กสม.แนะไม่ทัน ผ่านฉลุย พ.ร.บ.ศาลทหาร-ทหารยันไม่คลุมพลเรือน ยกเว้น112-ความมั่นคง

เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2558 เวลา 16.30 น. ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ครั้งที่ 11/2558 ซึ่งมีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม มีพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่..) พ.ศ... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นการพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 จากนั้นที่ประชุมลงมติรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในวาระ 2 และวาระ 3 ด้วยคะแนน 179 งดออกเสียง 5  ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

เนื้อหาสาระของร่างพ.ร.บ.นี้มีหลายส่วน แต่ที่เป็นประเด็นถกเถียงโต้แย้งกันมากโดยเฉพาะจากนักสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกประเทศได้แก่ มาตรา 46 ที่ให้อำนาจทหารระดับผู้บังคับบัญชาสั่งควบคุมผู้ต้องหาได้โดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลทหาร

“มาตรา 46 ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นทำให้ไม่อาจร้องขอให้ศาลทหารที่มีอำนาจสั่งขังผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ ให้ผู้บังคับบัญชาทหารสูงสุด ณ ที่นั้นเป็นผู้มีอำนาจสั่งควบคุมผู้ต้องหาไว้ตามความจำเป็นและกำหนดระยะเวลาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการขัง

          เมื่อเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นดังกล่าวในวรรคหนึ่งได้สิ้นสุดลงแล้ว ถ้ายังมีความจำเป็นต้องควบคุมผู้ต้องหาไว้ต่อไปอีก และการควบคุมนั้นยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการขัง ให้ร้องขอต่อศาลที่มีอำนาจเพื่อสั่งขังผู้ต้องหานั้นต่อไปได้

          ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับแก่บุคคลตามมาตรา 16 ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามมาตรา 14 ด้วยโดยอนุโลม”

เว็บไซต์iLaw ระบุว่า ร่างฉบับใหม่ ได้เปลี่ยนหลักการเบื้องต้นในการควบคุมตัวผู้ต้องหาจากเดิมที่ต้องขออนุญาตจากศาลก่อน กำหนดชัดเจนว่าในกรณีที่มีเหตุจำเป็นก็ไม่ต้องขออนุญาตจากศาล ให้ผู้บังคับบัญชาทหารเป็นผู้สั่่งได้เลย และยังแก้ไขเรื่องระยะเวลาการควบคุมตัวปรับลดจาก 90 วันให้เท่ากับระยะเวลาในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งอาจมากน้อยแตกต่างกันไปตามข้อกล่าวหา สูงสุด คือ ไม่เกิน 84 วัน

“นอกจากนี้อำนาจการควบคุมตัวในร่างฉบับใหม่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะใช้ได้กับผู้ต้องหาที่เป็นทหารหรือพลเรือน จึงเท่ากับว่า หากเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นผู้บังคับบัญชาทหารก็มีอำนาจสั่งให้ควบคุมตัวพลเรือนที่ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดได้เลย ขณะที่ตามกฎหมายเดิมนั้นอำนาจการสั่งควบคุมตัวผู้ต้องหาตามมาตรา 46 ยังจำกัดเฉพาะผู้ต้องหารที่เป็นทหาร” ไอลอว์ระบุ

พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างฯ  ชี้แจงในที่ประชุมสนช.ว่า ความห่วงกังวลที่เกิดขึ้นเป็นการเข้าใจผิดในมาตรานี้ผิดไป เจตนารมณ์ของการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ความชัดเจนคือ ผู้บังคับบัญชาสั่งควบคุมตัวผู้ที่อยู่ในอำนาจทหารได้ในกรณีฉุกเฉินหรือมีเหตุจำเป็น ยืนยันว่ากฎหมายธรรมนูญศาลทหารใช้บังคับกับผู้ที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ส่วนการควบคุมตัวก็จะเกี่ยวข้องกับบุคคลที่เกี่ยวกับทหาร รวมถึงผู้เป็นเชลยศึกหรือจารชน ซึ่งคำว่า ”บุคคลพลเรือน” อยู่ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เพียงจุดเดียว คือ บุคคลพลเรือนที่ทำงานอยู่กับทหาร แล้วก่อเหตุในเขตทหาร แต่ที่จะเกี่ยวข้องกับธรรมนูญศาลทหารจะเกิดขึ้นในกรณีการประกาศกฎอัยการศึก หรือประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือคณะปฏิวัติ โดยจะอยู่ในมาตรา 18 ที่ให้ควบคุมตัวในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ โดยจะมีการควบคุมตัวตามกฎหมายที่รองรับอยู่ เช่น การคุมขังตามคำสั่งของคสช. ซึ่งพลเรือนผู้นั้นจะนำขึ้นศาลทหารได้ แต่ต้องมีความผิดใน 2 กรณีตามประกาศคสช.เท่านั้นคือ ความผิดต่อสถาบันเบื้องสูง และความผิดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง

ขณะที่วันเดียวกันนี้ ในการประชุมอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธาน พ.อ.ศุภชัย อินทรารุณ รองผู้อำนวยการกองกฤษฎีกาทหารและการต่างประเทศ เป็นผู้แทนเจ้ากรมพระธรรมนูญมาร่วมประชุมชี้แจง นพ.นิรันดร์ ให้สัมภาษณ์ว่า พล.อ.ศุภชัยได้ยืนยันกับที่ประชุมว่า มาตรานี้ไม่ครอบคลุมไปถึงพลเรือนด้วยอย่างแน่นอน เป็นการบังคับใช้กับทหารเท่านั้น แม้ในช่วงนี้จะมีคดีที่พลเรือนขึ้นศาลทหารตามคำสั่ง คสช.ก็ตาม

นพ.นิรันดร์ กล่าวต่อว่า ทางคณะอนุกรรมการสิทธิฯ หารือกันได้ข้อสรุปว่า ควรจะเขียนมาตราดังกล่าวให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นจะเป็นปัญหาเรื่องการตีความในภายหลัง ทางอนุฯ จึงจะเสนอ สนช.และครม. เพื่อพิจารณาเขียนมาตราดังกล่าวให้ชัดเจนไปเลยว่าจะไม่ครอบคลุมถึงพลเรือนไม่ว่ากรณีใด

ส่วนที่มีการแก้ไขในมาตรานี้ พ.อ.ศุภชัยชี้แจงเหตุผลว่า เป็นปัญหาการพิจารณาคดีของทหารที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาซึ่งมีปัญหามาตลอด จึงคิดว่าควรแก้ให้ทันต่อเหตุการณ์ เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... นั้น กำหนดให้

-รมว.กลาโหม มีอำนาจออกข้อบังคับและระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามร่าง พ.ร.บ.นี้

-กำหนดให้ระเบียบราชการของศาลทหารและอัยการทหารต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา

-กำหนดให้ตุลาการพระธรรมนูญและอัยการทหารได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งตามระเบียบที่กระทรวงกลาโหมกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง

-กำหนดให้คดีที่ต้องดำเนินในศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร

-กำหนดให้ศาลจังหวัดทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ทุกบทกฎหมายเว้นแต่คดีที่จำเลยมียศทหารชั้นสัญญาบัตร

-กำหนดให้ศาลทหารสูงสุดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารกลาง และคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารชั้นต้นโดยตรงไปยังศาลทหารสูงสุด

-กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาทหารมีอำนาจสั่งควบคุมผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารได้ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็น

-กำหนดให้ศาลทหารตั้งทนายให้แก่จำเลยและให้ศาลจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายที่ศาลตั้ง

-กำหนดให้การพิพากษาคดีของศาลทหารสอดคล้องกับมาตรา 192 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

-แก้ไขการบังคับคดีในกรณีหญิงมีครรภ์ต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิต โดยกำหนดให้รอการประหารชีวิตไว้ก่อนจนกว่าจะพ้นกำหนด 3 ปีนับแต่คลอดบุตร แล้วให้ลดโทษประหารชีวิตลงเหลือจำคุกตลอดชีวิต ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการบังคับคดีในกรณีหญิงมีครรภ์ตามมาตรา 247 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไม่มีสมาชิก สนช.ขอแปรญัตติ หรือสงวนความเห็น มีเพียง นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นพ.เจตน์ ศิธรานนท์ ที่แสดงความเป็นห่วงในมาตรา 46 ของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนและประชาชนให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นการเพิ่มอำนาจให้ศาลทหารมีอำนาจครอบคลุมพลเรือนและสามารถฝากขังผู้ต้องหาได้ภายใน 84 วัน จึงอยากให้คณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงให้ชัดเจน

ที่มาบางส่วนจากเว็บไซต์มติชนออนไลน์, เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท