เลิศรัตน์ เผยการเลือกตั้ง ส.ส. อาจลงคะเเนนโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์

ที่ปรึกษาและโฆษก กมธ.ยกร่างฯ ชี้ ระบบเลือก ส.ส. แบบใหม่จะทำให้เกิดสมดุลทางการเมือง พรรคเล็กมีโอกาสได้ที่นั่ง ด้านการลงคะแนนเสียง ส.ส. อาจใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนที่มา ส.ว. ไม่จำเป็นต้องเลือกตั้งทางตรงเสมอไป 

3 มี.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) ได้ชี้แจงความคืบหน้าการยกร่าง รธน. รายมาตราต่อที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หมวด 3 รัฐสภา ส่วนที่ 2 สภาผู้แทนราษฎรว่า ในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้กำหนดระบบเลือกตั้งเป็นแบบสัดส่วนผสม โดยกำหนดให้มี ส.ส. จำนวนไม่น้อยกว่า 450 คน แต่ต้องไม่เกิน 470 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 250 คน เลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 200 คน แต่ไม่เกิน 220 คน และหากเกิดเหตุทำให้จำนวน สส. เหลือไม่ครบ แต่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ให้ถือว่าครบองค์ประชุม สามารถเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่จะต้องจัดการเลือกตั้งในเขตที่ไม่มี สส. ภายใน180 วัน เพื่อให้ได้ สส. ครบตามจำนวนที่ระบุไว้ และหากคำนวณ สส. บัญชีรายชื่อแล้วเกินกว่า 220 คน ให้ปรับลดสัดส่วนของจำนวน สส. บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคลงตามสัดส่วน ให้เหลือ 220 คน ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

ส่วนวิธีออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้ลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แต่ละแบบแยกกันโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีอื่น ทั้งนี้เชื่อว่า ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมของไทยจะช่วยสร้างสมดุลให้การเมืองไทย อาทิ การใช้หลักเกณฑ์คะแนนบัญชีรายชื่อเป็นหลักในการคำนวณ ส.ส. ที่จะพึงได้ของแต่ละพรรคหรือกลุ่มการเมือง ถือเป็นการให้ความสำคัญของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทุกคะแนน สะท้อนความนิยมที่แท้จริงของแต่ละพรรคการเมือง และเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีความรู้ความสามารถซึ่งเป็นบุคคลจากตัวแทนหลาก หลายอาชีพได้เข้าทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติเพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยพรรคหรือกลุ่มการเมืองขนาดเล็กมีโอกาสสูงที่จะได้ที่นั่ง ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร ต่างจากระบบเดิมซึ่งเป็นระบบคู่ขนาน ทำให้แนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลที่มี ส.ส เกินกึ่งหนึ่งของสภา ที่มาจากหลากหลายพรรค ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้นและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารประเทศ

ขณะที่ในส่วนของวุฒิสภา พลเอกเลิศรัตน์ ได้กล่าวว่า กมธ.ยกร่าง รธน. ได้ศึกษาจากโครงสร้างวุฒิสภาในอดีตและต่างประเทศ โดยได้มีการวางหลักเกณฑ์ของวุฒิสภาให้เป็นลักษณะสภาที่สอง เป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งการได้มาซึ่งผู้แทนปวงชนไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งเสมอไป ดังนั้นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.).จึงกำหนดให้มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม หรือการสรรหาจากบุคคล จำนวนไม่เกิน 200 คน  เพื่อให้ฐานที่มา ส.ว.แตกต่างจาก ส.ส. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนมาจากทุกกลุ่มอาชีพซึ่งเป็นบุคคลที่ยึดโยง กับประชาชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในรัฐสภาในการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท