โวย สธ.เลือกปฏิบัติ ไม่ขึ้นทะเบียนบัตรทอง แต่ยังขึ้นสิทธิ์จ่ายตรงขรก.

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขส่งหนังสือไปยังหน่วยบริการทั่วประเทศ ยกเลิกการขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และมองว่า ปลัด สธ.จะนำคนไข้มาเป็นตัวประกันไม่ได้ เพราะว่าเรื่องนี้ไม่ได้แก้ปัญหาที่ขัดแย้งอยู่เลย ซ้ำยังทำให้คนไข้เสียเวลาในการรักษาพยาบาล อาจส่งผลต่อชีวิตและสุขภาพผู้คน ดังนั้นหากขัดแย้งในนโยบายหรือการบริหารงบประมาณควรที่จะไปแก้ไขตรงจุดนั้นมากกว่า ส่วนที่มีการระบุว่าต้องการให้ สปสช.ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเช่นเดียวกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) หรือบริษัทประกันภัยนั้น ต้องย้อนถามว่า เมื่อเห็นเช่นนี้ทำไม สธ.จึงปล่อยให้ขึ้นทะเบียนมานานกว่าสิบปีมาแล้ว แต่กลับมาอ้างขอยกเลิกตอนนี้ในช่วงที่มีข้อเสนอขอให้ปรับการจัดสรรงบประมาณ

“หากอ้างว่า ต้องการให้ สปสช.ขึ้นทะเบียนผู้ป่วยเช่นเดียวกับประกันสังคม ก็ควรที่จะทำมาตั้งแต่ช่วงแรก ไม่ใช่ปล่อยให้หน่วยบริการขึ้นทะเบียนมาเวลากว่า 10 ปีมาแล้ว การกำหนดให้ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการในช่วงเริ่มต้นก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เป็นการยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ดังนั้นจึงมองว่าเรื่องนี้จึงเป็นเพียงการหาเหตุ หลังมีการแย่งบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซ้ำยังเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น” ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวและว่า เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่คงไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้แน่นอน

นางปรียานันท์ กล่าวต่อว่า ในการขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลนั้น นอกจากหน่วยบริการสังกัด สป.สธ. ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว สธ.ยังทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิให้กับระบบรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งหาก สธ. ประกาศยกเลิกเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังถือเป็นการเลือกปฏิบัติ ต้องดำเนินการให้เหมือนกัน ซึ่งโดยความเห็นส่วนตัวมองว่าหน่วยบริการ สธ.ควรที่จะยังคงหน้าที่นี้ต่อไป เพราะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ใช่เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยต้องวิ่งไปหาที่ขึ้นทะเบียนแล้วค่อยมารับการรักษา

ต่อข้อซักถามว่า ทาง สธ.ระบุว่า เหตุที่ต้องยกเลิกเป็นเพราะปัญหาทางกฎหมาย เนื่องจากบอร์ด สปสช.ได้มีมติยกเลิกให้ สสจ.เป็น สปสช.จังหวัด ดังนั้นจึงต้องปรับให้สอดคล้อง นางปรียานันท์ กล่าวว่า เรื่องอย่างนี้ชาวบ้านอย่างตนไม่รู้ลึกเพราะเป็นเรื่องของระดับนโยบาย แต่ว่าสิ่งที่เห็นชัดเจนและเป็นมุมมองของชาวบ้าน คือต้องมีการแยกผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการออกจากกัน โดย สปสช.ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชน และ สธ.เองก็ไม่ควรมีความพยายามดึงกองทุนไปบริหารเอง ซึ่งหากมีปัญหาอย่างไรก็ควรแก้ไขที่ตรงจุดนั้นและพัฒนาระบบร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมองในเชิงระบบ หน้าที่การขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิต้องเป็นหน้าที่ของผู้ซื้อบริการ ไม่ใช่ผู้ให้บริการ นางปรียานันท์ กล่าวว่า เราไม่รู้ว่าก่อนหน้านี้มีการตกลงกันอย่างไร แต่เมื่อเกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชาชนก็เคยชินกับการขึ้นทะเบียนที่หน่วยบริการมาเป็นเวลาสิบปีแล้วถ้าจะยกเลิกควรต้องมีการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย โดยทั้ง สธ. และ สปสช.ต้องร่วมกันชี้แจงถึงข้อดีและข้อเสียที่จะเกิดขึ้น รวมถึงมาตรการรองรับ นอกจากนี้ต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นจากทุกภาคส่วน เป็นเพราะเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคนในประเทศทั้งหมด จะมาประกาศแบบนี้เลยไม่ได้ และหาก สธ.สามารถยืนยันข้อดีของการปรับเปลี่ยน ส่วนตัวเชื่อว่าประชาชนก็คงไม่ค้าน

นางปรียานันท์ กล่าวว่า ก่อนที่หนังสือสั่งการฉบับดังกล่าวจะมีผลในวันที่ 30 เมษายน นั้น คิดว่าระดับนโยบาย โดย ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และในฐานะประธานบอร์ด สปสช. และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ควรที่จะเรียกทุกภาคส่วนเข้าหารือโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนจนเกิดความเดือดร้อน.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท