Skip to main content
sharethis

คนทำงานแม่บ้านจากอินโดนีเซียยังคงพบกับความยากลำบากในหลายที่ที่พวกเธอไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็นจากภัยสงครามในตะวันออกกลาง การทารุณในฮ่องกง-สิงคโปร์ หรือการเหยียดหยามจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย

อินโดนีเซียเตรียมลดการส่งแม่บ้านออกนอกประเทศ

 

 

 

กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2015 รัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดีโจโก วิโดโด (Joko Widodo) ของอินโดนีเซีย ประกาศว่ามีแผนการที่จะทยอยลดการส่งแรงงานหญิงชาวอินโดนีเซียออกไปเป็นแม่บ้านในต่างประเทศ โดยระบุว่าเป็นการปกป้อง “ผู้หญิง” ชาวอินโดนีเซีย

ปัจจุบันมีผู้หญิงอินโดนีเซียหลายล้านคนเดินทางไปทำงานในมาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ตะวันออกกลาง และภูมิภาคอื่นๆ ที่ให้ค่าแรงสูงกว่าการทำงานในประเทศ แต่ล่าสุดหลังจากเกิดเหตุนายจ้างฮ่องกงทำร้ายแม่บ้านอินโดนีเซียจนกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว ทำให้วิโดโดประกาศว่าจะมีการกำหนดแผนที่ชัดเจนในการลดจำนวนและหยุดส่งผู้หญิงอินโดนีเซียไปทำงานแม่บ้านยังต่างแดนในท้ายที่สุด

ด้าน Migrant CARE องค์กรสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเรื่องแรงงานที่ออกไปทำงานต่างประเทศกลับออกมาระบุว่าแผนการของนายวิโดโดเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ถือว่าการปิดกั้นผู้หญิงอินโดนีเซียและขัดต่อรัฐธรรมนูญที่รับรองว่าพลเมืองทุกคนมีสิทธิจะมีงานที่ดีทำและได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลอินโดนีเซียในทุกที่ที่ไปทำงาน  โดย Migrant CARE ได้ออกคัดค้านแผนการนี้และระบุว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือปกป้องแรงงานชาวอินโดนีเซีย ไม่ใช่ห้ามผู้หญิงอินโดนีเซียไม่ให้ออกไปทำงานยังต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2015 ที่ผ่านมาสื่อในอินโดนีเซียรายงานว่าแม่บ้านชาวอินโดนีเซีย 71 คนก็พึ่งเดินทางกลับถึงอินโดนีเซีย หลังเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศซีเรียที่พวกเธอไปทำงานนั้นส่อเค้าความรุนแรงเพิ่มขึ้น

 

ถูกละเมิดสิทธิที่ฮ่องกง

Erwiana Sulistyaningsih แม่บ้านชาวอินโดนีเซียในวัย 23 ปี ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ ให้เป็น 1 ใน 100 บุคคลทรงอิทธิพลที่สุดของโลกประจำปี 2014 เช่นเดียวกับ Malala Yousafzai เด็กหญิงชาวปากีสถานที่ได้รับรางวัลโนเบล

ศาลฮ่องกงได้ตัดสินให้นายจ้างหญิงชาวฮ่องกงคนหนึ่งมีความผิดฐานทารุณกรรมแม่บ้านชาวอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2015 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นคดีที่ทั่วโลกจับตามองฮ่องกงกับการละเมิดสิทธิแรงงานต่างชาติที่มาทำงานบ้านในดินแดนที่ว่ากันว่ามีความตึงเครียดในด้านเศรษฐกิจมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

หลอ วัน-ตุง (Law Wan-tung) นายจ้างวัย 44 ปี ของเออร์เวียนา สุลิสตยานิงสีห์ (Erwiana Sulistyaningsih) หญิงสาวชาวอินโดนีเซีย ถูกพิพากษาว่ามีความผิด 18 กระทงจากทั้งหมดที่อัยการส่งฟ้อง 20 กระทง ฐานความผิดหลักๆ ได้แก่ ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัสโดยเจตนา ข่มขู่ และไม่จ่ายค่าแรง เป็นต้น โดยในรายงานข่าวระบุว่านายจ้างหญิงวัย 44 ปีรายนี้มักจะใช้ข้าวของภายในบ้านมาเป็นอาวุธในการทำร้ายร่างกายสุลิสตยานิงสีห์ ไม่ว่าจะเป็นไม้ถูพื้น ไม้บรรทัด หรือไม้แขวนเสื้อ และอื่นๆ ที่เธอพอจะคว้าได้ในขณะที่กำลังฉุนเฉียวและมาระบายกับสุลิสตยานิงสีห์

ประมาณการกันว่าปัจจุบันมีแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานเป็นแม่บ้านในฮ่องกงประมาณ 325,000 คน ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งมีรายงานข่าวอยู่บ่อยครั้งว่าพวกเธอมักจะถูกกระทำทารุณจากนายจ้าง โดยรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล (Amnesty International) เมื่อปี 2013 ระบุว่าหญิงชาวอินโดนีเซียหลายพันคนที่ต้องจากบ้านไปทำงานในฮ่องกงมีสภาพการทำงานเยี่ยงทาส แต่ทั้งรัฐบาลอินโดนีเซียและรัฐบาลฮ่องกงไม่สามารถคุ้มครองพวกเธอจากการถูกทำร้ายและถูกกดขี่ได้ ส่วนข้อมูลจาก Mission for Migrant Workers ในปีเดียวกันนั้น (2013) ที่ได้ทำการสำรวจคนงานบ้าน 3,000 คน ในฮ่องกง พบว่าร้อยละ 58 ถูกทำให้กระทบกระเทือนใจทางวาจา ร้อยละ 18 ถูกทำร้ายร่างกาย และร้อยละ 6 ถูกทารุณกรรมทางเพศ

อนึ่งสำหรับสุลิสตยานิงสีห์นั้น เมื่อปีที่แล้ว (2014)  นิตยสารไทม์ได้ยกย่องให้เธอเป็น 1 ใน 100 บุคคลทรงอิทธิพลที่สุดของโลกประจำปี ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับ มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) เด็กหญิงชาวปากีสถานเจ้าของรางวัลโนเบลที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยนิตยสารไทม์ ยกย่องความกล้าหาญของเธอที่กล้าออกมาเปิดโปงการกระทำของนายจ้าง

แรงกระเพื่อมจากการลุกขึ้นสู้ของสุลิสตยานิงสีห์ นี้ได้ทำให้นักกิจกรรมและประชาชนที่รักความเป็นธรรมในฮ่องกงและทั่วโลกออกมาเคลื่อนไหวผลักดันให้รัฐบาลฮ่องกงออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานทำงานบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ รวมทั้งยังช่วยจุดกระแสทำให้คนทั่วโลกหันมาจับจ้องชะตากรรมของคนทำงานแม่บ้านในเอเชียและตะวันออกกลางที่มีการเปิดเผยว่าแรงงานกลุ่มนี้มักจะถูกกระทำทารุณจากนายจ้าง และบ่อยครั้งความรุนแรงยกระดับไปถึงการข่มขืนและการฆาตกรรมอีกด้วย

 

ที่สิงคโปร์ก็ด้วย

ขยับมาใกล้ๆ อย่างเพื่อนบ้านในละแวกอาเซียนเมื่อปี 2013 ศาลสิงคโปร์ตัดสินจำคุก 21 เดือนนายจ้างหญิงชาวสิงคโปร์ ฐานทำร้ายร่างกายแม่บ้านสาวชาวอินโดนีเซียอย่างรุนแรงเมื่อปลายปี 2010 โดยนายจ้างหญิงคนนี้ได้ทำร้ายร่างกายแม่บ้านชาวอินโดนีเซียวัย 25 ปี ด้วยการต่อยที่เบ้าตา เตะเข้าที่อวัยวะเพศ และจับศีรษะโขกกับประตูห้องน้ำ เมื่อเธอรู้สึกว่าแม่บ้านชาวอินโดนีเซียคนนี้ดูแลลูกของเธอไม่ได้ดั่งใจเธอ

คดีนี้ได้สร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่งในสังคมที่แรงงานแม่บ้านมีความสำคัญเป็นอย่างมากในสิงคโปร์ โดยผู้พิพากษาระบุว่าเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจต่อเพื่อนมนุษย์เลยทีเดียว

 

ถูกเหยียดหยามในมาเลเซีย

 

 

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2015 ที่ผ่านมาสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ยื่นหนังสือร้องเรียนอย่างเป็นทางการต่อรัฐบาลมาเลเซีย เพื่อให้พิจารณาโฆษณาเครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติยี่ห้อ RoboVac อย่างเร่งด่วน

กรณีนี้สืบเนื่องมาจากบริษัทผลิตเครื่องดูดฝุ่นต้นสังกัดของ RoboVac ประชาสัมพันธ์คุณภาพสินค้าของตัวเองด้วยข้อความว่า "ไล่แม่บ้านชาวอินโดนีเซียออกได้เลย" รวมทั้งยังขีดเส้นใต้เน้นคำว่า "แม่บ้านชาวอินโดนีเซีย" ซึ่งทางการอินโดนีเซียระบุว่าเป็นการกระทำที่ดูหมิ่นและทำร้ายจิตใจของชาวอินโดนีเซียเป็นอย่างยิ่ง

และแม้มีรายงานว่าบริษัทเจ้าของ RoboVac จะถอดโฆษณาอื้อฉาวนี้ออกจากสื่อทุกประเภทแล้ว แต่ทางการอินโดนีเซียอาจจะดำเนินคดีทางกฎหมายกับบริษัทต้นสังกัดเจ้า RoboVac นี้ด้วย

ปัจจุบันมาเลเซียมีแรงงานแม่บ้านชาวอินโดนีเซียอยู่ราว 400,000 คน และทั้งรัฐบาลของสองประเทศเคยผิดใจกันมาแล้วหลายครั้งในประเด็นนี้

เช่นในปี 2009 มีกรณีนายชาวมาเลเซียถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำร้ายร่างกายด้วยการทุบตีและสาดน้ำร้อนใส่แม่บ้านชาวอินโดนีเซีย และหลังจากนั้นก็มีการเปิดเผยข้อมูลว่าแม่บ้านอินโดนีเซียถูกกดขี่ทำนองเดียวกันนี่กว่า 50 คดี ซึ่งรัฐมนตรีแรงงานของอินโดนีเซียในขณะนั้นระบุว่าอาจจะยุติการส่งแรงงานเข้าไปทำอาชีพแม่บ้านในมาเลเซียเลยทีเดียว หากมาเลเซียยังไม่มีกฎหมายควบคุมดูแลคุณภาพสภาพแวดล้อมการทำงานของคนงานแม่บ้านเหล่านี้ ในการป้องกันปัญหาสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เหมาะสม ความรุนแรงทางเพศ และการเบี้ยวค่าแรงจากนายจ้าง

รวมทั้งเมื่อปี 2012 บริษัทจัดหางานแห่งหนึ่งในมาเลเซียได้โฆษณาด้วยประโยคที่ว่า "ลดราคาแม่บ้านอินโดนีเซีย!" ทำให้ทางการอินโดนีเซียไม่พอใจเป็นอย่างมาก

และล่าสุดเมื่อปี 2013 แม่บ้านชาวอินโดนีเซียถูกศาลมาเลเซียตัดสินจำคุกถึง 20 ปี เนื่องกระทำทารุณกรรมต่อทารกวัย 4 เดือน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้จะไม่บั่นทอนความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศในประเด็นนี้อีกครั้งหนึ่ง.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net