Skip to main content
sharethis

รายการคืนความสุข 'ประยุทธ์' ระบุคนทำงานรัฐวิสาหกิจอย่าต้านฟื้นฟู-ปรับโครงสร้าง อาจลดผลประโยชน์ลงบ้างหรือจะให้ขายทิ้งให้เอกชนถึงเวลานั้นโดนซองขาวมาก็ช่วยไม่ได้



 

20 ก.พ. 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 20.15 น. ตอนหนึ่งระบุถึงการฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีหลายรัฐวิสาหกิจซึ่งขาดทุนว่า

"ในเรื่องของการฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีหลายรัฐวิสาหกิจซึ่งขาดทุน สถานการณ์การเงินแย่ ที่ผ่านมาก็ทำไม่ได้ ฟื้นฟูไม่ได้จริงสักที แล้วอ้างเหตุผลว่า ต้องขาดทุนเพื่อจะดูแลให้การบริการประชาชนให้มีกำไร ไม่ใช่ ผมว่าอยู่ที่การบริหาร วันนี้ก็กำลังแก้ไขอยู่ก็หลายอย่างก็มีการต่อต้าน ไม่ยอมกัน ก็ขอร้องสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจ ถ้าหากว่าปล่อยให้ล้มไปเลยก็ได้ ผมก็ปล่อยได้ ก็ล้มลงไปเลยไม่ต้องมี ท่านก็ไม่มีงานทำก็แล้วแต่ แต่ถ้าท่านปล่อยให้เราหรือยอมให้เราแก้ไขร่วมมือกับเรา วันนี้แย่อยู่อาจจะเสียสิทธิ์อะไรไปบ้าง วันหน้าก็ดีขึ้น ย่อมดีกว่าที่จะเสียหายไปเลยไม่ใช่หรือ ท่านก็จะไม่มีงานทำ"

"ผมพร้อม ถ้าท่านจะมาต่อต้าน ผมก็เลิกรื้อฟื้น เลิกฟื้นฟูก็ไปขายทิ้งไป ใครจะมาบริหารก็บริหารไปท่านก็ไปรบกับเขาเองแล้วกัน ผมก็ถามว่าแล้วท่านจะได้อะไรดีกว่าเดิมหรือไม่ ผมไม่รู้ ถ้าเป็นเอกชนบริหารในเรื่องเหล่านี้ ส่วนใหญ่ถ้าไม่ดีเขาก็ยื่นซองขาว ท่านก็ออกไป ไม่เห็นมีปัญหาเลย บางอย่างผมพยายามที่จะเก็บเอาไว้เป็นสมบัติของชาติ ของอนาคต ยังมีช่องทางอยู่ก็พยายามจะแก้ พยายามจะทำ ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น  บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถ้าปล่อยไปก็ได้ ขายไปเลยเหมือนต่างประเทศเขาทำ แต่วันนี้ก็ยังคิดอยู่ว่าเป็นสายการบินแห่งชาติแล้วก็สร้างมา มีประวัติศาสตร์มายาวนาน มีความนิยม ไม่ได้เสียหายอะไร เสียหายในเรื่องการบริหารจัดการในห้วงที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ไม่ได้แก้กัน"

"วันนี้ผมเป็นรัฐบาลมาแบบนี้ พยายามแก้อยู่ แต่ผมก็ถูกต่อต้าน เพราะฉะนั้น แต่ผมก็จะเดินหน้าของผมไปเรื่อย ๆ ทุกเรื่อง เดินหน้าไป แต่ถ้าทำไม่ได้ขึ้นมาก็ปล่อยทิ้งไป แล้วท่านก็ไปเป็นลูกจ้างเขาแล้วกัน ลูกจ้างเอกชนเขา ดูสิว่าอะไรจะดีกว่า" พลเอกประยุทธ์กล่าว

โดยรายละเอียดทั้งหมดของรายการมีดังต่อไปนี้

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 20.15 น.

สวัสดีครับ พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน

เนื่องในเทศกาลตรุษจีน ที่เพิ่งจะผ่านไป ผมขออวยพรให้พี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนทุกท่าน มีแต่ความสุข ความเจริญ มีสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง สุขภาพกายที่สมบูรณ์แข็งแรง เป็นพลังช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และพัฒนาประเทศไทยของเราให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องด้วยความผูกพันที่ยาวนาน และมีวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดมากว่า 120 ปี อันที่จริงนานกว่านั้น จากประวัติศาสตร์ สำหรับปีนี้เป็นแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 40 ปี คนไทยกับคนจีนมีการไปมาหาสู่เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์นี้ยังได้รับการส่งเสริมโดยพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยในภาษา วัฒนธรรรม และประวัติศาสตร์ของจีน ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน รวมทั้งเยาวชนของไทยในการศึกษาเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งทรงริเริ่มการแสดงดนตรี “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” และความร่วมมืออื่น ๆ ทางด้านวิชาการอีกมากมาย ล้วนมีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างกัน

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรมนั้น นับวันจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากเรามีความเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้งต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชน และถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนในด้านอื่น ๆ ต่อไป

การเข้ามาบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลในปัจจุบันนั้น วัตถุประสงค์หลักคือการยุติความขัดแย้ง ปฏิรูปประเทศให้สามารถเดินหน้าพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน ปัญหาใด ๆ ที่สะสมมาขาดการดูแลแก้ไขหลายอย่าง ซึ่งรัฐบาลหลายรัฐบาลที่ผ่านมาทำได้ไม่มากนัก เพราะมีความขัดแย้ง มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นไม่ว่ารัฐบาลใดก็ตาม ก็คงจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ด้านการเมืองไปไม่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับหลายส่วนด้วยกัน ทั้งการเมือง ทั้งประชาชน ขณะนี้ในเรื่องของการปฏิรูป กำลังเดินหน้าอยู่ ในช่วงที่ต้องมีการแก้ไข ในระยะที่ 2 ในเรื่องเร่งด่วนต่าง ๆ เหล่านั้น เราก็เดินหน้ามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปากท้องของประชาชน การลดความเหลื่อมล้ำในระยะที่ 1 การสร้างความยั่งยืนในระยะแรก ตลอดจนการดำเนินนโยบายตาม roadmap ของ คสช. และรัฐบาล ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดสิ่งที่ทุกคนต้องการให้ได้โดยเร็วที่สุด และยั่งยืน เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายน่าจะใช้เหตุผลเข้ามาช่วยกัน ร่วมมือกันในการทำงานกับรัฐบาล หากใช้วิธีทาง ทางการเมืองเข้ามาสร้างกระแส หรือสร้างประเด็นความขัดแย้งอีกต่อไป ก็อาจจะเป็นอุปสรรคในการที่จะบรรลุเป้าหมายตามเวลาที่เราต้องการ เพราะว่าเรื่องที่ต้องดำเนินการนั้นมีมากมาย ปัญหาเร่งด่วน ปัญหาระยะสั้น ระยะยาว เรื่องของกฎหมาย เรื่องของการปฏิรูปหลายอย่าง จริง ๆ แล้วก็ทุกอย่าง เราต้องทำด้วยความรอบคอบ ไม่ให้เกิดปัญหาในระยะยาวต่อไป

เรื่องที่เรากำลังดำเนินการในขณะนี้ก็เกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งเศรษฐกิจในชุมชน เศรษฐกิจในภูมิภาค เศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้าน และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้ได้ สร้างนวัตกรรมให้ได้

เรื่องการเกษตร ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่ารายได้ผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำ เพราะเกษตรกรรายได้รับไม่พอเพียงต่อรายจ่ายก็ทำให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นค่อนข้างจะเป็นปัญหา

เรื่องหนี้ครัวเรือน หลายท่านก็จำเป็นที่จะต้องสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว มีการผ่อนหนี้ ผ่อนสิน ซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้ออะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่ ก็ทำให้เป็นปัญหาต่อการดำรงชีพในปัจจุบัน

เรื่องเงินหมุนเวียน ในพื้นวันนี้ก็อย่างที่เรียนไปแล้ว ถ้าเศรษฐกิจโลกตกต่ำ เศรษฐกิจในประเทศไม่เข้มแข็ง และผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเรามีคนทำการเกษตรมากถึง 30 ล้านคน อาจจะทำให้เป็นปัญหาเรื่องเงินทุนหมุนเวียน หรือเงินที่หมุนเวียนในเศรษฐกิจของประเทศ

เรื่องการลงทุนในปัจจุบันนั้น เราจำเป็นต้องเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการลงทุนในประเทศ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความอยู่ดีกินดีขึ้น ในส่วนที่ 2 คือ การลงทุนเพื่อจะต่อยอดทางด้านเศรษฐกิจ การสร้างความเชื่อมโยง การสร้างตลาด การแลกเปลี่ยนสินค้า เพราะปัจจุบันเราเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เพราะฉะนั้น สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เราก็ลดลง เพราะฉะนั้นสินค้าต่าง ๆ เราค่อนข้างจะแข่งขันกับเขาได้ยาก เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องเร่งรัดในทุกมิติ ในเรื่องการผลิต ในเรื่องของการค้าขาย การส่งออก การสร้างนวัตกรรม การเพิ่มมูลค่าสินค้า และการแปลงวัตถุดิบที่มีในประเทศจำนวนมากนั้น ให้มีมูลค่าสูงขึ้น ผลิตเป็นสินค้าก่อนนำส่งออก

เรื่องการจัดทำความร่วมมือทางด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไม่ว่าจะกับจีน กับญี่ปุ่น หรือประเทศใด ๆ ก็ตาม ก็คงมีอีกหลายประเทศ ที่จะตามมา เพราะฉะนั้นหลายเรื่องก็ต้องมีคณะทำงานพูดคุยเจรจากันจนกว่าจะได้ข้อตกลง ก็ยังไม่มีข้อตกลงใด ๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าหาสิ่งที่ดีที่สุด สำหรับประเทศไทย และเช่นเดียวกันต้องรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุนด้วย เพราะฉะนั้นทั้ง 2 ฝ่าย กำลังตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพูดคุยเจรจากันในหลาย ๆ เรื่องด้วยกัน อย่ากังวลเรื่องนี้ เราจะต้องพยายามทำให้ได้ให้ดี และให้มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับคนไทย

เรื่องของคดีทุจริต ทุกคดีนั้น วันนี้เราก็ให้ดำเนินการให้เกิดความชัดเจน โปร่งใส และเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม หลายคดีอาจจะมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก เช่น คดีลักเงินคลังสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สหกรณ์ยูเนี่ยน การทุจริตจัดซื้อจัดหาก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา มีอยู่หลายคดีด้วยกัน พี่น้องประชาชนก็ติดตามแล้วกัน อย่าไปเร่ง หรืออย่าไปตัดสินกันเสียก่อน ผมอย่างจะเรียนอย่างนั้น ให้เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมาย ไม่อย่างนั้นก็วุ่นวาย สร้างความสับสนและสร้างความเกลียดชังกันไปเรื่อย ๆ ใครทำผิดก็ว่ากันไป ก็สู้กันไปตามหลักฐานที่มีอยู่ ฝ่ายรัฐก็ต้องดำเนินการให้เกิดความโปร่งใส และเป็นธรรม

เรื่องการปราบอาชญากรรม ยาเสพติด ทุกคดีให้เป็นไปอย่างยุติธรรม ยึดกฎหมายเป็นหลัก

เรื่องการจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะ วันก่อนเห็นในโทรทัศน์ ก็สวยงาม นักท่องเที่ยวทั้งต่างประเทศ และชาวไทยก็มีความพึงพอใจ อย่างไรก็ตามก็ต้องดูแลพ่อแม่พี่น้อง ที่มีการขายของต่าง ๆ เหล่านั้นให้มีรายได้ หาพื้นที่ที่เหมาะสมให้ อาจจะไม่ดีเท่าที่เก่า อย่างไรก็ตามก็เหมือนกับต่างประเทศ การไปซื้อของอะไรต่าง ๆ ก็ไม่สะดวกมากนัก ตรงไหนจะต้องไปพักผ่อนก็ต้องเดินไป ต้องเคลื่อนย้ายไป ซื้อของก็ซื้ออีกที่หนึ่ง อันนี้เราบริการถึงที่เลย ถึงชายหาดเลย ก็สะดวกดีแต่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่มี และก็สกปรกด้วย ขอให้ดำเนินการให้ได้โดยเร็ว และอย่าให้กลับมาเป็นแบบเดิมอีก เช่นเดียวกันใน กรุงเทพฯ ในต่างจังหวัดด้วย หลาย ๆ พื้นที่ ก็จำเป็นต้องจัดระเบียบใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม อันนี้ก็เป็นเรื่องของการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำเช่นเดียวกัน เพราะว่าคนอื่นเขาไม่ได้มีรายได้ เพราะเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ไม่ได้มาขายในพื้นที่ห้ามขายอะไรเหล่านี้ ต้องเฉลี่ยแบ่งปันกันบ้าง

วันนี้รัฐบาลก็เร่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาก็ทำไม่ได้ วันนี้ต้องขอบคุณที่ทุกคนที่ให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ และเราก็จะพยายามแก้ปัญหาให้ ในระยะยาวต่อไป อาจจะต้องหาที่ที่ถาวร อาจจะต้องดูเรื่องที่อยู่ที่อาศัยด้วย ก็คงต้องร่วมมือกัน รัฐคงดูทั้งหมดไม่ได้ ถ้าเป็นไปได้หรือไม่ว่า ถ้ามีที่อยู่ที่อาศัยราคาไม่แพงมากนัก มีตลาดให้ขาย มีบ้านให้อยู่ ฉะนั้นชุมชนแออัดต่าง ๆ เหล่านี้ ก็อาจจะกระจายขยับขยายออกไปได้ เราต้องขยายชุมชนเมืองออกไป ไม่อย่างนั้นก็แน่นอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือในเมืองใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น อันนี้อยากจะเรียนไว้เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งเราก็คิดตั้งแต่บัดนี้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ 100% แต่ถ้าเราเริ่มต้นได้ และได้รับความร่วมมือ ไม่ขัดแย้งกันตั้งแต่ต้น ก็จะเดินหน้าไปได้เหมือนกับหลาย ๆ ประเทศเขาทำ เพราะมีผลกระทบหลายส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งคงต้องขอความร่วมมือกับภาคเอกชนมาร่วมด้วย

กรณีการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อ คอลัมนิสต์ หรือบุคคลบางคนก็ตาม อาจจะฝ่ายการเมืองบ้าง หรือนักวิชาการ อันนี้ก็ฝากว่าขอความกรุณาให้มีข้อมูลให้ครบ มีการบ้าน ทำการบ้านมาบ้าง และดูในส่วนที่เป็นเหตุ เป็นผล มีการตรวจสอบความถูกต้อง เพราะเป็นจรรยาบรรณของมนุษย์ ของคนที่ดี ของสื่อที่ดี สื่อที่มีคุณภาพ ไม่อย่างนั้นสร้างความเข้าใจผิด และสร้างมวลชนขึ้นมา ทำให้เกิดปัญหา เกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลในการทำงาน และผมก็ต้องมาตอบคำถามซ้ำ ๆ ในเรื่องที่เคยตอบไปแล้ว หรือเรื่องที่เคยทำไปแล้ว หรือทำจบไปแล้ว หรือกำลังทำอยู่เหล่านี้ ถ้าหากไม่ฟังกัน ไม่เข้าใจกัน ก็นำมาพูดกลับไปกลับมาอยู่แบบเดิม บางครั้งก็ทำให้การทำงานนั้น ก็สะดุดอยู่เหมือนกัน

เรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่า ขณะนี้ได้สั่งการว่าให้หยุดการบุกรุกโดยเด็ดขาด และเราทำได้ในหลายพื้นที่ พื้นที่ใด ๆ ก็ตามที่ยังคงเป็นป่าอยู่ หรือป่าต้นน้ำ อันนี้เราให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ต้องตีกรอบพื้นที่เหล่านี้ไว้ให้ได้ เพราะฉะนั้นมีการบุกรุกเมื่อไหร่ก็ตาม ดำเนินการโดยทันที จับกุม จะไม่ปล่อยให้มีการบุกรุกอีกต่อไป

สำหรับพื้นที่ในวงรอบ รอบนอกของป่าที่สมบูรณ์ แต่ยังเป็นพื้นที่ป่า พื้นที่อุทยาน อะไรก็แล้วแต่  ถ้าหากว่ามีการบุกรุก หรือมีประชาชนอยู่อยู่แล้ว ก็จะต้องใช้วิธีทางกฎหมายร่วมกับวิธีทางรัฐศาสตร์ คือเรื่องของการฟ้องร้อง รื้อถอน หรือให้เช่า และที่ดินเหล่านั้นถ้าหากนำกลับมาได้ ก็จะสามารถที่จะแบ่งปัน เฉลี่ย ให้กับบุคคลอื่น ๆ ที่ขาดแคลนที่ดินอยู่อาศัยด้วย แต่ต้องหาวิธีการต้องนึกถึงคนที่เหลืออยู่อีกด้วย

สำหรับประชาชนที่ยากจนและเดือดร้อนจากมาตรการเหล่านี้ รัฐกำลังดำเนินการหาวิธีทางที่จะดูแลต่อไป ก็ต้องยอมรับกันบ้าง ถ้าทุกเอาแต่ตามใจกันต้องตรงนั้น ตรงนี้ต่าง ๆ เหล่านี้คงเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย

เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ การปรองดอง การนิรโทษ การดำเนินการทางกฎหมายต่าง ๆ เหล่านี้ หลายคนก็แสดงความคิดเห็นออกมา อยากให้รัฐทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ ผมก็เข้าใจว่าท่านก็คงจะหวังดีอยากให้บ้านเมืองสงบ แต่ท่านก็ต้องคำนึงถึงกติกาบ้าง คิดถึงกฎหมาย ว่าเป็นอย่างไรอยู่ ถ้าเราพูดถึงเรื่องปรองดองอย่างเดียว เรื่องกฎหมายก็มีปัญหา ถ้าจะพูดถึงการนิรโทษก็ต้องต่อมาจากกฎหมายเช่นเดียวกัน เพราะหลาย ๆ อย่าง เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวพันกับกฎหมายของประเทศ ถ้าหากว่าจะปรองดองกัน ผมว่าอย่างแรกก็คือลดการพูดจาให้ร้ายซึ่งกันและกัน และปล่อยให้ทุกอย่างเข้าสู่การกระบวนการ อย่าไปตัดสินเอง อย่าไปใช้ความชอบส่วนตัวมาเป็นเหตุเป็นผล คือถึงแม้ว่าจะเป็นคนที่ท่านชอบ แต่ถ้าทำความผิด ก็ผิดอยู่ดี ฉะนั้นจะได้มีการปรับปรุงตัวเองในโอกาสต่อไป บ้างอย่างก็ต้องเป็นการสร้างบรรณทัดฐานให้กับประเทศ ให้กับทุกคนที่จะต้องเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าถูกก็ว่าไปตามถูก ถ้าผิดก็ว่าไปตามผิด

เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าวันนี้ยังไม่ยอมรับความผิดกันเลย หรือว่ายังพิสูจน์ไม่ได้ว่าผิดมาก ผิดน้อย ผิดแค่ไหน อะไร อย่างไร เจตนา ไม่เจตนาอย่างไร ผมคิดว่ายังเป็นปัญหาอยู่ทั้งสิ้น ฉะนั้นก็คงต้องนำกฎหมายมาดู และใช้หลักเกณฑ์ของความเป็นธรรม ความชอบธรรม ความโปร่งใส การยอมรับเหล่านี้ คงต้องฝากหลายส่วนด้วยกัน ทั้งในส่วนของภาครัฐ และกระบวนการยุติธรรม และเอกชน ประชาชน ที่มีส่วนร่วม ก็ต้องไปหาทางกันมาว่าจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบสุข ผมไม่อยากให้ไปมุ่งเน้นเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยเฉพาะ เพราะวันนี้ปัญหาความขัดแย้งอยู่ที่ประชาชน ประชาชนก็มีหลายพวก หลายฝ่าย หลายกลุ่มอาชีพ และคนกระทำความผิดก็มีหลายส่วน หลายพวกเหมือนกัน ฉะนั้นถ้าเราลงความเห็นว่าปัญหาอยู่ตรงนั้น ตรงนี้ คงไม่ใช่ทั้งหมด ก็อยากจะให้ไปดูในปัญหาในภาพกว้าง ถ้าหากว่าคนผิด ถ้าหากว่าทำความผิดไปแล้ว อาจได้รับการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คนอื่น ๆ จะได้รู้ว่าอย่างนี้ทำได้ อย่างนี้ทำไม่ได้อะไรเหล่านี้ แก้ปัญหาไปที่ละจุด ๆ ไป

เราแก้อันหนึ่งอันใดทีเดียวไม่ได้ เพราะว่าปัญหาเกิดขึ้นมานาน และความขัดแย้งเกิดอยู่กับประชาชน ซึ่งมีจำนวนเป็นล้าน ๆ คน เพราะฉะนั้นถ้าเราจะไปชี้เป็น ชี้ตาย ชี้ถูก ชี้ผิด ไม่ได้ เว้นแต่กระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งทุกคนก็ต้องยอมรับ เพราะเป็นกฎหมายของประเทศ ไม่อย่างนั้นก็ทำให้กระบวนการยุติธรรมรวนไปทั้งหมด ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต เพราะฉะนั้นอย่านำมาเกี่ยวพันกัน เรื่องของกฎหมาย เรื่องของนิรโทษ เรื่องของการปรองดอง เหล่านี้ต้องมีการดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอน เราต้องนึกถึงคนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย ซึ่งอาจจะอยู่ตรงกลางอยู่ในขณะนี้

สำหรับในด้านการดำเนินงานของรัฐบาลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ทุกอย่างก็กำลังเดินได้ไปด้วยดี มีการปรับกฎ กติกาต่าง ๆ หลายอย่างด้วยกัน ทั้งกฎหมาย ทั้งพันธะสัญญาต่าง ๆ เราก็มีการปรับปรุง การจัดทำข้อตกลงทางการค้า การกำหนดลิขสิทธิ์ หรือกำหนดประเภทของสินค้าต่าง ๆ จำเป็นต้องลงรายละเอียดทั้งหมด เพราะว่าปีหน้าเป็นการก้าวเข้าสู่ AEC ด้วย และหลายอย่างเราถูกตัดสิทธิ์เทียร์ 4 ไป นั้นต้องเร่งการเจรจา FTA กับหลาย ๆ กลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของอาเซียน ด้วยกัน และในกลุ่มของพันธมิตรอีกหลายประเทศ

เพราะฉะนั้นถ้าหากวันนี้เรามีความขัดแย้งในประเทศมาก หรือกลับไปสู่ความขัดแย้งเก่า ๆ สิ่งที่เราต้องเดินหน้าในขณะนี้ก็ไปไม่ได้ และผมก็ไม่รู้ว่าจะเกิดประโยชน์กับใคร หากว่าเป็นไปตามที่หลายพวก หลายฝ่ายต้องการ ที่สร้างความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบันก็เกิดประโยชน์อยู่คนกลุ่มเดียวเท่านั้นเอง 1 -2 กลุ่ม ประชาชนที่เหลือจะทำอย่างไร จะอยู่กันอย่างไร บ้านเมืองไปไม่ได้ เศรษฐกิจก็แย่ รัฐบาลก็ไม่มีใครทำได้ ถ้ายังขัดแย้ง ไม่ร่วมมือกันอยู่

เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญวันนี้เราเป็นคนไทยด้วยอย่าโกรธกันจนเกินไป หรือเกลียดกันจนกระทั่งให้อภัยกันไม่ได้ เราต้องตั้งสติใหม่ และลดความขัดแย้งลงให้ได้ ข้อมูลเท็จ ข้อมูลบิดเบือนต่าง ๆ เหล่านี้ บางครั้งก็ทำให้ทุกอย่างลุกลาม สร้างความเกลียดชังมากขึ้น เพราะฉะนั้นอยากจะฝากไปถึงสื่อ ฝากไปถึงผู้ที่ประชาชนยอมรับในการพูดจาต่าง ๆ เหล่านั้น ก็คงต้องมาช่วยกัน ทั้งสื่อ ทั้งนักวิชาการต่าง ๆ เหล่านั้น นำประเด็นหลักมาก่อนได้หรือไม่ ว่าทำอย่างไรประเทศชาติจะปลอดภัย ทำอย่างไรประชาชนจะเป็นสุข อันนั้นผมว่าเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าประชาธิปไตยในเวลานี้ ซึ่งคำว่าประชาธิปไตยก็เป็นไปตาม roadmap ทุกอย่างอยู่แล้ว ในขณะนี้ยังไม่มีอะไรที่ผิดเพี้ยนไปเลย ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของหลาย ๆ ส่วนด้วยกันว่าจะทำได้แค่ไหน ที่ให้ไปสู่กระบวนการเหล่านั้นได้

วันนี้ต้องยอมรับในกติกาของกระบวนการยุติธรรม อย่ากล่าวอ้างกันว่า 2 มาตรฐาน หรือว่าเร่งรัดเรื่องต่าง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับคดี หลักฐานพร้อม หรือคดีใดก็ตามที่มีความเสียหายเป็นจำนวนมาก อันนี้เขาคงนำไปพิจารณาก่อน

ส่วนเรื่องของการแปรรูปผลผลิตทางด้านการเกษตร หรือการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในประเภทของสินค้าทุกประเภท วันนี้ผมก็มุ่งเน้นไปว่า ที่ผ่านมาการวิจัยและพัฒนาของเรานั้น ไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าไหร่นัก วันนี้ก็บริหารทั้งเรื่องกองทุน เรื่องวิธีการ เรื่องจัดตั้งคณะกรรมการ ทำอย่างไรเราจะกำหนดประเภทของสินค้า หรือสิ่งของที่เราต้องการนำไปสู่การวิจัย ไม่ใช่เป็นการวิจัยเพื่อเพิ่มวิทยฐานะเท่านั้น ต้องนำไปสู่การผลิตให้ได้ วันนี้มีหลายอย่าง วันนั้นผมไปดูที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็นำมาแสดงให้เห็น 30 กว่าอย่าง และวันนั้นก็ดูที่งานของกระทรวงพาณิชย์ เห็นมีสินค้าของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม 18 บริษัท จริง ๆ มีมากกว่านี้ ส่งมาจำได้ว่ามีจำนวนเป็น 1,000 รายการ ต้องมาเลือกดูว่าอันไหนต้องส่งเสริม อันไหนที่ขยายไปสู่ธุรกิจ SMEs และหากองทุนส่งเสริมให้ อันนี้ได้สั่งการไปแล้ว ให้ สวทช. และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และทุกกระทรวงได้ไปช่วยกัน และก็รวบรวมออกมา อะไรที่จะวิจัยต่อ อะไรที่จะต่อยอด อะไรที่เริ่มใหม่

ทั้งนี้ ต้องสอดคล้องและตรงกับไปกับความต้องการของเรา ในเรื่องของการสนับสนุนการค้า การลงทุน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 11 ประเภท ที่สอดคล้องกับการลงทุนของ BOI ด้วย สอดคล้องกับการลงทุนของการส่งเสริมรัฐวิสาหกิจด้วย วันนี้เราต้องนำทุกอย่างมาผูกกันให้ได้หมด

การวิจัยและพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมของประเทศก็เช่นเดียว สิ่งสำคัญวันนี้เมื่อผลิตออกมาแล้ว ต้องมีการรับรองคุณภาพก่อน จะได้เร่งให้ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไปกำหนดมาตรการ และมาตรฐาน เพราะไม่อย่างนั้นจะนำไปสู่การจัดซื้อ จัดจ้างไม่ได้ ไม่ใช่ว่าผลิตอะไรออกมาแล้ว แล้วดูดี ทดสอบกันเอง อะไรเอง ไม่ได้องมีการกำหนดมาตรฐานให้ได้ทุกประเภท เร่งรัดไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเกาะ หรืออุปกรณ์ใด ๆ ก็ตามที่มีผลต่อชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน หรือเป็นสินค้าที่ต้องไปแข่งขันกับคนอื่น ไม่เช่นนั้นเราไม่มีการรับรองมาตรฐาน สู้เขาไม่ได้ แล้วต่อไปก็ต้องนำนวัตกรรมเหล่านี้ของไทย ไปผ่านการรับรองมาตรฐานของสากลเขาด้วยมีหลายองค์กรถ้าเราไม่ไปผ่านตรงโน่น เราก็ส่งออกต่างประเทศไม่ได้

วันนี้ผมก็ผูกทั้งเรื่องการกำหนดการวิจัย แล้วก็กลุ่มของนักวิจัย สร้างนักวิจัยเพิ่มโดยร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถานศึกษา ในการที่จะหาทุนในการที่จะกำหนดหัวข้อในการวิจัยจากนั้นก็จะนำไปสู่การคัดเลือก การนำเข้าสู่การผลิต การกำหนดมาตรฐาน การนำมาใช้ในประเทศ แล้วก็นำไปตรวจสอบโดยองค์กรระหว่างประเทศแล้วก็ไปขายระหว่างประเทศด้วย ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ผมคิดว่าการค้าขายสินค้าเดิม ๆ เราก็จะค้าขายแต่สิ่งของที่เป็นปริมาณมาก ๆ เช่น ข้าว ยาง ซึ่งไม่ได้แปรรูป ไม่ได้เพิ่มให้มีมูลค่าสูงขึ้น ราคาก็ตกไปแบบนี้

วันนี้เราเร่งเรื่องยางไปมากก็อย่างที่เรียนไปแล้วว่าสมมติว่าเรามี 100% นี่ 20% ใช้ในประเทศ 80% ส่งออกเป็นวัตถุดิบไม่ได้ ยังไงก็ไม่ได้ วันนี้ก็ได้สั่งว่าให้นำมาใช้ในการทำถนน ในการทำที่นอนยาง ถุงมือยางอะไรต่าง ๆ ทำอยู่แล้ว ยังไม่พอ มันน้อย แล้วก็อิฐบล็อก แล้วก็ที่ปูนพื้นสนามกีฬาเหล่านี้อีกหลายอย่างก็ได้สั่งการที่แล้ว ตอนนี้ก็จัดหาบริษัทที่จะมาผลิตได้แล้ว ในหลายบริษัทด้วยกันก็จะเร่งให้เร็วที่สุดในการที่จะนำยางที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ให้จัดซื้อจัดจ้างกันภายในประเทศมาผลิต เมื่อผลิตออกมาแล้วก็ใช้ไปทำสนามกีฬาในโรงเรียน หรือในสถานที่ชุมชนอะไรต่าง ๆ ก็แล้วแต่ ที่นอนก็ไปผลิตขายก็ต้องมาดูว่าจะนำต้นทุนยางจากไหน ทำให้ราคายางสูงขึ้นได้อย่างไรแล้วผลิตออกมามีการรับรองคุณภาพหรือไม่ วันหน้าจะได้ไม่เกิดปัญหาแล้วก็ขยายไปเรื่อย ๆ ถ้าในประเทศใช้ของเราแบบนี้ ผมคิดว่ายางที่เรามีอยู่เพียงพอแน่นอนไม่ต้องไปซื้อจากต่างประเทศ

อยากจะส่งเสริมบริษัทคนไทย อยากให้บริษัทที่สนใจในเรื่องของการที่จะซื้อยางในประเทศแล้วรัฐก็จะดูแลในเรื่องของภาษี ในเรื่องของการอะไรต่าง ๆ ให้ท่านได้มีกำไรแต่ท่านต้องมาร่วมมือกับเรา เพราะฉะนั้นหลาย ๆ ส่วนก็อยากให้ช่วยกัน นำยางที่เรามีอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบันออกมาผลิต ออกมาใช้ ให้เร็วที่สุด ขอให้ไปติดต่อมีอยู่หลายที่ด้วยกัน กระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้ กระทรวงพาณิชย์ก็ได้ หรือจะไปที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ เพราะทั้งหมดเกี่ยวข้องกันทั้งสิ้น อยากจะเรียนอย่างนั้น เรื่องยางขอร้องเลยนะแล้วก็อยากจะเรียนเกษตรกรยางให้เข้าใจ เราพยายามทำเต็มที่

ในส่วนที่วันนี้ก็มีพวกที่ออกมาตำหนิ ออกมาปลุกปั่น ออกมาให้ประชาชนไม่เข้าใจรัฐบาล ผมก็อยากจะบอกว่า อย่าทำเลย แล้วก็หลายส่วนผมก็ได้ข่าวว่ามีการเตรียมการใช้ความรุนแรงอีก ซึ่งผมว่าไม่ได้ วันนี้กลับไปอย่างนั้นไม่ได้ แล้วก็จะต้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด วันนี้เดือดร้อนคนเก่า ๆ ด้วย ถ้าเชื่อมโยงก็เดือดร้อนไปอีก ไม่มีวันจบ วันนี้ก็ได้ให้ฝ่ายความมั่นคงติดตามเรื่องนี้อยู่ อย่าไปคิดว่าทำแล้วจะเกิดประโยชน์ ยิ่งไม่เกิดประโยชน์แล้วก็ประชาชนก็รังเกียจ เขากำลังมีความสุขกันอยู่แล้วอย่าไปทำ หลายคนก็คิด คิดได้แต่อย่าออกมาก็แล้วกัน

เรื่องการดำเนินงานของส่วนราชการและเอกชนในโครงการต่าง ๆ ส่วนไหนที่ดำเนินการอยู่แล้วก้าวหน้าก็ทำต่อไป ให้เสร็จ ให้เร็ว ให้มีประสิทธิภาพ ไม่รั่วไหล วันนี้ก็มีข่าวโน่นข่าวนี่เข้ามาก็กำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่ทุกอัน บางอย่างส่วนใหญ่ก็เป็นข่าวลือบ้าง ข่าวที่ประชาชนเป็นห่วงบ้างก็ส่งมาเถอะครับผมก็สอบให้หมด ก็อันนี้ก็เร่งรัดทุกกระทรวงไป

เรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับโครงการใหม่ วันนี้ถ้าดูงบประมาณที่เราลงไปแล้วในงวดที่ 1 ที่ 2 ประมาณสามแสนกว่าล้าน คราวนี้ปัญหาของเราลงไปได้ประมาณแสนกว่าล้าน ที่เหลือเป็นเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง ก็อย่างที่ทุกคนทราบข่าวแล้วว่า ในเมื่อเราควบคุมมาก ๆ ก็ทำให้เกิดความระมัดระวังในการจัดทำแผนงานโครงการ จริง ๆ แล้วเราโอนงบประมาณไปแล้ว การโอนงบประมาณจากของรัฐบาลลงไป โดยสำนักงบประมาณกรมบัญชีกลางไม่ช้าหรอกครับ อาทิตย์สองอาทิตย์ก็ลงไปแล้วแต่ลงไปข้างล่างแล้ว ก็ต้องหน่วยงานที่มีอยู่จากกระทรวง กรม อะไรต่าง ๆ เขาก็ต้องมีเวลาในการจัดทำแผนงาน

ผมถือว่าจริง ๆ แล้วไม่ช้า แต่คราวนี้พอเรามองว่า ต้องเร่งให้เร็ว ๆ เลยรู้สึกว่าช้า วันนี้ก็เร่งไปเมื่อเดือนนี้ก็มีสูงขึ้นกว่าเดือนที่แล้วถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ตามเกณฑ์แต่คิดว่าดีกว่าปีที่แล้วด้วยซ้ำไป เมื่อวานก็หารือกันใน คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วก็ต้องไปดูว่าช้ากันตรงไหน มีตั้งงบประมาณของกระทรวง งบประมาณของส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น บางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ยังไม่ค่อยพร้อมทำแผนยังไม่ค่อยได้แล้วบางอันบริษัทห้างร้านก็ไม่สนใจ คือคำว่าไม่สนใจก็คือ อาจจะเป็นเรื่องที่ที่ยากลำบากในการทำงานแล้วก็ลงทุนแล้วได้กำไรน้อยอะไรทำนองนี้ นี่คือปัญหาที่ยึดโยงมาทั้งหมด

อย่าไปมองว่าทุจริตอย่างเดียว เจ้าหน้าที่เกียร์ว่างอย่างเดียว ไม่ใช่ ต้องเกี่ยวพันหลายอย่างในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ ซึ่งผมก็ให้ลดขั้นตอนลงไปหลายอย่างด้วยกัน เพื่อให้เร็วขึ้นต่อไปก็ต้องไปดูสิว่า บริษัทที่มาทำนั้นมีคุณภาพหรือไม่ มีผลงานอย่างไร ถ้าได้ก็ผ่านการประมูลไป แล้วต้องไม่ทิ้งงาน บริษัทใดที่ทิ้งงานหรือบริษัทใดที่มีผลประโยชน์กับฝ่ายบริหารก็ต้องสอบสวน เพราะตามกติกาแล้ว ถ้าเป็นฝ่ายบริหารแล้วก็คงไปทำธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้ ก็ต้องเลือกเอาใครที่อาสาเข้ามาเป็นฝ่ายบริหารแล้วไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่นก็ต้องตัดตัวเองออกไปจากผลประโยชน์ตรงนั้น ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาแล้วในปีนี้ห้ามทิ้งงานโดยเด็ดขาด ก็ต้องสอบสวนลงโทษ ขึ้นบัญชีดำกันต่อไป

ในส่วนของการทำแผนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) วันนี้ก็ได้สั่งการให้รัฐมนตรีมหาดไทย หรือแม้แต่กระทรวงอื่น ๆ ที่เป็นเจ้าของงบประมาณลงไปช่วยดูแลสิว่าทำอย่างไรถึงจะทำได้ วันนี้อยากจะเรียนอย่างนั้น ไม่ใช่ไม่มีคุณภาพทำอะไรก็ไม่สำเร็จสักอย่าง นี่แหละคือปัญหา ที่ผ่านผมไม่ค่อยเอาใจใส่เรื่องเหล่านี้

เรื่องของการตรวจสอบความโปร่งใส เรื่องของการผลประโยชน์ทับซ้อนแล้วก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักก็ทำได้หมดแต่ประสิทธิภาพออกมาไม่ดี วันนี้เราต้องการประสิทธิภาพดี ประสิทธิผลดีทั่วถึงแล้วก็เป็นรูปธรรม บางพื้นที่ไม่เคยมีโครงการไปลง วันนี้เราก็นำไปลง แต่พอไปลงทำบริษัทก็ไม่อยากไปทำ เพราะไกลไม่ได้ประโยชน์ ไม่คุ้มค่า ต้องเสียสละกันบ้าง ช่วยกันสิครับ ถ้าบอกว่าทุกอย่างเป็นความบกพร่องของรัฐบาลทั้งหมด ไม่ใช่ ก็มากน้อยก็ไปทำกัน ช่วยกัน อย่างน้อยคิดว่าทำให้ประชาชน กำไรน้อยหน่อยแต่ท่านได้ดูแลคนงานของท่านได้มีการปรับปรุงเครื่องจักร เครื่องมือ ไม่เช่นนั้น พอทำไม่ได้ทั้งหมดก็โยนกลับมาว่าให้ทหารไปทำ ทหารก็มีเครื่องมือจำกัด และ เขาก็มีหน้าที่ของเขาด้วย แต่ยินดีถ้ามีเวลา หรือมีเครื่องจักร เครื่องมือพอเพียง

วันนี้ก็เสียไปประมาณ 60% แล้วเครื่องจักรทหาร ซึ่งจริง ๆ แล้วใช้เฉพาะยามสงคราม วันนี้เรามาใช้แต่งาน หลาย ๆ ปีที่ผ่านมาทั้งน้ำท่วม ทั้งไปช่วยพัฒนา สร้างถนนหนทาง จริง ๆ ไม่ได้ทำแบบนี้ ทหารทำถนนสั้น ๆ ระยะสั้น ๆ เพื่อใช้ในการเข้าตีร่นถอย ถอนตัวอะไรก็แล้วแต่ เรื่องการพัฒนาเล็กน้อย วันนี้ขึ้นทุ่มเต็มที่ ไปขุดคูคลองต่าง ๆ สมัยก่อนก็ขุดแค่คูคลองจากรถถัง เพื่อในการรบ พอใช้มาก ๆ เข้าเครื่องจักร เครื่องมือก็เสียหาย วันนี้ได้มีการพูดคุยกันว่า ต้องจัดหาส่วนหนึ่งให้ในการที่จะทดแทน ในการที่จะไปดูแลประชาชนในปีนี้ ในเรื่องของการดูแลประชาชนในภาคการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ เส้นทาง ถนน ทุกพื้นที่ แล้วก็พื้นที่ที่ไม่มีบริษัทมารับทำก็ต้องดูให้อีก เวลาก็จำกัด คับคั่ง งานมาก

เพราะฉะนั้นก็อยากให้ประชาชนได้เข้าใจ ในทุกประเด็นไม่เช่นนั้นก็โทษกันไปโทษกันมา ผมถึงบอกว่าระบบเหล่านี้ ต้องไล่กันใหม่ ว่าจะทำอย่างไรให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ เพราะฉะนั้นประชาชนก็ต้องฟังผมบ้าง ใครจะพูดอะไร ผมไม่ห้ามท่านอยู่แล้ว แต่ฟังถึงการแสดงออกถึงความจริงใจของผมว่า ผมไม่ได้ต้องการอะไรอยู่แล้ว วันนี้ยังไม่ได้ต้องการอะไรสักอย่าง ไม่ว่าวันนี้หรือวันหน้าหรือก่อนเข้ามาไม่ต้องการ เพราะฉะนั้น ท่านจะเชื่อใครก็แล้วแต่ ผมคิดว่านักการเมืองบางท่านก็ดี บางคนเป็นคนดีด้วยอุดมการณ์ บางคนก็อาจจะไม่ดีแล้วก็ท่านคิดว่าเขามาดูแลท่านในงานศพ งานบวช งานแต่งงานก็ไปถามท่านเหล่านั้นสิว่าท่านไปทีเป็นหลาย ๆ งาน ท่านนำเงินมาจากไหน เงินส่วนตัวหรือเปล่าหรือเอาเงินหลวงมา ไปถามเขาดูสิ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเงินหลวงหรือเงินที่มาจากรัฐบาลไม่ใช่เงินส่วนตัว แล้วก็ใช้มาก ๆ แบบนั้น ท่านเอามาได้อย่างไร ไปถามเขาดู

วันนี้ผมไม่ทำแบบนั้น แต่ส่วนตัวเองนั้น ถ้าไม่ทำธุรกิจอะไรเป็นนักการเมืองอย่างเดียวแล้วก็รวย แล้วก็มีเงินไปแจกชาวบ้านมาก ๆ แบบนี้ ผมก็ไม่รู้ว่านำมาจากไหนเหมือนกัน ผมก็นึกไม่ออก อย่าไปใช้เงินสร้างอิทธิพล แล้วไปสร้างบุญคุณกับประชาชนที่ยากไร้ คนเหล่านี้เป็นคนไทยแท้ ใครให้ก็มีความกตัญญู แต่วันนี้ความกตัญญูที่ว่าต้องไปดูสิว่าเอามาให้จากที่ไหน เงินถูกหรือเงินผิด ถ้าเงินผิดก็จริง ๆ เหมือนของเราไง เขาไม่ต้องมาแจกเราหรอกก็นำมาลงทุนทำอะไรต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ไม่ดีกว่าหรือ เพราะฉะนั้นอยากจะฝากด้วยเรื่องนี้ อย่าคัดค้านกันอย่างเดียว โดยใช้ไม่มีเหตุมีผล เราก็ใช้กลุ่มเดิม ๆ คนเดิม ๆ แล้วก็ไปล้างสมอง จนฝังชิพ จนพูดอะไรก็ไม่ฟัง อันนี้ก็ไม่ได้ ปัญหามีมากมาย

วันนี้สิ่งที่เราต้องแก้ไขต่อไป คือ ปัญหาในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งของเขาของเรา การพัฒนาพันธุ์ การลดต้นทุน การสร้างชุมชนเข้มแข็ง การสร้างสหกรณ์ สร้างสหกรณ์เน้นเศรษฐกิจพอเพียงหลายแห่งมีปัญหาในเรื่องของความโปร่งใสแล้วก็เงินทุน การบริหารจัดการมีปัญหาหมด กองทุนมีหลายกองทุนด้วยกัน บางกองทุนก็ใช้ประโยชน์ได้ดี บางกองทุนก็ใช้ทางการเมืองมาก ก็กำลังปรับบทแน่นอนต้องมีคนไม่พอใจ ก็ฝากพี่น้องด้วยว่า ผมไม่อยากไปยกเลิกเพียงแต่ว่าต้องพิจารณาว่าจะไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไรให้เกิดประโยชน์กับประชาชนโดยตรง ไม่ใช่เกิดประโยชน์ทางด้านคะแนนเสียงต่าง ๆ เหล่านี้ สิ้นเปลืองงบประมาณ ต้องมีการรื้อใหม่ ทำใหม่ จัดระเบียบใหม่ทั้งสิ้น

ในเรื่องของการฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีหลายรัฐวิสาหกิจซึ่งขาดทุน สถานการณ์การเงินแย่ ที่ผ่านมาก็ทำไม่ได้ ฟื้นฟูไม่ได้จริงสักที แล้วอ้างเหตุผลว่า ต้องขาดทุนเพื่อจะดูแลให้การบริการประชาชนให้มีกำไร ไม่ใช่ ผมว่าอยู่ที่การบริหาร วันนี้ก็กำลังแก้ไขอยู่ก็หลายอย่างก็มีการต่อต้าน ไม่ยอมกัน ก็ขอร้องสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจ ถ้าหากว่าปล่อยให้ล้มไปเลยก็ได้ ผมก็ปล่อยได้ ก็ล้มลงไปเลยไม่ต้องมี ท่านก็ไม่มีงานทำก็แล้วแต่ แต่ถ้าท่านปล่อยให้เราหรือยอมให้เราแก้ไขร่วมมือกับเรา วันนี้แย่อยู่อาจจะเสียสิทธิ์อะไรไปบ้าง วันหน้าก็ดีขึ้น ย่อมดีกว่าที่จะเสียหายไปเลยไม่ใช่หรือ ท่านก็จะไม่มีงานทำ

ผมพร้อม ถ้าท่านจะมาต่อต้าน ผมก็เลิกรื้อฟื้น เลิกฟื้นฟูก็ไปขายทิ้งไป ใครจะมาบริหารก็บริหารไปท่านก็ไปรบกับเขาเองแล้วกัน ผมก็ถามว่าแล้วท่านจะได้อะไรดีกว่าเดิมหรือไม่ ผมไม่รู้ ถ้าเป็นเอกชนบริหารในเรื่องเหล่านี้ ส่วนใหญ่ถ้าไม่ดีเขาก็ยื่นซองขาว ท่านก็ออกไป ไม่เห็นมีปัญหาเลย บางอย่างผมพยายามที่จะเก็บเอาไว้เป็นสมบัติของชาติ ของอนาคต ยังมีช่องทางอยู่ก็พยายามจะแก้ พยายามจะทำ ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น  บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถ้าปล่อยไปก็ได้ ขายไปเลยเหมือนต่างประเทศเขาทำ แต่วันนี้ก็ยังคิดอยู่ว่าเป็นสายการบินแห่งชาติแล้วก็สร้างมา มีประวัติศาสตร์มายาวนาน มีความนิยม ไม่ได้เสียหายอะไร เสียหายในเรื่องการบริหารจัดการในห้วงที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ไม่ได้แก้กัน

วันนี้ผมเป็นรัฐบาลมาแบบนี้ พยายามแก้อยู่ แต่ผมก็ถูกต่อต้าน เพราะฉะนั้น แต่ผมก็จะเดินหน้าของผมไปเรื่อย ๆ ทุกเรื่อง เดินหน้าไป แต่ถ้าทำไม่ได้ขึ้นมาก็ปล่อยทิ้งไป แล้วท่านก็ไปเป็นลูกจ้างเขาแล้วกัน ลูกจ้างเอกชนเขา ดูสิว่าอะไรจะดีกว่า

ความร่วมไม้ร่วมมือกัน ผมคงต้องขอบ่อย ๆ ใครที่ออกมาพูดแล้วก็เกี่ยวข้องกับเรื่องที่บกพร่องอยู่ วันนี้ผมขอร้อง ท่านออกมาพูดก่อนว่า ที่ท่านทำไว้เสียหายอย่างไร แล้วท่านอยากจะแก้ยังไง ซึ่งแก้ไม่ได้ ท่านก็มาฝากผมทำต่ออะไรอย่างนี้ผมรับได้ แต่ถ้าบอกว่าไม่พูดถึงสมัยท่านท่านทำอะไรกันไว้ เสียหายหรือไม่  แล้ววันนี้มาบอกว่าให้ผมทำอย่างนี้อย่างโน่น ผมว่าไม่เป็นทำกับผมก็แล้วกัน เพราะฉะนั้นไปคิดดูเอาเองว่าถูกไม่ถูก เดี๋ยวหาว่าผมบ่นเอง ผมก็เล่าให้ฟังเท่านั้นแหละ แค่อยากจะพูดให้ฟัง เล่าให้ฟัง ให้คนส่วนใหญ่มานั่งคิดทบทวนอย่างที่ผมคิดทุกวันทำอย่างไรผมจะทำให้คนรักกันได้ ก็พยายามมีคนมายุแหย่ให้เกลียดกันอยู่ ไม่เข้าใจ

รัฐบาลได้ดำเนินการในสัปดาห์ที่แล้วที่ผ่านมาหลายเรื่อง เมื่อวันอังคารนั้นได้มีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มไว้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512  สมัยก่อนพื้นที่เหล่านี้ มีการปลูกพืชฝิ่นและพืชเสพติดจำนวนมาก ท่านก็ทรงเปลี่ยนการปลูกพืชเหล่านั้น ให้มาเป็นพืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นผลไม้ เป็นไม้เมืองหนาวก็เลยทำให้ภาคเหนือลดลงไป มีจำนวนมากในสมัยเมื่อก่อนปี 2512 วันนี้ไปมีแต่การปลูกพืชเมืองหนาว ท้อ บ๊วย สตรอว์เบอร์รี่ต่าง ๆ มีความเจริญ ชาวชนกลุ่มน้อย ชาวเขาก็มีความสุขและมีรายได้ปีละหลายแสนบาท วันนี้ก็เข้าไปอยู่สู่ระยะที่สอง สาม แล้ว ก็คือการวิจัยพัฒนาเพิ่ม ต่อยอด นำไปให้ประชาชนเรียนรู้ ขยายไปสู่ชุมชนอื่น ๆ มีสถาบันต่าง ๆ มาร่วมมือมากขึ้น เป็นแหล่งท่องเที่ยวเยี่ยมเยือนของชาวต่างประเทศของหมู่คณะวิชาการต่าง ๆ

เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาเขาก็คนไทย มีการทั้งปลูกผัก ผลไม้ สตรอว์เบอร์รี่ วันนี้ก็มีการขยายพันธุ์สตอเบอร์รี่อีก ก็คงรอสักระยะหนึ่ง คงมีพันธุ์ใหม่ออกมา สู้ต่างประเทศได้แน่นอน ผมไปชิมดูแล้วหวาน กรอบ อร่อย  มีกลิ่นหอม  อันนี้ก็เรื่องผัก เรื่องเกษตรอินทรีย์ การบรรจุหีบห่อก็มีการปรับปรุงมาโดยตลอด วันนี้ก็ถึงขั้นมีการส่งไปขายในจังหวัดต่าง ๆ และในสถานประกอบการหลายที่ทั้งห้าง ทั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ไม่เพียงพอด้วยซ้ำไป ผมก็ได้เรียนไปว่า ถ้าจะเป็นไปได้ก็ให้ไปขยายต่อ แล้วก็ไปเพิ่ม ผู้ผลิตให้มากขึ้นให้ไปปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมค่อยเป็นสมาชิกขยายความออกไป วันนี้ก็มีพื้นที่ประมาณสองหมื่นกว่าไร่

ประชาชนหรือว่าเกษตรกรที่มีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่าสามแสนบาทต่อปี นี่เฉพาะเรื่องของสตรอว์เบอร์รี่ ไม่กี่เดือนเอง สามแสนกว่าบาท แล้วที่เหลืออีกหลายเดือนก็ไปปลูกผักบ้าง ไปปลูกพืชชนิดอื่นบ้าง ไปรับจ้างบ้าง อะไรบ้าง นี่เป็นการสร้างงาน ก็อยากจะฝากให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ฝ่ายบริหารของรัฐบาล ข้าราชการนำแนวทางเหล่านี้ไปใช้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงพระราชทานให้มานานแล้ว คิดดูแล้วกันตั้งแต่ปี 2512 เป็นระยะเวลา 40 กว่าปีมาแล้ว ควรนำมาใช้กัน

สำหรับผลการประชุมครั้งนี้ เป็นการพิจารณาคำของบประมาณปี 2559 ผมก็สนับสนุนให้ไปทั้งหมด เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วที่รัฐบาลสนับสนุนไป เป็นโครงการขยายผลจำนวน 29 แห่ง สามร้อยกว่าล้านเท่านั้นเอง ก็ในส่วนของโครงการเดิม 38 แห่ง  500 กว่าล้านบาท ก็ไม่ใช่เงินมากมาย เป็นการต่อยอดเป็นการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน สร้างสถานที่เรียนรู้อย่างอื่น เลี้ยงดูตัวเองได้อยู่แล้วอันนี้เราจำเป็นต้องสนับสนุน เพราะว่า ช่วงการผลิตนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง เป็นโอกาสแรกที่เราสามารถทำได้ ท่านก็ไม่ได้นำไปให้ใคร ท่านก็ไปให้ประชาชนทั้งสิ้น

จะเห็นได้ว่าวันนี้ท่านกลับมาดูสถาบันพระมหากษัตริย์ถ้าเราดูประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศ ประเทศที่มีตึกรามบ้านช่องสวยงาม แล้วบ้านเราตึกรามบ้านช่องก็ขนาดเล็ก ไม่ได้ใหญ่โต ไม่เป็นปราสาทราชวังมากมาย  ก็ต้องดูว่าพระมหากษัตริย์ของเรา ความจริงถ้าท่านไม่ทรงดูแลประชาชน ท่านก็สามารถนำไปสร้างที่ไหนก็ทำได้หมด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงรับสั่งว่า เราสร้างอะไรไม่ได้ เพราะประเทศเรายังไม่ค่อยมีสตางค์ ก็ไปดูแลคนจนก่อน เมื่อคนจนประชาชนเขาดีขึ้นแล้ว ค่อยไปสร้างอะไรใหญ่ ๆ โต ๆ อันนี้คือความแตกต่างของบ้านเรา พระมหากษัตริย์เราเป็นอย่างนี้ ถ้าต่างชาติจะเห็นว่ามีปราสาทใหญ่ ๆ เป็นจำนวนมาก สมัยก่อนเขาต้องมีรายได้มาก มีเมืองขึ้น มีอาณานิคม มีอะไรต่าง ๆ ประเทศไทยไม่มีอันนั้น ก็ต้องภูมิใจในความเป็นไทย

ในส่วนของการสร้างศูนย์การเรียนรู้ อยากให้ไปต่อเนื่องกัน ทั้งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของทุกพระองค์ และของทหาร ของกระทรวง ทุกอย่างต้องต่อเนื่องเชื่อมโยงกันให้ได้ ทั้งมาฝึกงาน ฝึกวิทยากร หรือว่าไปส่งเสริมการเรียนรู้ในหมู่บ้าน ไปตั้ง ไปสนับสนุนเป็นราย ๆ ไปเลย ให้เขาเป็นตัวอย่างไปเลยไม่ต้องมาสร้างใหม่ข้างนอก ถ้าบ้านนั้นทั้งบ้านมีสัก 5 บ้าน 10 บ้าน ปลูกพืชอย่างนี้แล้วรวย รอบ ๆ ที่เหลือก็จะปลูกตามเอง ไม่อย่างนั้นเราไปโซนนิ่งอย่างไรก็ไม่เกิด ผมอยากให้เกิดแบบนี้ ให้สั่งการไปทุกกระทรวงแล้ว ไปสร้างตัวอย่างขึ้นในหมู่บ้าน ทุกหมู่บ้านมีอยู่ 7 หมื่นกว่าหมู่บ้าน ถ้าเราทำได้ ก็น่าจะดี ทุกหมู่บ้านก็ทำตามกันไป แต่ต้องระมัดระวังอย่าให้มากมายจนเกินไป เดี๋ยว Demand Supply ไม่ได้อีก ก็แบ่ง ๆ กันไปทำ

ในส่วนของรัฐบาลนั้น วันนี้เราต้องการจะยกระดับรายได้ความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกร เป็นกระดูกสันหลังของชาติที่ว่า วันนี้กระดูกสันหลังก็ค่อนข้างจะแย่เหมือนกัน ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเพาะปลูก เพิ่มมูลค่าสินค้า ลดต้นทุน ก็อยากให้ใช้แนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อน การทำโซนนิ่งร่วมมือกับรัฐ ปรับพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ เหมือนกับที่ดอยอ่างขาง ภาคเหนือ เขาปลูกพืชฤดูหนาว ปลูกพืชไม้เมืองหนาวไปทำนองนี้ ภาคอื่นก็ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย แต่ให้มีราคาสูง ปลูกผักออร์แกนิค และไปสร้างการทำปุ๋ย สร้างรายได้จากสหกรณ์ มีกลุ่มจัดทำปุ๋ยเอง ขาย – ใช้กันเอง ราคาก็ถูกขึ้น บางอย่าง รัฐสนับสนุนให้อยู่แล้ว

เรื่องของการปฏิรูประบบชลประทาน การบริหารจัดการน้ำของประเทศทั้งระบบ เป็นปัญหามายาวนานแล้ว ผมคิดว่าเราเสียเงินไปหลายรัฐบาลมาแล้ว วันนี้เราเอาทั้งหมดมาไล่ดูสิว่า ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันได้บ้างหรือไม่  หรือแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมอะไรได้แค่ไหน ผมคิดว่ายังมีประสิทธิภาพน้อย น้อยกว่าที่ควรปรับเทียบกับเม็ดเงินที่ลงไป และมีเกษตรกรมากกว่า 30 ล้าน ประมาณ 20 ล้าน ที่อยู่ในระบบของชลประทาน พื้นที่มีตัวเลขประมาณ 29 ล้านไร่ ซึ่งน้อยมาก เพราะฉะนั้นรัฐบาลพยายามจะทำให้ถึง 50 – 60 ล้านไร่ ในห้วงปี 2560 ปี 2561 – 2562 ได้หรือเปล่ายังไม่รู้เลย ปีนี้ใน 2558 – 2559 จากประมาณ 27 ล้าน ก็อาจจะทำให้ได้ประมาณสัก 30 – 32 ล้านคน หรือพื้นที่เพิ่มมาประมาณ 30 ล้านไร่ให้ได้

อันนี้คือจะต้องปลูกพืชใช้น้ำมาก ปลูกข้าว ปลูกอะไรที่ต้องใช้น้ำ ปลูกผัก แม้แต่ผักบางชนิดต้องใช้น้ำมาก แต่ถ้าตรงไหนที่ไม่ได้ ก็ต้องไปขุดบ่อ ขุดทำอ่างเก็บน้ำ อ่างน้ำสาธารณะ วันนี้เราแยกประเภทของงาน ให้ทั้งภารกิจในเรื่องของการป้องกันการขาดน้ำ เก็บกักน้ำ และช่องน้ำ ระบายน้ำ ป้องกันน้ำท่วม แล้วก็เพิ่มพื้นที่ชลประทาน อันนี้ทำทั้ง 3 – 4 อย่าง และแต่ละอย่างก็จะแยกออกมา มีงบประมาณมีพื้นที่ที่ไหนบ้าง ตามหลักความเร่งด่วน

พื้นที่ใดที่แล้งซ้ำซากต้องแก้ไข ตรงไหนที่ขาดน้ำประปา น้ำอุปโภค/บริโภคก็สำคัญ วันนี้ยังไม่ครบพื้นที่เลย ปีนี้เราเร่งอีกจำนวนมากพอสมควร ได้ประมาณ 50 - 60 เปอร์เซ็นต์ แต่บางอย่างอาจจะประปาหมู่บ้าน ประปาเหล่านี้จะทำอย่างไร น้ำกินน้ำดื่ม ต้องมี ต้องคิดไว้ น้ำประปาไม่ได้คนไทย ก็เร่งรัดว่าในปี 2562 เราน่าจะมีประปาท้องถิ่น ประปาหมู่บ้านครบทุกหมู่บ้าน นี่ยังไม่ครบเลย แล้วก็เรื่องของการขุดน้ำตามไร่นาหรือจะเก็บน้ำไว้อย่างไรในนาข้าว อะไรอย่างนี้ ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และการเจาะบ่อบาดาน ทั้งรัฐเจาะให้ หรือจะเจาะเอง ช่วยกันอย่างไรหรือไม่ ไปดูกันทั้งหมด

เรื่องของการลดต้นทุน ต้องไปดูตั้งแต่เมล็ดพันธ์ ประเภทของพันธ์ เดี๋ยวทำเมล็ดพันธ์เพิ่ม ขายราคาถูก ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ รัฐทำ ประชาชนทำ สหกรณ์ทำ ราคาก็ถูกลง ขายกันเอง ต่อไปเรื่องเช่าที่ดิน กำลังให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรฯ ไปจดทะเบียนให้ชัดเจนขึ้นว่า ใครทำเอง ใครเช่าที่ดิน เช่าก็อีกอย่างหนึ่ง บางทีค่าเช่าก็ควบคุมไม่ได้อีก

ต่อไปก็ไปดูเรื่องของขึ้นตอนการไถ การหว่าน การเก็บเกี่ยว การสี ทั้งหมด วันนี้ชาวนาเรา คนทำน้อย มีแต่พ่อแม่คนสูงอายุทั้งนั้น ลูกหลานก็เข้าเมืองกันไปหมด ก็เลยต้องไปเช่าเขาทำ เพราะจ่ายเงินทั้งหมด เพราะฉะนั้นรวมไปก็ลงทุนมหาศาล  6 พัน 7 พัน แล้วขาย 8 – 9 พัน หลายเดือนจะนำเงินไหนไปใช้ เหล่านี้เป็นปัญหาที่พันกันมาทั้งหมด เรานำมาคิดทั้งหมด ทั้งระบบ แต่ยากในการที่จะทำ ก็เลยให้ทุกกระทรวงมาเร่งกันอยู่ เงินไม่พอ ทำอย่างไร ถ้าลดต้นทุนได้ ก็ขายได้ กำไรก็มากขึ้น แต่ก็ยังไม่พอผมดูแล้ว รายได้ของเกษตรกรน่าสงสารน้อยเกินไป เดี๋ยวจะต้องไปปรับระบบการขายการตลาด ทุกอย่างเลย ยาง ลงไปมีปัญหาหมด ลงไปแทรกให้มีการจัดซื้อจัดจ้างขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็อ้างว่ามีการทุจริตกันอีกแล้ว กำลังติดตามกันอยู่ เร่งให้ทัน พี่น้องเกษตรกรยางก็ใจเย็น จะทำให้

เรื่องความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่รัฐบาลกำหนดไว้ตามวิสัยทัศน์ ต้องมั่นคงทุกอย่าง คำว่ามั่นคงเอาง่าย ๆ สำคัญที่สุดคือ บ้านเมืองมีเสถียรภาพ ปลอดภัย ไม่มีโจร ผู้ร้าย มั่งคั่งก็ทุกคนต้องมั่งคั่งตามฐานันดรของตนเองด้วยการบูรณาการ การบริหารจัดการน้ำ อาชีพ การศึกษา รายได้ จัดให้มีความสมดุลระหว่างกัน ในเรื่องของการบริหารจัดการ ในเรื่องของการใช้น้ำ และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ปัจจัยอื่น ๆ ด้วยที่มีผลกระทบ

ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกร เราทำอย่างเป็นระบบของคณะกรรมการของ คสช. ทำมาตั้งแต่ต้นแล้ว วันนี้ก็ส่งแผนมาเข้า ครม. รัฐบาลรับทราบอนุมัติแล้วว่า ก็จะทำต่อไปเรื่อย ตามเงินที่มีอยู่ไม่ได้ไปกู้มาทั้งหมด บางส่วนอาจจะมีบ้างเล็กน้อย ไว้รับทราบต่อไปแล้วกัน สิ่งสำคัญใน 10 ปีนี้ เราก็จะแก้ปัญหาอย่างนี้ เรื่องน้ำ

1. การแก้ไขปัญหาคาดแคลนน้ำภาคการผลิต สำหรับภาคเกษตรกรรม ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผลโครงการชลประทานที่มีอยู่เดิม การจัดการด้านความต้องการน้ำ ในพื้นที่ 5.8 ล้านไร่ การพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ และพื้นที่ชลประทาน การฟื้นฟูแหล่งน้ำและทางน้ำธรรมชาติเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำ 15,688 แห่ง การสนับสนุนและส่งเสริมจัดหาสระน้ำ ในไร่นาสำหรับทำการเกษตรตามคำร้องขอของราษฎรจำนวน 270,000 บ่อ รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนอีก 1,715 แห่ง เพื่อให้เกิดความทั่วถึง สำหรับส่วนภาคอุตสาหกรรมก็มีแผนการพัฒนาโครงข่ายน้ำภาคตะวันออก ใช้งบประมาณ 5,190 ล้านบาท ในปี 2558 นี้ เพื่อจะพัฒนาแหล่งน้ำ สนับสนุนแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สอด จ.ตาก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ อ.สะเดา จ.สงขลา และมีการพัฒนาแหล่งน้ำอุปโภค/บริโภค สนับสนุนภาคบริการและการท่องเที่ยวที่เกาะช้าง จ.ตราด และเกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี ในปี 2559 อีกด้วย

2. เรื่องของการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค ได้ดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำและพัฒนาประปาหมู่บ้าน จำนวน 7,490 หมู่บ้าน จัดหาน้ำดื่มที่สะอาด แหล่งน้ำบาดาลให้โรงเรียน ชุมชนกว่า 6,000 แห่ง การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพประปาชนบท 9,093 หมู่บ้าน และการพัฒนาขยายเขตประปาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ 255 แห่ง ทั้งหมดนั้น รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว และจะรีบให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ก็มีแผนปี 2558 หรือประมาณ 2558 – 2559 หลัง 2559 ไปแล้วก็ไปต่อในปี 2560 2561 2562 ก็ว่าไป ตามงบประมาณ หรือตามแผนการใช้จ่ายประจำปีต่อไป ทุกรัฐบาลก็ไปทำต่อให้เรียบร้อย

3. การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ได้แก่ ระบบป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เมือง ซึ่งท่วมมาหลายแห่งทำให้เกิดความเสียหาย วันนี้ก็ตรวจสอบมาแล้วจำนวน 185 แห่ง ที่ไหนบ้างไปดูกัน การฟื้นฟูลำน้ำสายหลักและสาขาโดยการขุดลอก ฟื้นฟูลำน้ำ เพิ่มอัตราการไหล รวมระยะทางรวม 920 กิโลเมตร การเพิ่มประสิทธิภาพทางระบายน้ำ ทางผันน้ำ ลดความเสียหาย จากน้ำท่วมใน 8 ลุ่มน้ำวิกฤต เช่น อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จ.ปราจีนบุรี และลุ่มน้ำเจ้าพระยาตะวันออกตอนล่าง เป็นต้น การพัฒนาพื้นที่รับน้ำนอง จำนวน 2 แห่ง ตอนเหนือ ตอนใต้ จ.นครสวรรค์ ที่มีศักยภาพในการชะลอน้ำหลาก และการจัดทำและปรับปรุงผังเมือง เพื่อป้องกันอุทกภัย จำนวน 15 ลุ่มน้ำ ทั่วประเทศ

4. การป้องกันและแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ ซึ่งได้แก่ การลดมลพิษจากแหล่งกำเนิด 22 ลุ่มน้ำ ให้มีคุณภาพน้ำในเกณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ได้ การพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 284 แห่ง ให้ได้คุณภาพน้ำตามเกณฑ์มาตรฐาน และการจัดสรรน้ำ ผลักดันน้ำเค็ม ในช่วงฤดูแล้งน้ำทะเลหนุน จาก 5 เขื่อนหลัก เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสัก เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนศรีนครินทร์ และ 4 ลุ่มน้ำ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำแม่กลอง

5. การฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำและป้องกันการพังทลายของดิน ได้แก่ การฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ 4.77 ล้านไร่ และการป้องกันการกัดเซาะและการพังทลายหน้าดิน ในพื้นที่เกษตรลาดชันได้ 9.475 ล้านไร่

6. การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ก็จะแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ได้แก่ ปรับปรุงสถานี base station เพิ่มศักยภาพระบบโทรมาตร ปรับปรุงศูนย์ระบบป้องกันน้ำท่วม รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องระยะยาว ได้แก่ การให้มีกฎหมายแม่บทการบริหารจัดการน้ำของประเทศ เพื่อจะกำหนดทิศทางการพัฒนาอย่างเป็นระบบ การศึกษาวิจัย การปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานปฏิบัติ รวมทั้งการพัฒนาข้อมูลคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม กลไกแห่งความสำเร็จ ของโครงการต่าง ๆ ในภาพรวมนั้น ต้องการการมีส่วนร่วมในการกำหนดความต้องการและการตรวจสอบ ประเมิน ร่วมกับภาคเอกชน ภาคประชาชนด้วย

โครงการจัดตั้งศูนย์บริการร่วม ในห้างสรรพสินค้า ในเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน เราก็มุ่งเน้นการส่งเสริมธรรมาภิบาล รัฐบาลต้องการยกระดับให้บริการเชิงรุกกับประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นการ “คืนความสะดวก” ให้กับประชาชน เป้าหมายคือประชาชนต้องสามารถเข้าถึงการบริการต่าง ๆ ของภาครัฐได้สะดวกง่ายขึ้นบนพื้นฐานของ One Stop Service ทั้งนี้ ได้มีการรวมศูนย์บริการร่วมของหน่วยงานภาครัฐมาไว้ในห้างสรรพสินค้า เปิดให้การบริการทุกวันตามเวลาของแต่ละห้างฯ ไม่เว้นวันหยุดราชการ ต้องขอขอบคุณในความร่วมมือบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนพื้นที่ให้กับโครงการ ไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยประเดิมเปิดให้บริการสาขาแรก ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์ โซนจิวเวลรี่ ชั้น 1 ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ก็จะขยายผลไปอีกทั้ง 13 สาขา ในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ

จะเป็นโครงการนำร่อง เป็นการบูรณาการงานบริการของ 5 หน่วยงานรัฐ คือ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กรมการจัดหางาน กรมการขนส่งทางบก สำนักงานประกันสังคม และกรุงเทพมหานคร ไว้บริการ ณ พื้นที่เดียวกัน ซึ่งรวมถึงงานทะเบียนราษฎร์ บัตรประจำตัวประชาชน การชำระภาษีรถยนต์ และการเปลี่ยนใบอนุญาตขับขี่ รายละเอียดของการให้การบริการต่าง ๆ เหล่านั้นสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กของศูนย์ฯ ตามลิงค์หน้าจอ (www.facebook.com/gpointthailand) สำหรับผลการดำเนินงานใน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้นได้รับความสนใจอย่างดี ทั้งมาขอรับบริการ สอบถามข้อมูล เสนอความต้องการเพิ่มเติมจากหน่วยงานรัฐ เฉลี่ยมากกว่า 300 คน/วัน

สำหรับ “ศูนย์ดำรงธรรม” ก็ยังคงเปิดอยู่ ให้บริการเช่นเดิม ก็เป็นที่น่าพอใจ แก้ปัญหาให้กับพี่น้องได้มากกว่า 93 เปอร์เซ็นต์แล้วในขณะนี้ ก็จะขยายความต้องการ ขยายขอบเขต ปรับปรุงการให้บริการ ให้ทันสมัยขึ้นในอนาคต และจะมีแผนให้หน่วยงานรัฐต่าง ๆ ได้มีการพัฒนาการดำเนินงานในส่วนต่าง ๆ ให้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน ลดระยะเวลาให้กับพี่น้องประชาชนด้วย อันนี้ก็พร้อมจะรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่าง ๆ ก็ค่อยเป็นค่อยไปบ้าง อันนี้เราทำทันทีทุกย่าง ๆ ก็มากไปหมด บางอย่างก็ช้าบ้าง เร็วบ้าง

เรื่องขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย รัฐบาลประกาศไปแล้วว่า “การจัดการขยะมูลฝอยต้องเป็นวาระแห่งชาติ” เพราะขยะปีหนึ่งหลายล้านตัน ค้างอยู่ก็หลายแสนที่เก็บไม่ได้ เก็บได้อะไรเหล่านี้ เพราะฉะนั้นได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปจัดทำ Roadmap แล้วว่าจะจัดการอย่างไร ขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายจะทำอย่างไร ขับเคลื่อนให้ทุกคนได้ร่วมกัน

วันนี้ได้เร่งกำจัดขยะมูลฝอยค้างเก่าใน 6 จังหวัดวิกฤต เช่น ปทุมธานี สมุทรปราการ ก็กำจัดไปแล้วกว่า 8 ล้านตัน  ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีจำนวนมาก ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นครปฐม สระบุรี และลพบุรี กำจัดไปแล้วกว่า 130,000 ตัน ด้วยการฝังกลบ หรือร่วมกับเอกชนรื้อร่อนขยะมูลฝอยเพื่อผลิตเป็นแท่งเชื้อเพลิง RDF ป้อนเข้าสู่เตาเผาปูนซีเมนต์ หรือเตาเผาเพื่อผลิตพลังงาน สิ่งนี้ไม่เคยทำมาเลย เราก็ควรทำให้ได้

การแก้ปัญหาขยะมูลฝอยระยะยาว รัฐบาลได้ใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสาน ให้ความสำคัญกับการแปรรูป “ขยะ วัสดุเหลือใช้ ให้เป็นพลังงาน” มีเป้าหมาย ตั้งโรงผลิตไฟฟ้าจากการแปรรูปขยะมูลฝอยจำนวน 53 แห่งทั่วประเทศ ถ้าเราไม่ฝังกลบ ไม่นำมาใช้มาเป็นต้นทุนพลังงาน ก็เลอะอยู่แบบนี้ เพราะกำจัดไม่ได้ทั้งหมด พอเผาไปแล้วก็สลายไป ได้ประโยชน์ด้วย อย่าขัดขวางแล้วกัน ในการก่อสร้าง เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่แล้วก็ไม่ให้สร้างมลพิษ ไม่สร้างอันตรายกับประชาชนในพื้นที่ ดูแลประชาชนในพื้นที่ด้วย เพื่อจะให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ทั้งสิ้น จาก 53 แห่งที่จัดสร้าง ถ้าสร้างได้สำเร็จก็จะผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ทั้งสิ้น 227.58 เมกกะวัตต์ ก็มากพอสมควร

ปัจจุบันเปิดไปแล้ว 2 แห่ง ที่ จ. ภูเก็ต กับ จ.สงขลา ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 25.7 เมกกะวัตต์ และกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวน 3 แห่ง ในกรุงเทพมหานคร จ.ขอนแก่น และ จ.พัทลุง ทุกจังหวัดควรจะต้องมีแล้ว ต้องแก้ปัญหาการขาดแคลน และแก้ปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ระยะยาว ความมั่นคง ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการลงนามในสัญญาอีก 2 แห่ง ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา กับ จ.ระยอง กำลังศึกษาความเหมาะสมอีก 1 แห่ง คือที่ จ. ลำพูน และอยู่ระหว่างการเจรจาอีกจำนวน 45 แห่ง ประชาชนมาช่วยกัน มาบอกกัน มาหารือกัน สร้างความไว้ใจซึ่งกันสักที ไม่อย่างนั้นก็สร้างได้ สร้างไม่ได้กันอยู่อย่างนี้ แล้วเราก็ขาดแคลนไปเรื่อย แล้วจะทำอย่างไร ฝากสิทธิมนุษยชนด้วย มาช่วยกันคุย มาช่วยกันดู ถ้าเราดูแลดีทุกอย่างก็ไม่เกิดพิษเกิดภัย ไม่เกิดประโยชน์ในพื้นที่ด้วย ทุกโรงงานก็ต้องดูแล ตอบแทนคนที่อยู่รอบ ๆ  คราวนี้เขาดูแลอย่างไร

ที่ผ่านมา ผมทราบว่าเขาไปดูแลผ่านทาง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เขาให้เงินไป ไปดูโน่น ดูนี่ คราวนี้ไปถึงประชาชนหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ ก็เลยค้างกันอยู่แบบนี้ ก็ไปดูสิว่าเขาให้มาแล้วได้ประโยชน์หรือไม่ เงินเหล่านี้ต้องมาสู่ประชาชน ไปทำอย่างอื่นไม่น่าจะดี

มาตรการในเรื่องของการแก้ไขปัญหาขยะที่ดีที่สุดคือ การสร้างวินัยของคนในชาติ ก็ได้มอบหมายให้ ทั้งกระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงศึกษาธิการ ปลูกฝังเรื่องจิตสำนึก ให้ความรู้การลด คัดแยกขยะ จัดการขยะในหลักสูตรด้วยตั้งแต่ระดับเยาวชน ส่งเสริมสถานศึกษาดำเนินกิจกรรมลด คัดแยก นำขยะมูลฝอยไปใช้ประโยชน์

เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ปัจจุบันกระแสอนุรักษ์แรง สิ่งแวดล้อมแทบจะเป็นสิ่งหนึ่งของรัฐบาลทั่วโลก วันนี้ทุกเวทีก็หารือกันเรื่องนี้มาโดยตลอด เราก็ทำให้เต็มที่ ผมก็ไม่ลืมว่าจะต้องสร้างความตระหนักรู้ให้ทุกฝ่ายได้เห็นความสำคัญของคำว่า “การพัฒนาที่ต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ” วัสดุทางเลือก มีการรีไซเคิลเหล่านี้ เช่น ชานอ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม ผักตบชวา ฟางข้าว ฯลฯ เป็นบรรจุภัณฑ์ปลอดสารพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็เพิ่มมูลค่าเศษวัสดุด้วย ช่วยกันทำ ช่วยกันซื้อ ช่วยกันใช้ ข้อดีก็ไม่มีสารก่อมะเร็ง ย่อยสลายได้ภายใน 45 วัน เป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้ด้วย ทนความร้อน ทนน้ำ ทนน้ำมัน เข้า Microwave ก็ได้ ต่างจากขยะพลาสติกใช้เวลาถึง 450 ปี โฟมใช้เวลานับ 1,000 ปี ในการย่อย เพราะฉะนั้น เราทิ้งโฟม พลาสติกปริมาณ 61 ล้านใบต่อวัน ตัวเลขเหล่านี้น่ากลัว ต้องช่วยกันลด ช่วยกันเลิกใช้สักที ทำอย่างไรจะเลิกใช้พลาสติก เลิกใช้โฟม เพราะเป็นปัญหาอนาคตเป็น 1,000 ปี ทำอย่างไร คิดนะ วันนี้เป็นขยะที่ฝังกลบก็ไม่สลาย เผาก็เป็นอันตราย แก๊สพิษอีก โลกร้อน ทิ้งไม่ถูกวิธี ปัญหามากมาย การอุดตันท่อระบายน้ำ เสียทัศนียภาพ วันนี้ผมขออย่างนี้ได้หรือไม่ วันนี้เป็นปีครบ 5 รอบ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อยากให้ทุกคนตั้งใจทำความดีว่า ต่อไปนี้จะไม่ใช้โฟม ต่อไปนี้จะไม่ใช้กล่องพลาสติก ถุงพลาสติก เพื่อจะให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถวายเป็นพระราชกุศล ผมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีกับคนทั้งประเทศ

ผมเคยบอกว่า วันสำคัญ ๆ ไม่ใช่วันสำคัญเลี้ยงฉลอง แรงไม่มี แล้วก็จบ ไม่ใช่ วันสำคัญคือวันตั้งตัว ตั้งใจว่าจะทำอะไรที่ดี ๆ ให้กับตัวเอง ครอบครัว ประชาชน ไปคิดอย่างนั้น ถ้าคิดอย่างนี้ทุกวันประเทศไทยก้าวหน้าแน่นอน ร้านค้าทุกแห่งในอุทยานแห่งชาติ วันนี้ก็มาก เพราะไปไม่ค่อยสะดวก ต้องเดินไป ต้องขึ้นรถเล็กไป รวมกันไป ก็นำเอาถุงพลาสติกขึ้นไป ใช้แล้วก็ทิ้งเรื่อยเปื่อย วันนี้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เขาก็แจ้งมาบอกว่าไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน คนมาก ก็ฝากดูแลด้วย

วันนี้นักท่องเที่ยวเข้ามาเครื่องบินลงมา 500 กว่าเที่ยว มีพี่น้องประชาชนต่างประเทศจากจีนบ้าง อะไรบ้าง ญี่ปุ่น ต่างประเทศ หลายประเทศมา 500,000 กว่าคน ไม่กี่วันมานี้ แน่นไปหมดเลยกรุงเทพฯ วัดวาอาราม ก็เป็นห่วงเรื่องห้องน้ำ ห้องส้วม และความปลอดภัย ช่วยดูแลด้วย เพราะสถานที่ที่คนมาก ๆ ห้องน้ำก็จำเป็น เพราะฉะนั้นห้องน้ำอย่าไปปล่อยให้เขาดูแลเองไม่ได้ ต้องมีคนรับผิดชอบทุกห้องน้ำ มีน้ำที่เพียงพอ มีกระดาษ มีอะไรก็แล้วแต่ ให้การบริการไป และมีคนเฝ้า อย่าปล่อยให้อีเหละเขะขะ วันหน้าเขาก็ไม่มาอีก อย่าทำอะไรเพื่อวันเดียวหรือห้วงเดียวที่ได้กำไรแล้วก็เลิก ไม่ใช่ มันเป็นชื่อเสียงของประเทศ

ถ้าจากวันนี้ ในเมื่อเราจะเร่งรัดเรื่องการท่องเที่ยว ท่านทำเรื่องเหล่านี้ให้ดี ทำห้องน้ำ ห้องส้วมให้สะอาด อาหารราคาเหมาะสม อร่อย ไม่เอาเปรียบคน สินค้ามีคุณภาพ ไม่โกง ไม่หลอกเขา อะไรเหล่านี้ จะทำให้คนมาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ แต่มากเกินไปก็เป็นปัญหาอีก เพราะเกินปริมาณ วันนี้ก็แน่นไปหมดทุกที่ จะทำอย่างไร คืออาจจะต้องมีการจัดคิว หรืออะไรบ้าง ผมไม่รู้ เดี๋ยวก็มีปัญหาเรื่องของการท่องเที่ยวอีก วันนี้ก็แน่นไปทุกที่ ถ่ายรูปผมยังไม่รู้ว่าจะถ่ายติดกันหรือเปล่า ถ่ายตัวเองแต่เห็นคนอื่นเต็มไปหมด เอาหัวชนกันหมดเลยทุกที่ เพราะเขารักประเทศไทย แล้วทำไมประเทศไทย คนไทยด้วยกันไม่รักคนไทยด้วยกัน ไม่รักประเทศไทย ผมไม่เข้าใจ ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net