นผลร้ายต่อการใช้สิทธิของประชาชน

หากวันนี้ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำจนเกษตรกรไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงไว้ได้ ประชาชนเดือดร้อนจากนโยบายการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมของรัฐ ชาวบ้านไม่มีที่ดินทำกินเพราะแผนแม่บทป่าไม้ของรัฐบาล ชาวบ้านได้รับสารเคมีจากการทำเหมืองแร่ซึ่งเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐส่งเสริม การออกมาชุมนุมปิดถนนเรียกร้องเพราะได้รับผลกระทบเดือดร้อนเรื่องปากท้อง เรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่จากโครงการนโยบายหรือกฎหมายต่างๆ ของรัฐนั้น เช่นนี้จะตีความว่าเป็น “เหตุอันควร” ที่พึงคาดหมายได้แล้วหรือไม่


3. บทลงโทษสำหรับการชุมนุมที่เป็นความผิดตามร่างกฎหมายฉบับนี้

สำหรับผู้จัด ผู้เชิญชวน ให้เข้าร่วมการชุมนุม ผู้สนับสนุนช่วยเหลือการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายของร่างพ.ร.บ.นี้ มีโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

ขณะที่ผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมายนี้ รวมไปถึงการทำแฟลชม๊อบ การสวมหน้ากากหรือปิดบังใบหน้า มีโทษสูงสุด คือ จำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

ตามร่างกฎหมายนี้ การชุมนุมแทบทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องหรือแสดงออกในเรื่องใดๆ ก็ตาม หากออกมาในพื้นที่สาธารณะหรือบนท้องถนนก็อาจถูกตีตราไว้ก่อนแล้วว่าเป็นการชุมนุมอันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบกฎหมายจึงไม่คุ้มครองการชุมนุมนั้น ทำให้ต้องผ่านกระบวนการ “ขออนุญาต” จากตำรวจก่อน

ประเด็นปัญหาประการแรก การชุมนุมที่ต้องได้รับการอนุญาตจะสามารถเรียกว่าเป็น “การชุมนุม” ได้หรือไม่? เพราะการชุมนุมไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงการแสดงออกที่ต้องแจ้งให้ทราบก่อนเท่านั้น แต่การชุมนุมคือการสร้างพื้นที่ต่อรอง กดดัน ให้ภาครัฐรับฟังหรือทำตามข้อเรียกร้องของประชาชน ในกรณีที่ภาครัฐเป็นคู่กรณีกับผู้ชุมนุม ดังนั้นจึงไม่สมเหตุสมผลที่การชุมนุมจะต้องส่งหนังสือเพื่อขอให้คู่กรณีอนุญาตก่อน 

ประเด็นปัญหาประการที่สอง การแสดงความคิดเห็น การประท้วงคัดค้าน ต่อกฎหมายหรือนโยบายของรัฐ  โดยการกีดขวางทางจราจร การนั่ง, นอนประท้วงปิดกั้นทางสาธารณะ แม้จะเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิของปัจเจกชนอื่นๆ ทำให้บุคคลอื่นไม่อาจใช้สิทธิได้ดังในภาวะปกติ แต่สิทธิที่ถูกกระทบกระเทือนนี้ไม่ได้เป็นสิทธิในชีวิต หรือเนื้อตัวร่างกาย เป็นเพียงสิทธิในการได้รับบริการสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ถนน ทางสาธารณะ อย่างสะดวกสบายเท่านั้น ซึ่งการกระทบกระเทือนต่อสิทธิก็เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และยังสามารถเลี่ยงไปใช้ทางสาธารณะทางอื่นได้ เมื่อเทียบกันแล้วการเปิดพื้นที่ให้กับสิทธิในการชุมนุมย่อมสำคัญกว่า

ประเด็นปัญหาประการที่สาม คำว่า “การรักษาความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี” เป็นคำที่ถูกใช้อ้างเพื่อลิดรอนสิทธิของประชาชนอย่างพร่ำเพรื่อมากจนเกินไป การรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ ซึ่งก็คือสาเหตุของการที่ประชาชนเดือดร้อนจนต้องมาแสดงออกโดยการชุมนุมสาธารณะ การชุมนุมเป็นภาพสะท้อนจากข้อผิดพลาดทางนโยบายหรือกฎหมายต่างๆของตัวรัฐเอง การสร้างขอบเขตบรรทัดฐานของการชุมนุมให้อยู่ภายใต้ “ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี” เช่นนี้ จึงการโยนความรับผิดให้กับผู้ชุมนุมว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาเท่านั้น โดยละเลยที่จะแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง

ประเด็นปัญหาประการที่สี่ การบัญญัติหลักการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นหลักการทั่วไปไว้ในรัฐธรรมนูญก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับเป็นกรอบในการใช้สิทธิในการแสดงออก หากต้องการแก้ไขปัญหาการชุมนุมที่มีความรุนแรงไม่ได้ยึดหลักสันติอหิงสา ดังเช่นการชุมนุมทางการเมืองระหว่างสองสีเสื้อที่ผ่านมา ก็ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบด้วยว่าเกิดจากสาเหตุใด ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่เกิดจากการไม่มีตัวบทกฎหมายที่ดีพอ หรือเป็นเกมส์ทางการเมืองที่เจ้าหน้าที่รัฐมีเจตนาปล่อยปะละเลย จงใจให้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มความชอบธรรมทางการเมืองของฝ่ายตน

ประเด็นปัญหาประการที่ห้า สิ่งที่น่าเป็นกังวลที่สุดก็คือ การผลักให้การชุมนุมขับเคลื่อนของประชาชนเป็นการชุมนุมที่อาจเข้าข่าย “ไม่สงบ” ได้อย่างง่ายดาย หากร่างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฉบับนี้ประกาศใช้ อาจจะกลายเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้อ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมสำหรับใช้บทลงโทษทางกฎหมายที่รุนแรงในการปิดปากประชาชนฝ่ายตรงข้ามที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันกับแนวทางของผู้มีอำนาจในขณะนั้น และอาจเป็นข้ออ้างในการใช้กำลังจัดการสลายผู้ชุมนุมดังเช่นเหตุการณ์การ “ขอคืนพื้นที่” ชุมนุมของคนเสื้อแดงที่เจ้าหน้าที่ได้ใช้อาวุธปืนทำร้ายผู้ชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน

ประเด็นปัญหาประการที่หก การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นหรือเรียกร้องต่อสาธารณะถือเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ไม่ควรที่จะถูกปิดกั้น และไม่จำเป็นจะต้องขออนุญาตจากผู้ใด โดยเฉพาะในสังคมที่มีรูปแบบการปกครองแบบเผด็จการ มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอย่างรุนแรง การพยายามออกกฎหมายเพื่อจำกัดขอบเขตของการชุมนุม ว่าต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและต้องเคารพต่อระบบกฎหมายโดยรวมของรัฐ ย่อมเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ความอยุติธรรมดำรงอยู่ต่อไปแม้กระทั่งหลังมีการยกเลิกกฎอัยการศึกและคืนอำนาจให้ประชาชนแล้วก็ตาม

ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงมีแนวโน้มจะเป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าปกป้องดูแลสิทธิและผลประโยชน์ของประชาชน ซึ่งไม่ต่างจากการใช้กฎอัยการศึกควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพียงแต่เปลี่ยนจากบทบาทของทหารเป็นตำรวจ และเปลี่ยนอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเป็นอำนาจที่มีขั้นตอนแต่ให้ผลไม่ต่างกันเท่านั้นเอง

และเมื่อไม่มีพื้นที่ให้กับขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ก็จะยิ่งปราศจากซึ่งเครื่องมือในการตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองและข้าราชการ สวนทางกับแนวทางการแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น การสร้างความปรองดองและการปฏิรูปประเทศเพราะการปฏิรูปนั้นไม่สามารถกระทำได้หากไม่มีพื้นที่ที่เปิดกว้างให้เสียงของประชาชน

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net