Skip to main content
sharethis
ชาวบ้านโคกยาวเตรียมยื่นหนังสือข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังทหาร ตำรวจ ป่าไม้ ฝ่ายปกครอง สนธิกำลังกว่า 100 นาย ปิดป้ายประกาศให้อพยพออกจากพื้นที่ ยืนยันไม่ออกจากพื้นที่เพราะชาวบ้านไม่ได้บุกรุกป่า
 
 
 
 
 
 
7 ก.พ. 2558 ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วและชุมชนโคกยาวจัดประชุมเตรียมเอกสารเพื่อเตรียมยื่นหนังสือข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวานนี้ (6 ก.พ. 2558) ที่ชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เจ้าหน้าที่ได้สนธิกองกำลัง ทหาร ตำรวจ ป่าไม้ และฝ่ายปกครอง กว่า 100 นาย เข้ามาปิดป้ายประกาศให้อพยพออกจากพื้นที่ คำสั่งดังกล่าวระบุว่าให้ชาวบ้านรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรวมทั้งพืชผลอาสินทั้งหมดภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ประกาศ
 
นายเด่น คำแหล้ ชาวบ้านชุมชนโคกยาว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เล่าว่า เจ้าหน้าที่เข้ามาเดินปิดป้ายประกาศทุกหลังคาเรือน จำนวนกว่า 20 หลัง ขณะเดียวกันพวกตนเดินตามไปตลอด พร้อมกับสอบถามถึงที่มา หรือแม้จะพยายามอธิบายต่อเจ้าหน้าที่ว่า นับจากเหตุการณ์เมื่อ 25 ส.ค.2557 ที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าปิดป้ายประกาศคำสั่ง คสช.64/57 พวกตนได้ไปยื่นหนังสือเพื่อขอชี้แจงข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานภาครัฐ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ศูนย์ดำรงธรรม แม้กระทั่งเดินทางไปยื่นหนังสือที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯกระทั่งล่าสุดตัวแทนภาคประชาชนจากทั่วภูมิภาค ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้เข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานภาครัฐ ในวันที่ 7 ต.ค. 2557 ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีข้อเสนอในที่ประชุมให้ชะลอและยุติการดำเนินการใดๆที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของประชาชน แต่เจ้าหน้าที่อ้างเพียงว่ามาปฏิบัติตามคำสั่งเท่านั้น
 
นายเด่น บอกอีกว่า ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ป่าไม้ ก็พากันขึ้นมา 3-4 ครั้ง แต่จำนวนไม่มากเท่าครั้งนี้ ประมาณ 40-50 นายแค่บอกว่าเข้ามาเยี่ยมเยือน อยากมาดูความเป็นอยู่ ท้ายที่สุดก็พยายามพูดว่าจะจัดหาที่อยู่ให้ใหม่ อยากได้คนละกี่ไร่ แต่ทุกครั้งพวกตนยืนยันว่าไม่ย้ายไปที่ไหน เจ้าหน้าที่ก็กลับไป แต่มาครั้งนี้คือเมื่อวานนี้ (6 ก.พ. 2558) สิ่งที่เกิดแน่นอนว่าทำให้เกิดความกังวลใจขึ้นมาอีก เพราะนำหนังสือคำสั่งมาปิดไปตามบ้านว่าให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปภายใน 15 วันซึ่งสร้างความหวาดผวาให้กับคนในชุมชนมาก ทั้งที่มีมติสั่งให้ยุติการดำเนินการใดๆ มี่จะส่งผลต่อความปกติสุขของประชาชนแล้ว แล้วเหตุใด จึงไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ที่น่ากลัวยิ่งกว่าเพราะเจ้าหน้าที่ยกมากันเป็นร้อย ถืออาวุธปืนมากันด้วย พากันเดินติดป้ายไปทั่ว เด็กๆ ต่างหวาดกลัว ถึงกับพากันร้องไห้ จนต้องพาวิ่งไปหลบเข้าไปในป่าก่อน
 
“ความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของพวกตนกำลังจะส่งกระทบขึ้นมาอีกระลอกแล้ว วันนี้พวกตนและพี่น้องที่ชุมชนบ้านบ่อแก้วก็มาร่วมประชุมถึงแนวทางแก้ไขกัน เพราะแน่นอนว่า เจ้าหน้าที่ทหาร ป่าไม้ หลังจากเข้ามาปิดประกาศที่โคกยาว ก็ต้องไปบ่อแก้วเหมือนที่ผ่านมาทุกครั้ง ขณะนี้ทั้งสองพื้นที่ตลอดทั้งคืนพวกเราต่างช่วยกันเฝ้าระวังภัยกันตลอดเวลาอีกแล้วที่ผ่านมาก็ไม่มีจิตใจจะทำอะไรกันแล้ว ลูกหลานก็ไม่อยากไปโรงเรียน ทั้งกลัว และกังวล ห่วงเหมือนกันว่าบ้านตัวเองจะถูกทหารเข้ามาไล่รื้อ พ่อกับแม่จะไม่มีที่อยู่ ดังนั้นพวกเราจึงมีการประชุมกันทุกคืนอีก และก็ต้องเตรียมพร้อมเพื่อเดินทางไปยื่นหนังสือ ทั้งๆ ที่ผ่านก็ยื่นไปหลายรอบแล้ว แต่ยังไงก็ต้องยื่นกันอีก เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ ได้เข้าใจถึงปัญหาและผลกระทบ รวมทั้งกระบวนการดำเนินการต่างๆ ที่เคยมีการตรวจสอบมาแล้ว ว่าชาวบ้านไม่ได้บุกรุก” นายเด่น กล่าว
 
สถานการณ์ปัจจุบันของชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
 
วันที่ 25 ส.ค. 2557 มีการปิดประกาศของจังหวัดชัยภูมิ เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าจังหวัดชัยภูมิ ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2557
 
สืบเนื่องจากทางจังหวัดชัยภูมิได้มีประกาศจังหวัด เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าจังหวัดชัยภูมิ โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำการปิดประกาศดังกล่าวในพื้นที่พิพาทสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในวันที่ 25 ส.ค. 2557   โดยสาระสำคัญของประกาศข้างต้น อาศัยอำนาจคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าจังหวัดชัยภูมิ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 ให้ผู้ถือครองออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งพืชผลอาสิน ภายใน 15 วัน หากพ้นกำหนดเวลา ทางราชการจะเข้าตรวจสอบพื้นที่และดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้กระทำผิดโดยเด็ดขาดและเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2557   เจ้าหน้าที่เข้ามาปิดประกาศดังกล่าว ที่ชุมชนบ้านบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ให้ผู้ถือครองออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งพืชผลอาสิน ภายใน 30 วัน
 
วันที่ 28 ส.ค. 2557 ชาวบ้านเดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ เพื่อขอเข้าพบและยื่นหนังสือต่อ พล.ต.มารุต ลิ้มเจริญ ผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ (ผบ.กกล.รส.จว.ชย) เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง โดยเนื้อหาระบุว่า ขอให้ทบทวนพิจารณายกเลิกประกาศจังหวัดชัยภูมิ ในคำสั่งที่จะขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ โดยหนังสือที่ยื่นมีข้อเรียกร้อง ดังนี้ 1.ให้ยกเลิกประกาศจังหวัดชัยภูมิ เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าจังหวัดชัยภูมิ และ 2.ให้พิจารณามาตรการและแนวทางการคุ้มครองสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินของชาวบ้านที่เดือดร้อน เพื่อให้เกิดความปกติสุขในการดำเนินชีวิต จนกว่าจะมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาในทางนโยบายต่อไป โดยทาง เลขาฯ ผบ.กกล.รส.จว.ชย รับทราบปัญหา พร้อมกล่าวว่าจะนัดหมายให้ตัวแทนชาวบ้านผู้เดือดร้อน พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาประชุมชี้แจงข้อเท็จจริง พร้อมกันในวันนี้ 1 ก.ย 2557 
 
วันที่ 29 ส.ค. 2557 เดินทางเพื่อไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
วันที่ 1 ก.ย. 2557 ประมาณ 13.00 น. เดินทางเพื่อเข้าร่วมประชุม ณ ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ ที่ห้องประชุมศูนย์ดำรงธรรม โดยมีหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมประชุมด้วย ดังนี้ เลขานุการผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ (ผบ.กกล.รส.จว.ชย) หัวหน้าสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) เจ้าหน้าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรชัยภูมิผลการประชุมดังกล่าว ยังไม่มีความคืบหน้า
 
วันที่ 10 ก.ย.2557 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เชิญหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา จนในที่ประชุมมีมติให้ชะลอการไล่รื้อชุมชนโคกยาว ในวันที่ 8 ก.ย.2557 ออกไปก่อน
 
วันที่ 1 ต.ค. 2557 ประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชย.4 (คอนสาร) นำแผ่นป้ายมาติดตั้งบริเวณทางเข้าชุมชนคู่กับป้ายคำสั่งที่ 64/57 ที่ถูกติดตั้งก่อนหน้านี้ แต่รายละเอียดไม่ได้ระบุว่าเป็นคำสั่งไล่รื้อภายในวันที่หรือตามเวลาที่กำหนดแต่อย่างใด โดยมีใจความว่า  "ทวงคืนผืนป่า ตามประกาศจังหวัดชัยภูมิ ลงวันที่ 21 ส.ค.57 เรื่องการป้องกันและลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าชัยภูมิ พื้นที่โคกยาว เนื้อที่ 80 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม”
 
วันที่ 7 ต.ค. 2557 เข้าร่วมประชุมระหว่างรัฐบาลกับตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)  โดยมี หม่อมหลวงปนัดดา  ดิษกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติ ในกรณีเร่งด่วนว่า “ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประสานหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแก้ไขปัญหา และบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร ต่อไป” พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ต่อไป 
 
วันที่ 8 ต.ค. 2557 นายอำเภอคอนสาร ได้ประชุมวางแผนขอทวงคืนผืนป่าสงวนแห่งชาติภูมิซำผักหนาม และในที่ประชุมมีมติให้ให้ชาวชุมชนโคกยาว และชุมชนบ่อแก้ว รื้อถอนเองภายใน 19 วัน  หากไม่ดำเนินตาม จะเข้ามาดำเนินการรื้อถอนเอง
 
วันที่ 24 ต.ค. 2557 เดินทางเข้าพบนายเจนเจตน์ เจนนาวิน นายอำเภอคอนสาร เพื่อยื่นหนังสือให้รับทราบขบวนการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 โดยมี หม่อมหลวงปนัดดา  ดิษกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อแจ้งให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ชะลอและยุติการดำเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของประชาชน
 
วันที่ 17 พ.ย.2557 เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เข้าร่วมประชุมหารือ กับพลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ปัญหา และเพื่อให้ภาครัฐเร่งพิจารณาดำเนินการตามที่ได้มีการประชุมร่วมระหว่างรัฐบาลกับตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)  เมื่อวันที่ 7 ต.ค.57 ที่ห้องประชุมอรรถไกลวัลย์วที อาคารสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิษกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ เป็นประธาน โดยในที่ประชุมเสนอให้รัฐบาลทบทวนแผนแม่บทฯ และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ชะลอการดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอันปกติสุขของประชาชน รวมทั้งชะลอการดำเนินคดีออกไปก่อนในระหว่างที่กำลังมีการตั้งคณะกรรมการที่มีทั้งประชาชนและหน่วยงานภาครัฐขึ้นมาร่วมกันแก้ไขปัญหา
 
วันที่ 23 ม.ค. 2558 เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมอรรถไกวัลวที ชั้น1 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
 
วาระที่ 3.1 กรอบแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ
 
มติที่ประชุม : เห็นชอบกรอบแนวทางในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ดังนี้
 
1) การพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชน ควรคำนึงถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และข้อเท็จจริงเป็นที่ตั้ง 
 
2) แนวทางในการดำเนินการต้องไม่กระทบต่อวิถีชีวิตปกติของประชาชน ในระหว่างการแก้ไขปัญหาให้ยุติ ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุ ให้เกิดความขัดแย้ง หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนในการดำเนินชีวิตตามปกติสุข และให้สามารถใช้ประโยชน์ ในที่ดินของรัฐตามวิถีปกติไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการพิจารณาของส่วนราชการหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ตามแต่กรณีจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป
 
3) การดำเนินการหากติดขัดปัญหาเกี่ยวกับระเบียบ กฎหมาย ควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนตามความเหมาะสม 
 
4) การดำเนินการแก้ไขปัญหาต้องสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เช่น คำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน กล่าวคือ เร่งรัดการจัดสรรที่ดินให้แก่
ผู้ยากไร้ ในลักษณะสิทธิร่วมในการจัดการที่ดินของชุมชน ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เป็นต้น
 
5) ขอให้คณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการฯ คณะทำงานฯ ที่จะแต่งตั้งขึ้น 
 
การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในพื้นที่ กลับดำเนินการอีกอย่าง...ทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดได้นำมาซึ่งความกังวลของชาวบ้านอีกครั้ง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net