สุรพศ ทวีศักดิ์: ปฏิรูปพุทธศาสนาหรือมุ่งเอาผิดธรรมกาย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

บทความนี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อปกป้องธรรมกาย มติมหาเถรสมาคม พระลิขิตสมเด็จพระสังฆราช แม้กระทั่งไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อปกป้องพุทธศาสนาหรือธรรมวินัย แต่เขียนขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุผล และช่วยกันคิดว่าชาวพุทธควรอยู่ร่วมกันอย่างไร

พุทธศาสนาไทยกับความชอบธรรมตามธรรมวินัย

พุทธศาสนาไทยเป็นเถรวาทหรือไม่ อาจเถียงกันได้ในทางข้อเท็จจริง เหตุผลหรือทางวิชาการ แต่เป็นที่รับทราบหรือยืนยันตัวเองว่าพุทธไทย ไม่ว่าธรรมยุตหรือมหานิกายต่างยืนยันว่าเป็นเถรวาท ตามโครงสร้างระบบปกครองสงฆ์ไทยปัจจุบัน “พระสงฆ์ไทย” ตามกฎหมาย คือพระสงฆ์ที่อยู่ใต้ระบบการปกครองของมหาเถรสมาคมเท่านั้น แม้สวนโมกข์ ธรรมกาย พระคึกฤทธิ์ พระพุทธอิสระ พระป่า พระสายหลวงพ่อชาเป็นต้น อาจมีเอกลักษณ์ของตนเองแตกต่างกันในบางเรื่อง แต่ก็ถือเป็นพระสงฆ์ไทยตามกฎหมายที่อยู่ใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม

ส่วนสันติอโศกไม่ใช่พระสงฆ์ไทยตามกฎหมาย เพราะไม่ได้ขึ้นต่อการปกครองของมหาเถรสมาคม หากพระสงฆ์ไทยภายใต้ระบบมหาเถรสมาคมเป็น “คณะสงฆ์แบบทางการ” หรือคณะสงฆ์ขึ้นต่อรัฐ มีระบบปกครองกันด้วยกฎหมาย สันติอโศกที่ถือว่าตนเองเป็นพระสงฆ์ตามธรรมวินัยและปกครองกันด้วยหลักธรรมวินัยเท่านั้น ก็ถือเป็นคณะสงฆ์ที่แยกจากรัฐ

แต่ทั้งพระสงฆ์ที่ผูกติดกับรัฐและเป็นอิสระจากรัฐ ต่างก็ยืนยันว่าตนเองเป็นเถรวาท และอ้างอิงความชอบธรรมของสถานภาพ ความถูกต้องของคำสอน และวัตรปฏิบัติที่รองรับศรัทธาหรือความเชื่อถือของประชาชนจากธรรมวินัยในพระไตรปิฎกและอรรถกถาเถรวาทเหมือนกัน แม้อาจตีความต่างกันในบางเรื่อง ฉะนั้น ธรรมวินัยแบบเถรวาทจึงเป็นมาตรฐานความชอบธรรมที่พุทธศาสนาไทยทุกกลุ่มอ้างอิง

กรณีธรรมกายกับปัญหาความชอบธรรมตามธรรมวินัย

กรณีธรรมกายมีการกล่าวหากันมาก ในเรื่อง “ความชอบธรรม” ตามพระธรรมวินัย เช่นการสอนผิดจากพระไตรปิฎก การต้องอาบัติปาราชิกของเจ้าอาวาส จนนำมาสู่การมี “พระลิขิต” ของสมเด็จพระสังฆราชในปี 2542 ว่าเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายต้องอาบัติปาราชิก และให้คืนทรัพย์สินแก่วัด ต่อมามหามหาเถรสมาคมให้ทางวัดพระธรรมกายศึกษาและปรับการสอนให้สอดคล้องกับพระไตรปิฎก และเจ้าอาวาสได้เปลี่ยนชื่อผู้ถือครองที่ดิน บัญชีธนาคารจากชื่อตนเองให้เป็นชื่อวัดและมูลนิธิของวัด มหาเถรสมาคมจึงพิจารณาว่าเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายได้ดำเนินการตามพระลิขิตในเรื่องคืนทรัพย์สินแก่วัดแล้ว ไม่ได้เจตนาเอาทรัพย์สินของวัดเป็นของตัวเอง จึงไม่ต้องอาบัติปาราชิก แล้วเรื่องก็จบไป

แต่เกิดปัญหาขึ้นมาอีกเมื่อคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวันเป็นประธานกรรมการ ได้หยิบยกประเด็น “วัดพระธรรมกาย” โดยอ้าง “พระลิขิต” ของสมเด็จพระสังฆราชเรื่องการต้องอาบัติปาราชิกของเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และให้นำเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการมหาเถรสมาคมอีกครั้ง

ปัญหาที่ไม่น่าเกิดขึ้นเลย แต่ก็เกิดขึ้น “อย่างชัดแจ้ง” ทว่าเสมือนแสร้งมองไม่เห็นกันเลยคือ ไม่ว่าพระนักปราชญ์ ปัญญาชนทางพุทธศาสนา สื่อมวลชน หรือกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ที่วิจารณ์ความไม่ชอบธรรมตามธรรมวินัยและเรียกร้อง ขับเคลื่อนให้ดำเนินการเอาผิดเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย กลับไม่ได้พูดถึง “วิธีการที่ชอบธรรม” ตามหลักธรรมวินัยในการปรับอาบัติพระภิกษุ

ในวินัยปิฎก (เล่มที่ 8) กำหนดว่า การระงับ “อาปัตตาธิกรณ์” คือการวินิจฉัยตัดสินการต้องอาบัติของพระภิกษุนั้น ต้องปฏิบัติตามหลัก “สัมมุขาวินัย” คือให้มีกระบวนการไต่สวนผู้กล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหา และพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย และทำการวินิจฉัยตัดสินไปตามข้อเท็จจริงและตัวบทธรรมวินัยต่อหน้าทั้งสองฝ่าย และต่อหน้าสงฆ์อย่างเปิดเปิดเผย โปร่งใสทุกขั้นตอน

ตามหลักการของสัมมุขาวินัย เราเข้าใจได้ว่า “ความยุติธรรม” คือเป้าหมายที่ต้องการ และเป้าหมายนั้นต้องบรรลุได้ด้วย “วิธีการที่ชอบธรรม” เท่านั้น ฉะนั้น การตัดสินล่วงหน้า หรือตัดสินลับหลัง โดยผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้มีโอกาสมาแก้ต่างให้ตัวเองเลย มองตามหลักสัมมุขาวินัยแล้วถือว่าเป็น “กรรมที่ไม่เป็นธรรม” หรือไม่ยุติธรรม และเป็นโมฆะ

ถามว่า การตัดสินเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่ปาราชิก ได้มีการดำเนินการตามหลักสัมมุขาวินัยแล้วหรือยัง หากพุทธศาสนาไทยอ้างความชอบธรรมจากธรรมวินัย หรือชาวพุทธอ้างว่าตัวเองกำลังปกป้องความบริสุทธิ์ของธรรมวินัย ทำไมไม่มีใครยืนยันกระบวนการที่ชอบธรรมตามหลักสัมมุขาวินัย

ถ้าเรากล่าวหาว่า ใครทำผิดธรรมวินัย แล้วจะจัดการกับเขาด้วยวิธีการอย่างไรก็ได้ โดยวิธีการนั้นไม่ได้ผ่านกระบวนการที่มีความชอบธรรมตามหลักธรรมวินัย นี่แสดงว่าเราเคารพและปกป้องธรรมวินัยอย่างไรหรือ

ระบบปกครองสงฆ์กับความชอบธรรมตามธรรมวินัย

ระบบปกครองสงฆ์แบบทางการในปัจจุบัน ไม่ได้ตั้งขึ้นตามธรรมวินัย แต่ตั้งขึ้นโดยรัฐหรือกฎหมาย ปัญหามีว่า ในแง่หลักธรรมวินัยนั้น การทำกิจของสงฆ์และการวินิจฉัยตัดสินการต้องอาบัติต่างๆ นั้น ให้เป็นอำนาจของ “สงฆ์” ซึ่งหมายถึงสงฆ์ตามสายครูอาจารย์ วัด หรือสำนักต่างๆ มีอิสระในการดำเนินการกันเอง ไม่มีอำนาจตามกฎหมายหรืออำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ระบบปกครองสงฆ์แบบทางการที่เรียกว่า “มหาเถรสมาคม” นั้น มีอำนาจรัฐหรือกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้องค์กรสงฆ์ซึ่งมีพระภิกษุ 12 รูป มีอำนาจตามกฎหมายปกครองสงฆ์กว่า 3 แสนรูป ทั่วประเทศ

ถ้าเทียบกับสงฆ์ตามธรรมวินัย จะเห็นว่า สงฆ์ตามธรรมวินัยเน้นการมีส่วนร่วมและกระจายอำนาจในการตัดสินใจกิจการส่วนรวม (กิจของสงฆ์) ร่วมกันทุกเรื่อง ถ้าเรื่องเล็กๆ ก็ใช้สงฆ์จำนวนน้อย ถ้าเรื่องใหญ่กระทบต่อส่วนรวมมากก็ใช้สงฆ์จำนวนมาก และสงฆ์ที่ตัดสินใจเรื่องส่วนรวมต้องสะท้อนความเป็นตัวแทนของสงฆ์กลุ่มต่างๆ ด้วย เช่นในการสังคายนาธรรมวินัยที่ใช้คณะสงฆ์จำนวนมาก เพราะต้องการสะท้อนความเป็นตัวแทนของสงฆ์กลุ่มต่างๆ หรือสายครูอาจารย์ต่างๆ สงฆ์บางกลุ่มบางสายครูอาจารย์ที่ไม่ได้เข้าร่วมสังคายนาด้วย ก็มีสิทธิปฏิเสธมติของการสังคายนานั้นได้ เรื่องแบบนี้เป็นมาตั้งแต่การสังคายนาครั้งที่ 1 แล้ว

ปัญหาคือ คณะกรรมการมหาเถรสมาคมสะท้อนความเป็นตัวแทนของสงฆ์ทุกกลุ่มตามประเพณีทางพระธรรมวินัยอย่างไร นี่เป็นปัญหาที่เราไม่เคยตั้งคำถามอย่างจริงจัง อีกทั้งเราไม่ได้ตั้งคำถามด้วยว่า การใช้อำนาจตามกฎหมายตัดสินเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายปาราชิกหรือไม่ปาราชิกแบบ “ลับหลัง” ผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหานั้น ผิดหลัก “สัมมุขาวินัย” หรือไม่

ความไม่ชอบธรรมบวกความไม่ชอบธรรม = ปัญหาที่แก้ไม่ตก

ภายใต้การดำเนินการกับเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายอย่างไม่ได้เป็นไปตามความชอบธรรมตามหลักสัมมุขาวินัยนั้น ได้เกิดคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ที่ไม่ได้มีที่มาบนความชอบธรรมตามวิถีทางประชาธิปไตย และไม่ได้มีที่มาบนความชอบธรรมในฐานะตัวแทนคณะสงฆ์และชาวพุทธ ทว่ากลับมีหน้าที่ปฏิรูปกฎหมายคณะสงฆ์ ซึ่งกระทบโดยตรงต่อองค์กรสงฆ์และองค์กรชาวพุทธอื่นๆ และยังมีบทบาทดำเนินการขับเคลื่อนให้เอาผิดเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ทั้งๆ ที่คณะกรรมการปฏิรูปหลายคนเคยวิพากษ์วิจารณ์ธรรมกายมาก่อน และยังขับเคลื่อนให้เอาผิด “ตามกระบวนการที่ไม่ได้ดำเนินการตามหลักสัมมุขาวินัย” คือให้เอาผิดตามกระบวนการทางกฎหมาย ที่ไม่ได้ดำเนินไปตามความชอบธรรมในการวินิจฉัยตัดสินให้ครบถ้วน ตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในธรรมวินัยตั้งแต่แรก

จึงกลายเป็นกระบวนการเอาผิด ซึ่งมีที่มาไม่ชอบธรรม และมุ่งเอาผิดผ่านกระบวนการที่ยังไม่ได้ดำเนินการให้ชอบธรรมตามวิธีการทางธรรมวินัย ความไม่ชอบธรรมบวกความไม่ชอบธรรมจึงเท่ากับ แก้ปัญหาไม่ตก อธิบายกับสังคมไม่ได้ กลายเป็นเรื่องศาสนา-การเมือง ที่สร้างปัญหายุ่งเหยิงไม่จบสิ้น ที่ดำเนินไปบนพื้นฐานของการอ้างเจตนาดี และการอ้างถูก ผิด ที่ขาดความเข้าใจความซับซ้อนของปัญหา ที่สำคัญที่สุดคือขาดการเคารพและยึดหลัก “ความชอบธรรม” ของที่มาและวิธีการ ซึ่งขัดทั้งหลักการประชาธิปไตยและไม่เป็นไปตามหลักธรรมวินัย

การปฏิรูปและอนาคตพุทธศาสนา

เจตนาดีที่ไม่อิงหลัก “ความชอบธรรม” ย่อมขัดทั้งหลักพุทธศาสนาและประชาธิปไตย การปฏิรูปที่ไม่อยู่บนฐานความชอบธรรมตั้งแต่แรกย่อมเป็นไม่ได้ แล้วอนาคตพุทธศาสนาจะเป็นอย่างไร คำถามคือ อะไรคือพุทธศาสนาในความเข้าใจของเรา พระสงฆ์หรือสถาบันสงฆ์คือพุทธศาสนาเช่นนั้นหรือ หรือว่าพุทธศาสนามีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์กล่าวในวงเสวนาแห่งหนึ่งว่า “พุทธศาสนาตายแล้ว” หมายถึงภายใต้โครงสร้างพุทธศาสนาแบบทางการที่เป็นอยู่ มันมีแต่เรื่องเหตุผล อำนาจ (เหตุผลที่ถูกอำนาจสร้างขึ้นเพื่อการควบคุมการตีความพุทธศาสนา แต่ไม่ค่อยมีเหตุผลที่ไปท้าทายอำนาจ-ผู้เขียน) แต่ “อารมณ์ทางศาสนา” หายไป หรือแทบไม่เหลืออยู่เลย

ถ้าให้ผมขยายความต่อก็คือ เวลาเราอ่านคำสอน เช่นเรื่อง “เมตตา” ในพุทธศาสนา เราอาจเข้าใจความหมายตามตัวหนังสือ แต่อารมณ์เมตตาแบบพุทธที่รู้สึกว่าทุกคนคือเพื่อนร่วมทุกข์ไม่เกิดในจิตใจเรา เราจึงไม่เคยรู้สึก หรือแสดงออกถึงความรู้สึกเจ็บปวด สะเทือนใจ รู้ร้อนรู้หนาวกับเพื่อนร่วมสังคมที่ถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพ แม้แต่ถูกสังหารหมู่กลางเมืองหลวง เราไม่รู้สึกว่ากระบวนการใดๆ ที่ขาด “ความชอบธรรม” ทั้งในทางการเมือง ทางกฎหมาย ทางศาสนานั้น มันนำมาซึ่งความทุกข์ของสังคมหรือเพื่อนร่วมสังคมอีกจำนวนมาก

ฉะนั้น ในนามการอ้างธรรมะ ศีลธรรม อ้างการปกป้องพุทธศาสนาและธรรมวินัย เราจึงไม่เคยรู้สึกว่าฝ่ายที่เรากล่าวหาว่าผิด ว่าเลวที่ถูกกระทำอย่างไม่ชอบธรรมนั้นเขาจะรู้สึกเจ็บปวดอย่างไร เพราะเราไม่เคยรู้สึกว่าเขาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ แต่คิดว่าเขาคือคนเลวหรือเป็นมารศาสนา ส่วนเราคือคนดี เป็นฝ่ายเทพทำอะไรก็ถูกเสมอ โดยไม่สนใจวิธีการว่าชอบธรรมหรือไม่

ซึ่งผิดจากหลักการธรรมวินัยที่กำหนดไว้แม้กระทั่งว่า คนที่มีคุณสมบัติเป็นโจทก์ฟ้องอาบัติเอาผิดผู้อื่นนั้น ต้องฟ้องด้วย “จิตเมตตา” ซึ่งแสดงออกด้วยการเคารพความจริง ความถูกต้องชอบธรรมของวิธีการ ไม่กระทำต่อคนอื่นด้วยอคติ ความโกรธเกลียดบนฐานความไม่ชอบธรรมแบบหวังจะฟาดฟันกันให้ตายไปข้างหนึ่ง

แล้วพุทธศาสนาแบบมีอารมณ์ศาสนาที่เชื่อมโยงระหว่างปัญญาที่เข้าใจความจริงสู่การปฏิบัติอย่างตอบสนองต่อวิถีชีวิตในโลกสมัยใหม่ ที่เคารพเสรีภาพ ความเสมอภาค และมีความยืดหยุ่นหลากหลายในการศึกษาตีความ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ผมคงไม่มีปัญญาพอจะตอบ แต่เชื่อว่าเกิดขึ้นได้แน่นอน แต่คงไม่เกิดในพุทธศาสนาแบบทางการ

ในอนาคตอาจมีพุทธศาสนาที่แยกจากรัฐแบบกลุ่มสันติอโศก และกลุ่มภิกษุณีมากขึ้น มีรูปแบบการศึกษาตีความหลากหลายแตกต่างกันไป และแข่งขันกัน เมื่อนั้นอารมณ์แบบพุทธศาสนาอาจฟื้นคืนชีพกลับมามีชีวิตใหม่ในบริบทสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท