Skip to main content
sharethis

คมนาคมเตรียมจัดทำบัตรแสดงตนผู้มีรายได้น้อย ไม่เกิน 2,422 บาทต่อเดือน เพื่อนำมาใช้แสดงสิทธิ์ส่วนค่าโดยสารลด 50% แทนโครงการรถเมล์และรถไฟฟรีที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ก.ค. นี้

 

หลังจากที่กระทรวงคมนาคม ประชุมร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนจราจร หรือ สนข.  ร.ฟ.ท.  ขสมก. และ กรมการขนส่งทางบก ทบทวนมาตรการลดภาระค่าเดินทางของประชาชนในส่วนของรถเมล์และรถไฟฟรี ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ก.ค. นี้ จึงเตรียมความพร้อมออกมาตรการใหม่ในวันที่ 1 ส.ค. และจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงแรงงานถึงมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะได้รับส่วนลดค่าบริการร้อยละ 50 โดยผู้ใช้สิทธิต้องมีหลักฐานตรวจสอบได้ เบื้องต้นสำนักงานสถิติแห่งชาติเคยให้นิยามผู้มีรายได้น้อยคือมีรายได้ต่ำ กว่า 2,422 บาทต่อคนต่อเดือน แต่ยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับแนวคิดนี้

ล่าสุด สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการกำหนดมาตรการดูแลค่าครองชีพด้านการเดินทางของประชาชนในโครงการรถเมล์และรถไฟฟรีรอบใหม่ ซึ่งรัฐบาลจะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2558 เป็นต้นไปว่า ได้หารือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาคำนิยามของคำว่าผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะได้รับสิทธิ์ส่วนลดค่าโดยสาร 50% โดยได้ข้อยุติที่จะกำหนดให้ผู้ที่มีรายได้น้อยจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 2,422 บาท/คน/เดือน หรือ 29,064 บาท/คน/ปี ถึงจะขึ้นรถเมล์และรถไฟลด 50% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นการคำนวณมาจากการเปรียบเทียบรายได้ต่อหัวของประชากรกับเส้นความยากจน ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปี 2554

สำหรับโครงการรถเมล์รถไฟฟรีรอบใหม่นั้น รัฐบาลได้มีการปรับปรุงสิทธิ์ในการใช้บริการฟรี โดยจะให้สิทธิ์ใช้บริการฟรีเฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อย โดยขณะนี้ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้บริการออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ใช้บริการฟรี ได้แก่ ผู้พิการ ผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี เด็กที่มีอายุ 14 ปีหรือต่ำกว่า ทหารผ่านศึก พระภิกษุ สามเณร และแม่ชี และ 2.กลุ่มผู้ใช้บริการที่ได้รับส่วนลดค่าโดยสาร 50% ได้แก่ ผู้มีรายได้น้อย นักเรียน นิสิต และกลุ่มคนว่างงาน

“ช่วงเวลาอีก 5 เดือนที่เหลือจะหารือกับกระทรวงแรงงาน เพื่อหารูปแบบเกี่ยวกับการจัดทำบัตรแสดงตนผู้มีรายได้น้อย เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยนำมาใช้แสดงสิทธิ์ส่วนค่าโดยสารลด 50% รวมไปถึงการคำนวณจำนวนผู้มีรายได้น้อยในระบบทั้งหมดที่อยู่ในข่ายใช้สิทธิ์ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ส่วนกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ นักเรียน นักศึกษา ทหารผ่านศึกนั้น ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการแสดงสิทธิ์ เพราะปัจจุบันมีบัตรประจำตัว อยู่แล้ว สามารถใช้แสดงสิทธิ์ได้เลย คาดว่าจะหารือร่วมกันอีก 1 ครั้ง ก็จะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการทั้งหมดเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป” สร้อยทิพย์ กล่าว

 

เรียบเรียงจาก Voice TV และ ไทยรัฐออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net