สมเกียรติ TDRI แจงทำไมเศรษฐกิจดิจิทัลไม่เปลี่ยนผ่าน แต่เปลี่ยนกลับและถอยหลังลงคลอง

สมเกียรติ TDRI วิจารณ์ชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลถอยหลังลงคลอง สวนกระแสโลก ชี้จะกำหนดใครนำเศรษฐกิจดิจิทัลให้ชั่งน้ำหนักความล้มเหลวดู มองรัฐล้มเหลวมากกว่า

25 ก.พ. 2558  ในงานเสวนาวิชาการเรื่อง "Digital Economy เปลี่ยนผ่านหรือเปลี่ยนกลับ? ตลาดแข่งขันเสรีหรือรัฐวิสาหกิจ?" จัดโดยศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ มีการหยิบร่าง พ.ร.บ.บางส่วนจากชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจสังคม และ ร่าง พ.ร.บ.กสทช. มาพูดคุย

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอว่า ในกระบวนการออกกฎหมาย ควรมีการประเมินผลกระทบในการออกกฎหมาย หรือ Regulatory Impact Analysis (RIA) ด้วย การจะทำ RIA ต้องนิยามวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน และดูว่ามีทางเลือกอะไรบ้างเพื่อบรรลุเป้าหมายและดูผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียผ่านการจัดรับฟังความเห็น และแต่ละวิธีมีต้นทุนและประโยชน์อย่างไร เพื่อดูว่าการดำเนินการของรัฐเพิ่มหรือลดสวัสดิการของสังคม เพราะออกระเบียบมีต้นทุนที่สังคมต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้ หากที่ผ่านมาดำเนินการตามนี้ หลายปัญหาที่จะต้องสัมมนากันวันนี้ก็จะไม่มี

สมเกียรติวิจารณ์ว่า กฎหมายชุดนี้ มีปัญหาเยอะมาก เพราะนอกจากนิยามวัตถุประสงค์แล้ว ไม่บอกเลยว่ามีทางเลือกอะไรและไม่มีการดูผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ประกอบการเอกชน รัฐ ประชาชนทั้งฐานะผู้เสียภาษี ผู้บริโภค หรือพลเมือง

เขาชี้ว่า ถ้าดูหลักคิดในการออกกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลจะพบว่า กฎหมายให้ความสำคัญกับกลไกตลาดน้อยมาก ให้ความสำคัญกับกลไกของรัฐเยอะมาก สวนกระแสโลกที่มีพัฒนาการจากการใช้กลไกรัฐไปสู่กลไกตลาด ยกตัวอย่าง ในร่าง พ.ร.บ.กสทช. ที่ระบุว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ ต้องคำนึงการจัดสรรให้เพียงพอต่อการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐ แปลว่า กฎหมายเห็นคุณค่าในบริการสาธารณะ แต่มีสร้อยว่า "ของรัฐ" ซึ่งสะท้อนวิธีคิดว่า บริการสาธารณะต้องทำโดยหน่วยงานรัฐ นี่เป็นปัญหาว่า ไม่ใช่เปลี่ยนผ่าน แต่เปลี่ยนกลับหรือถอยหลังเข้าคลอง

ประธาน TDRI อธิบายว่า ในอดีต เทคโนโลยียังมีต้นทุนสูง ตลาดยังรองรับได้น้อยราย การให้รัฐเป็นผู้ให้บริการจึงสมเหตุ แต่เมื่อเทคโนโลยีถูกลง ตลาดใหญ่ขึ้น รับได้หลายราย จึงเริ่มมีการคลี่คลายสู่รัฐร่วมเอกชน หรือ PPP และเปลี่ยนมาเป็นสัมปทาน และสุดท้ายสู่ระบบใบอนุญาตที่เอกชนเป็นผู้นำเป็นหลัก วิวัฒนาการมาทางนี้กันหมด พร้อมยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกาที่ประกาศหลักการเศรษฐกิจดิจิทัล เมื่อ 1990 ที่เน้นเรื่องการนำโดยเอกชนไม่ใช่รัฐ

จะให้รัฐหรือตลาดทำ
สมเกียรติชี้ว่า หากจะพิจารณาว่าจะให้รัฐหรือตลาดทำคงต้องชั่งที่ความล้มเหลว ซึ่งปัจจุบัน ตาชั่งเอียงไปทางความล้มเหลวของรัฐมากกว่าของเอกชนเข้าไปทุกที อาทิ การเทรดคะแนนเสียงในธุุรกรรมในตลาดการเมืองหรือภาครัฐ ซึ่งบางครั้งส่งผลต่อผลกระทบต่อประชาชน เช่น การร่วมกันผ่านกฎหมายของสองกลุ่มที่ต้องการใช้เงินเยอะ ทำให้ภาระตกอยู่กับประชาชน และยังมีความล้มเหลวอีกหลายมิติที่ตลาดไม่มี เช่น การที่เราทุกคนเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจ ในฐานะผู้เสียภาษี แต่เมื่อทุกคนเป็นเจ้าของจึงไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครสนใจว่า TOT CAT จะได้กำไรหรือไม่ เพราะไม่มีใครถือหุ้นใหญ่ ไม่มีแรงจูงใจกำกับดูแลตรวจสอบการทำธุรกิจว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ ขณะที่เอกชนไม่มีปัญหานี้ เพราะเขาต้องสนใจว่าตัวเองจะกำไรหรือขาดทุนอย่างไร

นอกจากนี้ จากบทเรียนที่ผ่านมา ยังเห็นการยกสมบัติให้เอกชน เพราะไม่มีประสิทธิภาพบริหารเอง เช่น เอาคลื่นความถี่ไปปล่อยต่อ ดังนั้น จะเห็นว่าภาครัฐล้มเหลวเยอะมาก ถ้าต้องการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ต้องชั่งว่าระหว่างรัฐกับเอกชนใครล้มเหลวมากกว่ากัน

โดยสรุป สมเกียรติมองว่า ร่างกฎหมายชุดนี้ถอยหลังลงคลองในสี่ประเด็น ได้แก่

1. การไม่แยกแยะระหว่างฝ่ายกำหนดนโยบาย ฝ่ายกำกับดูแล และผู้ประกอบการ ยกตัวอย่าง ทีโอที ที่เป็นทั้งคนทำนโยบาย กำกับ และให้บริการ โดยที่ผ่านมา มีความพยายามแยกสามส่วนออกจากกันแต่ร่างกฎหมายใหม่จะทำให้สามตัวนี้เบลอกันอีก

2. แนวคิดว่า บริการสาธารณะต้องทำโดยรัฐ ทั้งที่ที่ผ่านมา พบแล้วว่าเอกชนสามารถบริการสาธารณะได้ เช่น การมีช่องข่าวเนชั่น สปริงนิวส์ ซึ่งในกฎหมายก็กำหนดสัดส่วนรายการประเภทต่างๆ ไว้อยู่แล้ว หรือกรณีโทรคมนาคม หากต้องการให้ประชาชนในท้องที่ห่างไกลเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ก็สามารถกำหนดได้ผ่านนโยบาย รัฐไม่จำเป็นต้องทำเอง

3. แนวคิดจัดสรรคลื่นความถี่แทนการใช้กลไกตลาด กลับถอยไปใช้วิธีคัดเลือก (บิวตี้คอนเทสต์) ทั้งที่แนวทางประเทศพัฒนาแล้ว ใช้การประมูลเพื่อหาคนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเขาเชื่อว่าหากใช้วิธีบิวตี้คอนเทสต์ การวิ่งเต้นจะเกิดขึ้น 100% ในไทย จะกลายเป็นใครวิ่งเต้นได้เยอะที่สุด ไม่ใช่ว่าใครมีประสิทธิภาพสูงสุด

4. ไม่มีระบบธรรมาภิบาล โดยยกตัวอย่างกรณีมีการให้เหตุผลที่ต้องดึงเงินจากกองทุน กทปส. เดิมของ กสทช. ไปไว้กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ตั้งขึ้นใหม่ โดยผู้กำหนดนโยบายบอกว่า ต้องดึงเงินเพราะจากการตรวจสอบของ สตง.พบว่า กสทช. มีปัญหาเยอะ แต่การดึงเงินไปเช่นนี้ไม่ได้แก้ความล้มเหลวของระบบกำกับดูแลเลย เพราะเงินยังเหลือที่ กสทช.อีกมาก ส่วนเงินที่จะโยกไปอีกกองก็ยิ่งมีกลไกตรวจสอบแย่กว่า กสทช. เสียอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท