รัฐศาสตร์แฟร์: "โกหกนั้นสำคัญไฉน" ในมุมรัฐศาสตร์และสังคมวิทยา

 

4 ก.พ.2558 ณ เวทีกลาง งานรัฐศาสตร์แฟร์ บริเวณคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ "โกหกนั้นสำคัญไฉน" วิทยาการโดย วันชัย มีชาติ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ นิติ ภวัครพันธุ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชา สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 

การโกหกคืออะไร ทำไมต้องโกหก ในมุมของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา นิติมองว่า คำตอบมีหลายอย่าง ไม่จำเป็นต้องไม่ดี และไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ แต่มนุษย์โกหกทุกวัน ในชีวิตประจำวันมีมากมาย การโกหกอาจเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความสัมพันธ์ไว้ บางคนโกหกเพื่อนไม่อยากไปงานแต่บอกว่าไป เมื่อถึงเวลาโกหกว่าป่วย ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้นเราไม่ควรมองว่าการโกหกดีหรือไม่ดี แต่ควรมองว่าโกหกทำไมมากกว่า

ในด้านรัฐประศาสนศาสตร์ วันชัย กล่าวว่า การโกหกคือการพูดไม่จริง การพูดไม่จริงมีอยู่หลายระดับตั้งแต่ไม่พูดข้อเท็จจริงทั้งหมด ซึ่งเป็นการโกหกเหมือนกันแต่ดีกรีอาจไม่แก่เท่ากัน ไปจนถึงการพูดไม่จริงหรือการพูดเรื่องจริงผสมเรื่องไม่จริง มนุษย์เป็นสัตว์ที่ถูกสร้างให้หลอกคนรอบข้างรวมถึงตัวเอง จนมีวลีการโกหกระดับเทพต้องโกหกแม้กระทั่งตัวเองก่อนจะโกหกผู้อื่น โดยส่วนตัวมองว่าการโกหกเป็นปรากฏการณ์ปกติ แต่ถ้าถามว่าดีไหม ต้องดูว่าแต่ละคนตั้งเป้าอะไร การโกหกมักมีเหตุผลที่จะโกหก เช่น ตั้งเป้าหมายเป็นอะไร นักบริหาร คนทำงาน พ่อค้าแม่ค้า มีความจำเป็นต้องโกหกในมุมของการอยู่รอดบนโลก เช่น การโกหกทางการค้า เมื่อพ่อค้าซื้อของมา 80 คนซื้อคาดหวัง 85 แต่มันมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จะต้องขาย 87-89 ถึงอยู่รอด จำเป็นต้องบอกราคาทุนสูงกว่าความจริง ตั้งราคาขายที่พ่อค้าสามารถอยู่ได้ในโลกความเป็นจริง ทั้งนี้ไม่ได้สนับสนุนว่าการโกหกเป็นเรื่องดี แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและปฏิเสธไม่ได้ 

เขากล่าวด้วยว่า มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษแบบนี้ที่สร้างเรื่องหรือเหตุผลสนับสนุนการโกหกให้ดูชอบธรรม สัตว์อื่นไม่สามารถทำได้ คนที่ยิ่งเก่งเท่าไรยิ่งสามารถสร้างเรื่องได้มากเท่านั้น สิ่งที่คุณจะกลัวคือคนสอนหนังสือ นักคิด นักเขียน ผู้นำ คนเหล่านี้โกหกเก่ง แนบเนียน มีพลังทำให้คุณเชื่อแบบนั้นหรือ เป้าหมายชีวิตคือการหลุดพ้น ถ้าเป็นโลกของนักบรรลุ คุณจะไม่โกหก เลิกพูดเรื่องโกหก เพราะอยู่ในศีล

วันชัย เสริมว่า จากสิ่งที่อาจารย์นิติพูด โกหกทำไมเป็นสิ่งสำคัญ สังคมส่วนใหญ่ถ้าโกหกและไม่ทำร้ายใคร ไม่ใส่ร้ายใคร หรือการโกหกเพื่อคนอื่นแบบนั้นพอจะเปิดพื้นที่รับฟังได้ ดูที่เจตนาไม่ได้แฝงด้วยความไม่ดี เป็นโจทย์ใหญ่ที่ควรพิจารณาแค่ไหนได้ แค่ไหนไม่ได้ อาชีพไหนได้เยอะ อาชีพไหนได้น้อย คงต้องนิยามว่าเราคาดหวังการโกหกแค่ไหน

นิติคิดว่าการโกหกแบบสิ่งที่วันชัยพูดเป็นการโกหกแบบอุดมคติ จะขอเน้นประเด็นไปที่การโกหกมีความหมายว่าอะไร นิยามอย่างไร ย้อนไปที่บทเรียนในสังคมตะวันตกที่รับการโกหกไม่ได้นั้นเกิดขึ้นเพราะ หนึ่ง มองว่ามนุษย์ไม่ใช่สัตว์ มันไปเกี่ยวข้องกับการไว้วางใจ ถ้ามนุษย์โกหกบ่อยจะไม่สามารถไว้ใจได้ว่าส่วนไหนพูดเรื่องจริง ส่วนไหนพูดโกหก สอง ในสังคมตะวันตก มองว่าอีกฝ่ายกำลังถูกหลอก ถูกดูแคลนดูถูก คนที่โกหกมองว่าอีกฝ่ายโง่ ตามไม่ทัน ในมุมของฝรั่งนั้นรับไม่ได้ เจ็บปวดที่โดนหลอก แต่คนไทยไม่ใช่แบบนี้ คนไทยโกหกกันตลอด มันมีความหมายหลายอย่าง เป็นเรื่องตลก การแสดง คาเฟ่ โกหกเลอะเทอะ และสังคมหัวเราะกับมัน การโกหกในสังคมไทยมีหลายอย่างทั้งเรื่องตลกหรือเรื่องของคนฉลาด เช่น อาจารย์มองว่านิสิตจุฬาฯ ฉลาดมากมีลูกเล่นไหวพริบ เรื่องพวกนี้ถูกเล่ามากในนิทานในศรีธนญชัย มีการโกหกบ่อย ในแง่มุมการโกหกท่ามกลางสังคมไทยคนรู้สึกเดือดร้อน แต่ไม่ใช่ว่าการโกหกดีทุกอย่างมีเส้นแบ่งกติกา เมื่อไรที่บอกว่าการโกหกมันไม่ดี เมื่อมีการผิดกติกา มีเส้นแบ่ง เมื่อมีการล้ำเส้น จะรับไม่ได้

มุมของการสร้างเส้นแบ่ง วันชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า คือเรื่องของปัจเจก เป็นการละเมิดสัญญา โกหกได้แค่ไหน เป็นเรื่องของสัญญาความไว้วางใจ เรื่องไหนได้ เรื่องไหนไม่ได้ เช่น สัญญาระหว่างคู่ แต่ละปัจเจกระหว่างกัน แค่ไหนได้แค่ไหน โดยส่วนตัวมองว่ากติกาในการอยู่ร่วมกันอาจขาดเมื่อโกหกในเรื่องที่ตกลงกันไว้ ทั้งในระดับความสัมพันธ์ ในระดับสังคม

เมื่อถามว่ามีทางเลือกอื่นที่จะอยู่กันแบบไม่โกหก นิติกล่าวว่า ไม่มีทาง มันเป็นเรื่องของเส้นแบ่ง อย่างเรื่องสัญญาการค้า แค่ไหนรับไม่ได้แล้วจะมีการลงโทษ อย่ามองว่าโกหกเป็นคำพูด อย่างเรื่องการค้าตกลงแบบนี้ถึงเวลามาขึ้นราคาแบบนี้ไม่ได้ ต้องมีบทลงโทษ ผิดกติกา ผิดสัญญาระหว่างกัน ละเมิดไม่ได้ มันมีเส้นแบ่งแค่ไหน อย่างลูกชายโกหกตลอดไปโรงเรียนสนุกมาก แต่ถามว่าเมื่อคุณล้ำเส้นโดนลงโทษคือคุณไปละเมิดกติกาสัญญาระหว่างปัจเจกชน ในด้านระดับกว้างกว่าปัจเจกบุคคลคือการที่โดนรัฐโกหก เขาละเมิดเราตลอดเวลา เช่น เรื่องประวัติศาสตร์ที่หลอกลวง เขียนบิดเบือน แต่ทำให้ชาติดูดี รัฐดูดี นี่คือสิ่งที่สำคัญ ในแง่รัฐศาสตร์การโกหกคือการละเมิด ขัดขวางการรับรู้ประชาชน เราโดนละเมิดสิทธิการรับรู้ความจริงในฐานะที่เราเท่ากัน และจะต้องต่อสู้ที่จะบอกว่าโกหกต่อไปไม่ได้ แต่ไม่คิดว่าจะหยุดการโกหกได้

วันชัยกล่าวว่า มองในมุมรัฐ จะเกิดอะไรรัฐที่โกหก รัฐจะเสียในแง่การปกครอง เท่ากับหายนะของรัฐ รัฐเสียความเชื่อใจของคนมีต่อรัฐไม่ได้ รัฐที่โกหกคือรัฐที่ทำลายตัวเองในระยะยาว ผู้นำโกหกไหม ความจริงโกหกเป็นไฟ ในสามประโยคจริงหนึ่งประโยคก็เทพแล้ว โกหกแล้วผลคืออะไร คนยังเชื่อใจไหม เรื่องที่โกหกเป็นการละเมิดกติกาไหม ลิดรอนสิทธิไหม หรือปิดหูปิดตาประชาชนไหม คนที่โกหกเก่งจะสามารถสร้างมิติของการโกหกว่าเป็นเรื่องจริง  เช่น เครื่องมือการล้างสมอง ในแบบสื่อและโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองซึ่งทำให้การใช้ปืนขู่แล้วจับเข้าค่ายปรับทัศนคติเป็นเรื่องกระจอกเลย สื่อที่ผ่านมาประชาชนฟังเรื่อยๆ อัดข้อมูลเรื่อยๆ ประชาชนเปลี่ยน เป็นเรื่องทางจิตวิทยา เช่น เมื่อมีคนร้อยคนบอกว่าคุณบ้า คุณจะเริ่มสงสัย ในมุมหนึ่งที่รัฐ ส่วนใหญ่ชอบใช้กลไกวิธีนี้ ใช้โลกบันเทิงกับประชาชน และใช้ได้ดีมากในสังคมไทย คนที่ถูกสื่อลากจูงไม่รู้ว่าตัวเองถูหลอกเป็นเรื่องน่ากลัว และเรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท