Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เพราะแรงงานภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย คือ ชีวิตที่ต้องอยู่ภายใต้สัญญาจ้างแรงงานที่เรียกว่า “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 575” ที่ระบุไว้เพียงสั้นๆว่า “อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้”

จึงพบบ่อยครั้งว่านายจ้างมีสิทธิที่จะไม่มอบหมายงานให้ลูกจ้างทำก็ได้ ตราบใดก็ตามที่นายจ้างยังคงจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงาน นายจ้างย่อมมีอำนาจในการบริหารและบังคับบัญชาลูกจ้าง ภายใต้เหตุผลที่จำเป็นและสมควรในการบริหารงานของตนเองได้

สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาที่มีลักษณะเฉพาะหรือที่เรียกในทางกฎหมายว่า “เอกเทศสัญญา” คือ เป็นสัญญาต่างตอบแทนระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งลูกจ้างตกลงจะทำงานให้นายจ้าง มีเจตนาผูกพันตนเป็นลูกจ้างเพื่อรับสินจ้างเท่านั้น และต้องอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายจ้าง ส่วนผลของานนั้นจะสำเร็จหรือไม่ไม่สำคัญ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างแล้ว โดยนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างหรือค่าจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย มาตรา 575 เป็นกฎหมายฉบับแรกที่ได้ให้ความหมายของคำว่า “สัญญาจ้างแรงงาน” ไว้โดยตรง กฎหมายแรงงานที่ถูกยกร่างต่อมาภายหลัง คือ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ไม่ได้ให้ความหมายของ “สัญญาจ้างแรงงาน” ไว้ แต่มีการให้ความหมายของ “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง”แทน ซึ่งเป็นความหมายที่วางอยู่บนพื้นฐานของสัญญาจ้างแรงงานของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำหรับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้ให้ความหมายทั้ง “สัญญาจ้าง” “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง”

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ได้มีการระบุเรื่องการมอบหมายงานจากนายจ้างให้ลูกจ้างทำ ถือเป็นสิทธิของนายจ้างที่จะสามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด

กับสถานการณ์ล่าสุดกรณีบริษัทโคบาเทค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ก่อตั้งเมื่อปี 2545 ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนปั๊มเชื้อเพลิงแรงดันสูงและชิ้นส่วนหัวฉีดเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองบอนแดง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี มีนายฮารูฮิโร่ โคบายาชิ, นายชินจิ คาวาอิ, นายโคทาโร่ ฟูรูตะ, นายโทะโมะยูคิ โอะโนะงิ, นายมาซากิ คอนโดะ เป็นกรรมการบริหาร

ปัจจุบันมีพนักงานทั้งหมด 348 คน โดยเป็นพนักงานประจำ  318 คน และพนักงาน Subcontract 30 คน กว่า 95% เป็นพนักงานหญิง ทั้งนี้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานโคบาเทคประเทศไทยขึ้นมาเมื่อปี 2552 ปัจจุบันมีนางสาวธัญญานันท์ บุญจันดา เป็นประธานสหภาพแรงงาน เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของลูกจ้างในการเจรจากับบริษัทในเรื่องต่างๆ โดยเป็นสมาชิกกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก องค์กรสมาชิกของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)

ย้อนไปเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557 สหภาพแรงงานโคบาเทคฯได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทโคบาเทคฯ เกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องโบนัส , การปรับเงินขึ้น, ค่าอาหาร, ค่าเช่าบ้าน เป็นต้น ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาข้อเรียกร้องตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ และกลายเป็นข้อพิพาทแรงงาน

ต่อมาพนักงานประนอมข้อพิพาทจึงได้นัดไกล่เกลี่ยแต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ ในที่สุดบริษัทฯจึงได้ใช้สิทธิปิดงาน (ไม่ให้ลูกจ้างทำงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้ชั่วคราวในระหว่างยังมีข้อพิพาทแรงงานอยู่) เฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงานฯ จำนวน 195 คนที่เกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเรียกร้อง โดยให้เริ่มหยุดงานตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะหาข้อยุติร่วมกันได้ (ในระหว่างที่ปิดงาน นายจ้างมีการรับลูกจ้างเหมาค่าแรงและลูกจ้างใหม่เข้ามาทำงานแทนกลุ่มลูกจ้างที่ถูกปิดงาน)

หลังจากนั้นมีการเจรจากันหลายครั้งจนได้ข้อยุติเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2558 มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงสภาพการจ้าง ซึ่งมีผลผูกพันเฉพาะผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องจำนวน 195 คนเท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 9 มกราคม 2559 ทั้งนี้ข้อตกลงหนึ่งระบุว่า บริษัทตกลงให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2558 เป็นต้นไป โดยให้ลูกจ้างไปรายงานตัวในวันที่ 15 มกราคม 2558 เพื่อเข้าทำงาน

แต่เมื่อลูกจ้างไปรายงานตัว กลับพบว่าบริษัทฯได้ให้ลูกจ้างเซ็นหนังสือสัญญายินยอมรับทราบเงื่อนไขการว่าจ้างก่อนเข้าทำงาน รวมทั้งกำหนดให้ลูกจ้างกลุ่มนี้กลับไปปรับทัศนคติทางด้านความรุนแรงและทางด้านจิตใจที่บ้านตั้งแต่วันที่ 15–20 มกราคม 2558 และให้กลับมารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 21 มกราคม 2558

21 มกราคม 2558 หลังจากที่ลูกจ้างกลับมารายงานตัวอีกครั้ง บริษัทได้ให้ลูกจ้างทั้ง 195 คนนี้ ไปนั่งในเต็นท์ที่บริษัทฯจัดเตรียมไว้ให้ที่บริเวณด้านหลังโรงงาน โดยไม่มีการมอบหมายงานให้ทำแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีการจัดเตรียมน้ำดื่มพร้อมสุขาเคลื่อนที่ไว้ให้จำนวน 5 ห้อง

ณ บัดนี้ ลูกจ้างทั้ง 195 คน ยังคงนั่งอยู่ในเต็นท์หลังโรงงาน ท่ามกลางชะตากรรมที่ยากจะกำหนด เมื่อกระบวนการผลิตของนายจ้างยังดำเนินไปตามปกติ และมีลูกจ้างกลุ่มใหม่เข้ามาทำงานทดแทน “สมาชิกสหภาพแรงงาน” ในฐานะ “ลูกจ้าง” กลุ่มนี้เรียบร้อยแล้ว

 

ฤา นี้จะคือ การล้มสหภาพแรงงานโคบาเทคประเทศไทยด้วยทางลัด

แม้มีการยื่นหนังสือถึงพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ในนามของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) แต่นั้นเองภายใต้ที่สถานการณ์การ “ละเมิดสิทธิแรงงาน” กลายเป็นเรื่อง “ชาชิน” และ “เปล่าดาย” ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง กลไกรัฐที่มีอยู่ก็ราวกับว่า “ไร้น้ำยา” ชั่วขณะ

นี้ไม่นับว่าการฝากความหวังไว้ที่ “ศาลแรงงาน” ที่พึ่งสุดท้ายของลูกจ้าง ก็กลับกลายเป็นหนทางที่ริบหรี่มากยิ่งขึ้นไปอีก

เพราะเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2850/2525 ที่กลายเป็นบรรทัดฐานชัดเจนในการปฏิบัติว่า “ไม่มีบทบัญญัติใดในกฎหมาย ทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายฉบับอื่นๆกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำ และไม่ปรากฏอีกว่าสัญญาจ้างได้กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่เช่นนั้นด้วย

ดังนั้นการที่นายจ้างจะมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำหรือไม่ ถือเป็นสิทธิของนายจ้าง และเมื่อนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างแล้ว ก็ถือไม่ได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของลูกจ้าง ลูกจ้างจึงไม่สามารถฟ้องศาล เพื่อขอให้ศาลพิพากษาให้นายจ้างมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำได้

นอกจากนั้นแล้วการที่ลูกจ้างอ้างว่าตนเองเสียขวัญในการทำงาน ได้รับความอับอาย หรืออาจไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้น และนำไปสู่การลาออก ศาลเห็นว่าการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับ ทั้งการลาออกหรือไม่ลาออกก็เป็นความสมัครใจของลูกจ้างเอง จะถือว่าเป็นผลโดยตรงจากการที่บริษัทไม่มอบหมายงานให้ลูกจ้างทำมิได้”

โดยที่มาของคำพิพากษาฉบับนี้เกิดขึ้นจากที่ลูกจ้างคนหนึ่งได้ไปฟ้องศาลแรงงานว่า “บริษัทไม่มอบหมายงานให้ลูกจ้างทำ ถือเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ทำให้ลูกจ้างเสียหาย คือ เสียขวัญ ไม่มีผลงาน ทำให้อาจจะไม่ได้ขึ้นเงินเดือนและอับอายเพื่อนร่วมงาน จนอาจเป็นเหตุให้ลาออกไปเองได้ ขอให้ศาลพิพากษาให้บริษัทมอบหมายงานตามหน้าที่แก่ลูกจ้างตามปกติที่เป็นมา”

แม้ว่าคำพิพากษาฉบับนี้จะเกิดขึ้นในสมัยที่ยังไม่มี พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เกิดขึ้นมาในประเทศไทย แต่เมื่อมาพิจารณากฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องในยุคนี้ ก็พบในท่วงทำนองเดียวกันว่านิยามของคำว่า “นายจ้าง” หมายถึงเพียง “ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้” ซึ่งก็ไม่มีกฎหมายฉบับใดเช่นเดียวกันที่ระบุว่า นายจ้างต้องมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำ

กล่าวได้ว่าจึงไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายแต่อย่างใด ถ้านายจ้างไม่มอบงานให้ลูกจ้างทำ ตราบใดที่นายจ้างยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างอยู่ นอกจากนี้นายจ้างยังมีอำนาจบังคับบัญชาลูกจ้าง ซึ่งอำนาจบังคับบัญชานั้น คือ นายจ้างมีสิทธิที่จะออกคำสั่ง หรือระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้ลูกจ้างปฏิบัติ เมื่อลูกจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน นายจ้างมีสิทธิที่จะลงโทษลูกจ้างให้ ซึ่งรวมถึงการลงโทษพักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างด้วยเช่นกัน

ช่องว่างดังกล่าวนี้เองที่ลูกจ้างบางส่วนซึ่งเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร ทำให้ในบันทึกข้อตกลงสภาพการจ้างจึงไม่ได้มีการระบุชัดเจนว่า เมื่อข้อพิพาทแรงงานสิ้นสุดลงและบริษัทตกลงรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานแล้วนั้น บริษัทต้องมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำในตำแหน่งเดิมก่อนที่จะมีการปิดงาน ส่วนใหญ่มักพบว่าระบุเพียงกว้างๆว่า จะให้ไปรายงานตัวกลับเข้าทำงานวันใด เวลาใด เพียงเท่านั้น

นี้เองจึงทำให้บริษัทหลายๆแห่งเลือกที่จะ “ฉวยโอกาส” ไม่มอบหมายงานให้ลูกจ้างทำ โดยเฉพาะลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับ “การยื่นข้อเรียกร้อง” หรือการเป็น “สมาชิกสหภาพแรงงาน” เมื่อข้อพิพาทแรงงานได้ยุติลง โดยให้ไปนั่งรอในเต็นท์ที่บริษัทจัดเตรียมไว้ให้ กรณีเช่นนี้เคยพบหลายๆบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศไทย เช่น กรณีของบริษัททีเอ ออโตโมทีฟ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด[1] หรือกรณีของบริษัทเอ็นเอ็กซ์พี แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์)[2] และล่าสุด คือ กรณีบริษัทโคบาเทค (ประเทศไทย) จำกัด

 

หมายเหตุ – ผู้เขียนไม่มีคำตอบใดๆสำหรับ “ชะตากรรม” ของสหภาพแรงงานโคบาเทคประเทศไทย เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนที่ติดตามข่าวสารการละเมิดสิทธิสหภาพแรงงาน เราหลายคนอ่านข้อมูลลักษณะนี้จน “ชิน” “ชา” และ “เฉยเมย” แม้จะรู้ทั้งรู้ว่ามันโหดร้ายสำหรับแรงงานที่กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์นั้นปานใด ข้อสรุปของมันจึงมีเพียงว่า กฎหมายแรงงานประเทศไทยมีช่องว่าง กลไกรัฐอ่อนแอ นายจ้างไร้มนุษยธรรม ลูกจ้างไม่สามารถรวมตัวเจรจาต่อรองได้ เรื่องของแรงงานกลายเป็นเรื่องเอกเทศระหว่างความปราณีของนายจ้าง และการสยบสงบเงียบของลูกจ้าง

ผู้เขียนหวังเพียงให้บทความนี้ได้เผยอีกแง่มุมหนึ่ง และกระตุ้นเตือนให้มีการตระหนักอย่างจริงจังลึกลงไปกว่าการพร่ำโทษและมองว่า “สหภาพแรงงาน” เป็นเพียงเรื่องของกลุ่มลูกจ้างที่ตั้งหน้าตั้งตาประท้วงเพื่ออยากได้โบนัสและเงินเดือนขึ้นในทุกๆปีเพียงเท่านั้น




[1] เลิกจ้างสมาชิกสร.เพื่อนแรงงานไทยข้อหาทำให้นายจ้างเสียชื่อเสียง สืบค้นได้ที่http://voicelabour.org/เลิกจ้างสมาชิกสร-เพื่อน/

[2] ลูกจ้างNXPโอดล่าสุดทำงานในเต็นท์ 19 ส.ค.นี้กลับเข้าที่ สืบค้นได้ที่ http://voicelabour.org/ลูกจ้างnxpโอดล่าสุดทำงาน/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net