Skip to main content
sharethis

ดร.อาหามะ มูฮัมหมัด จากเครือข่ายนูซันตารา บรรยายถึงความแตกต่างดังกล่าว ในการเสวนาหัวข้อ “กฎหมายมนุษยชน ว่าด้วยหลักการอิสลามที่เกี่ยวกับมนุษยชน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอบรมเครือข่ายปกป้องและคุ้มครองเด็ก (GENAP) จัดโดยสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2558 ที่โรงแรมปาร์ควิว อ.เมือง จ.ปัตตานี การบรรยายดังกล่าวมีสาระที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้


ดร.อาหามะ มูฮัมหมัด จากเครือข่ายนูซันตารา

ดร.อาหามะกล่าวว่า ขอบเขตของกฎหมายสิทธิมนุษยชนมีหลายระดับและมีความสำคัญมากในหลายๆ ประเทศ คนจะสับสนระหว่างกฎหมายสิทธิมนุษยชนของอิสลามที่มีมานานแล้ว กับกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน

ถ้ามองถึงขอบเขตของสิทธิมนุษยชนในศาสนาอิสลามตามบทบัญญัติของอัลลอฮ คือ อัลลอฮมองว่ามนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน คนขาวไม่ได้ดีกว่าคนดำ ไม่มีชนเผ่าหรือเชื้อชาติใดเหนือกว่าทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าภาษาอาหรับดีกว่าภาษามลายู แต่ที่แตกต่างกันคือความศรัทธา

ดังนั้น สิทธิมนุษยชนในอิสลามจึงมีความแตกต่างกับตะวันตก เช่น ในอดีตผู้หญิงชาวตะวันตกไม่มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง แต่เพิ่งมีสิทธิเมื่อไม่นานมานี้เอง ในขณะทีในศาสนาอิสลามผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งมานานแล้วตั้งแต่ศาสนาอิสลามเริ่มมีขั้น แต่ไม่ถูกกล่าวถึงมากนัก

ทำความเข้าใจหลักสิทธิมนุษยชนในอิสลาม 5 ประการ
ถ้ามองศาสนาอิสลามในแบบดั้งเดิมจริงๆ ในเรื่องสิทธิมนุษยชน คือ ศาสนาอิสลามจะให้ความสำคัญกับหลักการ 5 อย่างที่ต้องดูแลและบังคับมนุษย์ทุกคนต้องทำให้ได้ มีดังนี้

1. กฎในการดูแลศาสนา เพราะศาสนาเป็นเสมือนความเชื่อและเป็นความรับผิดของมนุษย์ที่ต้องดูแลศาสนา
2. กฎในการดูแลทรัพย์สิน การขโมยหรือการครอบครองทรัพย์สินผู้อื่นนั้น ในศาสนาอิสลามห้ามเด็ดขาด จึงทำให้มีข้อกฎนี้ขึ้นมา เพื่อไม่ให้ทรัพย์สินถูกละเมิดโดยคนอื่น
3. กฎในการดูแลชีวิต ในศาสนาอิสลามห้ามทุกคนฆ่ากันตามใจชอบ เพราะเป็นการละเมิดชีวิตของผู้อื่น มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะเกิด การทำแท้งในศาสนาอิสลามก็ถือว่าผิดเช่นเดียวกัน เพราะทารกมีสิทธิที่จะมีชีวิตตั้งแต่ที่อยู่ในครรภ์อีก
4. กฎในการดูแลความคิด ศาสนาอิสลามให้ความอิสระ เสรีในทางความคิด แต่ต้องอยู่ในขอบเขตของศาสนา
5. กฎในการดูแลตระกูล หมายถึงเครือญาติ ศาสนาอิสลามห้ามไม่ให้ตระกูลใดก็ตามทำลายอีกตระกูลหนึ่ง เพราะในแต่ละตระกูลนั้นอัลลอฮทรงสร้างทังหมด แม้จะเชื้อชาติใดก็ตาม ชาติหนึ่งจะละเมิดอีกชาติหนึ่งไม่ได้ เพราะศาสนาอิสลามกำหนดขอบเขตในเรื่องสิทธิมนุษยชน

ใน 5 ข้อดังกล่าวเป็นหลักพื้นฐานในกฎหมายสิทธิมนุษยชนในศาสนาอิสลามแบบดั้งเดิม แต่อุลามาอฺ (นักปราชญ์ศาสนาอิสลาม) บอกว่ามี 6 ข้อ คือมีกฎในการดูแลมารยาท ศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ เพิ่มขึ้นมาอีกข้อหนึ่ง หมายถึงศาสนาอิสลามห้ามดูถูกคนชาติอื่น เช่น จะบอกว่าชาติของฉันดีกว่าชาติของเธอ ชาติของฉันเจริญมากกว่าชาติของเธอ ถือเป็นการละเมิดกฎในการดูแลมารยาทของเราและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ถ้ามองศาสนาอิสลามในแบบเจาะลึกอีกจะพบว่า ความคิดของศาสนาอิสลามในเรื่องสิทธิมนุษยชน คือ คัมภีร์อัลกุรอานคือจุดศูนย์รวมทั้งหมด เพราะในอัลกุรอานได้กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนมากถึง 80 อายัต(โองการ) ส่วนที่กล่าวถึงศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ 20 อายัต เกี่ยวกับสรรพสิ่งบนโลก 150 อายัต

ความต่างระหว่างสิทธิมนุษยชนอิสลามกับตะวันตก
ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่างสิทธิมนุษยชนของชาวตะวันตกกับสิทธิมนุษยชนในศาสนาอิสลามคือ สิทธิมนุษยชนในแบบชาวตะวันตกจะขึ้นอยู่กับมนุษย์ ในขณะที่สิทธิมนุษยชนของศาสนาอิสลามจะขึ้นอยู่กับกฎ หมายถึง ความคิดและสิ่งที่อัลลอฮมอบหมายให้(wahyu)

จุดศูนย์กลางของศาสนาอิสลามคืออัลลอฮ ส่วนจุดศูนย์กลางของชาวตะวันตกคือมนุษย์หรือความคิดของมนุษย์ ถ้ามนุษย์ผู้ใดมีความคิดที่ดีไม่ว่าเรื่องใดก็ตามทุกคนก็จะถือแบบอย่างความคิดนั้น

ในขณะที่ศาสนาอิสลามจะไม่แยกระหว่างความคิดกับสิ่งที่อัลลอฮมอบหมายให้ออกจากกัน ความคิดจะไม่ขัดแย้งกับสิ่งที่อัลลอฮมอบหมายให้ ซึ่งต่างจากสิทธิมนุษยชนของชาวตะวันตกที่แยกระหว่างศาสนากับการเมืองออกจากกัน

สาเหตุที่ชาวตะวันตกแยกทั้งสองอย่างดังกล่าวออกจากกัน เพราะจากการวิจัยพบว่าในยุคมืดชาวตะวันตกถูกปกครองโดยศาสนจักร ซึ่งในเวลานั้นศาสนจักรปกครองโดยใช้ความรุนแรงกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนกลัวและไม่คิดต่อสู้หรือต่อต้านศาสนจักร

ในช่วงนั้นใครที่มีความคิดที่ขัดแย้งกับศาสนจักรจะถูกฆ่าทั้งหมด เช่น ประชาชนบอกว่าโลกกลมแต่ศาสนจักรบอกว่าแบน ถ้าใครคิดต่างจากศาสนจักรก็จะถูกฆ่า เหตุนี้เองที่ทำให้ชาวตะวันตกมีการแยกระหว่างความคิดและความศรัทธาออกจากกัน

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net