เสียงจากนามูล : ทางผ่านของการขุดเจาะปิโตรเลียม หรือชีวิต และสิทธิชุมชน

คุยกับชาวบ้านนามูล จ.ขอนแก่น สิทธิชุมชนถูกกลบหายหลังรัฐประหาร เหตุผลของการค้านการขุดเจาะปิโตรเลียม และเรื่องเล่าของการทำข่าวในพื้นที่

"เขาว่าเราเป็นคนส่วนน้อยทำไมไม่รู้จักเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ เขาบอกแค่นี้"

ย้อนกลับไปเมื่อเช้าของวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา การผนึกกำลังกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ไปจนถึงกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ได้สร้างความแคลงใจให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านนามูล ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น อยู่ไม่น้อย คำถามใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่เข้าใจของชาวบ้านได้ก่อตัวขึ้น เหตุใดหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงยืนอยู่เคียงข้างบริษัท เพราะภาพที่ปรากฏเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมาคือ กองกำลังผสมระหว่างตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง เข้าอำนวยความสะดวกในการขนย้ายอุปกรณ์สำหรับเตรียมสำรวจและขุดเจาะก๊าชปิโตรเลียม ให้กับบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ภายใต้การอ้างใช้กฎอัยการศึก

ช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 13 – 19 ก.พ. 2558 กองกำลังเจ้าหน้าที่ได้เข้าควบคุมพื้นที่บริเวณบ้านนามูล เพื่อเปิดทางให้รถขนอุปกรณ์ของบริษัทผ่านของไปยังหลุ่มเจาะดงมูล บี (DM-B) แปลงสัมปทาน L27/43 อยู่ในการสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 18 ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขต ต.กุงเก่า อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ทว่าอยู่ห่างจากหมู่บ้านเพียง 1.5 กิโลเมตร แน่นอนว่าบริเวณบ้านนามูลอยู่ในเขตพื้นที่ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม 5 กิโลเมตร แต่พวกเขากลับไม่ได้รับรู้ข้อเสีย หรือผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น จากการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันก็มิได้หมายว่า ทางด้านบริษัทไม่ได้มีการจัดเวทีประชุม ประชาพิจารณ์ หรือพูดคุยกับชาวบ้านเลย ชาวบ้านในพื้นที่เล่าให้เราฟังว่า เคยมีการเข้ามาจัดประชุมพูดคุยกันทั้งหมด 3 ครั้ง โดยมี กอ.รมน.จ.ขอนแก่น ในพื้นที่เป็นผู้จัดการประชุมกับชาวบ้าน แต่แล้วเสียงคัดค้าน ความไม่เห็นด้วยของชาวบ้าน ถูกกลบหายไปด้วยข้อดีของการพัฒนา และการเป็นคนส่วนน้อยจำต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่

"บริษัทเข้ามาจัดเวที เอาทหารมาคุม บอกให้เราเซ็นชื่อ ใครไม่เซ็นไม่ให้เข้าประชุม ไม่เซ็นไม่ได้รับนม แล้วก็เอาชื่อเราไปประกอบใบอนุญาต เห็นเราเป็นอะไร เราถาม 1 คำถาม เขาตอบ 2 ชั่วโมง มีแต่ข้อดีทั้งนั้น ข้อเสียไม่มีหรอก อย่างนี้มันเรียกประชาพิจารณ์ได้อย่างไร เราเป็นชาวบ้านเราไม่รู้หรอกว่าผลกระทบมันจะเกิดอะไรขึ้น เขามีทั้งเงินมีทั้งคนทำไมไม่ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจริงๆ ทำไมเอาแต่ข้อดีมาบอกเรา จะมีการจ้างงาน จะมีแก๊สฟรีใช้ จะมีถนนดีๆ ทำไมไม่บอกข้อเสียเราบ้างล่ะ ถึงเราไม่รู้ว่าเขาศึกษากันอย่างไร แต่เราเคยเห็นมาก่อนว่าผลกระทบมันทำให้ต้นยางไม่มีน้ำ แล้วนั่นคืออาชีพของเรา จะให้เราทำอย่างไร"

คนส่วนใหญ่ในหมู่บ้านนามูลประกอบอาชีพเกษตรกร ปลูกยางพารา 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือคือ มันสำปะหลัง และอ้อย และส่วนมากมีที่ทำกินอยู่ใกล้กับแปลงขุดเจาะปิโตรเลียม

เราเข้าไปในพื้นที่ ตั้งคำถามหลายเรื่องกับชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านการขุดเจาะปิโตรเลียม เพื่อที่จะสะท้อนเสียง และความความรู้สึกที่อัดแน่นตลอดเวลาที่ผ่านมาของพวกเขา ดูเหมือนคำตอบที่เราได้จะก่อรูปมานานพอสมควรสำหรับพวกเขา แต่ไม่เคยถูกนับว่าเป็นคำตอบสำหรับทุน และรัฐ หากแต่ถูกมองว่าเป็นการขัดขวางการพัฒนา

กฏอัยการศึกค้ำคอ ห้ามต่อต้าน แม้กระบวนการไม่ถูกต้อง

การคัดค้านไม่เอาการขุดเจาะปิโตรเลียมในพื้นที่แปลงดงมูลบี มีกระแสการต่อต้านเกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยชาวบ้านเริ่มก่อตัวคัดค้านในลักษณะของการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หลังจากช่วงสายของวันที่ 19 ม.ค. 2558 ได้มีรถของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และรถของบริษัทฯ ขับผ่านเส้นทางในหมูบ้านเพื่อผ่านไปยังพื้นที่สำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม โดยมีรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดไซเรน 3 คันขับผ่านหมู่บ้านไป สร้างความกังวัลใจให้กับชาวบ้านว่า จะมีการขนย้ายอุปกรณ์ขุดเจาะปิโตรเลียมเข้าไปในพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากชุมชน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2557 เจ้าหน้าของบริษัทฯ ได้เดินทางเข้ามาในชุมชน เพื่อเข้ามาแจกเสื้อ กระเป๋า และกรรไกรตัดเล็บให้กับชาวบ้าน โดยได้มีการขอรายชื่อชาวบ้านที่รับของไว้ด้วย ทั้งนี้ชาวบ้านหลายรายเลือกที่จะไม่รับของดังกล่าว และตั้งข้อสังเกตว่ารายชื่อที่ได้ให้ไปนั้นจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการอนุญาตขนย้ายอุปกรณ์เข้าไปยังพื้นที่ขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมหรือไม่

ด้านบริษัทอ้างว่าได้รับการอนุญาตให้ขนย้ายอุปกรณ์สำหรับสำรวจและขุดเจาะ ในช่วงวันที่ 13 – 26  ม.ค. ที่ผ่านมา โดยได้รับการอนุญาตจากทางหลวงชนบท และพลังงานจังหวัดขอนแก่น แต่แล้วในช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่ได้มีการขนย้ายเกิดขึ้นแต่อย่างใดเนื่องจากชาวบ้านได้รวมตัวแสดงพลังคัดค้าน จนกระทั่งบริษัทได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานสายปกครองในอีกหนึ่งเดือนถัดมา จึงจะสามารถขนย้ายอุปกรณ์เข้าพื้นที่ได้

ชาวบ้านรายหนึ่งเล่าว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเข้ามาดำเนินการติดประกาศ โดยมีความว่า

 “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานขอแจ้งให้ประชาชนชาวตำบลดูนสาด อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ทราบว่า ทางราชการได้อนุญาตให้ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ทำการขนย้ายอุปกรณ์สำหรับขุดเจาะปิโตรเลียม เข้าในพื้นที่แปลงสำรวจ L27/43 หลุมดงมูล-บี (ดงมูล-5) ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป ทั้งนี้อุปกรณ์ดังกล่าวจะนำมาวางและติดตั้งในพื้นที่ โดยจะมีคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ โดยจังหวัดขอนแก่นและกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ผู้แทนภาคประชาชน โดยชาวบ้านตำบลดูนสาด และผู้แทนบริษัทฯ ร่วมดำเนินการติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานรวมถึงพิจารณาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป (ลงชื่อ) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน”

ป้ายนี้ถูกปักลงพื้นดินบ้านนามูลเพียงชั่วข้ามคืนก็ถูกปลดออก แต่ไม่ใช่เพราะฝีมือของชาวบ้าน หากเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ชาวบ้านหลายคนยังคงตั้งคำถามต่อเรื่องนี้ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะตามที่พวกเขาเข้าใจการขนย้ายอุปกรณ์สำหรับขุดเจาะ และสำรวจ จะต้องมีการแจ้งให้ชาวบ้านในพื้นที่ทราบล่วงหน้าก่อน 15 วัน และที่มากไปกว่านั้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีคำสั่งชะลอการดำเนินโครงการทั้งหมดในพื้นที่ไว้ก่อน แต่ถึงที่สุดแล้วหนังสือของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็ไม่ได้มีอะไร ถ้าเทียบกับกฏอัยการศึก

ตลอดช่วงเวลาที่มีการขนย้ายอุปกรณ์สำรวจและขุดเจาะของบริษัทฯ ผ่านพื้นที่หมู่บ้านนามูล เป็นเรื่องที่รู้กันว่ากองกำลังผสมระหว่างเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง จะเข้ามาในพื้นที่เพื่อควบคุมไม่ให้ชาวบ้านออกไปขัดขวางการขนย้าย บางวันเจ้าหน้าที่เข้ามาพร้อมโล่และกระบอง บางวัน พ.อ.จตุรพงศ์ บกบน รอง ผอ.รมน.จังหวัดขอนแก่น ก็ลงพื้นที่มาดูแลความเรียบร้อยเอง ซี่งการเข้ามาในพื้นที่ทุกครั้งต่างก็เป็นการอ้างใช้กฎอัยการศึกทั้งสิ้น ตลอดระยะเวลาของการขนย้ายชาวบ้านทำได้แต่เพียงกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น เขียนป้ายผ้า สวดมนต์แผ่เมตตา และโห่ร้องขับไล่ขบวนรถเป็นครั้งคราว

“มันทั้งตกใจ ทั้งย่าน (กลัว) จนบ่กล้าเว่า แต่พอตกตอนบ่ายมันสูน เครียด รถขังหมา (รถควบคุมตัวผู้ต้องหา) เขาก็เอามา มันเสียใจ คือว่าทำไมเจ้าหน้าที่จึงมาเฮ็ดจังซี้ มันผิดความคาดหมาย เราแค่คนกลุ่มเล็กๆ เขาเอาคนมาสองสามร้อยคน ถือโล่ ถือกระบองเข้ามา พวกเราก็มือเปล่านั่งกันอยู่ตามขอนไม้ธรรมดา...เจ้าหน้าที่ก็เป็นคนของรัฐ ทำงานกินเงินเดือนภาษีพวกเรา แต่ทำไมไปเข้าข้างอพิโก้”

ทางผ่าน หรือชีวิต และสาเหตุที่ออกมาต้าน

“มันเจ็บปวด โกรธด้วย เขาพูดมาได้อย่างไร ว่านามูลมันแค่ทางผ่าน ที่ขุดเจาะจริงๆ อยู่กาฬสินธุ์ ลองมาดูสิว่าบ้านเรา สวนยาง มันอยู่ห่างจากที่ขุดเจาะแค่ไหน พูดมาได้อย่างไร นี่เหรอวิสัยทัศน์ผู้ใหญ่ ผู้นำประเทศ”

นั่นคือคำตอบที่เราได้ เมื่อถามถึงกรณี คุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งได้พูดถึงกรณีปัญหาการขนย้ายอุปกรณ์ขุดเจาะปิโตรเลียมเข้าผ่านพื้นที่บ้านนามูล ในเวทีเสวนาสัมปทานปิโตรลียมรอบที่ 21 เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2558 คุรุจิต พร้อมด้วย ศิริ จิระพงษ์พันธ์ และมนูญ ศิริวรรณ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติได้เดินทางลงพื้นที่บ้านนามูล โดยเดินทางเข้ามาเพื่อรับฟังชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการขุดเจาะปิโตรเลียม

คำถามจากชาวบ้านมากมายพุ่งตรงไปยังคณะเดินทางรับฟังปัญหาของ คุรุจิต เหตุใดนามูลจึงเป็นเพียงแค่ทางผ่าน การขุดเจาะปิโตรเลียมไม่มีผลกระทบอะไรเลยหรือ และกระบวนการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ไม่เป็นธรรม และชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เหตุใดภาครัฐจึงเพิกเฉยต่อเรื่องเหล่านี้

คำตอบที่ได้จากคณะเดินทางรับฟังปัญหาคือ นามูลเป็นทางผ่าน เพราะวันที่มีการเสวนาเรื่องดังกล่าวมีเวลาน้อยไม่สามารถที่จะอธิบายรายละเอียดได้ทั้งหมด สำหรับเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมนั้นยืนยันว่าจะไม่มีผลกระทบใดๆ ส่วนการที่ชาวบ้านยกกรณีของผลกระทบที่เคยได้รับจากการขุดเจาะปิโตรเลียม หลุมเจาะ ดงมูล 3 (DM-3ST) ในพื้นที่บ้านนาคำน้อย ในเขตจังหวัดกกาฬสินธุ์ ที่อยู่ห่างจากบ้านนามูลประมาณ 5 กิโลเมตร และติดกับที่ทำกินของชาวบ้านนามูลขึ้นมาอ้างนั้น  ชาวบ้านต้องหาหลักฐานมายืนยัน เช่น ผลตรวจ หรือการแจ้งความที่เป็นบันทึกหลักฐาน และฟ้องร้องตามกระบวนการ ต่อกรณีคำถามเรื่องการทำ EIA ไม่ชอบธรรม ไม่มีคำตอบใดๆ จากคณะเดินทางรับฟังปัญหาครั้งนี้

“มันบ่คุ้มกับชีวิตพวกเรา ต่อให้เป็นผลประโยชน์ของชาติเราก็ว่ามันบ่คุ้ม ใครว่าบ่มีผลกระทบลองมาอยู่ตรงนี้แทนเราไหมล่ะ จะยกให้เลย”

เราถามชาวบ้านไปตรงๆ ว่าสาเหตุที่ต้องออกมาต้านการเข้ามาขุดเจาะปิโตรเลียมครั้งนี้คืออะไร พวกเขาเล่าให้ฟังว่า มองไม่เห็นความชอบธรรมในการดำเนินการของบริษัทฯ  ทุกครั้งที่มีการจัดเวทีประชุมก็เป็นเพียงการชี้แจงจากบริษัทว่าจะทำอะไรบ้าง มีผลดีอย่างไร ชาวบ้านไม่มีสิทธิพูดอะไรได้มาก ทุกครั้งเป็นเวทีที่มีทหารเข้ามาจัดการดูแล ชาวบ้านคนใดมีท่าทีแข็งกร้าว ต่อต้าน หรือตั้งคำถาม ก็จะถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษจากเจ้าหน้าที่

ดูเหมือนว่าสิ่งที่ชาวบ้านต้องการรู้มากที่สุดคือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หาใช่ผลดีที่จะได้รับจากการพัฒนา พวกเขาต้องการรู้ว่าหากเกิดผลกระทบขึ้น ใครจะเป็นคนเยียวยาผลกระทบดังกล่าว และแน่นอนพวกเขาตั้งคำถามสำคัญว่า ทำไมพวกเขาจึงต้องเป็นผู้เสียสละ ซึ่งต้องโอบกอดชะตากรรมที่ไม่มีทางเลือกมากนักเหล่านี้ไว้ พวกเขาไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา แต่เขาต่อต้านการพัฒนาที่ทำลายชีวิตพวกเขา โดยที่เขาไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดและตัดสินใดๆ ทั้งสิ้น

“พวกเขาต่อสู้เพื่อที่จะรู้ว่าได้กำไรมากน้อยแค่ไหน แต่เราไม่ได้สู้เพื่ออย่างอื่น เราสู้เพื่อชีวิต”

การคุกคาม และความกลัว กับเรื่องเล่าเมื่อเราลงพื้นที่

ตลอดเวลากว่า 3 ชั่วโมงที่เรานั่งคุยกับชาวบ้านราว 20 คน บริเวณที่พวกเขารวมตัวกันคัดค้านการขนย้ายอุปกรณ์ของบริษัทฯ มีรถกระบะซึ่งชาวบ้านบอกว่าเป็นรถของบริษัทและเจ้าหน้าที่รัฐขับวนมา และชะลอรถมองดูว่าพวกเรากำลังทำอะไรกันอยู่ ชาวบ้านเล่าว่าเป็นเรื่องปกติเวลามีนักข่าว หรือนักศึกษาลงมาในพื้นที่ ก็จะมีคนขับรถมาดูอย่างนี้ตลอด แต่ก็ไม่ได้เข้ามาทำอะไร

เราคุยกับพวกเขาต่อไปถึงเรื่องการถูกคุกคาม พวกเขาเล่าว่ายังไม่มีการเข้ามาทำร้ายชาวบ้านแต่อย่างใด หากจะมีก็เป็นเรื่องข่าวลือว่าจะมีการบุกค้นบ้านของชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านการขนย้ายในช่วงเวลา 04.00 น.  ของวันที่ 20 ก.พ. 2558 แต่แล้วก็ไม่ได้มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น

เราเข้าใจว่าการคุกคามในพื้นที่ไม่ได้รุนแรงอะไรมากนัก จนกระทั่งเราเดินทางเข้าไปถ่ายภาพบริเวณแปลงขุดเจาะปิโตรเลียม เมื่อขับรถไปถึงหน้าแปลงขุดเจาะ เราลงจากรถแล้วเดินไปบอกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยว่า เราเป็นนักข่าว เข้าถ่ายรูปแปลงขุดเจาะ เพื่อเอาไปใช้ประกอบข่าว แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่ได้ตอบอะไรกลับมา

เราถ่ายภาพอยู่ได้ไม่นานนัก ก็มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาถามว่าเรามาทำอะไรกัน เราตอบไปตามความจริง ชายคนนั้นไม่ได้ว่าอะไร จากนั้นเราขับรถขึ้นไปบนภูเขาเพื่อที่จะถ่ายภาพมุมสูง เราใช้เวลาถ่ายภาพบนเขาประมาณ 10 นาที แล้วจึงเดินกลับมาที่รถ ปรากฏว่ามีรถกระบะ 2 คันของเจ้าหน้าฝ่ายปกครองจอดอยู่ด้านหลังรถของเรา ซึ่งจอดขวางทางที่กลับรถอยู่ โดยไม่ได้ขยับรถให้เรากลับรถได้ เราขับรถขึ้นไปบนเขาต่อไปอีกประมาณ 100 เมตร พบว่าพอจะมีช่องทางให้กลับรถได้ แต่รถกระบะทั้ง 2 คันขับตามมา ช่วงที่เรากำลังกลับรถเพื่อที่จะลงจากเขา เหมือนรถกระบะ 2 คันนั้นจงใจจอดขวางเรา แต่แล้วก็ขับผ่านทางกลับรถออกไป เราจึงขับรถลงมาจากเขามาได้

แต่มาเจอกับเจ้าหน้าที่ทหาร 2 นาย ซึ่งขับรถจักรยานยนต์ มาดักเราไว้ตรงหน้าทางขึ้นเขา เจ้าหน้าที่บอกให้เราจอดรถ แล้วซักถามว่าเรามาทำอะไร มาจากไหน และถ่ายภาพเราเก็บไว้ พร้อมกับบอกเราว่า คราวหลังถ้าจะมาทำข่าว มาถ่ายรูปแบบนี้ต้องขออนุญาตก่อน

เรารีบขอโทษเขาเพราะไม่ต้องการให้ภาพที่ถ่ายมาได้ถูกลบ แล้วรีบกลับมาที่หมู่บ้าน และเมื่อเรามาถึงหมู่บ้านได้ไม่นาน ก็มีรถกระบะของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองขับตามมา แล้วชะลอดูพวกเราอีกครั้ง ก่อนจะขับเลยไป 

ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ มีชาวบ้านสองคนพาเราไปไหว้พระที่วัดแห่งหนึ่งในหมู่บ้าน ระหว่างทางกลับเราถามเขาว่ากลัวไหมที่ออกมาคัดค้านเรื่องนี้ ในสถานการณ์ที่ประเทศประกาศใช้กฎอัยการศึก เขาตอบเราว่า

“พ่อแก่แล้ว บ่มีหยังต้องกลัว อย่างไรมันก็มาถึงอยู่ดี เพิ่นสิมาเฮ็ดหยังกับเราก็ให้มันรู้ไป เราบ่ได้เฮ็ดหยังผิด เราเฮ็ดเพื่อชีวิตเรา กลัวอยู่อย่างเดียว กลัวจะตายเพราะบ่อก๊าซนี่มากกว่า...”

ข้อมูลเบื้องต้น

บริษัทอพิโก้ (โคราช) จำกัด ได้รับการสัมปทานสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม หลุ่มเจาะดงมูล บี (DM-B) แปลงสัมปทาน L27/43 ซึ่งอยู่ในเขต ต.กุงเก่า อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2546 ทั้งนี้บริษัทได้รับการอนุมัติผลการศึกษาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2557 ซึ่งในการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมนั้น จะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ทั้งหมดสองครั้ง แต่ชาวบ้านในพื้นที่กับไม่มีส่วนร่วมกับกระบวนการดังกล่าว มีเพียงกลุ่มผู้นำชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เท่านั้นที่เข้าไปมีส่วนร่วม

ขณะเดียวกันบริษัทฯได้เข้ามาจัดเวทีประชาสัมพันธ์โครงการให้ชาวบ้านรับรู้ทั้งหมด 3 ครั้งโดยมีการจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2558 ซึ่งในเวทีวันนั้นยังไม่สามารถหาข้อสรุปกันได้ เนื่องจากบริษัทเพียงแต่เข้ามาชี้แจง และแจ้งว่าจะขนย้ายอุปกรณ์เข้าในพื้นที่แต่เพียงเท่านั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2558 ได้มีการจัดเวทีขึ้นอีกครั้ง ในเวทีครั้งนี้ได้มีความพยายามสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างชาวบ้าน และบริษัทฯ ในเรื่องของการให้ค่าชดเชย การเยียวยาผลกระทบ การจัดตั้งกองทุน แต่ก็ยังหาข้อสรุปตกลงกันไม่ได้ และครั้งสุดท้ายได้มีการจัดเวทีเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2558 โดยข้อสรุปในเวทีครั้งนั้นได้ให้มีการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อดูแลการ สำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมในพื้นที่ ประกอบตัวตัวแทนจากภาครัฐ บริษัท และภาคประชาชน ซึ่งคือผู้ใหญ่บ้าน และกำนันในพื้นที่ ทั้งนี้การจัดเวทีในแต่ละครั้งทาง กอ.รมน. จ.ขอนแก่น ได้เข้ามาดูแลการจัดเวทีตลอดงาน

ณ ขณะนี้ (5 มี.ค. 2558) ทางบริษัทกำลังดำเนินการเพื่อให้ได้รับการยินยอมจากคณะกรรมการไตรภาคี สำหรับการขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียม โดยล่าสุดได้มีการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีไปเมื่อวันที่ 2  มี.ค. 2558 แต่ทางกรรมการในสัดส่วนของภาคประชาชนยังไม่ยินยอมให้มีการขุดเจาะ เนื่องจากบริษัทฯยังไม่ยอมลงนามในสัญญาข้อตกเรื่องการชดเชยและเยียวยาผลกระทบ โดยทางบริษัทฯให้เหตุผลว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ต้องพูดคุยกันอีกมาก กว่าจะได้สัญญาที่ลงตัว จึงอยากให้มีการดำเนินการขุดเจาะไปก่อน พร้อมกับพัฒนาข้อตกลงในสัญญากันไปด้วย อย่างไรก็ตามกรรมการภาคประชาชน ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน และกำนันในพื้นที่ยังไม่ยอมรับในข้อเสนอของบริษัท

ทั้งนี้ถ้ามีการยอมรับให้มีการขุดเจาะได้ คาดว่าบริษัทฯจะทำการขุดเจาะทั้งหมดประมาณ 53 วัน และจะมีการเผาทดสอบก๊าซธรรมชาติอีกประมาณ 22 วัน อย่างไรก็ตามบริษัทฯได้รับการสัมปทานการขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวจนถึงปี 2560 ทั้งนี้ หากการสำรวจก๊าซธรรมชาติครั้งนี้ประสบความสำเร็จ หรือสามารถพัฒนาต่อในเชิงพาณิชย์ได้ ก็จะมีการต่ออายุสัมปทานสำหรับการพัฒนาปิโตรเลียมต่อไปได้อีก 20 ปี โดยจะมีการสร้างโรงแยกก๊าซ และต่อท่อส่งก๊าซ ตามมาอีก

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท