Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์ อ้าง Noam Chomsky ที่กล่าวว่า มนุษยชาติในปัจจุบันอยู่ในสังคมสื่อเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสังคมระดับใดก็ตาม จากสังคมครอบครัวถึงสังคมประเทศตลอดถึงสังคมโลกที่ล้วนผูกติดอยู่กับสื่อ

สื่อในที่นี้หมายถึงการสื่อสารมวลชนที่เมื่อผู้ส่งสารสื่อออกไปแล้วมีคนรับได้มากกว่า 2 คนขึ้นไป  จากอิทธิพลของเทคโนโลยีเครื่องมือสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในการเป็นสื่อกลางนำพาสารไปสู่กลุ่มผู้รับ รวมทั้งเป็นเครื่องมือสื่อกลางในการนำสารเชิงการตอบโต้ หรือการสื่อสารสองทาง (two ways communication) กลับมายังผู้ส่งสารเริ่มต้นซึ่งเป็นคู่สนทนาหรือกลุ่มสนทนา

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม โลกปัจจุบันที่ถูกขับเคลื่อนด้วยระบบการสื่อสารมวลชนสมัยใหม่จึงมีลักษณะของการเปิดเสรีในด้านข้อมูลข่าวสารมากขึ้น แม้แต่ผู้คนที่ทำการสื่อสารมวลชนดังกล่าวจะอยู่ภายใต้ระบอบรัฐบาลอำนาจนิยมหรือเผด็จการก็ตาม แต่จะไม่สามารถสกัดกั้นกระแสการไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารได้ โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารผ่านระบบออนไลน์ที่สื่อได้ทั้งระหว่างปัจเจกและระหว่างมวลชน

ยิ่งรัฐใดมีนโยบายปิดกั้นข่าวสารด้วยแล้ว  นโยบายดังกล่าวจะเป็นตัวกระตุ้นให้ข่าวสารที่เป็นไปในทำนองอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลไหลลงสู่ใต้ดินมากขึ้น ซึ่งก็ยิ่งยากสำหรับรัฐบาลที่จะไปสกัดการเผยแพร่ข่าวสารใต้ดินเหล่านี้

ในแง่ของการเผยแพร่ข่าวสารโดยทั่วไป  องค์ประกอบสำคัญของการนำเสนอข่าวสารและข้อมูลต่อมวลชนอกจากตัวสาร ผู้ส่งและผู้รับสารแลก็คือ เสรีภาพในการนำเสนอ เพราะภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีเสรีภาพ ย่อมทำให้ประเด็นที่สื่อมวลชนนำเสนอถูกวิจารณ์ในที่สาธารณะ  โดยเฉพาะประเด็นสาธารณะไม่ว่าเรื่องใดๆ ก็ตาม  เช่น ประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เป็นต้น ขณะที่บทบาทและหน้าที่ของสื่อมวลชนเองเป็นตัวสะท้อนถึงการวิจารณ์ต่างๆ นานา เช่นเดียวกันกับที่การวิจารณ์นั้นเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินว่ามีสองเรื่องที่เรามักมองว่าหากนำมาสนทนาหรือวิจารณ์กันในที่สาธารณะ เช่น นำมาวิจารณ์ในพื้นที่สื่อมวลชนก็อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกันได้ สองเรื่องดังกล่าวก็คือ เรื่องการเมืองกับเรื่องศาสนา

ความจริงแล้วในประเทศตะวันตกสถานการณ์ของความขัดแย้งในเรื่องการเมืองและเรื่องศาสนาจากความเห็นที่ไม่ตรงกันของคนในชาติเคยเกิดขึ้นมาก่อน และตอนนี้ก็ยังดำรงอยู่  ซึ่งในเรื่องการเมืองนั้นประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ได้บทเรียนว่าความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่จะต้องเห็นไม่ลงกัน บรรดาประเทศเหล่านี้จึงได้ข้อสรุปว่า จำเป็นต้องสร้างกติกาการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ซึ่งก็คือการเคารพความเห็นต่าง และเมื่อต้องตัดสินเรื่องนโยบายรัฐหรือนโยบายส่วนรวมที่เกี่ยวข้องเชิงผลประโยชน์ของสังคมก็อาศัยวิธีการรับฟังเสียงข้างมาก ซึ่งก็คือกติกาประชาธิปไตยดังเป็นที่ทราบกัน 

วิธีการรับฟังเสียงส่วนใหญ่ในเรื่องนโยบายสาธารณะ เท่ากับลดปมปัญหาความขัดแย้งลง ที่จริงความขัดแย้งในทางความคิดยังดำรงอยู่ เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ เพียงแต่การยอมรับกติกาเสียงส่วนใหญ่ทำให้ทุกอย่างของประเทศสามารถขับเคลื่อนไปได้  ขณะเดียวกันการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อมวลชนในความเห็นที่หลากหลายก็เป็นช่องทางหนึ่งในการลดปมปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคม สื่อมวลชนจึงเป็นพื้นที่ที่จัดว่าตอบสนองต่อกระบวนการและความเป็นประชาธิปไตย

ขณะที่ศาสนานั้น เมื่ออยู่บนเวทีสื่อมวลชน กลับให้ภาพที่แตกต่างออกไป ลักษณะอุดมการณ์และวิธีการของสื่อมวลชนตรงกับลักษณะอุดมการณ์และวิธีการประชาธิปไตย ปัญหาคือลักษณะอุดมการณ์และวิธีการของสื่อมวลชนตรงกับลักษณะอุดมการณ์และวิธีการทางด้านศาสนาหรือไม่

เพราะอุดมการณ์และวิธีการของศาสนานั้นอาศัยศรัทธาเป็นตัวตั้ง ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม  เมื่อมีการนำเสนอประเด็นหรือเรื่องศาสนาผ่านสื่อมวลชน ตามหลักตรรกะของอุดมการณ์และวิธีการของสื่อสารมวลชนแล้ว ศาสนาจึงสมควรเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์โต้งแย้งได้ ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งดังกล่าวย่อมเป็นการวิพากษ์ศรัทธาของผู้คนหรือศาสนิกของอีกฝ่าย และเป็นสาเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งของคนในสังคม

ถามว่า  สามารถใช้กติกาประชาธิปไตยตัดสินประเด็นหรือเรื่องทางศาสนาที่กำลังเกิดความขัดแย้งกันอยู่นั้นได้หรือไม่?

คงเป็นเรื่องยากที่หรือเป็นไม่ได้เลยที่จะใช้กติกาประชาธิปไตยมาตัดสินความเชื่อความศรัทธาของผู้คน ศาสนิกหรือสาวกของศาสนาหรือลัทธิความเชื่อที่พวกเขาเชื่อและศรัทธาอยู่ เพราะความเชื่อทางศาสนาเป็นเรื่องปัจเจก อเมริกาซึ่งมีฐานะเป็นรัฐโลกียะ (secular state) มีกฎหมายห้ามสอนศาสนาในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัยของรัฐ เพราะเห็นว่าศาสนาควรเป็นเรื่องปัจเจกมากกว่าการนำขึ้นบนโต๊ะการเรียนการสอนที่เป็นการกระทำในลักษณะของการเผยแผ่ ยกเว้นการนำศาสนามาใช้สำหรับการเรียนการสอนเชิงวิชาการ ซึ่งการเรียนการสอนศาสนาในแบบดังกล่าว ศาสนาย่อมถูกนำไปวิพากษ์ตามหลักเหตุและผลตามกระบวนการวิชาการไม่มากก็น้อย   ดังเราเห็นว่ามีพระสงฆ์จากเมืองไทยบางรูปเดินทางมายังบางมหาวิทยาลัยของอเมริกันเพื่อสอนพุทธศาสนา การสอนหรือการบรรยายแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางด้านวิชาการ

เมื่อศรัทธาเป็นเรื่องของปัจเจก ประเด็นที่เชื่อมโยงไปหาสื่อมวลชนและประชาธิปไตยก็คือ หากศรัทธาหรือความเชื่อนั้นไม่เป็นอันตรายหรือกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ศรัทธาหรือความเชื่อนั้นก็ไม่มีปัญหา ปัจเจกชนสามารถเลือกศรัทธาในสิ่งที่เขาต้องการเลือกศรัทธา  การถกเถียงและวิพากษ์ศรัทธาในศาสนาบนโต๊ะสื่อมวลชนว่าไปแล้วไม่มีประโยชน์หรือถึงกับเกิดโทษด้วยซ้ำ  ขณะที่ด้านหนึ่งที่สื่อมวลชนเลือกทำตามปรัชญาอุดมการณ์สื่อก็คือ การแสวงหาความจริงของเรื่องราวที่ผู้คนศรัทธา ซึ่งก็น่าจะกระทำได้ในบางเรื่องเท่านั้น เพราะบางเรื่องเป็นการรายงานหรือนำเสนอพฤติกรรมความศรัทธาในศาสนาของผู้คนมากกว่ามากกว่าการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อเปลี่ยนศรัทธาของผู้คน (ศาสนิก)

อย่างไรก็ตามในส่วนของสื่ออเมริกัน การนำประเด็นทางศาสนามาวิพากษ์หรือถกกันในห้องข่าวเป็นเรื่องธรรมดา อาจเป็นเพราะอเมริกาเป็นรัฐโลกียวิสัย ไม่ใช่เป็นรัฐศาสนาหรือรัฐกึ่งศาสนา อเมริกาไม่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่การวิพากษ์ดังกล่าวกระทำอยู่บนมาตรฐานของจรรยาบรรณสื่อมวลชน โดยผู้รับสาร คือ ผู้อ่าน ผู้ฟัง หรือผู้ชม เป็นฝ่ายใช้วิจารณญาณ “ปัญญา” พิจารณาเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อเอาเอง

การให้น้ำหนักด้านศาสนาไปที่ความศรัทธาเชิงปัจเจกเป็นเหตุให้ศาสนาในประเทศโลกตะวันตกส่วนใหญ่ไปด้วยได้กับสื่อมวลชนและประชาธิปไตย ตรรกะการปฏิบัตินี้ทำให้มาตรฐานทางศีลธรรมกลายเป็นเรื่องปัจเจก และโยงไปถึงหลักความเสมอภาคและยุติธรรม คือ ตราบเท่าที่พลเมืองไม่ละเมิดกฎหมาย แม้ละเมิดศีลธรรมก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะศีลธรรมเป็นเรื่องภายในของปัจเจกชนชนิดที่ไม่สามารถเอาสิ่งใดมาวัดประเมินได้ ถ้าหากมีการสร้างมาตรฐานทางศีลธรรมของรัฐอย่างเป็นทางการขึ้นมาก็เท่ากับเป็นการครอบงำและริบเสรีภาพไปจากพลเมืองของรัฐ ซึ่งเท่ากับขัดแย้งต่อหลักเสรีภาพที่เป็นหัวใจของประชาธิปไตย (หากเป็นเมืองไทยคงเทียบได้กับการตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติที่เพื่อกำกับศีลธรรมของประชาชน โดยรัฐตั้งค่ามาตรฐานความดีความชั่วขึ้น ตามความเชื่อที่ว่าศีลธรรมศาสนาฝ่ายรัฐเท่านั้นที่ถูกต้องชอบธรรม)

ดังการปลูกฝังอุดมการณ์ด้านศาสนาบางประการเพื่อสนองต่อการรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งนัยนี้ก็แสดงให้เห็นความขัดแย้งกับประชาธิปไตยเช่นกัน เพราะอุดมการณ์เชิงเป้าหมายของประชาธิปไตยมุ่งไปที่การกระจายอำนาจเพื่อทำให้เกิดอิสรชนขึ้น อิสระชนเหล่านี้ย่อมหมายถึงผู้มีเสรีภาพ มีความเสมอภาค (ยุติธรรม) และอยู่กันโดยภราดรภาพ

ในสมัยของสื่อสมัยใหม่ยุคดิจิตอลที่มีการสื่อสารแบบสองทางและแนวราบ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ การสื่อสารในลักษณะนี้เองยังทำให้เกิดผลกระทบกับระบบชนชั้นบรรดาศักดิ์ของบุคคลในศาสนา

แม้ถ้อยคำสำนวนภาษาในการสื่อสารจะคงความเป็นชนชั้นแบบเดิมๆ เอาไว้ตาม แต่หากพินิจอย่างรอบคอบแล้ว ระบบชนชั้นบรรดาศักดิ์ที่ก่อให้เกิดระยะห่างกับศาสนิกทั่วไปนั้น ได้เปลี่ยนไปเช่นกัน สื่อสมัยใหม่ได้ทำระยะห่างที่เคยเป็นลดลง พร้อมกับเกิดพฤติกรรมการวิพากษ์เนื้อหาหลักคำสอนเชิงการตีความและวิพากษ์บุคคลในศาสนามากขึ้น

บางทีอาจเป็นกลไกรัฐด้านศาสนาที่ไม่ปรับตัว หรืออีกแง่หนึ่งก็คือรัฐนำศาสนามาแสวงผลประโยชน์เพื่อความดำรงอยู่ของผู้ปกครองรัฐ ขณะที่ศาสนาในส่วนของศาสนิกเองมีการปรับตัวมาตลอด โดยเฉพาะในยุคสังคมสื่อท่ามกลางกระแสประชาธิปไตย.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net