พุทธรัฐแบบไทยกับประชาธิปไตยสากล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ดูข่าวในเมืองไทยว่าด้วยปัญหาการเมืองกับศาสนาในช่วงนี้แล้วทำให้เห็นว่า ศาสนากับการเมืองในเมืองไทยนั้นแยกกันไม่ออก ต่างสัมพันธ์เชิงเอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน

ในแง่ความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ซึ่งเป็นบุคคลสัญลักษณ์เชิงพุทธเอง พระสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้กติกาถึง 3 ชั้น ชั้นแรก คือ พระสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้พระวินัยในพุทธศาสนา ชั้นที่สอง คือ พระสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.สงฆ์ ฉบับ พ.ศ. 2505 แก้ไข พ.ศ. 2535 และชั้นที่ 3 พระสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายบ้านเมืองเหมือนพลเมืองไทยโดยทั่วไป 

สิ่งที่แสดงให้เห็นว่าพระสงฆ์ซึ่งเป็นบุคคลสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างชัดเจนคือ  กระบวนการในชั้นที่สอง พระสงฆ์ไทยต้องอยู่ภายใต้กฎหมายสงฆ์ที่แสดงให้เห็นบทบาทของรัฐที่เข้ามากำกับดูแลกิจการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย โดยมีองค์กรศูนย์กลางของศาสนาพุทธแบบทางการคือ มหาเถรสมาคม (มส.) และหน่วยงานของรัฐที่เพิ่งจัดตั้งมาได้ไม่กี่ปี คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)  อีกหน่วยงานหนึ่ง

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าศาสนาพุทธในเมืองไทยแยกไม่ออกจากการเมือง ด้วยเหตุที่มีอำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งมองอีกทีการเข้ามาเกี่ยวข้องของอำนาจรัฐดังกล่าว เป็นผลดีกับพุทธศาสนาทั้งในแง่บุคคลและการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนแต่ในขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งจารีตความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการเมืองตามแบบฉบับของไทยดังกล่าวก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงในแง่ของความขัดแย้งทางด้านความเชื่อทางศาสนาแม้แต่คนในศาสนาพุทธเดียวกันนั่นแหละ โดยเฉพาะในกลุ่มที่คิดว่าศาสนาพุทธแบบทางการคืออำนาจ และมีอำนาจที่จะกำหนดความเชื่อความศรัทธาของศาสนิกซึ่งก็คือชาวพุทธได้ ทั้งที่แนวความคิดดังกล่าวเป็นแนวความคิดที่ล้าสมัยเต็มทีในยุคโลกาภิวัตน์ ที่การนับถือศาสนาของผู้คนมีลักษณะของความเป็นปัจเจกมากยิ่งขึ้น คือ ต่างคนต่างนับถือศาสนาตามเหตุผลและความเชื่อของแต่ละคน มากกว่าการชี้นำโดยรัฐหรืออำนาจรัฐ หรืออำนาจทางการเมืองแบบศูนย์กลางอย่างที่เคยเป็นมา

นัยยะดังกล่าวแสดงให้เห็นลักษณะของความเป็นไปของศาสนาและศาสนิกที่กำลังเป็นไปในโลก 2 ประการ ประการแรก คือ ความมีอิสระที่จะเชื่อหรือนับถือในศาสนาที่ตนศรัทธา ประการที่สอง คือ การปรับตัวของระบบความเป็นอยู่ของศาสนาและศาสนิกเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่เป็นกระแสโลก คือ ผู้คนเลือกเชื่อ นับถือในสิ่งที่ตนเห็นอยากเชื่อหรืออยากนับถือโดยไม่ก่อความเดือดร้อนให้กับคนอื่น รวมถึงการที่ไม่นับถือศาสนาอะไรเลยก็เป็นทางเลือกของคนจำนวนมากภายใต้กระบวนทัศน์ประชาธิปไตยปัจจุบัน

ความเป็นไปของการนับถือศาสนาทั้ง 2 ประการ กำลังบอกว่าอำนาจรัฐที่จะเข้าไปควบคุมดูแลศาสนาที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ (การเมือง) กับศาสนาในเมืองไทยกำลังน้อยลง หน่วยงานทางการที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนามีกิจการศาสนาที่ต้องดูแลในมือน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่ความหลากหลายของศรัทธาต่อศาสนาในรูปแบบทั้งเก่าและใหม่ของศาสนิกกลับเพิ่มมากขึ้น ดังกรณีของสันติอโศกที่แม้ออกไปจากพุทธศาสนาแบบทางการแล้วหากยังรักษาฐานของศาสนิกผู้ศรัทธาเอาไว้ได้อย่างแน่นแฟ้น แถมศาสนิกอาจยังกลับเพิ่มพูนมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ 

มองในแง่นี้เท่ากับศาสนาพุทธแบบทางการที่เห็นเด่นชัดมากที่สุด (เนื่องจากความเป็นทางการนั่นเอง) ถูกจำกัดอยู่แค่นิยาม “พุทธรัฐ” เท่านั้น  รวมถึงการตีความพระไตรปิฎกบนความเป็นทางการ ในขณะที่ยังมีกลุ่มพุทธศาสนิกอื่นตีความออกไปอีกหลากหลาย ดังการตีความเพื่อหาเหตุผลของความจำเป็นที่ภิกษุณีต้องเป็นบุคคลทางศาสนาแบบเดียวกับภิกษุ ซึ่งเหตุผลดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายพุทธแบบทางการในเมืองไทย หากในที่สุดแล้วผู้นำภิกษุณีบางกลุ่ม เช่น กลุ่มของภิกษุณีธัมมนันทาหรือกลุ่มอื่นๆ ก็ยังคงดำรงสภาพความเป็นนักบวชหญิงในพุทธศาสนาอยู่ได้อย่างที่เป็น ยกเว้นแต่ความสัมพันธ์ระหว่างสถานภาพภิกษุณีกับกฎหมายรัฐ โดยถึงแม้ข้อเรียกร้องของภิกษุณีและผู้ที่เห็นด้วยในแนวทางเดียวกันนี้จะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม แต่ในการลงหลักปักฐานของบรรพชิตชาวพุทธเพศหญิงในเมืองไทยนั้นต้องนับว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

เรื่องนี้ทำให้ต้องแปลกใจในความโอละพ่อของปัญญาชนผู้เรียกร้องบางคน รวมถึงนักสตรีนิยม ที่มิใช่ภิกษุณีที่พยายามเรียกร้องให้สถานภาพของภิกษุณีกลับไปผูกแขวนอยู่กับ (อำนาจ) รัฐด้วยเหตุผลเพื่อสิทธิประโยชน์ความเท่าเทียมกับภิกษุในแง่กฎหมาย (ซึ่งตอนนี้แทบไม่เหลืออะไรมากไปกว่าการนั่งรถเมล์หรือรถโดยสารสาธารณะบางจำพวก ฟรี) ทั้งๆ ที่ผู้เรียกร้องเหล่านี้ต่างก็อ้างตนว่าเป็นเสรีชนและต้องการให้ศาสนาแยกออกจากรัฐ  

ซึ่งหากมองจากความจริงเชิงพัฒนาการของพุทธศาสนาของโลกตะวันตกทั้งยุโรปและอเมริกาก็จะเห็นได้ว่า รัฐประชาธิปไตยตะวันตกไม่ได้ค้ำจุนศาสนา มีการแยกความเชื่อ และกิจการศาสนาออกจากรัฐ (การเมือง) ปล่อยให้ศาสนาเป็นไปตามเชื่อความศรัทธาของศาสนิกของศาสนานั้นๆ  รัฐประชาธิปไตยในโลกตะวันตกถือว่าการเมืองกับศาสนาเป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้นการที่ศาสนาจะอยู่ในโลกตะวันตกได้ก็เพราะความศรัทธาหรือพลังของศาสนิกของศาสนานั้นๆ จริงๆ มิใช่การค้ำจุนของรัฐ   

ในส่วนของเมืองไทยนั้น ความกังวล (ซึ่งที่จริงแล้วผู้ที่กังวลส่วนใหญ่ก็คือฝ่ายพุทธแบบทางการ) ส่วนหนึ่งพุ่งไปการตีความพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ว่าอาจคลาดเคลื่อนไม่ตรงตามพุทธประสงค์ แต่หากกลับไปศึกษาดูถึงพัฒนาการของพุทธศาสนาก็จะเห็นว่าระยะเวลาผ่านมา 2500 กว่าปีนั้นคำสอนของพุทธศาสนาถูกตีความมาตลอดจากรุ่นสู่รุ่น แตกแขนงออกเป็นนิกายต่างๆ มากมาย อย่างน้อยที่เห็นอย่างชัดเจน คือ นิกายเถรวาทกับนิกายมหายานซึ่งมีการตีความคำสอนแตกต่างกัน  แม้ทั้ง 2 นิกายจะมีเป้าหมายเดียวกัน แต่ในเชิงอุดมการณ์การใช้ชีวิตกลับแตกต่างกัน พุทธเถรวาทนั้นให้ภาพเป้าหมายเชิงปัจเจก ขณะที่พุทธมหายานให้ภาพเป้าหมายเชิงส่วนรวม (ตามอุดมการณ์โพธิสัตว์)

การปรับเปลี่ยนความคิดต่อการแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาจึงเป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญเพื่อพลิกพุทธศาสนาให้กลับมาเป็นที่พึ่งของตนเองจริงๆ ซึ่งหากเป็นไปตามเงื่อนไขทางด้านกฎหมายของไทยในปัจจุบันก็จะเห็นว่า รัฐศาสนาหรือพุทธแบบทางการนั้นน่าจะคลายความสำคัญลง จากความหลากหลายของศรัทธาในบรรดาชาวพุทธด้วยกัน โดยเฉพาะหากรัฐไทยโน้มไปแนวทางประชาธิปไตยกระแสความเป็นไปดังกล่าวก็จะชัดเจนมากขึ้น แต่แม้เป็นรัฐที่ปกครองแบบตรงกันข้ามก็ใช่ว่าจะสามารถยับยั้งกระแสนี้ได้

เพราะการใช้อำนาจรัฐผ่าน “ศีลธรรมแบบรัฐ” เป็นตัวควบคุมพลเมืองยิ่งทำให้ศรัทธาของพลเมืองต่อศีลธรรม (ศาสนา) แบบทางการลดน้อยลงไป แม้แต่ก่อให้เกิดการขัดขืน ซึ่งวิธีการดังกล่าวเท่ากับทำให้รัฐกลายเป็นรัฐศาสนาแบบเต็มตัวมากขึ้น ทั้งในความเป็นจริงแล้วการสถาปนารัฐศีลธรรมหรือรัฐศาสนาก่อให้เกิดผลกระทบเชิงความขัดแย้งมากมายดังที่เคยเกิดเหตุการณ์สำคัญทางศาสนาในยุโรปสมัยกลาง เพราะอย่างที่บอก ศีลธรรมหรือศาสนาจะอยู่ได้หรือคนจะปฏิบัติตามนั้น ขึ้นกับแรงศรัทธาของชาวบ้าน การออกบังคับทางด้านศีลธรรมจึงทำให้รัฐกลายเป็นรัฐล้มเหลวมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ผลกระทบของการเป็นรัฐศีลธรรมแบบทางการ (รัฐศาสนา) ที่มีการใช้แนวทางของศีลธรรมแบบทางการเพียงอย่างเดียว จะเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพการเคลื่อนย้ายพุทธศาสนาไปยังประเทศที่มีสภาพเหมาะกับการเติบโตของพุทธศาสนาชัดเจนมากขึ้น  ดังสภาพการเติบโตของพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกในโลกตะวันตก โดยเฉพาะในอเมริกาท่ามกลางกระแสประชาธิปไตยจนถึงทุกวันนี้ จนถึงกับมีมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาพุทธศาสนาเกิดขึ้นในประเทศนี้จำนวนมาก

สภาพการนับถือพุทธศาสนาในสมัยกษัตริย์อโศกกับการนับถือพุทธศาสนาในสมัยปัจจุบันและในอนาคตย่อมต่างกัน หากที่เหมือนกันคือ การตีความคำสอนและการปรับตัวให้เข้ากับกระแสสังคมและสิ่งแวดล้อมอันเป็นเหตุให้พุทธศาสนาอยู่มาจนถึงทุกวันนี้และในอนาคต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท