ผลเจรจาปาฐกถาป๋วย ยังยืนยัน ‘ยงยุทธ’ แต่ยกเลิกช่วงกวี ‘เนาวรัตน์’

บัณฑิตอาสาสมัครปกป้องประชาธิปไตยเผยผลการเจรจากับตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับกำหนดการ “โครงการสืบสานปณิธานป๋วย” ระบุทางออกต้องให้ “ยงยุทธ” ถอนตัวไปเองซึ่งมีความเป็นไปได้ยาก แต่ยกเลิกกวีเนาวรัตน์ ด้านฝ่ายคัดค้านเดินหน้าทำกิจกรรมต่อ

 

กลุ่มบัณฑิตอาสาสมัครปกป้องประชาธิปไตย เดินหน้าทำกิจกรรมต่อ หลังผู้จัดงานสืบสานปณิธานป๋วย ยังยืนยันให้นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปาฐกถาในงาน

27 ก.พ. 2558 กลุ่มบัณฑิตอาสาสมัครปกป้องประชาธิปไตย (บอ.ป.) ได้เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2558 ที่ผ่านมาตัวแทนกลุ่มได้เข้าพบเพื่อเจรจากับตัวแทนของผู้เกี่ยวข้องกับกำหนดการ "โครงการสืบสานปณิธาน… ป๋วย" ณ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีตัวแทนจาก บอ.ป.จำนวน 4 คน และตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับกำหนดการจัดงานจำนวน 8 คน เข้าร่วมการเจรจาดังกล่าว บรรยากาศการเจรจาเป็นไปด้วยดีและมีข้อสรุปเนื้อหาการเจรจาคร่าวๆ ดังนี้

นายอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ หนึ่งในตัวแทนกลุ่ม บอ.ป. เริ่มการเจรจาด้วยการชี้แจงเหตุผลและความเป็นมาของการคัดค้าน นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนาย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร โดยชี้ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมของบุคคลทั้งสอง ที่มีความเกี่ยวพันกับคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงภายใต้บรรยากาศทางสังคมการเมืองปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วย การข่มขู่ จับกุม คุกคาม ทรมาน ประชาชนจำนวนมากตลอดหลังการรัฐประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทที่มีการอ้างคำสั่ง คสช. เข้าไล่รื้อบ้านเรือน และจับกุมชาวบ้านไปจำนวนมาก ด้วยเหตุดังกล่าวบุคคลทั้งสอง จึงไม่เหมาะสมที่จะมาร่วมงานในวาระสำคัญที่ทางผู้จัดใช้ชื่อว่า "โครงการสืบสานปณิธานงานอาสาสมัครและงานพัฒนาของ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เนื่องในโอกาสรำลึก 100 ปี ชาตกาล" ซึ่งขัดแย้งโดยตรงกับหลักคิด ปณิธาน และปรัชญา ของป๋วย อึ๊งภากรณ์ และของสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร

ด้าน ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา ผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร ชี้แจงถึงรายละเอียดของงาน ว่ากำหนดการดังกล่าวเป็นการรวมเอางานทั้ง 3 ช่วง เข้าไว้ในโครงการเดียวกันคือ ช่วงเช้า ประชุมกรรมการจัดงาน 100 ปีชาตกาล ของ ดร.ป๋วย และช่วงบ่าย จะเป็นงานปาฐกถา ซึ่งทางมูลนิธิบัณฑิตอาสาสมัครได้รับผิดชอบในส่วนนี้รวมถึงงานเสวนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ให้คนรู้จัก อ.ป๋วย และงานพัฒนามากขึ้น สำหรับช่วงเย็นเป็น "งานผีเสื้อคืนรัง" ซึ่งเป็นกิจกรรมยามกลางคืนของศิษย์เก่าหลักสูตรบัณฑิตอาสาสมัคร ซึ่งศิษย์เก่ารับผิดชอบ และในช่วงค่ำ นายเนาวรัตน์ไม่ได้มาร่วมงาน เพียงแต่ทาง ผู้อำนวยการได้ดำเนินการขอบทกวีที่เกี่ยวกับบัณฑิตอาสาสมัคร มาและตั้งใจมอบให้คนอื่นอ่านในงานเพียงเท่านั้น

ด้านตัวแทนมูลนิธิบัณฑิตอาสาสมัคร ในฐานะผู้ติดต่อทาบทามนายยงยุทธมาปาฐกถาในงาน ได้ชี้แจงว่าทางมูลนิธิมีความเห็นกันว่านายยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นหลาน อ.ป๋วย ซึ่งมีความรักและเคารพ อ.ป๋วย และมีบทความที่เขียนชื่นชม อ.ป๋วย รวมทั้งไม่คิดว่าการเชิญดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะตั้งใจเชิญมาพูดในแง่มุมชีวิตของ อ.ป๋วยเท่านั้น นอกจากนั้นรองนายกฯ ท่านนี้ยังเคยร่วมขับเคลื่อนงานของของ คณะกรรมการจัดงาน 100 ปี ป๋วยอีกด้วย ทำให้ไม่เห็นว่าการเชิญนายยงยุทธมาร่วมงานจะมีปัญหาอะไร และเหตุผลคัดค้านว่าท่านยงยุทธเกี่ยวพันกับคณะรัฐประหาร ก็ไม่มีน้ำหนักเพียงพอเนื่องจาก อ.ป๋วยท่านก็เคยรับใช้คณะรัฐประหารในช่วงสมัยจอมพลสฤษดิ์เช่นเดียวกัน

นอกจากนั้น มีตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับการจัดงานโครงการดังกล่าวเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อให้ความเห็น ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี อธิบายว่า การเชิญอาจารย์ยงยุทธ มีข้อจำกัดหลายประการที่จะถอนชื่อท่านออกไป เนื่องจาก กำหนดการมีความกระชั้นชิดจนเกินที่จะถอดออกไป และทางผู้จัดได้ดำเนินการเรียนเชิญไปแล้ว ซึ่งท่านรองนายกก็ได้ตอบรับมาว่าจะมาร่วมงานอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางออกก็คือต้องให้รองนายกท่านถอนตัวไปเอง ซึ่งมีความเป็นไปได้ยากมาก ดังนั้นจึงเห็นว่าทางบัณฑิตอาสาสมัครผู้คัดค้านก็ได้แสดงออกไปแล้วน่าจะเพียงพอแล้ว

ประกอบกับมีความเห็นส่วนตัวว่า บุคคลที่ทำงานรับใช้คณะรัฐประหาร ไม่ควรถูกปิดกั้นให้เข้าร่วมกิจกรรมเพราะว่า อาจารย์ป๋วยในสมัยหนึ่งก็เคยทำงานให้กับจอมพลสฤษดิ์เช่นเดียวกัน เช่นกรณี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนไทย ประจำคณะมนตรีดีบุกระหว่างประเทศ และไม่มีความสำคัญว่าที่มาของตำแหน่งทางการเมืองจากระบอบอะไรอาจจะไม่สำคัญเท่ากับมีความตั้งทำงานเพื่อส่วนรวมหรือประเทศชาติจริงหรือไม่ต่างหากกรณีนี้ ผศ.ดร. ประชา ได้ยกตัวอย่างการเข้าไปร่วมทำงานในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาของ หม่อมราชวงศ์ ปรีดียาธร เทวกุล ว่าเป็นการเข้าไปช่วยกอบกู้เศรษฐกิจที่กำลังแย่ในปัจจุบันของประเทศ นอกจากนั้นแล้วคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันหลายท่านก็มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการเสนอชื่อ อ.ป๋วยให้ได้รับรางวัล ยูเนสโกอีกด้วย การคัดค้านจะก่อให้เกิดปัญหาต่อกระบวนการดังกล่าวได้

"เงินจัดงาน 100 ปีชาตกาล อ.ป๋วย มาจากรัฐบาล จำนวน 1,000 ล้านบาท ที่จะต้องใช้ดำเนินการทุกงานที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3 ปีนี่ และเรามีความจำเป็นที่จะต้องทำงานต่อไป หากมีการคัดค้านแบบนี้ก็จะทำให้งานทุกอย่าง shut down อุทยานป๋วยที่เราอยากให้เกิดก็จะไม่เกิด รวมไปถึงการขอให้ อ.ป๋วย เป็นบุคคลของโลก ทีมร่างก็จะเป็นทีมของหม่อมอุ๋ย หากมีปัญหาก็จะทำให้การขอชะงักลงอีกได้" ผศ.ดร.ประชากล่าว

นายอิทธิพล โคตะมี หนึ่งในตัวแทนของกลุ่ม บอ.ป. เสนอว่า การจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างอาจารย์ป๋วยกับจอมพลสฤษดิ์ อาจจะต้องมีความระมัดระวัง เนื่องจาก อ.ป๋วยดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการประจำ การทำงานดังกล่าวเป็นเรื่องปกติในระบบบริหารราชการแผ่นดิน ที่ปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าจำนวนมากก็ทำเช่นนั้นเช่นกัน การเป็นข้าราชการในช่วง จอมพล ป ด้วย. ถนอมด้วย เช่นเดียวกับ ข้าราชการฝ่ายก้าวหน้าหลายคน แต่จุดชี้ขาดก็คือ ป๋วยปฏิเสธการรับตำแหน่งทางการเมือง และปกป้องการแทรกแซงความเป็นอิสระของข้าราชการจากระบอบเผด็จการทหาร (ดูตัวอย่างการปฏิเสธจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ต้องการซื้อ สหธนาคารกรุงเทพ จำกัด แต่เนื่องจากธนาคารแห่งนั้น กระทำผิดระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย และดูความเห็นของรังสรรค์ ธนะพรพันธ์ ในงานสัมมนาที่คณะเศรษฐศาสตร์หลังจากป๋วย อึ๊งภากรณืเสียชีวิตไม่นาน- ผู้เขียนสรุป) แต่กรณียงยุทธเป็นการบิดเบือนปณิธาณป๋วย ส่วนกรณีเนาวรัตน์ นอกจากเนาวรัตน์ไม่เกี่ยวข้องกับป๋วยเลย ยังเคยมีประวัติเขียนกวีดูแคลนชาวบ้านในชนบทหลายครั้งหลายครา

"หากสำนักบัณฑิตอาสา ซึ่งอนาคตคือ วิทยาลัยป๋วยฯ จะต้องพัฒนาขึ้นไป ดังนั้นอาจารย์ป๋วยไม่ใช่ตัวบุคคล แต่คือสถาบัน และหากจะทำให้เป็นที่ยอมรับ จะต้องไม่ถูกเคลือบแคลงสงสัย ยิ่งหากจะเป็นบุคคลของโลกก็ต้องทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งยึดโยงกับชุดคุณค่าสากล แต่หากบุคคลที่เราเชิญมาพูดแทนภาพป๋วย คือคนที่มาจากรัฐบาลทหาร จะส่งผลให้ป๋วยเสื่อมเสีย แล้วจะทำให้เราไม่สามารถพูดถึงป๋วยได้ชัดถ้อยชัดคำ"

สำหรับข้อสรุปการเจรจามีดังนี้

- ตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับกำหนดการงานยอมรับว่าไม่ได้คิดให้รอบด้านในเรื่องการเชิญบุคคลมาร่วมงาน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็จะเป็นบทเรียนในครั้งต่อไป แต่ครั้งนี้จำเป็นต้องคงชื่อนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ ไว้ แต่จะปรับกำหนดการไม่ให้มีลักษณะเป็นปาฐกถา
- ผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร รับปากว่าจะยกเลิกกวีเนาวรัตน์ในช่วงเวลากลางคืนตามกำหนดการ
- ด้านตัวแทน บอ.ป. ยังคงยืนยันที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านจนถึงที่สุด หากรองนายกในรัฐบาล คสช. ยังคงมาร่วมกิจกรรม
- ด้านตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับกำหนดการยอมรับการเคลื่อนไหว แต่ขอให้เป็นการเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างมีอารยะ ซึ่งทาง บอ.ป. ได้ยอมรับข้อเสนอ เนื่องจากเห็นว่า การคัดค้านบุคคลที่เกี่ยวพันกับคณะรัฐประหารทั้งสองของ บอ.ป. คือ คัดค้านการขัดต่อหลักการสันติประชาธรรม ตามปณิธานของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทาง บอ.ป.ต้องการรักษาปณิธานให้สืบไปด้วยการดำเนินการคัดค้านบุคคลทั้งสองอย่างถึงที่สุดด้วยแนวทางสันติประชาธรรมเช่นกัน

ในช่วงท้ายของการเจรจา บอ.ป. ได้มีการมอบจดหมายเปิดผนึกให้แก่ทางผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตอาสาสมัครและตัวแทนมูลนิธิบัณฑิตอาสาสมัคร และได้มอบรูปปณิธานอาจารย์ป๋วย ให้ผู้อำนวยการสำนักบัณฑิตอาสาสมัครไว้เป็นที่ระลึก
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท