ความล้าหลังของศาลทหาร: ไม่เลิกก็ต้องปฏิรูป บทเรียนจากอารยะประเทศ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในช่วงที่ผ่านมา เห็นฝ่ายสนับสนุนรัฐประหารพูดกันมากว่า หลังรัฐประหาร การดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลทหาร ไม่มีปัญหาความยุติธรรม ก็เลยทำให้ดิฉันสงสัย อยากรู้ว่าประเทศอื่นๆ ที่อารยะ เป็นประชาธิปไตย เขามองศาลทหารกันอย่างไร   

@@@@

กำเนิดของศาลทหารนั้นมีเหตุผลของสภาพแวดล้อมรองรับอยู่  ซึ่งในปัจจุบันสภาพแวดล้อมดังกล่าวก็ได้เปลี่ยนไปมากจนทำให้หลายประเทศตัดสินใจยกเลิกศาลทหาร หากทหารทำผิดก็ให้มาขึ้นศาลอาญาปกติ   เช่น ในอดีต หน่วยทหารมักตั้งอยู่ในที่ทุรกันดารห่างไกลจากเมือง การเดินทางติดต่อสื่อสารทำได้ลำบาก หากต้องส่งทหารที่กระทำผิดมาขึ้นศาลพลเรือนในเมือง ก็จะไม่ทันการณ์ แต่การคมนาคมทุกด้านของโลกยุคใหม่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น แม้แต่การส่งตัวผู้กระทำผิดจากทวีปหนึ่งไปอีกทวีปหนึ่ง ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอีกต่อไป และการดำเนินคดีของศาลพลเรือนก็รวดเร็วมากขึ้นด้วย  

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง หนึ่งในภารกิจสำคัญของรัฐบาลหลายประเทศในยุโรปตะวันตกลงมือทำคือ ตรวจสอบระบบยุติธรรมแบบทหาร (Military justice) เพราะพบว่ามีคนมากมายเดือดร้อนจากศาลทหารที่ขาดกฎเกณฑ์ชัดเจน  ผู้พิพากษา-อัยการไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย หรือมีไม่เพียงพอกับความต้องการ มีการลงโทษอย่างรุนแรง และตามอำเภอใจ ถูกวิพากษ์จากสังคมอย่างรุนแรง ส่งผลให้เยอรมันตะวันตก สวีเดน ออสเตรีย และเดนมาร์คยกเลิกศาลทหารโดยสิ้นเชิง

ในกรณีเยอรมัน หลังฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจในปี 1933 ระบอบนาซีได้รื้อฟื้นศาลทหาร ที่ถูกยกเลิกไปก่อนหน้านี้ ขึ้นมาใหม่ ศาลทหารยุคนาซีได้ละเมิดสิทธิของทั้งทหารและพลเรือนอย่างกว้างขวางรุนแรง เมื่อสงครามโลกยุติลง เยอรมันตะวันตกจึงยกเลิกศาลทหารทันทีในปี 1946

สำหรับบางประเทศ ที่ยังมีศาลทหารอยู่  ก็ไม่ได้นิ่งเฉย  เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบอร์ก สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี นอร์เวย์ และแคนาดา รัฐบาลและรัฐสภาของประเทศเหล่านี้พยายามให้พลเรือนเข้าไปมีอำนาจควบคุมตรวจสอบและมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงานของศาลทหารมากขึ้น ตลอดจนแก้ไขกระบวนการศาลทหารให้มีมาตรฐานความยุติธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชน

ตัวอย่างกรณีอังกฤษ นับแต่ปี 1946 รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการทำงานของศาลทหารอย่างมากมาย โดยกำหนดว่า

1.ต้องจัดให้มีทนายอาสาที่เป็น “พลเรือน” ว่าความให้นายทหารที่ถูกดำเนินคดี

2.จัดตั้งสำนักงานอัยการทหารที่เป็นอิสระ พร้อมทั้งจัดตั้งหน่วยงานพลเรือนที่เรียกว่า Judge Advocate General ทำหน้าที่ป้อนผู้พิพากษาพลเรือนให้กับศาลทหาร หน่วยงานนี้เป็นอิสระจากกองทัพ-กลาโหม  ผู้พิพากษาในศาลนี้เรียกว่า Judge Advocate โดยผู้พิพากษาเหล่านี้จะต้องได้รับการอบรมเกี่ยวกับโครงสร้างกองทัพ จารีตประเพณี และประวัติศาสตร์การทหาร ก่อนเริ่มปฏิบัติงาน

3.การอุทธรณ์ของทหารจะต้องกระทำในศาลพลเรือน มีผู้พิพากษาสามคนมาจากศาลอุทธรณ์[1]

กระนั้น เมื่อสองปีที่แล้ว ผู้พิพากษาอาวุโสของศาลทหารอังกฤษ นาย Jeff  Blackett ยังออกมาวิพากษ์ระบบที่ไม่ยุติธรรมของศาลทหารอังกฤษเอง ที่การตัดสินคดีใช้เสียงส่วนใหญ่ของผู้พิพากษาเพียงแค่ 5 คน หมายความว่า หากมีการลงคะแนน 3:2 หรือชนะเพียงแค่คะแนนเดียว ก็สามารถชี้ขาดต่อชะตากรรมของจำเลยแล้ว Blackett มองว่าไม่ยุติธรรม โดยเขาเมื่อเปรียบเทียบกับระบบศาลพลเรือน ที่ใช้ระบบลูกขุน ที่ต้องได้เสียงขั้นต่ำของเสียงส่วนใหญ่ 10: 2[2]  พูดง่ายๆ คือ หลักฐานที่นำมาตัดสินว่าใครผิดนั้นต้องมีน้ำหนักมากจนทำให้ “คนส่วนใหญ่จริงๆ” คล้อยตามได้

@@@@

ในประเทศประชาธิปไตยที่ยังมีศาลทหารอยู่ หลักการสำคัญที่ละเมิดไม่ได้คือ ห้ามนำพลเรือนไปขึ้นศาลทหาร หรือแม้กระทั่งในกรณีที่พลเรือนเป็นคู่กรณีกับทหาร ก็ต้องขึ้นกับศาลพลเรือน ในสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน

แต่นับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา การคุมขัง-ทรมานผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้ายมุสลิม ก็ได้สร้างรอยด่างพร้อยให้กับกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ ในปี 2001 หลังเหตุการณ์ตึกเวิร์ดเทรดสองหลังถูกโจมตีโดยกลุ่มอัล-กออิดะฮ์ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับบลิว บุช ลงนามคำสั่งทางทหาร อนุมัติให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้าย ที่ถูกจับได้ไม่ว่าจะในหรือนอกประเทศสหรัฐฯ

หนึ่งในประเด็นที่นักวิชาการ นักการเมือง นักสิทธิฯ วิจารณ์รัฐบาลอเมริกันกันอย่างมากคือ[3] การใช้ศาลทหารดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม เพราะกฎหมายกำหนดว่า ศาลทหารมีไว้ดำเนินคดีกับทหารประจำการเท่านั้น (ทั้งที่เป็นทหารอเมริกัน และทหารต่างชาติที่ก่ออาชญากรรมต่อสหรัฐฯ ทั้งในและนอกประเทศสหรัฐฯ) แต่ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายจำนวนมาก เป็นพลเรือน หรือก้ำกึ่งระหว่างการเป็นทหารกับพลเรือน พวกเขาจึงไม่เข้าข่าย ขณะที่รัฐบาลบุชอ้างว่า ผู้ก่อการร้ายเหล่านี้เป็น Enemy Combatant (ทหารข้าศึก) จึงเสมือนเป็นทหาร

ฝ่ายวิพากษ์ยังชี้ให้เห็นว่า ศาลทหารขาดความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร พวกผู้พิพากษา อัยการ ล้วนอยู่ในสายบังคับบัญชาของกองทัพและรัฐบาล ซึ่งมักเป็นคู่กรณีในความขัดแย้ง การตัดสินคดีความย่อมมีความโน้มเอียงไปตามอำนาจที่ครอบงำองค์กรอยู่

ฝ่ายที่วิพากษ์ยังเตือนประชาชนอเมริกันว่า อย่านิ่งเฉยกับความอยุติธรรม เพียงเพราะเหยื่อเป็น “คนนอก” เป็นมุสลิมจากประเทศอื่น แต่ “คนนอก” ที่ไม่ใช่ทหารก็ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมภายใต้กฎหมายอเมริกา ประการสำคัญ กฎหมายต้องปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยในฐานะ “ผู้บริสุทธิ์” จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาทำผิดจริง รัฐบาลอเมริกันไม่สามารถสรุปตามอำเภอใจว่าคนที่ตนเองจับกุม หรือ “อุ้มข้ามประเทศ” มาสอบสวน-ทรมาน เป็นผู้ก่อการร้ายจนกว่าจะมีการพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรมที่ชอบธรรม

พวกเขาชี้ว่าระบบข่าวกรองในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายมีปัญหามากมาย คนบริสุทธิ์ก็กลายเป็นแพะได้ง่ายๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นจริงจากรายงานการสอบสวนการซ้อมทรมานของซีไอเอ โดยของคณะกรรมการวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่เพิ่งเปิดเผยออกมาเมื่อเร็วๆนี้

ฝ่ายวิพากษ์มองว่า ก็ขนาดศาลพลเรือนที่คนเชื่อกันว่ายุติธรรม ยังมีการจับแพะบ่อยมาก ในสหรัฐฯ หลังจากมีเทคโนโลยี่ตรวจ DNA นักโทษนับร้อยคนที่ถูกขังมาเป็นเวลานาน ก็ได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ นับประสาอะไรกับระบบยุติธรรมแบบทหาร ที่มักรวบรัดตัดความ ขาดความเป็นอิสระจากอำนาจของฝ่ายบริหาร (ในแง่นี้ ก็ทำให้อดคิดถึงกระบวนการยุติธรรมของไทยไม่ได้เลยเชียว)

ความยุติธรรมแบบทหาร (Military justice) นั้นถูกมองว่า ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการรักษาระเบียบวินัย อีกทั้งระบบสายการบังคับบัญชา ที่ทำให้ผู้พิพากษา อัยการทหาร ขาดความเป็นอิสระ พวกเขายังต้องคำนึงถึงการก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ซึ่งคนที่จะให้ความดีความชอบกับพวกเขา ก็คือผู้บังคับบัญชาในกองทัพ-กลาโหม หรือรัฐบาล ที่มักเกี่ยวข้องกับการสั่งฟ้องด้วย และนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องยกเลิกศาลทหาร หรือปฏิรูปให้ศาลทหารใกล้เคียงกับกระบวนการยุติธรรมปกติมากที่สุด

ระเบียบวินัยที่ใช้ในค่ายทหารจะนำมาใช้กับพลเรือนไม่ได้ เพราะการดำรงอยู่ของกองทัพนั้นขึ้นกับ ระเบียบวินัย และการปฏิบัติตามคำสั่งตามสายบังคับบัญชา แต่ชีวิตของพลเรือนมีความหลากหลายและเสรีภาพมากกว่าทหาร

การแสดงความเห็น การตั้งคำถาม การปฏิเสธให้ความร่วมมือ การประท้วง ดื้อแพ่ง อย่างสันติวิธี เป็นสิ่งที่พลเมืองกระทำได้ตามกฎหมาย ประการสำคัญ มันยังเป็นส่วนสำคัญที่แยกไม่ออกจากศักดิ์ศรีแห่งการเป็นพลเมือง ที่ย่อมมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบอำนาจรัฐที่มีอำนาจมหาศาล ที่สามารถบันดาลคุณอนันต์หรือโทษมหันต์แก่สังคมได้

ในขณะที่พลเรือนยึดหลักสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความยุติธรรม (Fairness) ระบบที่เที่ยงธรรม (Just) และอำนาจที่ตรวจสอบได้ ระบบยุติธรรมแบบทหาร โดยเฉพาะภายใต้รัฐเผด็จการ กลับให้ความสำคัญกับการรักษา “ระเบียบวินัย” “ความมั่นคงของรัฐ” “อำนาจแห่งรัฐ” การดำเนินคดีต่อพลเรือนที่ดื้อแพ่งต่อการปกครองของทหารโดยศาลทหาร จึงเสมือนการบังคับข่มเหงต่อสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง ให้ต้องสยบยอมต่อระบบอำนาจนิยมของทหารนั่นเอง

 

หมายเหตุ: ตามประกาศของ คสช. ฉบับที่ 37 และ 38 ที่ให้พลเรือนถูกต้องกล่าวหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) บางกลุ่มอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารนั้น ถือเป็นศาลทหารใน "ภาวะไม่ปกติ" จึงทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถอุทธรณ์-ฎีกาได้ สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาจึงถูกลิดรอนมากขึ้น

 


[1] Edward F. Sherman, “Military Justice Without Military Control”, The Yale Law Journal, Jan 1973.

[2]   “Military judge  raises court  martial concerns” , 25 June 2013, http://www.bbc.com/news/uk-23003483>

 

[3] ดู Karen J. Greenberg (ed.), The Torture Debate in America. New York: Cambridge University Press, 2006 “The Senate Committee’s Report on the C.I.A.’s Use of Torture”, http://www.nytimes.com/interactive/2014/12/09/world/cia-torture-report-document.html?_r=0

 Peter A. Schey, “Marching the war on terrorism towards injustice: Military tribunals and constitutional tunnels”, http://perterschey.com/ARTICLES/MilitaryTribunals.html ; “The injustice of military courts”, http://stallman.org/military-courts.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท