Skip to main content
sharethis
 
เผยปี 2560 อุตสาหกรรมต้องการแรงงานเพิ่ม 6.8 แสนคน
 
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) เป็นประธาน ว่า ภาคเอกชนที่มาร่วมประชุมได้นำเสนอตัวเลขความต้องการแรงงาน ซึ่งพบว่า ภาคอุตสาหกรรมและบริการต้องการแรงงานเพิ่มอีกหลายแสนคน แต่กำลังการผลิตกำลังคนสายอาชีพทั้งของรัฐและเอกชนยังห่างไกลจากความต้องการดังกล่าว โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ระบุว่า ภายในปี 2560 กลุ่มอุตสาหกรรม 14 สาขา ต้องการแรงงานเพิ่มอีก 6.8 แสนคน แต่วิทยาลัยอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชนผลิตกำลังคนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.)ในสาขาได้กล่าวได้แค่ปีละ 3.5 หมื่นคน
 
"ขณะที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการโรงแรมระบุว่า ต้องการแรงงานเพิ่มปีละ 2 แสนคน แต่มีกำลังการผลิตแค่ปีละประมาณ 1,500 คน ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศเป็นปีละ 3.5 ล้านคัน จากกำลังการผลิตในปัจจุบัน 2 ล้านคัน ส่งผลให้กลุ่มอุตวาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนต้องการกำลังคนเพิ่ม1.3 แสนคนเป็นอย่างน้อยภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้กำลังคนในภาคยานยนต์เพิ่มเป็น 8 แสนคน จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.7 แสนคน ซึ่งเพียงพอต่อการผลิตรถยนต์ตามเป้า"ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว
 
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)จะศึกษาความต้องการกำลังคนของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมให้ละเอียด และคงต้องมีการวางแผนร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและสอศ. เพื่อหาทางผลิตกำลังคนให้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถเพิ่มการผลิตกำลังคนให้เพียงพอความต้องการได้ทันที และจำเป็นต้องดึงภาคเอกชนมาร่วมมือด้วย ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ไปทำการบ้านในเรื่องนี้ และมานำเสนอในอีก 3 เดือนข้างหน้า
 
"นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้หารือด้วยว่า ต่อไปการกำหนดอัตราเงินเดือนของภาคเอกชน จะไม่ได้ยึดตามวุฒิการศึกษาเท่านั้น แต่จะพิจารณาจากการรับรองทักษะฝีมืออื่น ๆ เช่น มาตราฝีมือแรงงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) กรอบคุณวุฒิวิชาชีพ MRA หรือข้อตกลงแรงงานของอาเซียน เพราะฉะนั้น สอศ.จะต้องนำสเปคการรับรองทักษะฝีมือแต่ละประเภทมาใช้ในการปรับปรุงหลักสูตรด้วย"ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว
 
ด้านพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกับภาคเอกชนในการร่วมมือผลิตและพัฒนากำลังคน ซึ่งรวมถึงความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาครูด้วย โดยได้ทำความเข้าใจกับภาคเอกชนว่า ภาคเอกชนจะได้ประโยชน์เต็ม ๆ จากเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น จึงขอให้ภาคเอกชนให้ความร่วมมือกับศธ.ในการเพิ่มและพัฒนาการผลิตกำลังคน โดยเฉพาะได้ขอให้ภาคเอกชนช่วยประชาสัมพันธ์ต่อสังคม เด็ก ผู้ปกครอง ให้เปลี่ยนค่านิยมเกี่ยวกับการเรียนต่อสายอาชีพเพื่อดึงดูดให้เด็กมาเรียนสายอาชีพมากขึ้น ซึ่งหากภาคเอกชนร่วมมือกับภาครัฐในการรณรงค์แล้วเชื่อว่าจะได้ผลมากขึ้น
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 5-2-2558)
 
ชง คกก.ดูแลผู้รับงานทำที่บ้าน ตีความ “เกษตรพันธสัญญา” เข้าข่ายได้รับการดูแลหรือไม่
 
(5 ก.พ.) นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยม การคุ้มครองแรงงานนอกระบบของบริษัท ไพโอเนีย ไฮเบรก สำนักงานใหญ่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ว่า ที่ผ่านมา มีเสียงร้องเรียนจากผู้นำแรงงานว่าแรงงานนอกระบบ ในกลุ่มเกษตกรพันธสัญญาถูกนายจ้างเอาเปรียบ กสร. จึงจะนำปัญหาในเรื่องนี้ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน ว่า จะมีการตีความกฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านให้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มเกษตกรพันธสัญญา และพิจารณาออกกฎกระทรวงรองรับ โดยคณะกรรมการมีจำนวนทั้งหมด 15 คน ประกอบด้วย ฝ่ายผู้จ้างงาน ผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน แต่ยังขาดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 คน โดยจะเร่งคัดเลือกผู้ที่เหมาะสม เสนอต่อ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อดำเนินการแต่งตั้งต่อไป นอกจากนี้ จะศึกษาสัญญาจ้างงานของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ หากตีความว่าเกษตรพันธสัญญาเข้าข่ายการรับงานไปทำที่บ้านก็จะเข้าไปดูแลเรื่องสัญญาจ้างให้เป็นธรรมและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
       
ด้านนายดุสิต กุลสันติวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัท ไพโอเนีย ไฮเบรก กล่าวว่า ปัจจุบันมีเกษตรกรพันธสัญญาในเครือข่าย ซึ่งจ้างงานในรูปแบบการทำสัญญาเป็นฤดูกาลประมาณ 10,000 ครัวเรือน เป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งหมด 20,000 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดลำปาง เชียงใหม่ อุตรดิตถ์และที่อำเภอแม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน โดยเป็นการทำสัญญากับตัวเกษตกรโดยตรงไม่ผ่านนายหน้า และมีการประกันราคารับซื้อตามการคาดการณ์ของราคาตลาดโลก ประมาณ 13,000 - 15,000 บาทต่อไร่ จากต้นทุนไร่ละ 3,500 บาท ใช้ระยะเวลาการปลูก 3 เดือน ซึ่งมีการอำนวยความสะดวกด้านเมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมีเครื่องมือการเกษตรในราคาต้นทุน นอกจากนี้ ยังมีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวพันธุ์ข้าวโพด วิธีการปลูก การดูแล ด้านความปลอดภัยในการทำงาน และดูแลไม่ให้ใช้แรงงานเด็ก ไม่ใช้แรงงานข้ามชาติ รวมทั้งเตรียมหน่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นในกรณีฉุกเฉินพร้อมนำส่งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 5-2-2558)
 
เผยผลสำรวจพยาบาลไทยเกือบ 50% เครียดจากทำงาน ต้องพึ่งยานอนหลับ-คุณภาพชีวิตต่ำ
 
เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับ โครงการวิจัยสุขภาพและชีวิตการทำงานของพยาบาลไทย (TNCs) แถลงข่าว เรื่อง “ผลวิจัยคุณภาพชีวิตพยาบาล” เพื่อติดตามภาวะสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงในการทำงานของพยาบาล โดยดร.กฤษดา แสวงดี หัวหน้าโครงการวิจัยสุขภาพและชีวิตการทำงานของพยาบาลไทย กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลพยาบาลวิชาชีพทั่วประเทศ จำนวน 18,765 คน พบว่า พยาบาลมากกว่าครึ่งมีความเครียด โดย 45.5 % มีความเครียดจากการทำงานอยู่ในระดับสูง ประมาณ 1 ใน 3 มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ และ 8-10 % เคยใช้ยานอนหลับ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของความเครียดในการทำงาน คือลักษณะการทำงานเป็นเวรผลัดต่อเนื่องเป็นเวลานานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งนี้ ความเครียดจากการทำงานสูงมีความสัมพันธ์กับการบาดเจ็บ ถูกเข็มทิ่มตำ การบาดเจ็บจากของมีคม และเจ็บป่วยด้วยโรคกระดูกแลกล้ามเนื้อ
 
ดร.กฤษดา กล่าวต่อว่า สำหรับดัชนีคุณภาพชีวิต ด้านสุขภาพ พบว่าพยาบาลไทยอยู่ในระดับ 0.75 ซึ่งต่ำกว่าผู้หญิงไทยที่ประกอบอาชีพอื่นๆที่มีดัชนีอยู่ที่ 0.95 รวมถึง ต่ำกว่าในประเทศอังกฤษที่อยู่ที่ 0.85 และประเทศสวีเดนที่อยู่ที่ 0.83 โดยพยาบาลอายุน้อยจะมีคุณภาพชีวิตเนสุขภาพต่ำกว่าระดับอาวุโส ซึ่งสัมพันธ์กับความมั่นคงในการทำงาน ส่งผลให้มีการลาออกหรือเปลี่ยนอาชีพ เฉลี่ยอายุการทำงานในวิชาชีพเพียง 22.5 ปี นอกจากนี้ พบว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พยาบาลไทยประมาณ 1 ใน 5 เคยประสบความรุนแรงจากการทำงาน และตั้งใจที่จะออกจากงานภายใน 1-2 ปีหรือมากกว่า 2 ปีมากกว่าพยาบาลที่ไม่เคยประสบความรุนแรงจากการทำงาน
 
ดร.กฤษฎา กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการสร้างความปลอดภัยในการทำงานของพยาบาล ได้แก่ 1.ให้ความรู้เพื่อให้พยาบาลวิชาชีพและบุคลากรสหสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพตระหนักถึงภาวะคุกคามต่อสุขภาพในสถานที่ทำงาน ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ด้วยการบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของวิชาอาชีวอนามัยของหลักสูตรพยาบาลวิชาชีพไทย หรือเป็นส่วนหนึ่งในการปฐมนิเทศพยาบาลวิชาชีพจบใหม่ 2.การกระตุ้นให้หน่วยบริการคำนึงถึงการดำเนินโครงการสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมด้านบวก ครอบคลุมภาวะคุกคามสุขภาวะทุกประเภททั้งความรุนแรง ความเครียดในการทำงาน และมลภาวะที่เป็นพิษต่างๆ อาทิ การมีอัตรากำลังที่เพียงพอ การมีเครื่องมืออุปกรณ์และเครื่องมือป้องกันอย่างเพียงพอ เป็นต้น และ 3. ส่งเสริมให้มีการตรวจติดตามและประเมินผล โครงการสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมด้านบวก และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาวิจัยและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของพยาบาลไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพในการดูแลสุขภาพพยาบาลไทย
 
 รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธ์ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ความไม่ปลอดภัยในการทำงานและคุณภาพชีวิตที่ต่ำของพยาบาล อาจจะส่งผลกระทบต่อการดูแลคนไข้ได้ แม้พยาบาลจะพยายามอย่างเต็มที่ในการดูแลคนไข้แล้วก็ตาม ข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าว จะพยายามผ่านทุกช่องทางที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อให้การป้องกันและดูแลคุณภาพชีวิตของพยาบาล อีกทั้ง จะมีการประชุมสัมมนาพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหา ระหว่างวันที่ 9-13 พฤศจิกายน 2558 โดยหวังจะผลักดันเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของพยาบาลเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้ หากสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่มีความปลอดภัยหรือคุณภาพชีวิตไม่ดี จะส่งผลต่อการรักษากำลังคนด้านพยาบาลให้อยู่ในระบบสาธารณสุข เสี่ยงกับการที่พยาบาลที่ยังมีอายุน้อยจะลาออกจากระบบในอีก 2 ปีข้างหน้า ในทางกลับกันหากสิ่งแวดล้อมในการทำงานปลอดภัยและมีความสุขในการทำงาน ก็จะสามารถดึงพยาบาลไว้ในระบบสาธารณสุขภาครัฐได้นาน
 
(ข่าวสด, 5-2-2558)
 
ระวัง แชตในเวลางานถูกเลิกจ้างเรียกค่าเสียหายไม่ได้
 
มีรายงานว่า ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 ค่าจ้างเดือนละ 30,000 บาท จ่ายทุกวันที่ 30 ของเดือน มีระยะเวลาทดลองงาน 3 เดือน ในระหว่างระยะเวลาทดลองงาน จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ให้มีผลทันที เนื่องจากในเวลาทำงานโจทก์ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยเล่นอินเทอร์เน็ตพูดคุยในเรื่องส่วนตัว และบันทึกข้อความทางอินเทอร์เน็ตเป็นประจำเกือบทุกวัน วันละเป็นชั่วโมงก็มี ตามเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.6 ถือว่าโจทก์ใช้เวลาทำงานของจำเลยไปในเรื่องไม่เกี่ยวกับงาน
 
ทั้งที่อยู่ในระหว่างทดลองงานแทนที่จะทุ่มเททำงานให้จำเลยอย่างเต็มที่ โจทก์ทำงานด้านบัญชีจะต้องมีความละเอียดรอบคอบ มิฉะนั้น จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายได้ กรณีเช่นนี้เป็นการกระทำประการอื่นไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนได้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันที โดยมิพักต้องบอกกล่าวหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคท้าย และการที่โจทก์ใช้เวลาทำงานของจำเลยทำในเรื่องส่วนตัว ย่อมจะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย จากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์เช่นกัน 
          
ที่โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่า การกระทำของโจทก์ไม่ถึงกับเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 เนื่องจากโจทก์มิได้กระทำความผิดอย่างร้ายแรง และจำเลยไม่ได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า บทบัญญัติมาตราดังกล่าวระบุเพียงว่า ถ้าลูกจ้างทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต นายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเท่านั้น หาได้ขยายความไปถึงกับว่าเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงแต่อย่างใดไม่
 
อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังว่าพฤติกรรมของโจทก์ทำให้จำเลยเสียหายได้ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
           
ที่โจทก์อุทธรณ์ประการต่อมาว่า หนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.10 ระบุเหตุเลิกจ้างว่า การปฏิบัติงานของโจทก์ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ไม่สามารถปฏิบัติงานตามที่มอบหมายได้ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ใช้เวลาทำงานของจำเลยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยในเรื่องส่วนตัวเป็นประจำเกือบทุกวัน วันละเป็นชั่วโมง จึงเป็นการกระทำประการอื่นไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 เป็นคำวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น เห็นว่า บทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิได้ห้ามมิให้นายจ้างยกเหตุอื่นขึ้นอ้างในภายหลังนอกจากเหตุที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้าง มาเป็นข้อต่อสู้ในกรณีเลิกจ้าง โดยไม่ต้องจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม  
 
อย่างไรก็ดี การที่โจทก์ใช้เวลาทำงานของจำเลยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยในเรื่องส่วนตัวเป็นประจำเกือบทุกวัน วันละเป็นชั่วโมง ย่อมเป็นเหตุให้งานในหน้าที่บกพร่องและล่าช้า ต่ำกว่ามาตรฐานที่จำเลยต้องการ และไม่สามารถปฏิบัติงานตามที่มอบหมายได้ จึงเป็นการกระทำที่ไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต เหตุดังกล่าวก่อให้เกิดผลเชื่อมโยงกัน มิใช่เรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน
 
(ไทยรัฐ, 6-2-2558)
 
แนะลูกจ้างแชตได้นอกเวลางาน และไม่กระทบกับงานที่รับผิดชอบ
 
จากกรณีลูกจ้างใช้โปรแกรมแชตในเวลาทำงานจนมีคำพิพากษาศาลฎีกา ให้ถูกเลิกจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง เมื่อกลางปี 2557 ที่ผ่านมานั้น นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากฎหมาย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า ตามกฎหมายแรงงาน ลูกจ้างต้องทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย แม้โดยหลักการสามารถแชตได้ แต่ต้องไม่กระทบกับการทำงาน หรือ ก่อให้เกิดความเสียหายกับงานในความรับผิดชอบ ส่วนกรณีที่เกิดขึ้น นายจ้างสามารถพิสูจน์ได้ว่า ลูกจ้างเล่นแชตจนกระทบกับงานที่ได้รับมอบหมาย ทั้งที่ยังอยู่ในช่วงทดลองงาน
 
ที่ปรึกษากฎหมาย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ฝากถึงลูกจ้างที่แชตว่า ควรเล่นแชตในเวลาที่เหมาะสม เช่น เวลาพัก หรือ นอกเวลางาน แต่หากจำเป็นต้องแชตในเวลางานก็ควรใช้เวลาเพียงเล็กน้อยเพื่อไม่ให้กระทบกับงานที่ทำ หากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นอีก นายจ้างสามารถตักเตือนลูกจ้างก่อนได้ก่อนจะไล่ออก แต่การพิจารณาต้องดูเป็นกรณี และต้องดูข้อเท็จจริงประกอบด้วย
 
(ไทยรัฐ, 7-2-2558)
 
รวบหนุ่มใหญ่ ร่วมตั้งบริษัทเถื่อน ตุ๋นแรงงาน
 
จากกรณี นายแก้ว สายแดง อายุ 53 ปี บ้านเลขที่ 164/3 ม.3 ต.ไทยชนะศึก อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย พร้อมผู้เสียหายจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวบ้านใน อ.ทุ่งเสลี่ยม เข้าร้องเรียนต่อจัดหางานจังหวัดสุโขทัย ว่า ถูกนายพลอย ปุ๊ดหน่อย อายุ 53 ปี บ้านเลขที่ 184/1 ม.9 ต.ไทยชนะศึก อ.ทุ่งเสลี่ยม อ้างเป็นนายหน้าของบริษัท เบสท์โฮมดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด สามารถจัดส่งไปทำงานขับรถบรรทุกที่ สปป.ลาวได้ และเรียกเก็บเงินค่าหัวคิวสูงถึงรายละ 15,000 บาท โดยมีชาวบ้านหลงเชื่อจ่ายเงินให้ไปแล้วหลายราย แต่ก็ยังไม่ได้ไปทำงานและพยายามบ่ายเบี่ยงมาตลอดนั้น
 
วันที่ 7 ก.พ. ที่ศาลากลาง จ.สุโขทัย นายวิษณุ สว่างทรัพย์ ปลัดจังหวัดสุโขทัย พร้อมนายศักดิ์สิทธิ์ สละชีพ จัดหางานจังหวัดสุโขทัย นายวาทิต ปัญญาคม นายอำเภอทุ่งเสลี่ยม และ พ.ต.อ.สมชาย ชำนิ ผกก.สภ.ทุ่งเสลี่ยม ร่วมแถลงข่าวการจับกุม นายวีระพันธ์ ป้อมอาษา อายุ 62 ปี บ้านเลขที่ 368 ซอยรังสิต-นครนายก 44 ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เจ้าของบริษัทจัดหางานเถื่อน ชื่อ เบสท์โฮมดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดสวรรคโลก
 
ในข้อหาร่วมกันจัดหางานให้คนหางาน เพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง และร่วมกันทำการรับสมัครเพื่อหาลูกจ้างในประเทศไทยด้วยตนเอง เพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยไม่ได้รับอนุญาต
 
"เมื่อนำกำลังเข้าตรวจค้นเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา สามารถจับกุมพรรคพวกของนายวีระพันธ์ได้ 3 คน คือ นายสนั่น ยะด้วง นายผัด สามเมือง และนางชโลทร ต๊ะบรรจง อีกทั้งตรวจสอบพบว่าไม่มีใบอนุญาตจัดหางาน จึงควบคุมตัวผู้ต้องหามาสอบสวน เบื้องต้นให้การรับสารภาพ ซึ่งนอกจากที่สุโขทัยแล้ว ยังเปิดบริษัทจัดหางานเถื่อนอยู่ที่ จ.หนองคาย อีกแห่งหนึ่ง" เจ้าหน้าที่จัดหางาน จ.สุโขทัย ระบุ
 
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า จึงอนุมัติหมายจับจากศาลจังหวัดสวรรคโลก ก่อนเข้าจับกุมตัว นายวีระพันธ์ ได้บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จ.หนองคาย ขณะเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ช่วงเย็นวันที่ 5 ก.พ. แล้วนำตัวกลับมาดำเนินคดีที่ สภ.ทุ่งเสลี่ยม ตรวจสอบประวัติพบว่า นายวีระพันธ์ยังมีหมายจับอีก 5 คดี ทั้งคดีเช็ค, ทำร้ายร่างกายสาหัส และ พ.ร.บ.จัดหางาน ซึ่งจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป สำหรับผู้เสียหายขณะนี้ มีเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์แล้ว จำนวน 79 ราย คิดเป็นเงิน 1,182,000 บาท
 
(ไทยรัฐ, 7-2-2558)
 
ไทยรั้งอันดับ 64 ประเทศที่มี "ผู้บริหารหญิง" มากที่สุด
 
จากรายงานขององค์การแรงงานนานาชาติ หรือ ILO ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 64 ของการจัดอันดับประเทศที่มีผู้หญิงเป็นผู้บริหารมากที่สุด ด้วยอัตราส่วน 28.8 เปอร์เซนต์ โดยประเทศที่ถูกเก็บข้อมูลในการทำสถิติครั้งนี้มีทั้งหมด 126 ประเทศ (เป็นการเก็บสถิติตั้งแต่ปี 2004-2012)
 
ตามรายงานระบุว่า มี 3 ประเทศในโลกที่พนักงานมีโอกาสที่จะได้เจอเจ้านายเป็นผู้หญิงมากว่าผู้ชายคือ จาไมกา ทีมีจำนวนผู้หญิงมีตำแหน่งระดับบริหารสูงที่สุดถึง 59.3 เปอร์เซนต์ ตามมาด้วยโคลัมเบีย ที่ 53.1 เปอร์เซนต์ และเซนต์ลูเซีย 52.3 เปอร์เซนต์ 
 
ที่น่าสนใจคือ ประเทศฟิลิปปินส์เป็นประเทศจากเอเชียหนึ่งเดียวที่ติด 10 อันดับแรก ด้วยสัดส่วนผู้หญิงเป็นผู้บริหารที่สูงถึง 47.6 เปอร์เซนต์ และเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยรวมประเทศส่วนใหญ่ที่ติด 10 อันดับแรกมาจากดินแดนโลกใหม่ โดยมีประเทศจากทวีปยุโรปเพียงสามประเทศที่ติดท็อป 10 ซึ่งทั้งหมดเป็นอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ภายใต้การปกครองของอดีตประเทศสหภาพโซเวียต
 
(มติชน, 8-2-2558)
 
ก.แรงงานเตือนทำงานห้ามแชทเปิดช่องนายจ้างไล่ออกอ้างทำบริษัทเสียหาย
 
กระทรวงแรงงานเตือนลูกจ้างอย่าใช้คอมพิวเตอร์แชทเรื่องส่วนตัวในเวลางาน เปิดช่องให้นายจ้างไล่ออกโดยอ้างเหตุทำให้บริษัทเสียหายได้สั่งทุกจังหวัดเร่งทำความเข้าใจและสร้างวินัยลูกจ้าง
 
จากกรณีนายจ้างบริษัทแห่งหนึ่งเลิกจ้างลูกจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชย โดยให้เหตุผลว่าใช้อุปกรณ์ของสำนักงานไปในการส่วนตัวในเวลางาน ทำให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท ซึ่งลูกจ้างได้ไปฟ้องศาลแรงงาน แต่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง และระบุว่า การกระทำของลูกจ้างทำให้บริษัทได้รับความเสียหายนั้น
 
นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่า กรณีนี้ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่าไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากเกิดความเสียหายจริงซึ่งทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ทั้งสองฝ่ายมีสิทธิและหน้าที่ต่อกัน นายจ้างมีสิทธิบังคับบัญชาส่วนลูกจ้างก็มีหน้าที่ทำงานให้นายจ้าง ดังนั้นควรตั้งใจทำงาน อย่านำเวลาปฏิบัติงานไปใช้ในเรื่องส่วนตัว และการใช้คอมพิวเตอร์ของสำนักงานสามารถตรวจสอบได้ โดยขอให้ลูกจ้างละเว้นการใช้คอมพิวเตอร์ในเรื่องส่วนตัวในเวลาทำงาน
 
"เรื่องนี้ทางลูกจ้างเลือกใช้สิทธิทางศาล ไม่ได้ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ขณะเดียวกันหากลูกจ้างมีการร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานระหว่างนั้นจะไม่สามารถร้องศาลได้ เนื่องจากมีการดำเนินการอยู่ แต่หากฟ้องร้องต่อศาลไปแล้วทาง กสร.ก็จะไม่มีอำนาจพิจารณา ต้องเป็นขอบเขตอำนาจของศาล เพราะคำตัดสินของศาลถือเป็นที่สุดแต่หากมาร้องต่อ กสร.ก็จะมีการสอบสวนข้อเท็จจริงไม่ต่างกัน หลังจากนั้นหากไม่พอใจการพิจารณาของ กสร.สามารถไปฟ้องศาลได้ โดยตามกฎหมายนายจ้างสามารถให้ออกได้เนื่องจากตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานฯ ระบุไว้ เช่น ทุจริตต่อหน้าที่ ไม่จงใจปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ทำงานโดยประมาทเลินเล่อสร้างความเสียหายต่อบริษัท ฝ่าฝืนระเบียบบริษัทต่างๆ ในกรณีร้ายแรง เป็นต้น" นายพีรพัฒน์ ระบุ
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกล่าวอีกว่า หากมีนายจ้างรายอื่นๆ นำเรื่องนี้ไปอ้างอิงในกรณีที่เห็นลูกจ้างแชทในเวลางานก็ต้องดูข้อเท็จจริงว่าใช้เวลานานหรือไม่ ติดต่อกันทุกวันหรือไม่ เนื่องจากหากใช้เพียง 1-2 นาที ก็ไม่น่าจะให้ออกได้ โดยต้องพิจารณาจากสถานการณ์จริงและในแต่ละรายไป นอกจากนี้จะให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในจังหวัดต่างๆ ทำความเข้าใจกับลูกจ้าง ให้มีวินัยในการทำงาน ไม่ใช้เวลางานไปในเรื่องส่วนตัว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา" นายพีรพัฒน์ กล่าว
 
"เคสนี้คงใช้ไม่ได้กับทุกราย เนื่องจากจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและหลักฐานการกระทำผิดเป็นรายกรณีอยู่แล้ว" นายพีรพัฒน์ตอบข้อถามที่ว่า ในอนาคตกรณีนี้จะเป็นการชี้นำนายจ้างที่ไม่พอใจลูกจ้างและไล่ออกโดยใช้เหตุเดียวกันนี้หรือไม่
 
อย่างไรก็ตาม นายจ้างระบุลูกจ้างรายนี้อยู่ระหว่างทดลองงาน โดยเริ่มงานเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 กำหนด 3 เดือน ต่อมาวันที่ 2 เมษายน 2553 ถูกเลิกจ้าง เนื่องจากใช้คอมพิวเตอร์ของบริษัทเล่นอินเทอร์เน็ตในเรื่องส่วนตัวเป็นประจำเกือบทุกวัน ซึ่งถือว่าใช้เวลาทำงานในเรื่องไม่เกี่ยวกับงานทั้งที่อยู่ระหว่างการทดลองงาน ขณะที่งานที่รับผิดชอบเป็นงานด้านบัญชี จะต้องมีงานละเอียดรอบคอบ มิเช่นนั้นจะทำให้ได้รับความเสียหายได้
 
(คมชัดลึก, 9-2-2558)
 
รมว.แรงงาน ยกเลิกประกาศเลือก คกก. ไตรภาคี ให้เป็นหน้าที่แต่ละกรมร่างระเบียบเลือกตั้งเอง
       
นายพีรพัฒน์ พรศิริเลิศกิจ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลงนามในหนังสือให้ยกเลิกประกาศ กสร. ที่กำหนดให้ กสร. เป็นผู้จัดการเลือกตั้งคณะกรรมการไตรภาคีของทุกกรมแล้ว โดยให้แต่ละกรมกลับไปร่างระเบียบการเลือกตั้งของแต่ละกรมเอง ซึ่งข้อกำหนดในระเบียบขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละกรม โดยดูจากสภาพปัญหาในการคัดเลือกคณะกรรมการไตรภาคีที่ผ่านมา ว่า มีปัญหาในด้านใดบ้างและควรแก้ไขอย่างไร เพื่อให้การสรรหาเป็นไปด้วยความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ทำให้ได้คนที่มีความสามารถอย่างแท้จริง ส่วนคณะกรรมการชุดปัจจุบันจะดำรงตำแหน่งไปจนกว่าจะมีคณะกรรมการชุดใหม่มาแทนเว้นแต่บุคคลที่ขาดคุณสมบัติ
       
อธิบดี กสร. ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งกรมความปลอดภัยว่า ขณะนี้ได้ส่งเรื่องนี้ไปยัง นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงานแล้ว ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาในเรื่องนี้ ประกอบด้วย ผู้แทนจาก กสร. และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) โดยกรมนี้จะนำสำนักความปลอดภัยแรงงานมารวมกับกองทุนเงินทดแทน เพื่อให้ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในการดูแลความปลอดภัยทั้งหมดและดูแลด้านการรักษาพยาบาลแรงงานที่เจ็บป่วย บาดเจ็บจากการทำงาน ส่วนศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานทั้ง 5 แห่ง คาดว่า จะต้องโอนมาอยู่ในความดูแลของกรมนี้ นอกจากนี้ การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน อยู่ระหว่างการเข้าพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยให้องค์กรมหาชนทำหน้าที่ศึกษาด้านวิชาการเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 9-2-2558)
 
10 ปีแรงงานไทย เกือบ 2 ล้านคนก้าวสู่ผู้ประกอบการ
 
"ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์" ผู้อำนวยการวิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงสัดส่วนการเติบโตในช่วง 10 ปี ระหว่างปี 2547-2557 ที่ผ่านมาของตลาดแรงงงานไทยในภาพรวมว่า โครงสร้างแรงงานของไทยมีอัตราการว่างงานค่อนข้างต่ำ เนื่องจากมีจำนวนการจ้างงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้จะผันผวนบ้าง ซึ่งเป็นไปในทิศทางบวก
 
เห็นได้จากสัดส่วนจำนวนแรงงานไทยในระบบ 38.42 ล้านคน พบว่า ในกลุ่มลูกจ้างเอกชนซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในตลาดแรงงานมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านคน รวมเป็น 14.12 ล้านคน รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจส่วนตัวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคนรวมเป็น 12.39 ล้านคน และกลุ่มที่มีความผันผวน คือกลุ่มช่วยธุรกิจครอบครัวซึ่งพบว่ามีจำนวนลดลงราว 5 หมื่นคนมาอยู่ที่ 7.33 ล้านคน จากการผันตัวเองไปเป็นผู้ประกอบการ/ธุรกิจส่วนตัว ส่วนลูกจ้างภาครัฐมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเกือบ 1 ล้านคนเป็น 3.05 ล้านคน ตามลำดับ
 
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาส 3 เกี่ยวกับอัตราเติบโตเฉลี่ยของแรงงาน ในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ โดยพบว่า ภาคการเกษตรมีลูกจ้างลดลงจำนวนมากที่สุดถึง 4.5% อันเนื่องมาจากแรงงานรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตรน้อยลง จากทัศนคติที่เห็นว่า อาชีพเกษตรกรรมเป็นงานที่หนัก ราคาผลผลิตไม่แน่นอน ด้วยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้แรงงานเคลื่อนย้ายไปสู่การทำงานเป็นลูกจ้างของสถานประกอบการ ซึ่งมีเงินเดือนเป็นรายได้ประจำที่แน่นอนมากขึ้น
 
ขณะที่ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมพบว่าเติบโตที่ 1.3% โดยหลายสาขายังเติบโตไปในทิศทางค่อนข้างบวก ยกเว้นอุตสาหกรรมสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการใช้แรงงานระดับล่างมากถึง 40% หรือประมาณ 1 แสนคนต่อปี ส่งผลให้เกิดแรงงานตึงตัว เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ดังนั้น การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการควรนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ขณะที่ในภาคบริการซึ่งในภาพรวมพบว่า การเติบโตของการจ้างงานเป็นไปค่อนข้างสูงที่สุด เฉลี่ย 2.6% ต่อปี และคาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
 
"ดร.ยงยุทธ" กล่าวอีกว่า จากสถิติดังกล่าวหากมองให้ลึกถึงปัญหาการว่างงานที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยถือว่ามีอัตราการว่างงานน้อยลง แต่เมื่อเทียบสัดส่วนของการจ้างงานในตลาดแรงงาน กลับเป็นสัดส่วนตรงกันข้ามกับผู้จบการศึกษาที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เนื่องจากมีการผลิตบุคลากรของสถานศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการในสาขาที่ขาดแคลน ส่งผลให้เกิดปัญหาแรงงานตึงตัวตามมา 
 
รวมทั้งสถานศึกษายังมีการเรียนการสอนรายวิชาที่ไม่ตอบสนองต่อบริบทชุมชน ทำให้กลุ่มแรงงานซึ่งเป็นนักศึกษาจบใหม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายเข้าไปหาแหล่งจ้างงานใหญ่ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ทำให้เกิดความไม่สมดุลกันทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
 
ทั้งนี้ "ดร.ยงยุทธ" เสนอแนะถึงมาตรการการลดจำนวนแรงงานที่ล้นตลาดและขาดแคลนในบางสาขาว่า ต้องส่งเสริมให้เยาวชนหันมาสนใจเรียนสายอาชีพมากขึ้น ขณะเดียวกันสถาบันควรกำหนดทิศทางองค์ความรู้ในการเปิดสอนวิชาเรียนที่ตอบโจทย์บริบทชุมชน และปรับทัศนคติของผู้เรียนเพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างหนักไปยังจุดใดจุดหนึ่ง 
 
รวมทั้งในส่วนของตัวแรงงานที่กำลังเข้าสู่ระบบการทำงานควรเรียนรู้ทักษะในด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น จึงต้องการแรงงานที่มีทักษะฝีมือและความรู้เชิงเทคนิค และความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ ซึ่งทักษะเหล่านี้จะเป็นจุดแข็งที่เปิดโอกาสให้แรงงานสามารถแข่งขันเป็นที่ต้องการของตลาดที่หลากหลายและมากขึ้น โดยเฉพาะโอกาสของแรงงานไทยในเวทีอาเซียน
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 9-2-2558)
 
เครือข่ายแรงงานชง สนช.ยกเลิกตัดสิทธิ์ว่างงาน ระบุ สปส.ไม่ร่วมจ่ายไม่มีสิทธิ์ตัดทิ้ง
 
(9 ก.พ.) นายภาคภูมิ สุกใส กรรมการสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนคณะทำงานขับเคลื่อนประกันสังคม (คปค.) เปิดเผยว่า วันนี้เครือข่ายได้เดินทางไปยังรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือต่อตัวแทนนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม และตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยขอให้ทบทวนเนื้อหาร่าง พ.ร.บ. ซึ่งผ่านวาระแรก และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญซึ่งมีการเขียนตัดสิทธิ์ผู้ประกันตนกรณีลาออกจากงาน โดยคปค. ขอให้ยกเลิกการตัดสิทธิ์กรณีว่างงานหากผู้ประกันตนลาออกจากงานเองและให้คืนสิทธิ์โดยกลับไปใช้เนื้อหาเดิมของพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับ พ.ศ. 2533 ซึ่งประธาน สนช. เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของ คปค. ทั้งนี้ ไม่ได้ขอให้ยกเลิกร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ทั้งฉบับ ส่วนที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ขอแก้ไขเพิ่มเติม 14 ประเด็น ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกันตนก็ให้มีการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป
        
นายภาคภูมิ กล่าวอีกว่า สปส. ไม่มีสิทธิ์เขียนร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมโดยตัดสิทธิ์ว่างงานกรณีลาออกจากงานเอง เนื่องจากปัจจุบันฝ่ายแรงงานและนายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมร้อยละ 5 โดยในจำนวนนี้ทั้งสองฝ่ายจ่ายเงินสบทบกรณีว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ขณะที่ฝ่ายรัฐไม่ร่วมจ่ายเงินสบทบในส่วนนี้ นอกจากนี้ กรณีที่สปส. อ้างว่าตัดสิทธิ์กรณีว่างงานเพื่อต้องการสร้างความมั่นคงให้แก่กองทุนในอนาคต คปค. เห็นว่า การใช้สิทธิ์ว่างงานกรณีลาออกเองของแรงงานไม่ได้ส่งผลกระทบ เพราะแรงงานที่ลาออกจากงานเองส่วนใหญ่ มักจะไม่ใช้สิทธิ์กรณีว่างงาน เพราะไม่อยากว่างงานเป็นเวลานาน จะทำให้ขาดรายได้เลี้ยงครอบครัว ส่วนแรงงานที่ใช้สิทธิ์ว่างงานมักเป็นแรงงานที่ลาออกโดยถูกนายจ้างบีบบังคับให้ลาออก ซึ่งเป็นการลาออกแบบผิดธรรมชาติและแรงงานกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีเงินไว้ใช้จ่ายในยามว่างงาน โดยในปี พ.ศ. 2555 - 2557 ผู้ประกันตนใช้สิทธิ์กรณีว่างงานรวมแล้วเป็นวงเงินแค่กว่า 178 ล้านบาท
        
“แรงงานทำประกันสังคมก็เหมือนกับทำประกันชีวิต พวกเราส่งเงินกันมาตั้งนาน อยู่ๆ สปส. ก็มาตัดสิทธิ์ว่างงานออกหากลาออกจากงานเอง ทำให้ได้สิทธิประกันสังคมที่มีอยู่เดิมลดลง การทำเช่นนี้จะทำให้แรงงานขาดเงินประทังชีวิตในยามตกงาน หากถูกนายจ้างบีบบังคับให้ลาออกจากงานแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่ายในช่วงชีวิตลำบาก หาก สปส. ต้องการจะประหยัดเงินกองทุนก็ควรตัดรายจ่ายที่เป็นโครงการฟุ่มเฟือยออกไป เช่น โครงการไปดูงานต่างประเทศ โครงการประชาสัมพันธ์ ซึ่งรวมแล้วใช้งบปีละหลายร้อยล้านบาท” นายภาคภูมิ กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 9-2-2558)
 
คุมเข้มอาชีพเสี่ยงอันตรายยกระดับมาตรฐานแรงงาน
 
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เร่งหารือผู้ประกอบการและออกกฎหมายลูก ประกาศสาขาอาชีพที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ชี้เป็นการช่วยลดอัตราการประสบอันตรายจากการทำงาน และแรงงานไทยมีมาตรฐานฝีมือแรงงานมากขึ้น โดยต่อไปนี้ลูกจ้างต้องมีสมุดประจำตัวเพื่อบันทึกประวัติการทำงานทุกคน
 
นายวิชัย คงรัตนชาติ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม 2558 โดยอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการให้เจ้าของสถานประกอบการ นายจ้างและลูกจ้างเตรียมตัวในการปฏิบัติตามข้อกำหนด
 
สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ 1.มีผลบังคับใช้กับงานอันตราย 2.ลูกจ้างจะต้อง มีสมุดประจำตัวทุกคน ซึ่งจะมีการบันทึกว่าได้สมัครงานที่ไหน มีการผ่านการอบรมหลักสูตรอะไรบ้าง 3.จะมีศูนย์ประเมินมาตรฐานฝีมือแรงงาน ทั้งในส่วนของราชการโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และในส่วนที่เปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ โดยจะมีการกำหนดคุณสมบัติต่างๆ ว่าจะต้องมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง คล้ายกับศูนย์ตรวจสอบสภาพรถยนต์เอกชน และ 4.กำหนดบทลงโทษ
 
รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาได้มีการเชิญผู้ประกอบการจากสมาคมและองค์กรต่างๆ มาหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดสาขาอาชีพที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ว่าจะมีสาขาอาชีพใดบ้าง โดยเน้นไปที่งานที่มีลักษณะอันตราย ซึ่งจะมีการควบคุมมาตรฐานการทำงาน มีการประเมินและออกใบรับรอง เพื่อให้นำไปใช้ในการสมัครงาน โดยนายจ้างสามารถนำไปประกอบการพิจารณาตัดสินใจรับเข้าทำงาน และการจ่ายค่าจ้างตามระดับฝีมือแรงงาน
 
"ได้มีการประชุมครั้งล่าสุดไปเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา และจะมีการประชุมครั้งต่อไปเพื่อสรุปว่าจะมีสาขาอาชีพใดบ้างที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้"
 
ในส่วนของภาพรวมการพัฒนาฝีมือแรงงานของประเทศ หลังใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกล่าวว่า จะช่วยลดอัตราการประสบอันตรายจากการทำงาน เพราะจะมีมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขานั้นๆ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการควบคุมดูแลการทำงานในสาขานั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานอันตรายให้มีขั้นตอน และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องตามมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน
 
นอกจากนี้ยังจะมีการทดสอบเพื่อยกระดับฝีมือ โดยจะส่งผลให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นตามระดับฝีมือแรงงานด้วย ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยให้แรงงานไทยมีคุณภาพและฝีมือแรงงานที่ดีขึ้น มีมาตรฐานมากขึ้น โดยทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับมาตรฐานฝีมือแรงงานของแต่ละคน ซึ่งจะถูกบันทึกไว้ในสมุดประจำตัวของลูกจ้าง
 
รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกล่าวต่อไปว่า เมื่อ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 มีนาคม 2558 ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการเปลี่ยนแปลอย่างกะทันหัน แต่จะต้องมีช่วงเวลาให้นายจ้างและลูกจ้างได้ปรับตัว และเตรียมตัว โดยจะให้มีผลกระทบกับนายจ้าง ลูกจ้างน้อยที่สุด ซึ่งในเรื่องนี้ถือว่าเป็นการให้ความร่วมมือกัน ไม่ใช่เป็นการใช้กฎหมายเพื่อบังคับ เพราะเมื่อทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายก็จะเกิดผลดีตามมาทั้งในส่วนของนายจ้างที่จะได้แรงงานมีคุณภาพ ขณะที่ฝ่ายลูกจ้างก็จะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามระดับฝีมือแรงงาน
 
"ขอให้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกัน เพื่อยกระดับการพัฒนาฝีมือแรงงานไทยให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ โดยแรงงานไทยจะได้รับค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมกับระดับฝีมือแรงงาน ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลดีต่อภาพรวมของแรงงานไทยทั้งประเทศ" นายวิชัยกล่าว
 
(ไทยโพสต์, 10-2-2558)
 
สภานายจ้างเผย 'แชท' หรือ 'เล่นอินเตอร์เน็ต' ในเวลางานถูกเลิกจ้างอย่างน้อย 30 คนแล้ว
 
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่าหลังมีคำพิพากษาศาลฎีกาให้นายจ้างสามารถไล่ลูกจ้างที่ใช้คอมพิวเตอร์ และเครื่องมือสื่อสารด้วยการแชทหรือเล่นอินเตอร์เน็ตในเวลางานออกจากงานได้ทันที และมีลูกจ้างถูกเลิกจ้างด้วยสาเหตุนี้แล้วกว่า 30 คน ล่าสุดจากการสำรวจสอบถามสมาชิกนายจ้างกว่า 500 บริษัท พบว่า มีการเลิกจ้างเพิ่มอีก 1 คน เป็นพนักงานทดลองงาน ทำงานด้านบัญชี และที่เลิกจ้างเป็นเพราะได้แชทและเล่นอินเตอร์เน็ตในเวลางานนานกว่า 1 ชั่วโมง ขณะที่บางวันนั่งแชททั้งวัน ทำให้ไม่มีสมาธิในการทำงาน ส่งงานไม่ทันตามกำหนด และก่อนหน้านี้นายจ้างได้ตักเตือนด้วยวาจา และออกหนังสือเตือนแล้ว แต่ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นายจ้างจึงให้ออกจากงาน
 
ด้านนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า การแชทหรือเล่นอินเตอร์เน็ต อาจส่งผลกระทบต่องานให้เสียหายได้จริง กรณีลูกจ้างที่แชทอยู่ในสายการผลิต เนื่องจากการละสายตาจากงานเพียงเสี้ยววินาที อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการผลิตได้ แต่หากเป็นลูกจ้างทั่วไป หรือ ทำงานในสำนักงาน ไม่ถือว่ามีความผิดร้ายแรงถึงขั้นตัดเงินเดือน หรือ เลิกจ้าง และขณะนี้ยังไม่มีลูกจ้างร้องเรียนด้วยสาเหตุนี้
 
ขณะที่นายวรานนท์ ปีติวรรณ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวย้ำเตือนการใช้อุปกรณ์สำนักงานเพื่อแชทหรือเล่นอินเตอร์เน็ตในเวลางาน เป็นเวลานาน มีความผิดจริง แต่หากลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถใช้สิทธิร้องทุกข์ต่อพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อตรวจสอบ รวมถึงใช้สิทธิร้องต่อศาลแรงงานให้คุ้มครองได้
 
(โลกวันนี้, 10-2-2558)
 
พนักงาน ม.บูรพา ร้องศูนย์ดำรงธรรม รักษาการอธิการบดีออกข้อบังคับไม่เป็นธรรม
 
อาจารย์ และพนักงานมหาวิทยาลัยบูรพา รวมตัวเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม กรณีผู้บริหารรักษาการ ออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย ไม่เป็นธรรมต่อพนักงาน 
       
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยยศ วนิชวัฒนานุวัติ เปิดเผยว่า เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ทางตน และคณาจารย์มหาวิทยาลัยบูรพา 31 คน ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชลบุรีกรณีที่ทางสภามหาวิทยาลัยบูรพา ออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย 2557 (ฉบับที่ 5) ข้อ 10 (ก) (2 ) ข้อ 10(ข) (11) และข้อ 54 (14) ซึ่งยกเลิกข้อ 30 และข้อ 54 ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย 2556 ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อพนักงานมหาวิทยาลัยบูรพา
       
โดยหลังจากที่ศูนย์ดำรงธรรม โดยนายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ได้รับข้อร้องเรียนแล้ว ได้เสนอต่อไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาดำเนินการ พร้อมทั้งได้แจ้งกลับมาว่า ได้ดำเนินการตามที่ร้องเรียน พร้อมทั้งได้ทำการสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อสรุปเป็นข้อเท็จจริงเสนอให้ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณา และดำเนินการต่อไป
       
สำหรับข้อสรุปที่นำให้ทางรัฐมนตรี พิจารณาคือ
       
1.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยยศ และพนักงมหาวิทยาลัยบูรพา ให้การสอดคล้องกันว่า ข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพาว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย พ.ศ.2557 ฉบับที่ 5 ข้อ 10 (ก) (2) มีใจความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีต้องมีอายุไม่กิน 70 ปี ทำให้ผู้ที่คณะกรรมการสรรหาอธิการบดีที่ได้คัดเลือกไว้ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ชารี มณีศรี อายุ 72 ปี และศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ อุปถัมภ์ อายุ 74 ปี ไม่สามารถได้รับการสรรหาเป็นอธิการบดี ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวออกภายหลังที่คณะกรรมการอธิการบดีได้พิจารณาสรรหาฯ ไว้เรียบร้อยแล้ว แต่สภามหาวิทยาลัยยังไม่เลือกผู้ใดมาเป็นอธิการบดี
       
และข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพาว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย พ.ศ.2557 ฉบับที่ 5 ข้อ 10 (ข) (11) ระบุไว้ว่า ผู้ที่จะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานและลูกจ้างมหาวิทยาลัย มีลักษณะต้องห้ามคือ เป็นผู้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และข้อ 54 (4) ได้ระบุไว้ว่า พนักงานและลูกจ้างต้องออกจากงาน เมื่อถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งการออกข้อบังคับมีผลให้พนักงาน และลูกจ้างมหาวิทยาลัยถูกรอนสิทธิในการแก้ไขหนี้สินของพนักงานมหาวิทยาลัยบูรพา เพราะพนักงาน หรือบุคลากรของหน่วยงานราชการอื่นเมื่อถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ยังสามารถเป็นข้าราชการ หรือพนักงานในหน่วยงานนั้นได้
       
2.ดร.สาธิต ปิติวรา และรองศาสตราจารย์ ดร.วีรพงศ์ วุฒิพันธุ์ชัย ให้การว่า ดร.สาธิต และรองศาสตราจารย์ ดร.วีรพงศ์ เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยบูรพา ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยบูรพา ครั้งที่ 4/2557 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 ได้นำวาระการแก้ไขปรับปรุงข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพาว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยฉบับที่ 5 พ.ศ.2557 ข้อ 10 และข้อ 54 เข้าพิจารณาในวันประชุมสภามหาวิทยาลัยบูรพา โดยไม่ส่งเอกสารร่างข้อบังคับที่เสนอแก้ไขปรับปรุงให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยบูรพาทราบก่อนล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน ตามข้อบังคับว่าด้วยการประชุม และวิธีการดำเนินงานของสภามหาวิทยาลัย พ.ศ.2557 ข้อ 3.4.1 และ 3.4.2 และสภามหาวิทยาลัยได้ให้ความเห็นชอบข้อบังคับดังกล่าว
       
โดยมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยบูรพา จำนวน 8 คน เห็นว่า ข้อบังคับของมหาวิทยาลัยบูรพาว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยบูรพา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2557 ที่แก้ไขปรับปรุงใหม่ในเรื่องของอายุ 70 ปี และการพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เป็นการกีดกัน และตัดสิทธิบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัย และมีผลกระทบต่อบุคลากรในมหาวิทยาลัยบูรพา จึงได้มีบันทึกข้อความที่ พิเศษ/2557 ลงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2557 เรื่องขอคัดค้านการแก้ไขปรับปรุงข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพาว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยบูรพา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2557
       
3.กรณีข้อร้องเรียนดังกล่าว ได้ดำเนินการฟ้องคดีในเรื่องขอให้เพิกถอนข้อบังคับมหาวิทยาลัยบูรพาว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัยบูรพา (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2557 ข้อที่ 10 (ก) (2) ความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีต้องมีอายุไม่เกิน 70 ปี ข้อที่ 10 (ข) (11) ระบุไว้ว่า ผู้ที่จะได้รับการบรรจุเป็นพนักงาน และลูกจ้างมหาวิทยาลัย มีลักษณะต้องห้าม คือเป็นผู้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และข้อที่ 54 (14) ได้ระบุไว้ว่า พนักงานและลูกจ้างต้องออกจากงานเมื่อเป็นผู้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ต่อศาลปกครองจังหวัดระยองแล้ว และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองจังหวัดระยอง 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 10-2-2558)
 
สหภาพบินไทยร้องนายก ต่อสัญญาจ้างพนักงานชั่วคราวกว่า 2 พัน ถึงอายุ 60 ปี
 
(11 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เข้าพบ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องเรียนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีขอให้สั่งการให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการตามมาตรการการแก้ไขปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ทำสัญญาว่าจ้างพนักงานในฝ่ายบริการภาคพื้น (DK) ฝ่ายอุปกรณ์ภาคพื้น (D2) และฝ่ายต้อนรับบนเครื่องบิน (DQ) ที่มีประมาณ 2,000 ราย ให้เป็นพนักงานโดยได้รับเงินเดือนตามโครงสร้างบัญชีเงินเดือน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการ ตามระเบียบบริษัทฯ ซึ่งใช้กับพนักงานทั่วไป แต่มีระยะเวลาสัญญาจ้างเป็นช่วง 2, 4 และ 5 ปี และเมื่อครบสัญญาก็จะมีการต่อสัญญาเป็นคราวๆ ไป
       
ซึ่งทางสหภาพฯ เห็นว่าสัญญาดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่เป็นธรรมกับพนักงาน เนื่องจากลักษณะงานดังกล่าวเป็นภารกิจประจำบริษัท พนักงานจึงควรมีสัญญาจ้างเกษียณที่อายุ 60 ปี เช่นเดียวกับพนักงานอื่นๆ ทั่วไป สหภาพฯ จึงได้ไปร้องเรียนกับบริษัท และขอร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำการตรวจสอบ
       
ต่อมา กสม. ได้ตรวจสอบและพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และให้บริษัท การบินไทย ดำเนินการแก้ไข แต่จนถึงปัจจุบัน บริษัท การบินไทย ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามที่ กสม. พิจารณาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม สหภาพฯ จึงขอความกรุณา นายกฯโปรดมีบัญชาให้บริษัท การบินไทย ดำเนินการแก้ไขตามความเห็นของ กสม. โดยเร่งด่วนต่อไป
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 11-2-2558)
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net