คำถามยอดฮิต "ถ้าไม่ผิด จะกลัวอะไร?"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“ถ้าไม่ผิด จะกลัวอะไร ?” คำถามยอดฮิตที่โต้กับความเป็นส่วนตัว แน่นอนว่าคำถามยอดฮิตก็มีคำตอบยอดฮิตเช่นกัน บทความนี้จึงได้รวบรวมคำตอบยอดฮิตเหล่านี้จากคำตอบสั้นๆ ที่ฮิตมาก ไปจนถึงคำตอบยาวๆ ที่ลุ่มลึก

 

1) “งั้นขอรหัสผ่าน Email-Facebook (คนที่ถาม) ได้ไหม ?”

คำตอบนี้เป็นการย้อนสั้น ๆ ที่ได้ประสิทธิผล และอยู่บนพื้นฐานที่ว่าแม้แต่ผู้ออกกฎหมายเองก็ยังต้องการความเป็นส่วนตัว ทำไมจึงออกกฎหมายที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่นล่ะ ? ข้อเท็จจริงหลายอย่างยังปรากฏว่า ผู้ที่ไม่กังวลต่อความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น กลับกังวลต่อความเป็นส่วนตัวของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ปี 2011 ในขณะที่ Facebook ปรับลดนโยบายความเป็นส่วนตัวลง Mark Zuckerberg เจ้าของ Facebook กลับกว้านซื้อบ้าน 4 หลังรอบบ้านตนเอง เพื่อความเป็นส่วนตัว(http://www.businessinsider.com/mark-zuckerberg-buys-4-homes-for-privacy-2013-10) คำตอบนี้แม้บอกว่า เราทุกคนไม่ได้เป็น “คนดี” ตลอดเวลา แต่ยังไม่ได้ตอบคำถามตรง ๆ ว่า หากสมมติว่าเราทุกคนเป็น “คนดี” ได้ตลอดเวลา ทำไมความเป็นส่วนตัวจึงยังสำคัญ ?

 

2) มีเรื่องน่าอายหรือความลับหลายอย่างที่ไม่ได้ “ผิดกฎหมาย”

การร้องเพลงเพี้ยน ๆ การแต่งตัวแปลก ๆ การเต้นบ้า ๆ รูปในงานปาร์ตี้ การเจรจาทางธุรกิจ การพูดคุยสองต่อสองกับแฟน หรือแม้แต่กิจกรรมทางเพศ กิจกรรมเหล่านี้แม้ว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็ยังต้องการความเป็นส่วนตัวอยู่ ด้วยเหตุนี้เราจึงยังมีเสรีภาพในเคหสถาน หรือเสรีภาพในการสื่อสาร เรื่องนี้เข้าใจได้ง่าย และอาจเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมเราจึงไม่ควรให้รหัสผ่านใครง่าย ๆ เพราะกิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นควรเป็นความลับ เพราะอาจทำให้เราเสียหน้า เสียชื่อเสียง หรือแม้แต่เสียการงานหากเป็นเรื่องทางด้านธุรกิจ คำตอบนี้อาจตอบคำถามได้ครึ่งหนึ่ง เพราะถ้ารัฐอ้างว่าการสอดแนมจะไม่เข้าไปถึงเคหสถานหรือพื้นที่ส่วนตัว เช่น Chat ส่วนตัว แต่สอดแนมในระดับเดียวกับการเป็น “เพื่อน” ใน Facebook หรือเฉพาะเรื่องที่เราทำกับคนแปลกหน้าได้บ้าง เช่น การแสดงความคิดเห็น คำตอบนี้ก็จะตกไป

 

3) เราอาจไม่ได้ “ทำผิด” ศีลธรรม แต่อาจถูกจับไปเพราะ “เห็นต่าง” จากรัฐ

ผู้ใช้กฎหมายยังเป็นมนุษย์ผู้มีอคติอยู่ เรามั่นใจได้อย่างไรว่าการกระทำของเรา จะไม่ผิดในสายตาเขา ? คำตอบนี้สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเกรงว่ากฎหมายที่ละเมิดความเป็นส่วนตัว จะถูกใช้เป็นเครื่องมือตรวจจับคนเห็นต่าง และจากทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ว่า เมื่อคุณรู้ตัวว่าถูกสอดส่อง พฤติกรรมของคุณจะเปลี่ยนแปลงไป กฎหมายที่ละเมิดความเป็นส่วนตัวอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขัดเกลา (Shape) ความคิดของพลเมืองให้ไปทางเดียวกันกับที่ผู้นำรัฐต้องการ

คำตอบนี้อาจชัดเจนสำหรับเราหลาย ๆ คนที่ไม่อยากให้รัฐละเมิดความเป็นส่วนตัวของเรา แต่สำหรับคนที่ไม่เดือดร้อนต่อการที่รัฐสอดส่องดูแล อาจเป็นเพราะพวกเขาปฏิบัติตนตามที่รัฐต้องการอยู่แล้ว หรือมีความมั่นใจพิเศษว่ารัฐจะไม่จับกุมพวกเขา คำตอบนี้ก็ยังไม่ตอบว่า เหตุใดเขาจึงควรให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว ?

 

4) กลัวว่าเราจะดำรงอยู่อย่างไร้ภาคภูมิ

จริง ๆ คำถามที่ว่า “ถ้าไม่ผิด จะกลัวอะไร ?” อยู่บนพื้นฐานที่ว่าโลกนี้มีคนสองประเภท คือ “คนดี” กับ “คนร้าย” คนดีในที่นี้คือ คนปกติที่เชื่อฟังคำสั่งรัฐ คนร้ายคือคนที่ต่อต้านรัฐหรือมี “วิธีคิด” ที่รัฐไม่ต้องการ ดังนั้นการพูดว่า “ถ้าไม่ผิด จะกลัวอะไร?” ในอีกนัยหนึ่งเป็นคำประกาศสวามิภักดิ์ต่อรัฐว่า เรานั้นเป็น “คนดี” อย่างภาคภูมิ เพราะเราให้รัฐ “สอดแนม” ได้ แต่ในความเป็นจริง ความภาคภูมิย่อมบ่มเพาะจากเสรีภาพ ยกตัวอย่างเช่น หากรัฐออกกฎหมายบังคับให้คนทุกคนต้องบริจาคโลหิต คนที่ออกมาต่อต้านกลุ่มแรก ๆ ก็คือกลุ่มที่บริจาคโลหิตเป็นประจำนั่นเอง แม้ว่าจะอ้างเหตุผลใด ๆ ก็ตาม แต่เหตุผลลึก ๆ ก็คือกฎหมายบังคับให้คนต้องบริจาคโลหิต เป็นการลดความภาคภูมิของคนที่บริจาคโลหิตเป็นประจำ ฉันใดก็ฉันนั้น หากรัฐออกกฎหมายบังคับให้ทุกคนเป็นคนเปิดเผยข้อมูล คนที่ออกมาต่อต้านกลุ่มแรก ๆ กลับมีบุคลิกภาพเปิดเผยเสียด้วยซ้ำ นั่นเพราะหากรัฐ “สอดแนม” ได้ ความภาคภูมิแห่งการเป็นคนเปิดเผยก็จะถูกทำลาย เพราะทุกคนเป็น “คนเปิดเผย” โดยบังคับไปเสียหมด ดังนั้นหากท่านเป็นคนเปิดเผย หรือเป็น “คนดีมีคุณธรรม” การสนับสนุนเสรีภาพส่วนบุคคลกลับเป็นการเติมเต็มความภาคภูมิของท่าน ว่าท่านได้เลือกที่จะเป็น “คนดี” ด้วยตัวท่านเองจริง ๆ

หมายเหตุผู้เขียน: อ้างอิงข้อมูลและได้รับแรงบันดาลใจมาจาก http://www.ted.com/talks/glenn_greenwald_why_privacy_matters?language=th)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท