Skip to main content
sharethis

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินสร้างระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิส่วนต่อขยายดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท ระยะทาง 21.8 กิโลเมตร

รถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

24 ก.พ. 2558 - ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ก.พ. คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี  และแขวงสามเสนใน เขตพญาไท  กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... (เพื่อดำเนินโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link)  ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง – บางซื่อ – พญาไท) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ (คค.) และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยมีรายละเอียดดังนี้

000

เรื่อง  ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน  ในท้องที่แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี  และแขวงสามเสนใน เขตพญาไท  กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... (เพื่อดำเนินโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link)  ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง – บางซื่อ – พญาไท)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี  และแขวงสามเสนใน เขตพญาไท  กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... (เพื่อดำเนินโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link)  ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง – บางซื่อ – พญาไท) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ   (คค.) และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้  

คค. เสนอว่า

1. แนวเส้นทางและลักษณะโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link)  ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง – บางซื่อ – พญาไท    ระยะทางประมาณ 21.8 กิโลเมตร  ประกอบด้วย 3 สถานี ได้แก่ สถานีราชวิถี  สถานีบางซื่อ และสถานีดอนเมือง  เพื่อขจัดปัญหาจุดตัดของทางรถไฟกับถนนตามแนวเส้นทาง  ซึ่งงานโครงสร้างทางวิ่งประกอบด้วย  2 ส่วนหลัก ๆ คือ  โครงสร้างทางวิ่งยกระดับ (Elevated)  ช่วงพญาไท – พระรามที่ 6 และช่วงประดิพัทธ์ – ดอนเมือง ระยะทาง 18.3 กิโลเมตร  และโครงสร้างทางวิ่งแบบคลองแห้ง (Open Trench and Cut & Cover Tunnel)  ช่วงพระรามที่ 6 – ระนอง 1 ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร  ซึ่งขอบเขตของงานก่อสร้างโดยสังเขปประกอบด้วยงานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ  และโครงสร้างทางวิ่งแบบคลองแห้ง  งานก่อสร้างอาคารสถานี งานติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล  และงานจัดซื้อตู้รถไฟฟ้า มีที่ดินที่จะต้องจัดกรรมสิทธิ์ในเส้นทางประมาณ 7-1-41.03 ไร่  และมีสิ่งปลูกสร้างที่จะต้องรื้อถอนประมาณ 50 หลัง

2. เนื่องจากจะต้องดำเนินการเวนคืนที่ดินตามโครงการในข้อ 1 โดยเบี่ยงแนวเส้นทางหลบฐานรากของโครงการของทางพิเศษศรีรัชบริเวณถนนพระรามที่ 6 และเบี่ยงแนวเส้นทางหลบโครงสร้างใต้ดินของโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อนช่วงบางซื่อ – พญาไท – มักกะสัน – หัวหมาก  และสายสีแดงเข้ม  ช่วงบางซื่อ – หัวลำโพง  บริเวณระหว่างราชวิถี  - สามเสน รฟท. จึงมีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยการเวนคืนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เพื่อดำเนินโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link)  ส่วนต่อขยาย  ช่วงดอนเมือง – บางซื่อ – พญาไท  เพื่ออำนวยความสะดวกและรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค  จึงจำเป็นต้องตราร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงทุ่งพญาไท  เขตราชเทวี  และแขวงสามเสนใน เขตพญาไท  กรุงเทพมหานคร พ.ศ. .... (เพื่อดำเนินโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link) ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง – บางซื่อ – พญาไท)

3. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการดังกล่าวตามข้อ 2 แล้ว

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา เป็นการกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน  ในท้องที่แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี  และแขวงสามเสนใน เขตพญาไท  กรุงเทพมหานคร ตามโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link)  ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง – บางซื่อ – พญาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net