iLaw ตอบ 7 คำถาม ทำไมยังค้าน "ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ยังคงเป็นที่พูดถึงอย่างต่อเนื่องสำหรับ "ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล" โดยเฉพาะกระแสคัดค้านจากภาคส่วนต่างๆ จนทำให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องออกมายืนยันหนักแน่ว่าต้องมีการแก้ไขอย่างแน่นอน เพราะร่างที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่นั้นยังไม่สิ้นสุดและยังมีอีกหลายขั้นตอนในการแก้ไข ซึ่งระหว่างนี้จะมีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงร่างกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ สพธอ.ยังย้ำว่าร่างกฎหมายชุดนี้มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกในช่วงเวลานี้

iLaw จึงขอชวนถกเถียงในประเด็นเหล่านี้ให้ต่อเนื่อง และขอร่วมเปิดประเด็นต่อข้อถกเถียงเหล่านั้นด้วย เพื่อสร้างบทสนทนาอย่างมีเหตุมีผลบนพื้นฐานข้อเท็จจริง เพื่อให้สังคมที่กำลังตื่นตัวกับ "ชุดกฎหมายความมั่งคงดิจิทัล" ได้เรียนรู้และขบคิดไปด้วยกัน

Q1: การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญ ตอนนี้ประเทศไทยล้าหลังกว่าประเทศอื่นมาก จึงจำเป็นต้องมีการวางนโยบายระดับชาติในประเด็นนี้

A1: ไม่มีใครปฏิเสธความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล แต่จากภาพรวมของร่างกฎหมายชุดนี้ ยังไม่เห็นทิศทางในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลที่ชัดเจน เห็นแต่การจัดวางโครงสร้างเพื่อรวบอำนาจในการควบคุมดูแลการสื่อสารของประชาชนไว้ที่ส่วนราชการ ไม่เน้นการกระจายอำนาจแบบกำกับดูแล ซึ่งเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับการเปิดพื้นที่การแข่งขันเสรีสำหรับภาคเอกชน

เมื่อดูภาพรวมของร่างกฎหมายทั้งหมด ประกอบกับร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการสื่อสารบนโลกออนไลน์อื่นๆ จึงไม่อาจเรียกร่างกฎหมายชุดนี้ว่า "ชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล" แต่เรียกว่า "ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล"

 

Q2: การโจมตีทางไซเบอร์ เป็นภัยอันตรายยุคใหม่ ประเทศไทยจำเป็นต้องรีบออกกฎหมายมารับมือให้ทันสถานการณ์

A2: แม้จะไม่มีร่างกฎหมายชุดความมั่นคงดิจิทัล ปัจจุบันการเจาะระบบ หรือการโจมตีทางไซเบอร์ก็เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 อยู่แล้ว เรามีหน่วยงานที่ัตั้งขึ้นเพื่อรับมือปัญหาการโจมตีทางไซเบอร์ เช่น กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่สามารถดักรับข้อมูลการสื่อสาร ยึดเครื่องมือสื่อสาร เจาะระบบ ถอดรหัสคอมพิวเตอร์ โดยต้องขอหมายศาลก่อน

นอกจากนี้ยังมี กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ที่ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การสืบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งในคดีสำคัญที่ประกาศให้เป็นคดีพิเศษ กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดีเอสไอในการดักฟังหรือเข้าถึงข้อมูลของผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่ต้องมีหมายศาลอยู่แล้ว

 

Q3: นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า "ถ้ามีเรื่องเขาถึงทำ ถ้าไม่มีเรื่อง เขาไม่ได้ไปควานเธอ ไม่ได้ไปตรวจโทรศัพท์เธอ ชั้นจะไปตรวจเธอทำไม ชั้นไม่อยากตรวจ ชั้นไม่อยากรู้ เรื่องส่วนตัวชั้นไม่เกี่ยว เธอจะไปพูดอะไรกับใครชั้นไม่เกี่ยวหรอก"

A3: คำกล่าวเช่นนี้อยู่บนความเชื่อที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนจะเป็นคนดี เป็นคนซื่อสัตย์ แต่ในความเป็นจริงมีความเป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่อาจจะใช้อำนาจนี้ในการกลั่นแกล้งคนที่ตนไม่ชอบได้ หรือเจ้าหน้าที่เองอาจเป็นเครื่องมือให้ฝ่ายการเมืองเข้าใช้อำนาจนี้ทำลายฝ่ายตรงข้ามของตนเองได้ ดังนั้นอำนาจที่มากก็มีแนวโน้มจะฉ้อฉลมาก

หากต้องการมีอำนาจมากก็ต้องพร้อมสำหรับความรับผิดชอบมากเช่นกัน ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวาง เพื่อตรวจสอบและจับกุมผู้กระทำความผิด ก็ย่อมต้องมีบทบัญญัติว่าหากมีการใช้เพื่อตรวจสอบและจับกุมคนบริสุทธิ์ด้วยแล้ว ความรับผิดชอบที่ตามมาจะเป็นอย่างไร

 

Q4: ถ้าแก้ไขมาตรา 35 (3) ของ ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ ให้การดักฟังข้อมูลประชาชนต้องขอหมายศาลก่อน แล้วจบไหม?

A4: การขอหมายศาลอาจช่วยถ่วงดุลการใช้อำนาจได้ในระดับหนึ่ง แต่จากงานวิจัยผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พบว่าในทางปฏิบัติเมื่อเจ้าหน้าที่ขออนุญาตศาลเพื่อปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ ศาลทำงานลักษณะคล้าย “ตรายาง” คือ มีคำสั่งอนุญาตตามที่ขอมาทั้งหมด แม้ว่าเป็นคำขอปิดกั้นเว็บไซต์จำนวนหลายพันยูอาร์แอล ศาลก็สั่งอนุญาตภายในวันเดียวกัน ดังนั้นการให้ศาลเป็นเพียงกลไกเดียวในการถ่วงดุลอาจจะไม่เพียงพอในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

กลไกการคุ้มครองที่ดี ควรเริ่มต้นจากบัญญัติกฎหมายให้ชัดเจนก่อนว่าอำนาจของเจ้าหน้าที่คืออะไรบ้าง

 

Q5: กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเรื่องสำคัญ ประเทศอื่นมีหมดแล้ว ประเทศไทยรอมาสิบกว่าปีแล้วยังผ่านไม่สำเร็จเสียที

A5: การสร้างบรรยกาศการรับรู้ของสังคมคือหัวใจอย่างหนึ่งของการออกกฎหมาย ว่าคนจะยอมรับอำนาจนั้นๆ หรือไม่ มิเช่นนั้นการบังคับใช้กฎหมายก็ไร้ประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาสังคมไทยก็ยังตระหนักถึงปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลน้อย และสังคมไทยยังมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นนี้น้อย หากมองในแง่ดีกระบวนการที่ยาวนานย่อมเกิดจากการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลายและยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ลงตัวได้

ดังนั้นหากใช้เวลาพิจารณากฎหมายนานแต่ได้กฎหมายที่มีเนื้อหาเป็นที่ยอมรับ พร้อมกับความตระหนักรู้ร่วมกันของสังคม ก็น่าจะดีกว่ากฎหมายที่ออกมาอย่างรวดเร็ว ขาดความรอบคอบ ไม่สอดคล้องกับความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคม และอาจสร้างปัญหาในการบังคับใช้ในอนาคต

 

Q6: ทีมผู้ร่างกฎหมายยอมรับแล้วว่าร่างมีปัญหา และยินดีแก้ไข ทำไมยังต้องคัดค้านอีก

A6: ปัจจุบันร่างกฎหมายชุดนี้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว โดยหลักการแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เสมือน "ช่างเทคนิค" คือ มีหน้าที่ปรับปรุงการใช้คำในร่างกฎหมายให้รอบคอบรัดกุมตรงตามเจตนารมณ์ของผู้ร่าง และแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยเท่านั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีอำนาจและไม่สมควรใช้อำนาจแก้ไขหลักการสำคัญในร่างกฎหมาย

หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเสร็จ ร่างกฎหมายชุดนี้จะถูกส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้พิจารณา ซึ่งในกระบวนการก็อาจมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาและแก้ไขในรายละเอียด และอาจเรียกทีมผู้ร่างไปให้ความเห็นในขั้นตอนนี้ได้ แต่ผู้มีอำนาจตัดสินใจที่แท้จริงคือ สนช. ซึ่งสมาชิกสนช.ยังไม่มีท่าทีชัดเจนว่าจะแก้ไขร่างกฎหมายชุดนี้ไปในทางใด หรือไม่

 

Q7: หากไม่รีบดันกฎหมายชุดนี้ให้ผ่านใน สนช. กลัวว่าสภาที่มีแต่นักการเมืองจะทำงานช้า ออกกฎหมายไม่ทันรับมือกับสถานการณ์

A7: ร่างกฎหมายความมั่นคงดิจิทัลชุดนี้จะเปลี่ยนโครงสร้างการกำกับดูแลการสื่อสารของประชาชนอย่างมหาศาล แต่กระบวนการร่างกลับไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงมาตั้งแต่ต้น

แม้ทีมผู้ร่างจะประกาศว่าหลังจากนี้ยินดีรับฟังทุกความคิดเห็น แต่เนื้อหาของร่างนี้ได้พ้นจากมือทีมผู้ร่างไปแล้ว และไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าจะมีการรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างรอบด้านและครบถ้วน ประกอบกับสถานการณ์บ้านเมืองภายใต้กฎอัยการศึก ซึ่งประชาชนทุกกลุ่มไม่มีเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างเท่าเทียมกัน การแสดงออกเพื่อคัดค้านหรือเห็นต่างจากร่างกฎหมายชุดนี้ย่อมทำได้อย่างจำกัด

และการให้ สนช. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งเป็นผู้พิจารณา สุ่มเสี่ยงต่อการพิจารณาที่ไม่รอบคอบและมีผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะชุดกฎหมายเหล่านี้ให้อำนาจไว้กับเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงอย่างมาก และ สนช.เองก็มีสัดส่วนของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเป็นส่วนใหญ่

 

หมายเหตุ บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ iLaw ในชื่อ “หมายศาลก็ยังไม่พอ!: ต่อประเด็นถกเถียง "ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท