รายงานชุดพิเศษ กงล้อการไม่ต้องรับผิด: บทเรียนจากฟิลิปปินส์ ตอน 3

ดาเวาซิตี้, ฟิลิปปินส์ - เป็นเวลากว่าสี่ปีหลังการตายของพ่อของเขา แต่ชีวิตของมาร์กซ์เล็น เบโดลิโดก็ยังไม่กลับสู่ภาวะปรกติ ด้านหนึ่ง เรายังคงกังวลต่อความปลอดภัยและอนาคตของเขา อีกด้านหนึ่ง เขาไม่สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระภายใต้โปรแกรมคุ้มครองพยานของรัฐบาล (WPP)

“ผมไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ผมทำงานไม่ได้ เพราะผมกลัว” เขาเล่าให้ผมฟังผ่านทางโทรศัพท์ “ผมต้องอยู่แค่ที่นี่”

“ที่นี่” เป็นสถานที่ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ แม้ว่ามาร์กซ์เล็น ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 20 ปี ได้เผยว่าเขาอยู่ห่างจากแม่เลี้ยงและน้องชายของเขา เขาบอกว่าเขาไม่ทราบว่าพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง เนื่องจากไม่ได้เจอกันเลยในสามปีที่ผ่านมา แต่เขาบอกว่าแม่เลี้ยงของเขาน่าจะลำบาก เพราะพ่อของเขาเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวหลัก

พ่อของมาร์กซ์เล็นคือนักข่าว นายเนสตอร์ เบโดลิโด ซึ่งถูกยิงจำนวนหกนัดในวันที่ 19 มิถุนายน 2553 ขณะกำลังซื้อบุหรี่ในเมืองดิกอสซิตี้ เมืองดิกอสซิตี้เป็นเมืองหลวงของจังหวัดดาเวา เด็ล ซูร์ ซึ่งตั้งอยู่กว่า 60 กม.ทางใต้ของเมืองดาเวาซิตี้ และประมาณ 1,500 กม.ทางใต้ของกรุงมะนิลา ในคืนฆาตกรรม มาร์กซ์เล็นและริชชี่ มานาปอล เพื่อนของเขาได้ติดตามเนสตอร์ออกจากบาร์คาราโอเกะ ซึ่งเขาเป็นเจ้าของ พวกเขาไม่ได้เห็นตอนที่เนสตอร์ถูกยิงเสียชีวิต แต่ทั้งคู่เห็นใบหน้าของมือปืน

สี่เดือนหลังจากการฆาตกรรม วอลแตร์ มิราฟูเอ็นเตสได้มอบตัวและสารภาพว่าเป็นมือปืน ขณะนี้เขาก็อยู่ภายใต้ WPP น้องชายของมิราฟูเอ็นเตส เฮ็นรี่ จูเนียร์ ซึ่งคาดว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการฆาตกรรมเบโดลิโดผู้พ่อ ตอนนี้ก็อยู่ที่ศูนย์บำบัดฟื้นฟูเมืองดาเวา เด็ล ซูร์เช่นเดียวกัน แม้ว่าผู้อยู่เบื้องหลังการกระทำผิดจะอยู่ในมือของรัฐแล้ว แต่นั่นก็ไม่ช่วยให้ครอบครัวและเพื่อนของเบโดลิโดเย็นใจแต่อย่างใด ท้ายที่สุดแล้ว บุคคลที่พี่น้องมิราฟูเอ็นเตสได้ชี้ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมนั้นเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่มีทั้งอำนาจและอิทธิพล ได้แก่ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดดาเวา เด็ล ซูร์ นายดักลาส คากาส และนายกเทศมนตรีเมืองมาตาเนาในจังหวัดดาเวา เด็ล ซูร์คนปัจจุบัน นายวิเซ็นเต้ เฟอร์นันเดซ นอกจากนั้น ยังไม่มีผู้อยู่เบื้องหลังคนใดถูกตัดสินลงโทษจากคดีการฆาตกรรมสื่อที่เกี่ยวกับงานทั้ง 145 คดี ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 2529 (จากข้อมูลของศูนย์สำหรับเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อ หรือ CMFR ในกรุงมะนิลา)

เพื่อนบ้านคล้ายกัน

ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่โดดเด่นในการมีสื่อที่อึกทึกครึกโครม ทั้งสองประเทศมีประชาธิปไตยที่มีชีวิตชีวา และค่อนข้างสับสนวุ่นวาย ทั้งฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียก็มีประสบการณ์ร่วมกันในการที่สื่อของประเทศตนเองตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงอยู่บ่อยๆ แต่ขณะที่จำนวนของนักข่าวที่ถูกฆาตกรรมในฟิลิปปินส์มีมากกว่าอินโดนีเซียอยู่มาก แต่สถานการณ์ในอินโดนีเซียก็รุนแรงพอที่จะทำให้นักรณรงค์เสรีภาพสื่อเป็นกังวล

ทั้งฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเคยตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ ซึ่งเป็นยุคที่ตัวแสดงรัฐเป็นผู้กระทำความรุนแรงต่อสื่อ แต่หลังจากที่แต่ละประเทศได้รับประชาธิปไตยกลับคืนมา - ฟิลิปปินส์ในปี 2529 อินโดนีเซียปี 2541 - ตัวแสดงได้เปลี่ยนไป ในประเทศฟิลิปปินส์ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกลายเป็นตัวแสดงหลักในการฆาตกรรมสื่อ ในประเทศอินโดนีเซีย พลเมืองทั่วไปไม่เห็นว่าการด่าทอและทำร้ายนักข่าวเป็นเรื่องที่ผิด และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็ถูกสงสัยว่ามีส่วนในบางคดีฆาตกรรมสื่อเช่นเดียวกัน และเช่นเดียวกับในประเทศฟิลิปปินส์ จังหวัดอันห่างไกลในอินโดนีเซียก็เป็นที่ที่มีนักข่าวถูกฆ่า

ในฐานะผู้รายงานข่าวโทรทัศน์ในกรุงจาการ์ตา ผมเคยชินกับเรื่องราวของเพื่อนร่วมงานที่ถูกปฏิบัติไม่ดี ถูกถ่มน้ำลายใส่ หรือถูกด่าทอทางวาจามากกว่าคนที่ถูกฆ่า ก่อนที่ผมจะเตรียมเขียนเรื่องนี้ ผมเคยได้ยินเกี่ยวกับนักข่าวที่ถูกฆาตกรรมเพียงสามรายในอินโดนีเซียเท่านั้น ซึ่งสองรายเกิดขึ้นภายหลังยุคซูฮาร์โตทั้งสิ้น ขณะที่ทำการศึกษาเพิ่มเติม ผมได้ค้นพบการฆาตกรรมเพิ่มอีกสี่รายหลังปี 2541 แต่องค์กร Committee to Protect Journalists (CPJ) ในประเทศสหรัฐอเมริกาบอกว่า มีการตายของสื่ออันเกิดจากการทำงานอย่างน้อยเจ็ดรายในประเทศอินโดนีเซียหลังจากการล่มสลายของซูฮาร์โต ทั้งหมดเกิดขึ้นห่างไกลจากกรุงจาการ์ตา ที่ใกล้ที่สุดเกิดขึ้นที่เมืองโปรโบลิงโก ทางตะวันออกของเกาะชวา ซึ่งมีระยะทางห่างจากเมืองหลวงของประเทศกว่า 12 ชั่วโมงโดยรถยนต์ ส่วนคดีอื่นๆส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่เกาะอื่นๆ เช่น มาลุกุ และปาปัว ใน 7 คดีที่ CPJ อ้างถึง มีอย่างน้อย 3 คดีที่มีความสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีส่วนเกี่ยวข้อง

แน่นอนว่า ตัวเลขของอินโดนีเซียไม่สามารถเทียบได้กับของฟิลิปปินส์ แต่สองประเทศก็เหมือนกันในหลายๆด้าน ยกตัวอย่างเช่น สิ่งที่กลุ่มนักวิชาการชาวฟิลิปปินส์ชี้ในรายงานเรื่องการฆาตกรรมสื่อปี 2557 บอกว่า “เมื่อเสรีภาพต่ำหรือไม่มีเลย ไม่ว่าจะภายใต้ระบอบการปกครองแบบใดก็ตาม การฆาตกรรมนักข่าวแทบจะไม่เกิดขึ้น เมื่อเสรีภาพสื่อสูง แต่ระบบกฎหมายทำให้การฆาตกรรมเป็นทางเลือกที่ไม่น่าดึงดูด ปัญหาก็เกิดขึ้นน้อยเช่นเดียวกัน ดังนั้นการฆาตกรรมนักข่าวจะปรากฏความรุนแรงสูงในสังคมเปลี่ยนผ่าน ซึ่งมีเสรีภาพสื่อสูงแต่ยังคงมีการทุจริตอยู่ทั่วไป ระบบกฎหมายอ่อนแอ และคุณลักษณะของสถาบันอื่นๆเอื้อให้เกิดความรุนแรงในรูปแบบนี้สูงขึ้น” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะดังกล่าวตรงกับไม่เพียงแต่ฟิลิปปินส์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงอินโดนีเซีย และประเทศไทยในระดับหนึ่งด้วย

ดังนั้น ไม่แน่อาจจะมีบทเรียนบางอย่างที่เราสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของฟิลิปปินส์ ซึ่งสามารถช่วยให้อินโดนีเซียหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมเช่นเดียวกันนี้ได้ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงไปฟิลิปปินส์ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนของปีนี้ เพียงสามสัปดาห์ก่อนวันครบรอบห้าปีของเหตุการณ์อันเศร้าสลดที่เกิดขึ้นในประเทศ

การสังหารหมู่และการฆาตกรรม

เมื่อใดก็ตามที่พูดถึงการโจมตีนักข่าวในฟิลิปปินส์ หัวข้อเหตุการณ์การสังหารหมู่ในมากินดาเนาปี 2552 จะปรากฏขึ้นมาเสมอ วันที่ 23 พฤศจิกายน เมื่อห้าปีที่แล้ว พลเมือง 58 คน ในนี้เป็นผู้ทำงานสื่อ 32 คนถูกสังหารในภาคใต้อันห่างไกลของประเทศฟิลิปปินส์ การสังหารหมู่นี้ยังคงเป็นการโจมตีนักข่าวชาวฟิลิปปินส์ที่โหดร้ายที่สุดจนถึงปัจจุบัน แต่มันถูกผู้ที่ติดตามการฆาตกรรมสื่อในฟิลิปปินส์เรียกว่า “เหตุการณ์ผิดปกติ” เนื่องจากนักข่าวไม่ใช่เป็นเป้าหมายหลักของการซุ่มโจมตี และถือว่าเป็น”ผลพลอยได้”ที่โชคร้าย นอกจากนั้น คนเหล่านั้นก็ถูกฆ่าพร้อมกันเป็นกลุ่มในเหตุการณ์เดียว มีคนบอกผมว่า การฆาตกรรมสื่อในฟิลิปปินส์ที่พบเห็นได้บ่อยกว่าส่วนใหญ่จะมีเป้าหมายเป็นนักข่าวคนเดียว ซึ่งจะถูกยิงตาย คล้ายกรณีที่เกิดขึ้นกับเนสตอร์ เบโดลิโด

ก่อนการเกิดฆาตกรรมเบโดลิโดขึ้น เมืองดิกอสได้เป็นประจักษ์พยานให้กับการฆาตกรรมสื่อสองราย ซึ่งภายหลังพบว่าเกี่ยวข้องกับการทำงานในฐานะสื่อ ได้แก่ โดมินาดอร์ เบ็นตูลันถูกยิงเสียชีวิตในปี 2541 และ อาร์มาโด เพซ ในปี 2549 ทั้งคู่เป็นนักกระจายเสียงวิทยุ

เนสตอร์ เบโดลิโดเป็นนักหนังสือพิมพ์ ตอนที่เขาเสียชีวิตขณะที่อายุ 50 ปี เบโดลิโดเป็นผู้จัดพิมพ์ เมาท์ อาโป เคอร์เร็นท์ รวมถึงเป็นที่ปรึกษาบรรณาธิการและคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์รายสัปดาห์ คาสติกาดอร์ ก่อนหน้านั้น เขาเป็นบรรณาธิการให้กับนิตยสารรายสัปดาห์ ดิกอส ไทม์ แต่ตำรวจที่เมืองดาเวา เด็ล ซูร์บอกกับ CMFR ว่าเบโดลิโดไม่ใช่นักข่าว คาดว่าเนื่องจาก เมาท์ อาโป เคอร์เร็นท์ ถูกเชื่อมโยงกับนักการเมืองท้องถิ่น เคลาด์ เบาติสต้า ซึ่งเบโดลิโดทำงานให้ในตำแหน่งประชาสัมพันธ์ระหว่างการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2553 ขณะที่ ดิกอส ไทม์ มีเจ้าของหนึ่งเดียวคือดักลาส คากาส ผู้ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ในมุมมองของตำรวจ เบโดลิโดไม่ได้เป็นอย่างอื่นนอกจากเป็น “นักโฆษณาชวนเชื่อ”

แต่ผู้ทำงานสื่อในดาเวา เด็ล ซูร์มีความเห็นที่ต่างออกไป ขณะที่อดีตผู้ร่วมงานคนหนึ่งของเบโดลิโดที่ คาสติกาดอร์ บอกว่าบรรณาธิการเก่าได้ช่วยในแคมเปญหาเสียงให้กับเบาติสต้าในปี 2553 จริง เขาก็บอกด้วยว่าการตายของเบโดลิโดอาจจะเกี่ยวข้องกับการที่เขาวิพากษ์วิจารณ์เปิดโปงนักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เช่นเดียวกัน อลัน นาวาล หัวหน้าสำนักงานเมืองดาเวาซิตี้ของหนังสือพิมพ์ระดับชาติฟิลิปปินส์ เดอะ เดลี่ อินไควเรอร์บอกผม ขณะที่ผมไปพบเขาที่เมืองนี้ว่า “สำหรับผม เนสตอร์ถูกฆ่าเพราะงานเขียนของเขา ระหว่างที่เขาทำงานให้ คาสติกาดอร์ เขาเริ่มเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์คากาส เมื่อใดก็ตามที่ คาสติกาดอร์ วางแผง คุณมั่นใจได้เลยว่าหนึ่งในบทความในนั้นจะมุ่งไปที่คากาส”

ความจริงที่ว่าเบโดลิโดเขียนเรื่องราวเปิดโปงความสกปรกของคากาสนั้นไม่น่าแปลกใจ เพราะก่อนหน้านี้เขาทำงานให้กับ ดิกอส ไทม์ นาวาลกล่าว ส่วนในเรื่องความเป็นไปได้ที่ว่าเบาติสต้า ซึ่งขณะนั้นเป็นคู่แข่งของผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้ยุยงให้เบโดลิโดเขียนบทความโจมตีคากาสนั้น นาวาลสังเกตว่า “ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ เนสตอร์ผู้เดียวเท่านั้นที่สามารถบอกได้ว่าเขาทำงานให้กับ เคลาด์ พี เบาติสต้าในขณะนั้น เพราะมันไม่มีหลักฐานเอกสาร เขาไม่ได้เซ็นเอกสารที่ระบุว่าเขาได้รับเงินจากเบาติสต้า”

เรื่องราวของสองครอบครัว

ทั้งคากาสและเบาติสต้ามาจากตระกูลนักการเมืองที่มีอิทธพลในดาเวา เด็ล ซูร์ คากาสชนะเบาติสต้าอย่างเด็ดขาดในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในปี 2552 จากการเลือกตั้งในครั้งนั้น ภรรยาของคากาส นางเมอร์เซเดส ก็ได้รับตำแหน่งกรรมการจังหวัด ขณะที่บุตรชาย มาร์ก ดักลาสที่สี่ ได้รับชัยชนะสมัยที่สองในฐานะตัวแทนเขต 1 ของดาเวา เด็ล ซูร์ และขณะเดียวกัน น้องชายของเบาติสต้า แฟรงคลินรวบตำแหน่งตัวแทนเขตที่ 2 ของจังหวัดในสภา ในการเลือกตั้งปีที่ผ่านมาดักลาส คากาสตัดสินใจที่จะลงสมัครตำแหน่งนายกเทศมนตรีของเมืองดิกอสซิตี้ เมืองหลวงของจังหวัด และเป็นมาร์ก ดักลาสที่สี่ที่ลงสมัครตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดแข่งกับเคลาด์ เบาติสต้า ขณะเดียวกัน เมอร์เซเดสลงแข่งขันเพื่อแทนที่บุตรชายของเธอในสภา ในหมู่ตระกูลคากาสทั้งสามคน มีเพียงเมอร์เซเดสเท่านั้นที่ชนะในการเลือกตั้งปี 2556

ปัจจุบันเคลาด์ เบาติสต้าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดดาเวา เด็ล ซูร์ ขณะที่แฟรงคลิน น้องชาย รักษาเก้าอี้ของเขาในสภาไว้ได้ น้องชายอีกคน เบนจามิน จูเนียร์ เป็นนายกเทศมนตรีของเมืองมะลิตา โดยมีแบรดลีย์ บุตรชายของแฟรงคลินเป็นรองนายกเทศมนตรี เบนจามิน จูเนียร์เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดดาเวา เด็ล ซูร์ระหว่างปี 2545 - 2549

ดักลาส คากาสพูดย้ำว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของเนสตอร์ เบโดลิโด เช่นเดียวกับนายกเทศมนตรีเฟอร์นันเดซ ทั้งคู่ยังบอกอีกว่าข้อกล่าวหาของพวกเขามีมูลเหตุทางการเมือง นับตั้งแต่ที่สามีอายุ 71 ปีของเธอได้มอบตัวกับตำรวจในปลายเดือนตุลาคม นางเมอร์เซเดซได้บอกกับสื่อท้องถิ่นเช่นกันว่าดักลาสถูกใส่ร้ายในคดีฆาตกรรมเบโดลิโด เธอกล่าวว่าศัตรูของเขาต้องการขัดขวางแผนของเขาในการลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดปีหน้า รายงานของ ดิ อินไควเรอร์ ยกคำพูดของเบาติสต้าที่บอกว่าถึงแม้เขาจะถูกพาดพิง แต่ระดับความสำคัญของเขาคือ “การยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัด”

ข้อมูลระบุว่า โดยทั่วไปแล้วจะไม่มีการฆาตกรรมสื่อในพื้นที่ที่มีตระกูลผู้มีอิทธิพลเพียงตระกูลเดียว ดร. ฟิโลเมโน วี อากีลาร์ จูเนียร์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอาเตเนโอ เด มะนิลากล่าว อากีลาร์เป็นนักเขียนหลักของรายงานปี 2557 หัวข้อ “Keeping the State at Bay” ซึ่งศึกษาการฆาตกรรมสื่อในฟิลิปปินส์ระหว่างปี 2541 ถึง 2555 เขาและผู้ร่วมเขียนรายงานคนอื่นๆตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว การฆาตกรรมนักข่าว “มีลักษณะท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่” และ “เกี่ยวข้องกับความพยายามในการป้องกัน, ผนึก, และขยายผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของผู้มีอำนาจท้องถิ่น” แต่พวกเขาสังเกตว่า การฆาตกรรมในลักษณะเดียวกันไม่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ตระกูลนักการเมืองไม่มีคู่แข่ง หรืออำนาจท้องถิ่นถูกผนึกแล้ว อากีลาร์และคณะชี้ว่า “หากปราศจากผู้ท้าทาย ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องฆ่านักข่าว แม้ว่าหัวหน้าท้องถิ่นจะมีอำนาจก็ตาม”

สภาพรถที่ถูกยิงถล่มโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ สถานที่เก็บหลักฐานการสังหารหมู่ในเหตุการณ์อัมปาตวน, มากินดาเนา

การสร้างอาณาจักรย่อยๆ

ครอบครัวนักการเมืองไม่ใช่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ในฟิลิปปินส์ มันได้เกิดขึ้นตั้งแต่เกาะอยู่ภายใต้อาณานิคมของสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2441 ถึง 2489 อย่างไรก็ตาม หลังจากการปฏิวัติพลังประชาชนในปี 2529 ครอบครัวนักการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นทวีคูณ ซึ่งยิ่งทำให้พื้นที่ต่างๆมีตระกูลมากกว่าหนึ่งตระกูลที่แข่งขันกันซึ่งอำนาจ นี่อาจจะเป็นเพราะผลประโยชน์ที่ตามมาของผู้ที่ดำรงตำแหน่งหรือเก้าอี้ในระดับท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นหลังจากการผ่านประมวลกฎหมายรัฐบาลท้องถิ่น ค.ศ. 1991 อากีลาร์และคณะเขียนว่าขณะที่ประมวลกฎหมายนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ “หน่วยรัฐบาลท้องถิ่น (LGUs) เป็นหน่วยที่พึ่งพาตนเองได้ และเป็นหุ้นส่วนที่ตื่นตัวเพื่อบรรลุเป้าหมายระดับชาติ” มันยัง “เพิ่มอำนาจของ (LGUs) ในมิติสังคม, การเมือง และการทำธุรกรรมการเงินอีกด้วย” และการเข้าถึงทรัพยาการท้องถิ่นและระดับชาติ

ทรัพยากรระดับชาติรวมถึงการจัดสรรทรพยากรภายใน หรือ IRA ซึ่งรัฐบาลระดับชาติโอนมาให้ LGUs “โดยอัตโนมัติ และไม่มีเงื่อนไข” ผู้เขียน “Keeping the State at Bay” กล่าว เขาเสริมว่า “ในปี 2534 IRA คิดเป็นร้อยละ 6.88 ของงบประมาณประเทศ ในปี 2554 ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 17.25 คิดเป็นอัตราเพิ่มเฉลี่ยรายปีเท่ากับร้อยละ 15.9 จากปี 2536 ถึง 2554”

ในปี 2553 ปีที่เบโดลิโดถูกฆ่า IRA ของดาเวา เด็ล ซูร์มีจำนวน 768.6 ล้านเปโซ หรือเท่ากับประมาณ 17.1 ล้านดอลล่าร์สหรัฐในขณะนั้น

ในทางทฤษฎี เงินดังกล่าวควรจะถูกใช้สำหรับสวัสดิการของประชาชนและการพัฒนา LGU แต่ในความเป็นจริง บ่อยครั้งเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดลงไปจนถึงหัวหน้าบารังไกย์ระดับต่ำที่สุดสามารถใช้เงินเหล่านี้ได้ตามอำเภอใจ ซามซามิน อัมปาตวน นายกเทศมนตรีของราจาห์ บัวยัน ในมากินดาเนากล่าวว่า “เรามีสภานิติบัญญัติระดับท้องถิ่นที่คอยตรวจสอบไม่ว่าคุณจะทำอะไร และมันก็มีมาตรฐานที่กำหนดที่คุณต้องปฏิบัติตามเพราะ (กระทรวงมหาดไทยและรัฐบาลท้องถิ่น) ได้กำหนดมาตรฐานเหล่านั้นขึ้นมา แต่ในชีวิตประจำวัน คุณแทบจะมีชีวิตราวกับราชา”

เมื่อนายนาวาลจาก ดิ อินไควเรอร์ ตอบคำถามผมเกี่ยวกับว่าทำไมการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดจึงน่าดึงดูดถึงเพียงนี้ เขาได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสามารถใช้ดุลยพินิจตนเองได้ถึงเพียงนั้น “คำเดียวก็คืออำนาจ” เขากล่าว “คุณสามารถควบคุมนายกเทศมนตรีทั้งหมด คุณสามารถควบคุมตำรวจ ในฟิลิปปินส์เรามี (ตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์) อยู่ในมะนิลา แต่หากคุณเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ มันไม่ง่ายเลยที่คุณจะได้เป็นหัวหน้าตำรวจในพื้นที่หากปราศจากความช่วยเหลือของผู้ว่าราชการจังหวัดและนักการเมือง”

น่าสนใจว่า นายกเทศมนตรีเฟอร์นันเดซถูกกล่าวว่าเป็นหนึ่งในพันธมิตรของคากาส พ่อแม่ที่เสียชีวิตไปแล้วของพี่น้องมิราฟูเอ็นเตสเคยถูกจ้างโดยตระกูลคากาส และเฟอร์นันเดซก็น่าจะเช่นเดียวกัน หากเราเชื่อมาร์กซ์เล็น เบโดลิโด วอลแตร์ มิราฟูเอ็นเตส มือปืนที่ยอมสารภาพผิดยกคำพูดของคากาสที่บอกกับเขา ในคำปฏิญาณสาบานในวันที่ 8 ตุลาคม 2553 “ไม่ต้องห่วงตำรวจ พวกเขาอยู่ภายใต้การควบคุมของฉัน และก็ไม่ต้องกังวลกับคดี มันไม่ใช่ปัญหา ข้อดีก็คือมันจะถูกทำด้วยวิธีที่สะอาดมาก”

ป้ายเรียกร้องเสรีภาพสื่อ หัวมุมถนนสายหนึ่งในดาเวา ซิตี้ ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2557

กงล้อแห่งความยุติธรรมที่เต็มไปด้วยสนิม

ผู้พิพากษาสองคนแล้วได้ยับยั้งตนเองจากการพิจารณาคดีฆาตกรรมที่ฟ้องต่อคากาซ, เฟอร์นันเดซ และอีกสองรายทีละคน นักพิพากษาท่านแรกปรากฏว่าเป็นภรรยาของนายกเทศมนตรีอดีตพันธมิตรของเฟอร์นันเดซ ท่านที่สองมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับภรรยาของคากาซ

ตามที่เราได้เห็น คดีได้สูญเสียพยานปากหลักไปแล้วหนึ่งคน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ริชชี่ มานาปอลถูกยิงเสียชีวิตที่เมืองดาเวาซิตี้ นายมานาปอลเคยอยู่ภายใต้โปรแกรมคุ้มครองพยานเช่นเดียวกับมาร์กซเล็น เบโดลิโด แต่เขาขอออกหลังจากการให้ปากคำในการพิจารณาคดีของผู้ต้องสงสัยคนอื่นในการฆาตกรรม

คดีของคากาซและเฟอร์นันเดซจะไปทางใดต่อนั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องคาดเดา แต่สถิติของ CMFR ไม่ค่อยช่วยให้เรากังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในอนาคตน้อยลงแต่อย่างใด ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ CMFR กล่าวว่า ในจำนวนคดีฆาตกรรมสื่อที่เกี่ยวกับการทำงานทั้งหมด 15 คดีที่มีข้อสงสัยว่ารัฐบาลท้องถิ่นมีความข้องเกี่ยวนั้น มีเพียงสองคดีที่ผ่านไปถึงขั้นการพิจารณาคดีในชั้นศาล สามคดีกำลังอยู่ในชั้นอัยการสั่งฟ้อง ส่วนที่เหลือยังคงค้างอยู่ในชั้นสืบสวนสอบสวนโดยตำรวจมาหลายปีแล้ว

อันที่จริงแล้ว คดีของเบโดลิโดคงจะไม่มาไกลเพียงนี้ในระบบยุติธรรม หากกระทรวงยุติธรรมไม่กลับมติของอัยการสูงสุดและอัยการสอบสวนเมื่อเดือนสิงหาคมที่แล้ว ในปี 2555 อัยการสอบสวน ราสเซ็นเดล เร็กซ์ กินโกยน ได้ถอนฟ้องข้อหาฆาตกรรมต่อคากาซและเฟอร์นันเดซสองครั้ง โดยอ้างว่าสิทธิของจำเลยไม่ควรถูกอคติโดยคำสารภาพของวอลแตร์ มิราฟูเอ็นเตส อัยการสูงสุดได้ปฏิเสธคำร้องในการยกมติของกินโกยนมาพิจารณาใหม่ในปีถัดไป

กินโกยนเป็น “ผู้ที่อยู่ใต้การคุ้มครองของคากาซ - เขาเป็นผู้ที่ช่วยให้เขาเป็นอัยการเมือง” นาวาลกล่าว เขาเสริมว่า “แม้แต่ตอนนี้ หากมีการฟ้องคดีต่อคากาซ มันจะถูกปฏิเสธโดยอัยการเมืองทันที”

หลายวันถัดมา เมื่อผมถามเลขานุการยุติธรรมไลลา เด ลิมาเกี่ยวกับคดีนี้ที่สำนักงานของเธอที่กรุงมะนิลา เธอบอกว่า ถึงแม้ว่ามตินั้นไม่ถึงกับขาดมูลเหตุทางกฎหมายเสียทีเดียว แต่มันก็ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน “จำไว้นะ มือปืนไม่สามารถเป็นมือปืนได้ หากไม่มีผู้อยู่เบื้องหลัง” เธอยังกล่าวต่ออีกว่า “ผู้อยู่เบื้องหลังควรจะมีความผิดมากกว่ามือปืน หากปราศจากผู้อยู่เบื้องหลัง อาชญากรรมหรือฆาตกรรมก็จะไม่เกิด เพราะว่ามือปืนแค่ทำตามคำสั่งเท่านั้น”

แต่แปลกที่แม้แต่รัฐเองก็ยังให้ชายติดอาวุธอยู่ภายใต้เงื้อมมือของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เช่นที่อากีลาร์และเพื่อนร่วมงานกล่าวในรายการของพวกเขา ประธานาธิบดีขณะนั้น นางกลอเรีย มาคาปากาล อาโรโย่ได้ออกคำสั่งบริหารที่ 546 ในปี 2549 ซึ่ง “มีนัยจะช่วยให้ชนชั้นนำท้องถิ่น... สร้างกองทัพของตนเองในคราบของการปราบปรามกบฏ มาตรการนี้เป็นการเปลี่ยนฐานอำนาจไปเข้าข้างชนชั้นนำท้องถิ่น ซึ่งทำให้พวกเขาเหิมเกริมต่ออาณาเขตและผลประโยชน์ส่วนตัว มันทำให้ตำแหน่งท้องถิ่นที่ได้มาจากการเลือกตั้งยิ่งน่าดึงดูดและให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า”

คนแปลกหน้าในดินแดนที่คุ้นเคย

ผมควรจะสารภาพว่าเนื่องจากสิ่งที่ผมได้อ่านและได้ยินเกี่ยวกับทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ผมได้ระมัดระวังตัวตลอดการเดินทางเยี่ยมเยียนในประเทศนี้ แม้แต่ในโคตาบาโต ที่ซึ่งผู้หญิงที่สวมผ้าคลุมหน้าและความวุ่นวายไม่เป็นระเบียบต่างๆนั้นชวนให้นึกถึงประเทศอินโดนีเซียมากที่สุดในที่ที่ผมได้เดินทางไปเยี่ยมในฟิลิปปินส์ ผมยังรู้สึกกลัว ผู้คนที่ผมพบที่นั่นและที่อื่นๆมีความเป็นมิตร โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาทราบว่าผมเป็นคนอินโดนีเซีย แต่ผมคอยถามนักข่าวฟิลิปปินส์ที่ช่วยเป็นไกด์ให้พวกเราตลอดว่า “ที่นี่ปลอดภัยไหม? ที่นี่ปลอดภัยไหม?”

ในจาการ์ตา นักข่าวถูกตี ถูกเตะ ถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้า ถูกทำร้ายทางวาจา หรือกล้องถ่ายรูปหรือวิดีโอของเขาถูกทำให้เสียหาย มันเป็นความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่ง และแน่นอนมันเป็นสิ่งที่เรารับไม่ได้ แต่อย่างน้อยในฐานะนักข่าวเช่นผมในจาการ์ตาก็ได้รักษาชีวิตไว้อีกวันหนึ่ง และทำหน้าที่รายงานข่าวต่อไป

แต่ก็อีกนั่นแหละ เช่นเดียวกับในฟิลิปปินส์ การกระจายอำนาจทำให้มีการเกิดขึ้นของตระกูลนักการเมืองท้องถิ่นในอินโดนีเซีย แม้ว่าตระกูลนักการเมืองเหล่านี้มีมาตั้งแต่ยุคของซูฮาร์โต ระบอบการปกครองของเขาทำให้พวกนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัด ตำแหน่งท้องถิ่นถูกครอบครองโดยผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากสภานิติบัญญัติประจำเขต ซึ่งรับคำสั่งมาจากรัฐบาลกลางอีกทอดหนึ่ง

ในวันนี้นักวิชาการ นาจมุ แอล โซเพียนกล่าวในรายงานปี 2557 เรื่องตระกูลนักการเมืองในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียว่า การเลือกตั้งทางตรงในระดับท้องถิ่นในอินโดนีเซียไม่เพียงแต่กระตุ้น “การแข่งขันทางการเมืองที่เปิดมากขึ้นเท่านั้น” แต่ยัง “เปิดช่องทางใหม่ๆสำหรับกลุ่มผู้มีอำนาจท้องถิ่นใน “การรักษาความมั่งคั่ง” ผ่านการดำรงตำแหน่งที่ได้มาจากการเลือกตั้ง และสร้าง “อาณาจักรการเมือง” ของตนในเขตพื้นที่นั้นๆ ที่น่าเป็นห่วงยิ่งไปกว่านั้นคือข้อเท็จจริงที่ว่าบางตระกูลได้หันไปใช้ จาวารา หรือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและนักเลงด้านศิลปะการป้องกันตัวในคราบ “ชมรมมอเตอร์ไซค์” ในการรักษาอำนาจเหนืออาณาเขตของตน

หากถูกปล่อยไว้ไม่ได้รับการดูแล ตระกูลเหล่านี้อาจจะเป็นอิสระจากรัฐบาลกลางมากขึ้น และจะเป็นการลำบากในการควบคุมของจาการ์ตา ซึ่งอาจหมายถึงภัยคุกคามต่อสื่อในประเทศ นี่อาจได้เกิดขึ้นแล้วในหลายๆพื้นที่ในฟิลิปปินส์ อากีลาร์และเพื่อนร่วมงานของเขาเตือนว่า “ในที่ที่รัฐไม่เป็นปึกแผ่น การกระจายอำนาจเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจท้องถิ่นและทำให้การแข่งขันในระดับท้องถิ่นรุนแรงขึ้น ในที่ที่ผู้คนเป็นปึกแผ่น หรือที่ที่ชนชั้นนำท้องถิ่นยอมรับการแบ่งอำนาจท้องถิ่น แนวโน้มในการฆาตกรรมชนชั้นนำท้องถิ่นก็อาจจะเป็นศูนย์ นักข่าวมีแนวโน้มสูงกว่าที่จะถูกฆ่าในกรณีแรก และรักษาชีวิตไว้ได้ในกรณีที่สอง”

ในกรณีการฆาตกรรมสื่อทั้งสามรายที่มีข้อสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีความเกี่ยวข้องในอินโดนีเซีย มีเพียงหนึ่งคดีที่ได้รับการตัดสินลงโทษ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ลูกขุนตัดสินว่านายอิ เนียวมาน สุสรามา สมาชิกสภานิติบัญญัติมีความผิดจากการวางแผนฆาตกรรมผู้สื่อข่าวนายอานัก อากุง ประบังสะจากสำนักข่าวเรดาร์ บาหลีในปี 2552 สุสรามาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ขณะที่ผู้โจมตีและผู้อยู่เบื้องหลังยังคงเป็นปริศนาในการฆาตกรรมนายอาดริยานสยา มาตราอิส ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ ซึ่งการตายของเขาในปี 2553 นั้นเชื่อว่ามีความข้องเกี่ยวกับการรายงานข่าวเกี่ยวกับแผนธุรกิจเกษตรกรรมขนาดใหญ่ในเมราวเค ในปาปัว ส่วนการฆาตกรรมของนักข่าวอิสระนายเฮอร์ลิยันโตในปี 2549 เจ้าหน้าที่ตำรวจรายงานว่าได้จับกุมผู้ต้องสงสัยสามรายและพบหลักฐานของอีกคนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไม่กี่เดือนหลังจากเหตุการณ์ แต่ไม่มีรายงานความคืบหน้าหลังจากนั้นในกรณีนี้

การโจมตีที่เพิ่มมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน การโจมตีเจ้าหน้าที่สื่อแบบเฉียบพลันดูเหมือนจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น ซึ่งองค์กรพันธมิตรนักข่าวอิสระแห่งอินโดนีเซีย (Alliance of Independent Journalists of Indonesia หรือ AJI) ได้เริ่มบันทึกสถิติตัวเลข ในเวลาห้าปีที่ผ่านมา AJI ได้นับจำนวนการโจมตีนักข่าวได้ 247 ครั้ง ไม่ใช่แค่เพียงในกรุงจาการ์ตา ซึ่งถูกกระทำโดยพลเมืองทั่วไปตั้งแต่ผู้ทำงานให้พรรคการเมืองจนถึงครูและนักธุรกิจจนถึงนักเรียนมัธยมปลาย

จากการพิจารณาข้อมูลของ AJI ผมได้พบว่าการโจมตีหลายกรณีเกิดขึ้นต่อช่างภาพข่าวและตากล้อง โดยทั่วไป การโจมตีลักษณะนี้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และส่วนใหญ่เกิดจากการที่บุคคลนั้นๆไม่ยินดีให้ถ่ายรูปหรือวีดีโอ ในบางกรณี นักข่าวได้กำลังพยายามรายงานเกี่ยวกับการต่อสู้ของสองกลุ่ม และตกกลายเป็นเหยื่อของความก้าวร้าวที่ลงผิดที่ นอกจากนั้นยังมีกรณีที่ข้อความบนเสื้อยืดของนักข่าวทำให้คนที่เขาทำข่าวไม่พอใจ ไม่เพียงแต่เขาจะถูกต่อยและเตะ เขายังถูกบังคับให้ถอดเสื้อออกด้วย

อย่างไรก็ดี หนึ่งในกรณีการโจมตีที่เป็นข้อครหามากที่สุดนั้นเกิดจากนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายในจาการ์ตาในปี 2554 มันเริ่มจากนักเรียนยึดวิดีโอเทปจากผู้รายงานข่าวโทรทัศน์ ผู้ซึ่งได้รายงานข่าวเกี่ยวกับการทะเลาะวิวาทในหมู่เยาวชน หนึ่งสัปดาห์ให้หลัง นักข่าวหลายคนกลับไปยังโรงเรียนแห่งนั้นเพื่อประท้วงต่อการโจมตีที่เกิดขึ้นต่อเพื่อนร่วมงานของเขา แทนที่จะได้รับความเข้าอกเข้าใจจากเจ้าหน้าที่ของทางโรงเรียน พวกเขากลับโดนทำร้ายร่างกายโดยนักเรียน นักข่าวอย่างน้อยหนึ่งรายต้องถูกนำส่งโรงพยาบาล

ในเดือนตุลาคม AJI ได้บันทึกการโจมตีเพิ่มอีก 35 กรณี อดีตประธาน AJI นายเอโค มาร์ยาดีตั้งข้อสังเกตว่า “การไม่ต้องรับผิดเป็นศัตรูที่แท้จริง ความรุนแรงเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่มีใครถูกจับกุม ไม่มีใครถูกนำขึ้นศาลหลังจาก (นักข่าวถูกคุกคาม) ไม่มีการจัดการอย่างรุนแรงและต้องเจ็บปวดเพื่อแลกกับสถานการณ์ดีขึ้น การทำร้ายนักข่าวกลายเป็นสิ่งปกติ และมันจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก”

หรือมันจะไม่แย่ไปกว่านี้แล้ว แน่นอนว่า ประเทศฟิลิปปินส์ได้แสดงให้เราเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากผู้คนยังสามารถลอยนวลจากการก่อเหตุฆาตกรรม จากข้อมูลของ CMFR นักข่าวอีกสี่รายถูกฆ่าเสียชีวิตในฟิลิปปินส์ตั้งแต่ต้นปี 2557 ในนั้นเป็นผู้กระจายเสียงวิทยุนายซามูเอล โอลิเวโร ซึ่งถูกยิงที่หน้าและลำคอในเดือนพฤษภาคมนี้ในเมืองดิกอสซิตี้ CPJ กำลังทำการสืบสวนเพื่อดูว่าการฆาตกรรมนี้เกี่ยวข้องกับงานของเขาในฐานะนักข่าวหรือไม่***

• บทความนี้ถูกผลิตขึ้นสำหรับโครงการ Southeast Asian Press Alliance (SEAPA) fellowship ประจำปี 2558 ดอนนี่ ซันด์จายา สุปาร์มันเป็นนักข่าวชาวอินโดนีเซีย ทำงานในตำแหน่งผู้รายงานข่าวโทรทัศน์ให้กับช่อง Trans7 ของอินโดนีเซีย และเป็นหนึ่งในผู้รับทุนปี 2558 หัวข้อของปีนี้คือ การสนับสนุนความเข้าใจระดับภูมิภาคเกี่ยวกับการไม่ต้องรับผิดในการฆาตกรรมนักข่าวในฟิลิปปินส์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท