Skip to main content
sharethis

นิวยอร์กไทม์รายงานสถานการณ์การเมืองไทย ที่แม้หลังรัฐประหารจะไม่มีการใช้กระสุนปืนลูกตะกั่วยิงใส่ฝ่ายตรงข้ามให้เห็น แต่ก็มีการใช้ 'กระสุนกระดาษ' คือเอกสารคดีความเตรียมเล่นงานฝ่ายตรงข้ามด้วยความลำเอียง ตีความ กม.เข้าข้างตัวเอง และไม่แตะต้องพวกเดียวกันแม้ก่อคดีร้ายแรงอย่างการสังหารคนกลางถนนปี 2553


9 ก.พ. 2558 โธมัส ฟูลเลอร์ นักข่าวนิวยอร์กไทม์รายงานจากมุมมองของสื่อต่างประเทศต่อสถานการณ์ในไทย ระบุว่านับตั้งแต่ผู้นำทหารรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในไทยเมื่อ พ.ค. 2557 เป็นต้นมายังไม่มีการยิงกระสุนปืนเลยแม้แต่นัดเดียว แต่ผู้นำกองทัพพยายามใช้ 'กระสุนกระดาษ' อย่างเอกสารคดีจำนวนมากเพื่อควบคุมฝ่ายฝ่ายตรงข้ามกับพวกเขา

นิวยอร์กไทม์ระบุว่า มีคนหลายร้อยคนถูกรัฐบาลเผด็จการทหารเรียกตัวและบังคับให้ลงนามในเอกสารที่อนุญาตให้เผด็จการทหารยึดทรัพย์สินพวกเขาถ้าหากพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับ "การเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ ก็ตาม"

นิวยอร์กไทม์ระบุอีกว่า ในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังดำเนินการคดีอยู่อย่างน้อย 7 คดีต่ออดีตรัฐบาลและยังข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีต่ออดีต ส.ส. อีกหลายร้อยคนที่ถูกโค่นล้มจากการรัฐประหาร ซึ่งวิชา มหาคุณ ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยเผด็จการทหารจากรัฐประหารปี 2549 อ้างว่าทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อกำจัดระบอบอุปถัมภ์ซึ่งเป็นต้นเหตุของการทุจริต

แต่ในอีกมุมมองหนึ่งก็สามารถมองได้ว่าเป็นการ "ฆ่าให้ตายด้วยเอกสารดำเนินคดี" คือการอาศัยการดำเนินคดีรวมถึงวิธีการตีความกฎหมายแบบลื่นไหลของศาลไทยและรัฐบาลจากการรัฐประหาร ทั้งหมดนี้เพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

นิวยอร์กไทม์ยังระบุถึงการถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และการข่มขู่อดีต ส.ส. 269 คนที่พ้นตำแหน่งจากการรัฐประหารว่าจะดำเนินคดี โดยฟูลเลอร์ระบุว่าการพยายามดำเนินคดีพวกเขาถือเป็นเรื่องที่เอนเอียงในแง่กฎหมายเพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ใช้อ้างว่าพวกเขากระทำผิดถูกฉีกไปแล้วโดยกลุ่มผู้นำทหารที่ทำรัฐประหาร นอกจากนี้ยังมีการจับกุมพลเรือนไปไต่สวนคดีในศาลทหารโดยไม่มีโอกาสอุทธรณ์

ฟูลเลอร์มองว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยเป็นการพยายามถอนอำนาจใหม่ของอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร โดยกลุ่มอำนาจเก่าที่มีทุนทรัพย์ แต่ก็มีคำถามว่าการยึดอำนาจโดยกองทัพจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระบบกฎหมายของประเทศ อีกทั้งยังมีความลำเอียงในการดำเนินคดีเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยอ้างเรื่องการปราบปรามการทุจริตเท่านั้น แบบที่นักการเมือง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ กล่าวว่า กองทัพไม่มีความจริงใจในการปราบปรามการทุจริต พวกเขาแค่เล่นงานฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น

นิวยอร์กไทม์ยังระบุถึงความแตกแยกทางความคิดในกลุ่ม ป.ป.ช. โดย สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ผู้ให้คำปรึกษาของ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นอาจารย์กฎหมายและอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกากล่าวว่า มีการแบ่งแยกทางการเมืองแม้กระทั่งในศาล ทำให้มีการบิดเบือนกฎหมายซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกคนในประเทศเพราะประชาชนทุกคนต้องพึ่งพากฎหมาย นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลยกฟ้องไม่ยอมไต่สวนกรณีที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์สั่งสังหารประชาชนมากกว่า 90 คนในช่วงที่เสื้อแดงชุมนุมปี 2553

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล เปิดเผยอีกว่าในกรณีของยิ่งลักษณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆ ในการถอดถอนยิ่งลักษณ์ และผู้นำเผด็จการทหารก็ยังไม่ได้อธิบายเลยว่ายิ่งลักษณ์ซึ่งไม่ได้มีตำแหน่งอะไรอีกแล้วเพราะถูกรัฐประหารจะถูก 'ถอดถอน' อะไรได้อีก

นิวยอร์กไทม์ระบุว่าแม้สมลักษณ์จะเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จากผู้นำรัฐประหารในปี 2549 ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้อยู่ฝั่งตรงข้าม แต่เธอก็บอกว่าทหารอาจจะตีความความคิดเห็นของเธอไปในเชิง 'เป็นภัย' ต่ออำนาจของพวกเขาและเธอก็เกรงว่าทหารอาจจะเรียกตัวเธอเช่นกัน

ทางด้านวิชา ให้สัมภาษณ์ว่าเขากลัวว่ากลุ่มเสื้อแดงจะทำร้ายเขา โดยเขาเปลี่ยนรถทุกวันเพราะทหารคงดูแลเขาไม่ได้ตลอด วิชาปฏิเสธว่าการถอดถอนยิ่งลักษณ์ไม่ได้มีแรงจูงใจทางการเมือง นอกจากนี้ยังกล่าวถึงเรื่อง "คนดี" และ "จริยธรรม" และบอกว่า "ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เลือกตั้ง" ในการให้สัมภาษณ์

นอกจากนี้นิวยอร์กไทม์ยังระบุถึงความลำเอียงเรื่องการตรวจสอบการทุจริต โดยที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่ถูกเปิดโปงเรื่องมีทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติ และหัวหน้าคณะรัฐประหาร พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีทรัพย์สินจำนวนมากก็ยังไม่มีการตรวจสอบซึ่งวิชาให้สัมภาษณ์ต่อนิวยอร์กไทม์ว่าจะยังไม่มีแผนการสืบสวนในเร็วๆ นี้

วิชาให้สัมภาษณ์อีกว่าคดีที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดในตอนนี้คือการชดเชยแก่ครอบครัวผู้ประท้วงที่สูญเสียและผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้กำลังทหารปราบปรามการชุมนุมปี 2553 โดยไม่คิดว่าจะเป็นการล่วงเกินกองทัพผู้มีอำนาจในขณะนี้ โดยอ้างว่ามีการตรวจสอบและ "เป็นกระบวนการตามกฎหมาย"

ขณะเดียวกันก็มีฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ที่คิดว่าผู้นำจากการรัฐประหารไม่มีความจริงจังกับการปฏิรูปเท่าที่ควร เช่น กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีกล่าวให้สัมภาษณ์ว่าเขาต้องการให้มีผู้นำเป็นคนจาก "นอกระบบ" เพื่อรื้อระบบให้มี "การแข่งขันอย่างโปร่งใสที่แท้จริง"


เรียบเรียงจาก

Thai Junta Drowning the Opposition in Paperwork, New York Times, 10-02-2015
http://www.nytimes.com/2015/02/10/world/asia/thailand-junta-drowning-the-opposition-in-paperwork.html


http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B2_%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net