Skip to main content
sharethis

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ มช. เปิดผลการศึกษา ประเมินหากมีการใช้เทคโนโลยี 4G ในไทย จะมีผลกระทบเชิงบวกต่อจีดีพีของประเทศในปี 58 คิดเป็นมูลค่า 168,136 ล้านบาท และในปี 59 คิดเป็นมูลค่า 265,274 ล้านบาท

3 มี.ค. 2558 ณ อาคารหอประชุมชั้น 2 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คณะนักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยผลการศึกษาการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของการให้บริการบรอดแบนด์ผ่านทางโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงาน กสทช. กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผลการศึกษาชี้ชัดว่า Mobile Broadband ก่อให้เกิดผลประโยชน์มากกว่าผลเสีย ทั้งในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ซึ่งจากการคำนวณผลประโยชน์สุทธิ พบว่าในปี พ.ศ. 2556 มีผลให้รายได้ประชาชาติ (จีดีพี) ของประเทศเพิ่มขึ้น 430,233 ล้านบาท ขณะที่หากใช้วิธีการคำนวณผลกระทบโดยแยกเป็นรายสาขา พบว่าผลประโยชน์ที่เกิดจากผลรวมของอุตสาหกรรมรายสาขาและจากมิติการวิเคราะห์รอบด้านมีมูลค่าถึง 464,291 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้คิดเป็นผลประโยชน์ทางตรงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมประมาณ 59,875 ล้านบาท

ในส่วนการประเมินผลกระทบของเทคโนโลยี 4G ที่มีต่อเศรษฐกิจ นักวิชาการ มช. ระบุว่า ทำได้เพียงการศึกษาจากการเทียบเคียงตัวเลขและกรณีศึกษาจากต่างประเทศที่มีเทคโนโลยี 4G แล้ว โดยเบื้องต้นประเมินว่า หากมีการนำเทคโนโลยี 4G มาใช้ให้บริการในประเทศไทย จะมีผลกระทบเชิงบวกต่อจีดีพีของประเทศในปี พ.ศ. 2558 คิดเป็นมูลค่า 168,136 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2559 คิดเป็นมูลค่า 265,274 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายงานการศึกษาดังกล่าวระบุด้วยว่า Mobile Broadband เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตผู้คนในยุคปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้วิถีชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนไปในเกือบทุกด้าน ซึ่งการขาด Mobile Broadband ไปจากสังคมจะนำมาซึ่งความโกลาหลในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งเกิดการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจและการเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ชี้แจงถึงแผนการดำเนินการปี 2558 โดยประเด็นหนึ่งคือ การเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz (ของ AIS เดิม) และ 1800 MHz (ของ AIS และ TrueMove เดิม) ซึ่งตั้งเป้าที่จะเปิดประมูลให้ทันก่อนคลื่น 900 MHz ของ AIS จะหมดสัญญาสัมปทานในเดือนกันยายนนี้ โดยก่อนหน้านี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้ระงับการประมูลคลื่นเป็นเวลา 1 ปี นับตั้งแต่ 17 ก.ค. 2557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net