พูดคุยสันติสุขจะเริ่มพฤษภาคม-กอ.รมน.ลุยเวทีระดับพื้นที่เพื่อสันติภาพ

คาดพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้จะเริ่มเดือนพฤษภาคม กอ.รมน.เดินหน้าเวทีพูดคุยสันติสุขระดับพื้นที่ เผยจัดแล้ว 20 ครั้ง ด้านนายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งที่ 230 เรื่องการพูดคุยแล้ว ทหารชี้การเจรจาอาจต้องสร้างสภาวะแวดล้อมในเชิงบังคับ
 
 
พล.ต.ชวลิต เรียนแจ้ง ผู้อำนวยการสำนักการบังคับใช้กฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค 4 สน.
 
คาดพูดคุยสันติสุขจะเริ่มเดือนพฤษภาคม
 
พล.ต.ชวลิต เรียนแจ้ง ผู้อำนวยการสำนักการบังคับใช้กฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค 4 สน.เปิดเผยว่า คาดว่าเดือนพฤษภาคมนี้การพูดคุยเพื่อสันติสุขจะมีการลงนามอย่างเป็นทางการ และเดินหน้าไปได้อย่างมั่นคง
 
พล.ต.ชวลิต เปิดเผยเรื่องนี้ในเวทีเสวนาพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่โรงแรมยะลาแกรนด์พาเลซ จ.ยะลา เมื่อวันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา โดยยืนยันว่าจะให้ประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกเหมือนเดิม และยังคงมีดาโต๊ะ สรี อาหมัด ซัมซามิน ฮาชิม เป็นหัวหน้าคณะเหมือนเดิม แม้จะเกษียรอายุราชการแล้วก็ตาม
 
“ที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าทำไมบรรยากาศการพูดคุยครั้งใหม่ถึงดูเงียบๆ ไม่ค่อยมีความคืบหน้า ความจริงแล้วเบื้องหลังไม่ได้เงียบ เรากำลังทำข้อตกลงหรือกำหนดกรอบการพูดคุยกันอยู่” พล.ต.ชวลิต กล่าว
 
พล.ต.ชวลิต อธิบายว่า การพูดคุยครั้งที่ผ่านมาสามารถถอดบทเรียนได้มากมาย ซึ่งมีนักวิชาการทำหน้าที่นี้อยู่ ท้ายสุดขอย้ำว่า การพูดคุยเพื่อสันติสุขต้องใช้เวลาค่อนข้างนานอย่างมีขั้นมีตอน
 
ลุยจัดเวทีพูดคุยระดับพื้นที่ 20 ครั้งแล้ว
 
พล.ต.ชวลิต เปิดเผยด้วยว่า สำนักการบังคับใช้กฎหมายและสิทธิมนุษยชนทำหน้าที่ประสานงานในพื้นที่ 2 อย่างหลักๆ คือ 1.เปิดพื้นที่เสวนากับกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มเห็นต่างจากรัฐหรือกลุ่มที่เป็นกลาง และ 2.ทำหน้าที่สร้างความเข้าใจโดยการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างในต่างประเทศ
 
“การพูดคุยครั้งที่ผ่านมาดูเหมือนจะเร็วไปหน่อย แต่เราก็จะถอดบทเรียนและปรับแก้ในสิ่งที่ผิดพลาด และจะพยายามให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดเวทีพูดคุยในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 20 ครั้งแล้ว และได้เขียนรายงานส่งให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)” พล.ต.ชวลิต กล่าว
 
พล.ต.ชวลิต กล่าวอีกว่า โครงสร้างการพูดคุยเพื่อสันติสุขครั้งใหม่นี้มี 3 ระดับ คือ ระดับคณะผู้บริหาร มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะ ระดับคณะพูดคุย มี พล.อ.อักษรา เกิดผล เป็นหัวหน้าคณะ และระดับคณะทำงานในพื้นที่ มีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นหัวหน้าคณะ
 
“คณะทำงานในพื้นที่มี 2 หน้าที่หลัก คือ จัดเวทีเสวนาและนำเสนอข้อมูลจากเวที รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับประชาชนระดับรากหญ้า โดยชี้ให้เห็นว่าปัญหาคืออะไร และสามารถยุติปัญหาด้วยการพูดคุยได้อย่างไร โดยยกตัวอย่างกรณีความขัดแย้งในต่างประเทศที่สามารถคลี่คลายได้แล้ว” พล.ต.ชวลิต กล่าว
 
พล.ต.ชวลิต กล่าวด้วยว่า ภาคประชาสังคมมีความสำคัญมากในช่วงเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง โดยเป็นเหมือนดังแรงผลักที่จะทำให้กระบวนการพูดคุยเดินหน้าต่อไปได้ ยังเปรียบเสมือนโซ่ข้อกลางที่สามารถส่งต่อความต้องการของประชาชนสู่ระดับบริหารได้
 
คำสั่งนายกรัฐมนตรี 230 เรื่องการพูดคุย
 
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์/โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน.กล่าวว่า ในกระบวนการสร้างสันติภาพนั้นได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230 ออกมาแล้ว และจะประกาศออกมาอย่างชัดเจนในไม่ช้า
 
พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวต่อไปว่า ตามโรดแมปของ คสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ช่วงนี้ยังอยู่ในระยะเวลาของการทำความเข้าใจและสร้างความไว้วางใจ ส่วนเรื่องกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องของความรู้สึก โดยจะต้องมองไปยังหลายๆ ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ไม่ใช่มองแค่เพียงฝ่ายเดียว
 
ต้องสร้างสภาวะแวดล้อมในเชิงบังคับ
 
เจ้าหน้าที่ทหารนายหนึ่ง กล่าวในวงเสวนาว่า การสร้างสภาวะแวดล้อมเกื้อกูลจะแก้ปัญหาได้ยากกว่าการสร้างสภาวะแวดล้อมในเชิงบังคับ เช่น ในช่วงสงครามโลกการที่ญี่ปุ่นยอมเจรจาหรือพูดคุยกับฝ่ายพันธมิตรเพราะโดนทิ้งระเบิดปรามณูใส่ ดังนั้นต้องทำให้ขบวนการจนมุมเสียก่อนเขาถึงจะยอมพูดคุย เพราะหากเขายังคิดว่าเขาเหนือกว่าเช่นในปัจจุบันนี้อยู่ การพูดคุยหรือเจรจาจริงๆ ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก
 
เจ้าหน้าที่ทหารคนเดิมระบุว่า การที่จะทำให้ฝ่ายขบวนการจนมุมมีหลายปัจจัย คือ 
 
1.เรื่องประวัติศาสตร์จะต้องให้มีการยอมรับความจริงและตีแผ่ออกไป เช่น สอนในโรงเรียน เป็นต้น ทำให้ขบวนการบิดเบือนประวัติศาสตร์ไม่ได้ ที่สำคัญจะต้องไม่นำเสนอข้อมูลเท็จที่อาจถูกตอบโต้ได้
 
2.เรื่องศาสนา ต้องนำเสนอประเด็นการญิฮาดออกสู่สาธารณะ เช่น ให้ผู้นำศาสนาออกมาฟัตวาว่าดินแดนแห่งนี้ไม่ใช่ดินแดนแห่งสงครามหรือไม่ใช่สงครามศาสนา
 
3.บาดแผลในอดีตที่เป็นเงื่อนไขความรุนแรง ต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นจริง แต่มีเบื้องหลังที่เป็นหลุมพรางของขบวนการ ซึ่งต้องเอาออกมาตีแผ่อย่างไม่มีเงื่อนงำ และทำให้เห็นว่าเป็นปัญหาส่วนบุคคลไม่ใช่ปัญหาของรัฐ 
 
และ 4.ในเรื่องของมาตุภูมิ จะต้องชี้ให้ชัดว่าเรามาจากมาตุภูมิเดียวกัน ไม่ได้อพยพมา ดังนั้นเราปรียบเสมือนพี่น้องกันแต่คนละศาสนา
 
“โดยสรุปคือเมื่อประชาชนเข้าใจความจริงที่เราตีแผ่ออกไป จะเกิดความไม่เห็นด้วยและต่อต้านขบวนการ ถึงตอนนั้นขบวนการจะเข้าตาจน จนต้องยอมเจรจาอย่างเต็มใจ” เจ้าหน้าที่หารนายนี้กล่าว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท