Skip to main content
sharethis

คนชายข่าวฯ จี้ประเด็น ‘ป่วยเพราะอาหารกระป๋อง ไม่ใช่เหมืองทอง’ นักวิจัยแจงไม่ได้เข้าข้างเหมืองทอง แค่ผลการศึกษาเบื้องต้น มีเวลาน้อย และมีข้อจำกัดมาก ด้านชาวบ้านร้องอธิการ-สภามหาวิทยาลัยสอบสวน

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้ากรณีบริษัทอัครา รีซอร์ส เซส ที่อ้างผลผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ระบุว่าชาวบ้านรอบกิจการเหมือง แร่ทองคำใน 3 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์) ไม่ได้ป่วยเพราะสารพิษที่มาจากการทำเหมืองทอง แต่เป็นผลจากอาหารทะเลและอาหารกระป๋องว่า ผู้สื่อข่าวได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อไปยังรศ.ดร.กัมปนาท ภักดีกุล คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวได้ส่งอีเมล์แจ้งความประสงค์ขอสัมภาษณ์ถึงประเด็น ดังกล่าวพร้อมฝากหมายเลขโทรศัพท์เอาไว้

ในเวลาต่อมาผู้สื่อข่าวได้รับโทรศัพท์จากผู้บริหารคณะสิ่งแวดล้อมฯ รายหนึ่ง โดยเขาระบุว่าดร.กัมปนาทให้เขาโทรศัพท์มาชี้แจงข้อเท็จจริง แต่ไม่ต้องการให้เปิดเผยรายชื่อ และตัวเขาเองก็เป็น 1 ในคณะผู้ที่ทำการวิจัยในเรื่องดังกล่าวด้วย

ผู้บริหารคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์รายนี้ชี้แจงว่า ข่าวที่ทางบริษัทอัคราฯ แถลงนั้น เป็นการรายงานข่าวเกินจริงซึ่งรศ.ดร.กัมปนาท มีความห่วงใยเรื่องดังกล่าวมากและเกรงว่าจะเกิดความเข้าใจผิดระหว่างชาวบ้าน กับนักวิชาการของมหาวิทยาลัย จึงได้มอบหมายให้ตัวแทนคณะชี้แจง โดยข้อเท็จจริงต่อกรณีดังกล่าว คือ คณะวิชาการของมหาวิทยาลัยทำหน้าที่แค่การศึกษาเบื้องต้นและเผยแพร่ผลการ ศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น โดยใช้ข้อมูลแบบ Secondary Data หรือการใช้ข้อมูลที่เหมืองทองได้สำรวจมาและก็วิเคราะห์ผลการสำรวจอีกขั้น แล้วรายงานออกมา อย่างไรก็ตามยืนยันว่า ทางคณะวิชาการไม่ได้เจาะเลือดชาวบ้านด้วยตนเอง เพียงเพราะบริษัทให้งบประมาณสนับสนุน ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงขอยืนยันว่า ไม่เคยใช้ความรู้ทางวิชาการเพื่อเข้าข้างเหมืองทองแบบที่เป็นข่าว

“อำนาจทางวิชาการขณะนั้น เป็นเพียงตัวแทนผู้เชี่ยวชาญไปศึกษา ไม่ได้ยืนยันว่าเหมืองทองเป็นสาเหตุของการพบสารพิษปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและ ในร่างกายชาวบ้านหรือไม่ โดยในงานวิชาการที่รายงานไป นักวิชาการระบุว่า พฤติกรรมของชาวบ้านมีผลต่อการสัมผัส สารอาเซนิก (arsenic) หรือสารหนู แต่ไม่ได้ยืนยันร้อยเปอร์เซ็นว่า ชาวบ้านจะไม่มีโอกาสรับสารหนูจากเหมืองทองคำ แต่เวลาศึกษาน้อยมากและมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทุกคนในทีมวิชาการต้องใช้เวลาศึกษาซ้ำ เพราะเรื่องอะไรก็ตามในกรณีส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่สามารถนำผลการศึกษาเบื้องต้นไปยืนยันความผิดให้ฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งทั้งหมด”นักวิชาการรายนี้กล่าว

เขายังกล่าวด้วยว่า โดยทั่วไปการประกอบกิจการของธุรกิจใดๆ ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จะต้องมีกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาชุมชน แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบบริหารงบจะกระจายงบประมาณไปที่ใดบ้าง ทีมวิชาการไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งในการรายงานผลศึกษากรณีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมส่วนมาก บริษัทก็ต้องจ้างทีมวิชาการอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าคณะศึกษาจะต้องยืนยันผลเพื่อเข้าข้างเจ้าของงบประมาณ ทั้งนี้หลังจากการศึกษาและรายงานผลเบื้องต้นไปแล้ว ทางคณะทำงานได้เสนอโครงการใหม่ โดยขอศึกษาซ้ำใน 3 กลุ่มเสี่ยง ด้วยการรวบรวมข้อมูลและเจาะเลือดชาวบ้าน ตลอดจนตรวจสอบสภาพพื้นที่ด้วยเครื่องมือศึกษาของทีมวิจัยเอง โดยเสนอ 3 กลุ่มเสี่ยงคือ 1 กลุ่มทำงานในเหมือง 2 กลุ่มอาศัยรอบเหมืองห่างจากพื้นที่ประกอบการ 500 เมตร และ 3 กลุ่มที่อาศัยอยู่ห่างจากเหมือง 25 กิโลเมตร

ในวันเดียวกันนี้ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากเครือข่ายชาวบ้านรอบเหมืองทอง ว่า ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ชาวบ้านบางส่วนจะเดินทางไปยังมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม เพื่อยื่นหนังสือถึงสภามหาวิทยาลัยมหิดล และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ให้มีการตรวจสอบการทำหน้าที่ของคณะนักวิจัยคณะสิ่งแวดล้อมฯ ว่าได้ดำเนินการตามหลักวิชาชีพและบทบาททางวิชาการหรือไม่ อย่างไร นอกจากนี้ยังขอให้เปิดเผยผลการวิจัยที่ถูกบริษัทอัคราฯ นำไปอ้างในการแถลงข่าวด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net