หลากความเห็น หลายเสียงสะท้อน ทบทวน 10 ปีประชาไทและก้าวที่ท้าทายในอนาคต

อ่านถอดความและชมวิดีโอการเสวนารับฟังเสียงสะท้อนจากเครือข่าย เพื่อทบทวนการทำงานของประชาไทในรอบ 10 ปีที่ผ่าน รวมถึงก้าวต่อไปและความท้าทายในอนาคต โดยวิทยากรประกอบไปด้วย สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์,  กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากมูลนิธิชีววิถี และประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการเสวนาโดย ปกป้อง จันวิทย์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การเสวนานี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2558 ที่ผ่านมา เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปีประชาไท

ปกป้อง จันวิทย์
อาจารย์ไทเรล ฮาร์เบอร์คอร์น เขียนไว้ในหนังสือ กระแสเสียงของสื่อเสรี (Voices of free media) ว่านิยามของสำนักข่าวประชาไท คือสำนักข่าวที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์และความรู้สึกในการรับใช้ความยุติธรรมในสังคมไทย และ 10 ปีที่ผ่านมาประชาไทก็ทำหน้าที่นั้นมาได้เรื่อยๆ และก็หวังว่าจะพัฒนาขึ้นไปอีก ประชาไทร่วมฟันฝ่าวิกฤตเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยไปพร้อมกับพวกเรา

หลายคนใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการหลบหนีโลกความจริงอันโหดร้าย ไปมีความสุขโรงหนัง ไปปล่อยตัวเอง ไปดูโลกที่เราอยากเห็น ไปมองเห็นคนที่เราอยากเป็น ภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองและเผด็จการนี้ ประชาไทก็ทำหน้าที่เป็นบ่อน้ำแห่งความหวัง เป็นโอเอซิสทางปัญญา ในยุคที่เราไร้ซึ่งประชาธิปไตย ประชาไทก็ทำหน้าที่เป็นโอเอซิสประชาธิปไตย ในยุคที่เราไร้ซึ่งเสรีภาพ ประชาไทก็เป็นโอเอซิสแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในช่วงที่เราขาดความกล้าหาญ เราก็มีประชาไทไว้มองเป็นแบบอย่าง ในช่วงที่เรามีข้อจำกัดในการทำสื่อกระแสหลัก หลายคนก็มาเขียนลงในประชาไท

สำหรับผมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประชาไทได้ทำหน้าที่หลายอย่าง ทั้งทำหน้าที่เป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญของประเทศไทย ตรวจสอบรัฐบาลและสถาบันการเมืองและสังคมต่างๆ ขยายเส้นของการวิพากษ์วิจารณ์ ขยับนิยามของสื่อ NGOs การเมืองภาคประชาชน คนเล็กคนน้อย ฯลฯ เป็นพื้นที่ให้คนเล็กคนน้อย เป็นพื้นที่ในการสร้างปัญญาชนและคนสนใจการเมืองรุ่นใหม่ๆ มากมาย และเป็นบันดาลใจให้ใครหลายคน เวทีนี้ก็จะสะท้อน ชวนมองไปข้างหน้า โดยจะชวนวิทยากรทั้งสามท่านมามองไปข้างหน้าว่าอะไรคือความท้าทายใหม่ของประชาไท ในอีก 10 ปีข้างหน้า และประชาไทจะรับมือกับความท้าทายนั้นอย่างไร

สุณัย ผาสุข
สวัสดีครับและขอบคุณมากสำหรับประชาไท ที่ชวนมาให้นึกถึงความหลัง แล้วมองสภาวะปัจจุบันว่าเราจะไปต่อกันอย่างไรกับประชาไท งานก็เลื่อนมาหลายครั้ง ด้วยข้อจำกัดของบรรยากาศทางการเมืองขณะนี้ ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ฮิวแมนไรท์วอทช์ ซึ่งอยู่ในไทยมาอย่างเป็นตัวเป็นตน 10 ปีเหมือนกัน ปีนี้เป็นครั้งแรกที่เราจัดงานแถลงข่าวเผยแพร่รายงานประจำปีไม่ได้ ก็เป็นเหมือนกับเราอยู่ในเรือลำเดียวกันคือ เป็นบรรยากาศที่ที่ปิดกั้น

ผมรู้จักประชาไทเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เป็นเหมือนช่องทางให้เรื่องราวที่ไม่มีโอกาสได้เผยแพร่ในเวทีกระแสหลักของสื่อมวลชน หรือแม้แต่ในแวดวงคนทำงานประชาสังคม NGOs ก็มีประเด็นบางส่วนที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจของ NGOs กระแสหลัก ผมได้รู้จักประชาไทครั้งแรกในฐานะนั้น และอีกเรื่องคือในฐานะที่ผมเป็นอีกคนที่สนใจปัญหาความไม่สงบและความรุนแรงในภาคใต้ งานที่มีความสำคัญกับประชาไทก็คือ การเริ่มเข้าไปตรวจสอบเหตุการณ์รุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชนขนานใหญ่ ซึ่งก็คือ เหตุการณ์ตากใบ นั่นก็ทำให้ผมได้เข้ามาพัวพันกับประชาไทมากขึ้น

ประชาไทในอดีตมีอยู่สองสถานะที่ผมคิดว่าน่าสนใจ ส่วนแรกคือ ประชาไทในฐานะสื่อ สื่อที่ทำให้เรื่องที่เป็นชายขอบทั้งหลาย เรื่องที่ไม่ได้รับความสนใจ เรื่องที่ไม่เป็นข่าวจะด้วยเจตนาว่าไม่มีใครอยากจะเล่น หรือจะด้วยเพราะถูกเซ็นเซอร์ ประชาไทเป็นเวทีให้กับส่วนนี้สื่อสารออกไปให้กับสังคมได้รับ และผมมองประชาไทในช่วง 10 ปีมานี้ ประชาไทมีผู้บริโภคที่กว้างขึ้น ไม่ได้อิงกับขั้วทางอุดมการณ์ หรือสีทางการเมืองอย่างที่เคยเป็นมา คือฝ่ายเหลืองเขาก็อ่าน เพราะมันมีประเด็นที่คาบเกียวกัน ประชาไทอยู่ในฐานะนี้ผมเห็นอยู่

แต่ในอีกส่วนหนึ่งซึ่งผมคิดถึงอย่างมากก็คือ ประชาไทเว็บบอร์ด ซึ่งผมมองนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่ประชาไทสื่อสารออกไปให้คนอื่นเขารับ แต่เป็นเรื่องที่คนที่รับสารสื่อกลับมาให้ประชาไท นี่คือประการที่หนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือ คนเหล่านั้นเขาก็ดีเบทกันเอง จะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ในช่วงที่มีประชาไทเว็บบอร์ด เรามีคนสารพัดเฉดของอุดมการณ์ บางคนในบางประเด็นมีจุดยืนอยู่ด้านนี้ แต่ผมมาอีกประเด็นมีจุดยืนอยู่อีกขั้วหนึ่ง นี่คือความน่าสนใจ ผมคิดถึงบรรยากาศแบบนี้ ด้วยความที่เราเห็นสื่อที่มีลักษณะของการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลาย ไม่มีขั้วอย่างที่เคยมีอย่างในประชาไทเว็บบอร์ด เพราะตอนนี้คนมีลักษณะเสพสื่อตามแบบที่ตัวเองชอบ ตอนนี้เห็นจะมีบีบีซีภาษาไทยที่มีพื้นที่ให้คนได้ถกเถียง กันเหมือนกันประชาไทก่อนหน้านี้

ในเชิงประเด็นข่าว ผมเห็นว่าประชาไทแตะครบทุกเรื่องที่ผมสนใจแล้ว เรื่องการเมือง สิทธิมนุษยชน ต่างประเทศ ศิลปะ ทั้งการวิพากษ์ NGOs ด้วยกัน ก่อนหน้านี้ก็มีเรื่องทางภาคเหนือคือมีการอ้างว่า เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจไม่ชอบ หรือชาวบ้านที่อยู่ตรงนั้นก็มีปัญหาด้วย ประชาไทเองก็ตั้งคำถามตรงนี้ ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ NGOs เองก็ควรถูกตรวจสอบด้วย และประชาไทเองก็ทำหน้าที่ในส่วนนี้ และอยากจะเห็นบทบาทในส่วนนี้มากขึ้น เนื่องจากประชาไทเป็นสื่อทางเลือก เป็นสื่อสายประชาสังคม ฉะนั้นก็จะรู้จักคนในสายประชาสังคมเยอะ ฉะนั้นก็ควรจะทำหน้าที่เป็นแมลงวันที่ ตอมแมลงวันด้วยกันเอง ซึ่งเรื่องนี้ประชาไทควรจะขยายออกไป

ปกป้อง: 10 ปีที่ผ่านมา มีอะไรบ้างที่ผิดหวังกับประชาไท
สุณัย : ผมไม่ผิดหวัง ผมเป็นคนแฟร์ คือด่าได้แต่ต้องอยู่บนเหตุผล แต่มีงานที่มีคนตั้งคำถามคือ รายงานของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ระบุว่าผมเป็นกรรมการ ผมก็แย้งไป แล้วประชาไทก็แก้ให้ แล้วทันที ที่รายงานกรรมการสิทธิฯ มันถูกแปลงสารไปจนขัดแย้งกับข้อมูลที่ผมให้ไว้ ขัดแย้งกับตัวร่างที่ผมตรวจและมองว่าใช้ได้ มันถูกแปลงไปเป็นตัวฟอกความผิดให้กับรัฐบาลอภิสิทธิ์ ผมก็ลาออกและผมปฏิเสธความเกี่ยวข้องใดๆ กับรายงานชิ้นนั้น ซึ่งผมก็บอกประชาไทไปว่าผมลาออกตั้งแต่วันนั้นแล้วและก็มีหลักฐานให้ดู ประชาไทก็แก้ให้ ซึ่งผมมองว่านี้เป็นจรรยาบรรณสื่อของประชาไท นี่เป็นสิ่งที่ผมต้องการจะบอกว่าเราหาไม่ได้จากสื่ออื่นๆ เวลาเราแย้งไป แค่บอกให้แก้ข่าวยังไม่แก้เลย แต่อันนี้แก้ให้แล้วทำโน๊ตไว้เป็นกิจลักษณะมาก

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา
อย่างแรกต้องออกตัวก่อนว่า ไม่ใช่ติ่งประชาไท คืออ่านไม่ค่อยสม่ำเสมอ และช่วงหนึ่งประชาไทเป็นของแสลง อ่านแล้วรู้สึกจิตตก เพราะช่วงปี 2553 ประชาไทวิจารณ์ NGOs หนักมาก อ่านคอลัมน์ของใบตองแห้ง แล้วก็จิตตกเป็นระยะๆ แต่ว่าก็ต้องยอมรับความจริงว่าได้เรียนรู้จากตรงนั้น แต่ก็ชัดเจนว่าไม่ใช่พื้นที่ที่เราเข้าไปแล้วสบายใจนัก เพราะ NGOs เป็นเป้าในการวิพากษ์ วิจารณ์ มาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่ง NGOs ไม่ได้แสดงจุดยืนกับการรัฐประหารที่ผ่านมา

ในทางจุดยืนเชื่อว่า ประชาไทก็มีวิธีคิดแบบภาคประชาสังคม คือ อยากจะสร้างพื้นที่สื่อที่ไม่ถูกครอบงำ การที่เป็นสื่อที่มีจุดยืนก็เป็นสิ่งที่ดี ประชาไทก็เป็นสื่อที่ยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตย จะถูกว่าเลือกข้างหรืออย่างไงก็แล้วแต่ แต่คำถามคือ ช่วงหลังๆ มานี้จะกลายเป็นศาลาคนเศร้าของพวกนิยมประชาธิปไตยหรือเปล่า ยังไม่ค่อยได้เห็นการพูดคุยเพื่อที่จะสร้างให้เกิดกระบวนการที่ส่งเสริมประชาธิปไตยต่ออย่างไร หรือการนำเสนอว่าจะทำอย่างไรให้ขบวนการภาคประชาสังคมก้าวเดินต่อไป ซึ่งเรื่องนี้น่าสนใจที่จะถกเถียงกันมากขึ้น

ประเด็นเรื่องแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา แสดงสัญญาณอะไรบางอย่าง ที่สร้างความดีใจให้กับฝ่ายนิยมประชาธิปไตย แต่ขณะเดียวกันบทบาทมหามิตร เป็นบทบาทที่มีการครอบงำทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และนโยบายระหว่างประเทศมาโดยตลอด คำถามคือ ประเด็นเหล่านี้เราจะคุยกันอย่างไร คือสหรัฐไม่เคยเป็นมิตร แต่จู่ๆ มาสร้างมิตรกับฝ่ายประชาธิปไตย แล้วก็สร้างแรงกดดันได้บ้าง แต่ถึงที่สุดแล้วเราไม่แน่ใจว่าบทบาทแบบนี้มันจะสร้างการพัฒนาความเข้มแข็งของการต่อสู้ ในประเด็นที่เราคิดว่ายังเป็นปัญหาอยู่อย่างไร อย่างประเด็นเสรีนิยมใหม่อย่างไร

เราคิดว่า การที่ NGOs ถูกวิจารณ์ก็เพราะมุมมองของ NGOs มีปัญหา แต่ว่าประเด็นที่ NGOs ทำงานอยู่ก็ยังเป็นประเด็นที่ยังไม่เคยถูกแก้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ทรัพยากรป่าไม้ เหมืองแร่ เสรีนิยมใหม่ ประเด็นเหล่านี้ยังคงเป็นประเด็นอยู่ คือเราเพิกเฉยกับ NGOs ได้ แต่เราไม่ควรเพิกเฉยต่อประเด็นเหล่านี้

พอประชาไทหันมาติดตามการเมืองมากๆ ก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องของการจัดลำดับความสำคัญ คือในระยะนี้ประเด็นที่เป็นปัญหาคือเรื่องประชาธิปไตยพื้นฐานและการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ว่าถ้าถึงที่สุดแล้วเหตุการณ์มันคลี่คลาย เรามีประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งประเด็นเรื่องของเนื้อหาของประชาธิปไตย จะมีการพูดกันไหม จะทำกันหรือไม่ ประชาไทต้องทำหน้าที่แบบนี้ด้วย

สำหรับประเด็นทางสังคมคิดว่า ประชาไทอาจจะไม่ได้ลืมเรื่องนี้ไป แต่อาจจะยังไม่ถึงเวลา อย่าเช่น ประเด็นเรื่องการจัดการทรัพยากร สิทธิชุมชน ผลกระทบจากการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายเสรีนิยมใหม่ การสร้างดำเนินโครงการขนาดใหญ่ สิ่งเหล่านี้มีปัญหาอะไรหรือไม่ จะการนำเสนอและถกเถียงกันอย่างไร คิดว่าประเด็นมันต้องถูกเชื่อมต่อกับประเด็นประชาธิปไตยเชิงรูปแบบด้วย

ประจักษ์ ก้องกีรติ
ผมเคยลองถามนักศึกษาในชั้นเรียนให้ช่วยระดมสมองเพื่อเอามาแนะนำประชาไท สิ่งแรกที่พบคือ นักศึกษาถามว่า ประชาไทคืออะไร ผมคิดว่าที่ผ่านมาเราอ่านประชาไท แล้วคนที่ทำงานก็เป็นเพื่อนเรา เป็นพี่เรา เป็นรุ่นน้องเรา เวลาเราตื่นมาเราก็อ่าน คุยกับใครก็รู้จักประชาไท เพราะเราก็คุยกับเพื่อนกันเอง (ผู้เข้าร่วมหัวเราะ) ประชาไทคือโลกใบนี้ โลกใบนี้คือประชาไท เฮ้ย..วันนี้อ่านยังยุกติวิจารณ์เก่งกิจนะ ปิ่นแก้วมาอีกแล้ว สุดท้ายคุยกันอยู่ 20 คน  ประเด็นของผมคือว่า ที่ผ่านมา มันอาจจะพอ แต่ตอนนี้เราอาจะต้องตั้งคำถามว่าทิศทางในอนาคต ประชาไทอยากจะขยับตัวเองส่งอิทธิพลวงกว้างให้กับสังคมได้มากกว่านี้หรือไม่ ผมไม่โทษนักศึกษาตัวเองที่ไม่รู้จักประชาไท ผมเชื่อว่าถ้าประชาไทนำเสนออะไรบางอย่างที่มันน่าสนใจขึ้น และพ้นไปจากแวดวงที่เราคุ้นเคย จะเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นท้าทาย

ประชาไทเป็นสื่อหนึ่งที่เป็นทางเลือกให้คนเสพข้อมูลอีกชุดหนึ่ง สำหรับผมมันเป็นข้อมูลที่มีสติ ไม่ว่าจะมีอคติอย่างไร อย่างน้อยมันไม่ใช่ข่าวที่ปั้นมาหรือจงใจปลุกกระแสอะไรขึ้นมา ถึงจุดหนึ่งคนเริ่มเห็นคุณค่าของประชาไทตรงนี้ แล้วมันก็ดึงคนอ่านรุ่นใหม่เข้ามา จนมาถึงตอนนี้มันโตขึ้นมาแล้วและทำให้สังคมมีทางเลือก แต่เนื่องจากตอนนี้เราต้อพูดถึงบริบทสังคมการเมืองที่มันเปลี่ยนไปแล้ว และเราก็ไม่ได้อยู่ในระบบที่ปกติ ซึ่งก็อาจจะไม่ปกติไปอีกพักหนึ่ง

ด้วยความไม่ปกติอย่างนี้ ผมคิดว่าโจทย์สำคัญของประชาไทคือ ต้องเป็นมากกว่าสำนักข่าว ผมคิดว่าประชาไทไม่เป็นเพียงสื่อทางเลือกเท่านั้น แต่มันต้องมีความทะเยอทะยานกว่านี้ จริงๆ แล้วผมอยากเห็นมันเป็นพื้นที่ และในแง่นี้ผมคิดว่าประชาไทต้องเลือกข้าง ต้องเป็นพื้นที่ของการเผยแพร่ค่านิยมความเป็นประชาธิปไตย ต้องช่วยกันปลูกฝังเรื่องนี้ให้ได้ให้ลงรากในสังคมไทย ซึ่งการเป็นแค่สำนักข่าวคงไม่เพียงพอ

ประชาไทต้องทำหน้าที่เป็นตลาดความคิดที่หลากหลายกว่านี้ และต้องระดมคนที่หลากหลายจริงๆ มาถกเถียงกัน เพื่อนผมคนหนึ่งเคยบอกว่า ประชาไทสัมภาษณ์นักวิชาการซ้ำๆ ผมก็คิดว่า ใช่ ก็ลูกศิษย์มันมาทำงานที่นี่ไง มันคิดอะไรไม่ออกก็โทรมา อันนี้เราไม่เคยคิดว่ามันเป็นปัญหานะ แต่พอมองจากมุมคนนอก เปิดมาก็มีนักวิชาการอยู่ประมาณ 10-15 คน เวลาประชาไทจะขอความเห็น ขอสัมภาษณ์ผมคิดว่ามันต้องไปไกลกว่านั้น ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่า ประชาไทเป็นเวทีของเพื่อนพ้องน้องพี่ ซึ่งคงไม่ดีในระยะยาว ถ้าเป้าหมายอยู่ที่การทำให้สังคมถกเถียงกันในประเด็นสำคัญ ประชาไทต้องออกไปไกลกว่านั้น และทำให้เป็นพื้นที่ที่จุดให้เกิดการถกเถียง

การกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในรอบนี้คิดว่าไม่ง่าย ไม่ใช่เพราะทหารเก่ง แต่เป็นเพราะมีวัฒธรรมที่ยอมรับในอำนาจนิยม และคิดว่าอำนาจนิยมจะแก้ไขปัญหาได้ หรือมีแนวคิดบางอย่างที่ยังถกเถียงกันเรื่องเดิมๆว่า คนเท่ากัน คนไม่เท่ากัน จนเราไม่ได้ไปเถียงในเรื่องสำคัญอื่นๆ กลายเป็นทหารปกครองเท่ากับประชาธิปไตย  สิทธิเสรีภาพกลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ฉะนั้น เราก็ต้องช่วยกันสู้ ไม่สู้ไม่ได้ ทำให้เป็นเวทีที่สู้กันทางวัฒนธรรม สร้างค่านิยมประชาธิปไตย ผมยังคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และถ้าตราบใดที่เรายังไม่สามารถสร้างค่านิยมชุดหนึ่งขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอดทนอดกลั้น ใช้เหตุผล การโน้มน้าวกันและกัน การเชิดชูเสรีภาพและปัจเจกภาพของมนุษย์ ประชาไทควรจะสร้างคุณค่า ค่านิยมบางอย่างให้คนมาถกเถียงกันอย่างใช้เหตุผล และมีสติ ในแง่นี้ประชาไทต้องเป็นมากกว่าสำนักข่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท