Skip to main content
sharethis

แรงงานค้าน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ เหตุเรียกร้องเพื่อปากท้อง ไม่ใช่การเมือง

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า คสรท. พร้อมด้วยเครือข่ายแรงงานจำนวน 30 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... ฉบับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งผ่านการพิจารณาวาระที่ 1 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ถึง นายพรเพชร วิชิตพลชัย ประธาน สนช. โดยมี นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. เป็นผู้รับหนังสือแทน เนื่องจากเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวละเมิดสิทธิในการชุมนุมของผู้ใช้แรงงาน ที่ชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาความเดือดร้อน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง
       
น.ส.วิไลวรรณ กล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิในหลายประเด็น เช่น การกำหนดให้แกนนำผู้ชุมนุมต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ก่อนการชุมนุม 24 ชั่วโมง โดยให้อยู่ห่างจากสถานที่ราชการไม่ต่ำกว่า 150 เมตร หากแกนนำผู้ชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐจะได้รับโทษทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ทั้งยังกำหนดขอบเขตอำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไป เช่นการยกเว้นความผิดทั้งทางแพ่ง อาญาและวินัย ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลการชุมนุม ตรงจุดนี้เกรงว่าเจ้าหน้าที่อาจใช้อำนาจในทางมิชอบ จึงอยากให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ เปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อนำข้อเสนอไปพิจารณาปรับปรุงตามความเหมาะสม ไม่ให้กระทบต่อการเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน หาก กมธ. ไม่รับฟังเสียง เครือข่ายแรงงานจะเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างถึงที่สุด
       
“ขอเรียกร้องถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธาน สนช. และผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวให้รอบคอบ และรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องน้อยที่สุด โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องเนื่องจากปัญหาปากท้อง ไม่ได้ชุมนุมเพื่อหวังผลทางการเมือง หากไม่มีการรับฟังความเห็นด้านอื่นๆ บ้างกฎหมายดังกล่าวอาจทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมเพิ่มขึ้น” ประธาน คสรท. กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 5-3-2558)

สนช. รับหลักการแก้พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ ลงโทษสถานประกอบการสูงสุด หากมีคนตายประหารชีวิต

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม  พิจารณาร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ในวาระแรก นำเสนอโดยคณะรัฐมนตรี โดยพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงหลักการและเหตุผลว่าเนื่องจาก มีบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมต่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในปัจจุบันที่มีความรุนแรง ซับซ้อน และเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ จึงเห็นควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยกำหนดให้มีมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ผู้พบเห็นเหตุการณ์การค้ามนุษย์ แจ้งข้อมูลต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกำหนดมาตรการเพิ่มอำนาจทางปกครองให้แก่เจ้าหน้าที่ รวมทั้งปรับปรุงบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

ซึ่งสาระสำคัญ ของร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... ฉบับนี้   กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เรียกโดยย่อว่า “คณะกรรมการ ปคม.”  ประกอบด้วย นายกรัฐมนตีเป็นประธานกรรมการ รองนายกฯซึ่งเป็นประธานคณะกรรมกรรปกค. เป็นรองประธานกรรมการ รมว.กลาโหม รมว.ต่างประเทศ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา รมว.พัฒนาสังคมฯ รมว.มหาดไทย รมว.ยุติธรรม รมว.แรงงาน และผู้ทรงคุณวุฒิ4 คนที่นายกฯแต่งตั้ง และมีปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมฯเป็นเลขานุการ  โดยคกป.มีหน้าที่เสนอครม.กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในสถานประกอบกิจการ โรงงาน และยานพาหนะ  โดยนายกฯออกประกาศมาตรการดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาและแต่งตั้งคณะอนุกรรมาการหรือคณะทำงานเพื่อพิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ได้รับมอบหมาย

นอกจากนี้ยังให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งปิดสถานประกอบกิจการหรือโรงงานชั่วคราวพักใช้ใบอนุญาตประกอบการ ห้ามใช้ยานพาหนะ ดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำผิดเกิดขึ้นอีก ในกรณีที่พบว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว และการสั่งดังกล่าวต้องไม่เกินครั้งละ 30วัน นับแต่วันได้รับทราบคำสั่ง และผู้ใดแจ้งแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจว่ามีการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.นี้ ได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา และยังมีการกำหนดโทษหากกระทำผิดตามกฎหมายกำหนด เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้ดำเนินกิจการสถานประกอบการ โรงงานหรือยานพาหนะ ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน  หรือปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 8-20 ปี และปรับตั้งแต่ 160,000-400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต หากถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต

ทั้งนี้สมาชิกสนช.ได้อภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางก่อนลงมติเอกฉันท์รับหลักการวาระแรก ด้วยคะแนน 177 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 15 คน กำหนดระยะเวลาดำเนินการให้เสร็จภายใน 30 วัน

(มติชนออนไลน์, 5-3-2558)

ชงรัฐภาครัฐ หันมาซื้อประกันสุขภาพให้ข้าราชการ แทนตั้งงบค่ารักษาพยาบาล หลังค่าใช้จ่ายพุ่งทุกปี

สมาคมประกันวินาศภัยไทย อยู่ระหว่างเสนอรัฐบาล ในการปรับงบประมาณในการรักษาพยาบาลข้าราชการที่ตั้งไว้ปีละ 6 หมื่นล้านบาท ให้เปลี่ยนมาใช้รูปแบบของการซื้อประกันสุขภาพให้กับข้าราชการน่าจะเหมาะสมกว่า

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า เนื่องจากในแต่ละปีงบประมาณ การรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดอยู่ที่ปีละ 6หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต โดยที่ภาครัฐไม่ได้มีเครือข่ายตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล เหมือนธุรกิจประกันที่มีเครือข่ายโรงพยาบาลอยู่ทั่วประเทศ เป็นเหตุให้งบประมาณบานปลายขึ้นทุกปี ดังนั้นการให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการ จะช่วยให้การใช้งบประมาณดังกล่าว มีประสิทธิภาพมากขึ้น และรายได้ที่เข้ามาในบริษัทประกัน จะเป็นการคืนกลับไปยังภาครัฐในรูปแบบภาษีอีกด้วย

นอกจากนี้ นายอานนท์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้หารือกับกระทรวงการคลังแล้ว และจะมีการเสนอผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติอีกด้วย แต่ยอมรับว่าแนวทางดังกล่าวคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้เร็ว เนื่องจากต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน และทำความเข้าใจทั้งภาครัฐและข้าราชการเองด้วย

ทั้งนี้นายอานนท์ คาดว่า อาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี แต่เป็นสิ่งที่ภาครัฐควรดำเนินการ ในส่วนของข้าราชการ ก็จะได้รับสวัสดิการไม่ต่างจากเดิมมีสิทธิรักษาเท่าเดิม สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลใดก็ได้ และในอนาคต หากสัดส่วนของค่าสินไหมทดแทนต่อค่าเบี้ยประกันภัย (Loss Ratio) ปรับลดลงได้ก็จะทำให้เบี้ยประกันลดลงไปได้

“แนวทางนี้ เป็นการเสนอโมเดลใหม่ให้รัฐบาทพิจารณา เพราะที่ผ่านมาภาครัฐ ต้องใช้งบประมาณในการรักษาข้าราชการเพิ่มขึ้น ซึ่งแต่ละปีค่ารักษาพยาบาลเหล่านี้ก็เพิ่มขึ้น ปีละหมื่นล้านทุกปีต่อเนื่อง จากเดิมเคยอยู่ 4 หมื่นล้านบาทต่อปี และในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเป็น 7-8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลไม่มีระบบตรวจสอบเหมือนธุรกิจประกัน ที่มีเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วประเทศ สามารถตรวจสอบค่ารักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง”นายอานนท์ กล่าว

(กรุงเทพธุรกิจ, 5-3-2558)

สนช. ผ่าน พ.ร.บ. ประกันสังคมแล้ว

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2558 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... โดยพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกันสังคมคม พ.ศ. 2533 ซึ่งสมาชิก สนช. มีการอภิปรายกันอย่างมากในประเด็นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้คณะกรรมการประกันสังคม โดยกรรมาธิการ(กมธ.)พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมฯ เสนอให้เพิ่มคุณสมบัติของคณะกรรมการฯ จะต้องมีอายุไม่เกินเกิน 70 ปีบริบูรณ์ รวมถึงลักษณะต้องห้ามของคณะกรรมการฯ จะต้องไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือที่ปรึกษาของพรรคการเมือง

ทั้งนี้สมาชิก สนช. ได้อภิปรายในทิศทางเดียวกันว่า ไม่ควรจำกัดอายุของคณะกรรมการฯ เพราะจะไม่สามารถสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้ประกันตน แต่เห็นด้วยกับการจำกัดไม่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซงกลไกดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม ฯ เห็นด้วยกับสมาชิก สนช. ในการตัดข้อจำกัดอายุของคณะกรรมการฯ ออกจากร่างดังกล่าว

นอกจากนั้นแล้วสมาชิก สนช. ยังมีการถกเถียงกันอย่างมากในหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน ที่ กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมฯ เสนอให้รัฐบาลจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง "ไม่น้อยกว่า" กึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกัน จากเดิมกำหนดให้รัฐบาลต้องสมทบ "ไม่เกิน" กึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันเท่านั้น

ขณะที่สมาชิก สนช. ได้อภิปรายในทิศทางเดียวกันว่า ไม่ควรที่จะเพิ่มเงินสมทบดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลจะต้องรับภาระในการจ่ายเงินสมทบให้กับผู้ประกันจำนวนมากอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมฯ เห็นด้วยกับข้อคัดค้านของสมาชิก สนช. ในการกับไปใช้หลักการเดิมตาม ที่กำหนดให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบ "ไม่เกิน" กึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกัน

สำหรับหลักการสำคัญที่บัญญัติใหม่ในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว คือ 1. การค่าใช้จ่ายช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตน ในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ซึ่งสำนักงานทางการแพทย์สามารถไล่เบี้ยแก่ผู้กระทำผิดได้ และ 2. ผู้ประกันที่ไม่มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะส่งเงินสมทบครบ 180 เดือนหรือไม่ก็ตาม หากไม่ประสงค์จะอาศัยในประเทศไทย ให้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

ทั้งนี้สนช. มีมติเห็นชอบ 173 คะแนน ไม่เห็นชอบ 0 งดออกเสียง 5 เสียง ไม่ประสงค์จะลงคะแนน 1 คะแนน ให้ร่างพ.ร.บ.บังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

(โพสต์ทูเดย์, 5-3-2558)

พยาบาลร้องเอาผิดสถานบันเทิงดูหมิ่นวิชาชีพ

พลตำรวจโทประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นตัวแทนรับหนังสือร้องทุกข์จาก รศ.ดร.จินตนา ยูนิพันธ์ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย, รศ.ดร.สุจิตรา เหลืองอมรเลิศ อุปนายกสภาการพยาบาล และตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาล ให้ตรวจสอบและดำเนินคดีเจ้าของร้านและสถานประกอบการสถานบันเทิง”มิสเตอร์ ยู บาร์อนเรสเตอร์รอง “( MR.YOU BAR&RESTAURENT)ในซอยรามคำแหง 174 พื้นที่ สน.มีนบุรี สืบเนื่องจากวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สถานประกอบการดังกล่าวได้ขึ้นแผ่นป้ายโฆษณาขนาดใหญ่และมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟสบุ๊ค ข้อความว่า”Party Nurse 14/02/58 นางแบบมากมายและน้องๆPR ชุดพยาบาล”โดยมีผู้หญิงสองคนแต่งชุดสีขาวและสวมหมวกพยาบาล ซึ่งเป็นที่รับรู้ของประชาชนว่าเป็นพยาบาล ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาชัดเจนว่าประสงค์จะใช้บุคคลแต่งตัวเหมือนพยาบาลแต่ให้บริการทางบันเทิงเริงรมย์ การปรากฏข้อความและการประชาสัมพันธ์ดังกล่าวถือเป็นการดูถูกและเหยียดหยามอย่างร้ายแรงต่อผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ภาพลักษณ์วิชาชีพพยาบาล รวมทั้งหมิ่นเกียรติและศักดิ์ศรีด้วย เบื้องต้นได้ไปแจ้งความไว้ที่ สน.มีนบุรี ซึ่งท้องที่ได้ไปตรวจสอบพร้อมปลดป้ายข้อความดังกล่าวลง ส่วนเพจต่างๆในเฟสบุ๊ค มีการลบข้อความออก อีกทั้งสถานประกอบการได้ยกเลิกการจัดงานในวันที่ 14 กุมภาพันธ์แล้ว แต่ทางสภาพยาบาลได้เก็บรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆไว้ทั้งหมดเพื่อให้ดำเนินคดี

นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย เพิ่มเติมว่า การมายื่นหนังสือครั้งนี้ เพื่อต้องการให้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหรือให้เป็นอุทาหรณ์สำหรับสถานบริการอื่นๆ อย่าใช้เครื่องแบบในการโฆษณาหากิน เพราะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ผู้ประกอบวิชาชีพ

พลตำรวจโทประวุฒิ กล่าวว่า เบื้องต้นได้กำชับให้ สน.มีนบุรี ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเรียกเจ้าของสถานบันเทิงมาสอบปากคำ เห็นว่าแม้ทางสถานประกอบการจะยกเลิกการจัดงานและลบข้อความดังกล่าวออก แต่ยังถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯเพราะได้นำเสนอข้อมูลและมีการประชาสัมพันธ์ทำให้ประชาชนสังคมเข้าใจผิดไปแล้ว อีกทั้งจากการตรวจสอบเพจดังกล่าวทางเฟสบุ๊คยังพบว่า มีการนำเสนอภาพผู้หญิงสวมชุดนักเรียนในสภาพวาบหวิวและไม่เหมาะสมด้วย ซึ่งจะได้ดำเนินการตรวจสอบต่อไป

(สำนักข่าวไทย, 6-3-2558)

วันสตรีสากลทวงสิทธิการเลิกจ้างงานหญิงท้อง

เนื่องในวันสตรีสากลวันที่ 8 มี.ค. กลุ่มเครือข่ายสตรีทั่วประเทศได้รวมตัวกันร่วมเดินรณรงค์แสดงพลังหญิงในวันสตรีสากล เพื่อทวงสิทธิและกำหนดสัดส่วนหญิงชายในรัฐธรรมนูญเป็น 50:50 ให้เกิดความเสมอภาคและได้รับสิทธิเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ โดยช่วงเช้าได้รวมตัวกันเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปตามถนนราชดำเนินจนถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พร้อมร่วมแสดงเจตนารมณ์และพูดคุยแลกเปลี่ยนผ่านเวที "104ปี 8มีนา วันสตรีสากล ผู้หญิงรำลึก เฉลิมฉลองการปฏิรูปสู่อนาคต 50:50"

ทั้งนี้ผู้แทนผู้หญิงจากองค์กรต่างๆหลากสาขาอาชีพ ได้ร่วมแสดงพลังการต่อสู้ของผู้หญิงที่ไม่เคยท้อถอย เพื่อสิทธิความเสมอภาคระหว่างเพศและสิทธิมนุษยชน โดยมีสาระสำคัญหลายประการ ทั้งการบรรจุหลักความเสมอภาคระหว่างชายหญิงไว้ในรัฐธรรมนูญและและสร้างหลักประกันให้ได้รับการปฏิบัติอย่างแท้จริง การจัดมาตราการคุ้มครองทางกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิต่างๆของเพศหญิง และการบรรจุในรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิการเลือกตั้งของผู้หญิงที่มาทำงานต่างถิ่น

นอกจากนี้ในเรื่องของสิทธิสุขภาพควรมีการตรวจโรคราคาถูกและส่งเสริมการแพทย์ที่ป้องกันความปลอดภัยจากการทำงานอย่างครอบคลุม มีความมั่นคงในการทำงานต่อสัญญาจ้าง เนื่องจากระบบสวัสดิการสังคมในชีวิตจริงของผู้หญิงทำงานที่ส่วนใหญ่ได้รับค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม ทั้งยังมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ได้รับความปลอดภัย เป็นแรงงานราคาถูกที่ตกอยู่ในสภาพที่ถูกเอาเปรียบและถูกคุกคามทางเพศในพื้นที่สาธารณะ โดยไม่ได้รับการเยียวยาที่สมควร รวมไปถึงความเสมอภาคของสาวประเภทสองในเรื่องการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ที่ถูกทำให้มองเป็นชายขอบของประชากร ด้วยการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทุกเพศสภาพและเพศวิถี ห้ามเลือกปฏิบัติ คุ้มครองสิทธิหญิงรักหญิง ชายรักชาย เกย์ กระเทย ทอมดี้ และอยากให้ขจัดอคติให้หมดไปจากสังคม

ขณะเดียวกันยังมีการเรียกร้องการคุ้มครองการเลิกจ้างงานผู้หญิงท้องและสวัสดิการการดูแลบุตร การรับรองการเป็นมารดาในขณะไม่ได้ทำงานให้ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมโดยพ่อมีสิทธิลางานมาดูแลภรรยาและลูกได้ จากปัญหาทั้งหมดการปฏิรูปรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงไม่ควรละเลยสิทธิของผู้หญิงและควรตระหนักถึงปัญหาต่างๆอย่างจริงจัง

(เดลินิวส์, 8-3-2558)

แรงงานจี้ “บิ๊กเต่า” ตรวจสอบประกันสังคมย้อนหลัง 7 ปี เน้น “ลงทุน-งบ PR-ดูงาน ตปท.”

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะ กรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ตนและผู้แทนเครือข่ายแรงงานได้เข้าพบ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง) หารือเรื่องการขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับ ที่87 และ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงาน รวมถึงร่างแก้ ไขพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ซึ่งกระทรวงแรงงานเตรียมเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ขณะนี้เนื้อหาร่างแก้ไขกฎหมายยังไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาทั้งสองฉบับและข้อเสนอของผู้ใช้แรงงาน เครือข่ายแรงงานจึงขอให้ทบทวนเนื้อหาร่างแก้ไขกฎหมายและชะลอการเสนอไว้ก่อน
       
ประธาน คสรท.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้เสนอเกี่ยวกับระบบประกันสังคมโดยขอให้ รมว.รง.ตรวจสอบการใช้เงินกองทุนประกันสังคมย้อนหลัง 7 ปี ใน 9 ข้อ คือ 1. ระบบสัญญาเช่าในการจัดระบบสารสนเทศของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซึ่งใช้งบเช่าประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี 2. การใช้งบประชาสัมพันธ์ที่ใช้ปีละหลายร้อยล้านบาท แต่ผู้ประกันตนกลับยังคงขาดความรู้ความเข้าใจใน สิทธิประโยชน์กรณีต่างๆ และเข้าไม่ถึงสิทธิ 3. การใช้งบไปดูงานต่างประเทศปีละ 100 ล้านบาท ที่ผ่านมากรรมการประกันสังคมบางคนได้นำเครือญาติไปดูงานด้วย 4. ความโปร่งใส่การนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนต่างประเทศแต่ละปี
       
5. การตั้งงบประมาณให้แก่สภาองค์การ ลูกจ้างปีละ 50 ล้านในการจัดอบรม/สัมมนา รวมถึงวิธีการใช้งบในส่วนนี้ในแต่ละปีซึ่งการจัดสรรงบที่ผ่านมาเป็นไปอย่างกระจุกตัวอยู่แค่สภาองค์การลูกจ้างไม่กี่แห่ง บางองค์กรเสนอโครงการจำนวนมากและได้รับงบมาก ไม่ได้กระจายงบให้องค์กรลูกจ้างต่างๆ เพื่อให้การพัฒนาแรงงานเป็นอย่างทั่วถึง 6. การใช้งบของ สปส.ในการจัดทำแผนปฏิรูประบบประกันสังคมในปี 2557 โดยใช้เวลา 1 วัน 1 คืน มีผู้เข้าร่วม 2,700 คนและมีค่าใช้จ่ายคนละ 21,000 บาท 7. การใช้งบเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลของผู้ประกันตนในแต่ละปีที่จ่ายให้แก่โรงพยาบาลคู่สัญญากับประกันสังคมเนื่องจากระบบการให้บริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลประกันสังคมบางส่วนไม่ได้พัฒนาให้ดีขึ้นทั้งที่มีจ่ายค่าผ่านการรับรองคุณภาพ หรือเอชเอ ให้โรงพยาบาลระบบประกันสังคม
       
8. คณะกรรมการประกันสังคมซึ่งมักเป็นกลุ่มคนเดิมๆหรือผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกันหมุนเวียนเข้ามาเป็นกรรมการ สปส.ว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับการบริหาร สปส.หรือไม่ และ 9. แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจ สอบ สปส.ที่เป็นบุคคลภายนอกและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการบริหาร สปส.โดยให้มีตัวแทนทั้งฝ่าย นายจ้าง ลูกจ้าง และหน่วยงานรัฐซึ่งเป็นคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องระบบประกันสังคม เพื่อตรวจสอบว่าการดำเนินงานของ สปส.ที่ผ่านมามี ความโปร่งใส มีการทุจริตหรือไม่ หากพบว่าไม่โปร่งใสก็ขอให้ดำเนินการตาม กฎหมายต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
       
“รัฐมนตรีแรงงานได้ตอบรับข้อเสนอทั้งหมดของเครือข่ายแรงงานโดยจะนำเรื่องของการให้การรับรองอนุสัญญาทั้งสองฉบับไปหารือกับรัฐบาลส่วนร่างแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ก็ให้ทบทวนเนื้อหาใหม่และชะลอการเสนอต่อ สนช.ไว้ก่อนโดยจะตั้งคณะทำงานของกระทรวงขึ้นมาหารือกับเครือข่ายแรงงาน ส่วนข้อเสนอเกี่ยวกับประกันสังคมทั้ง 9 ข้อได้สั่งการให้ สปส.ไปตรวจสอบและสรุปข้อมูลมารายงานภายในเดือนเมษายนนี้ ส่วนประเด็นประกันสังคมนั้นเครือข่ายแรงงานไม่เห็นด้วยกับรัฐมนตรี จึงขอเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายที่เป็นบุคคลภายนอกและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับ สปส.เข้ามาตรวจสอบจะดีกว่าการให้ สปส.ตรวจสอบเอง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา และน่าเชื่อถือมากกว่า” น.ส.วิไลวรรณกล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 8-3-2558)

หาแนวทางเพิ่มเงินตอบแทนคนงานทำงานต่างประเทศ

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 เมื่อปี พ.ศ.2529 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือคนหางานซึ่งจะไปหรือไปทำงานในต่างประเทศแล้วประสบอันตรายหรือประสบปัญหารวมทั้งทายาทโดยธรรมของบุคคลดังกล่าว

สำหรับกิจการที่จะสามารถใช้เงินกองทุนเป็นไปตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานฯ ที่กำหนดไว้ ดังนี้ 1.จัดการให้คนหางานซึ่งถูกทอดทิ้งอยู่ในต่างประเทศได้เดินทางกลับประเทศไทย 2.ให้การสงเคราะห์แก่คนหางานซึ่งไปหรือจะไปทำงานในต่างประเทศหรือทายาทโดยธรรมของบุคคลดังกล่าว 3.การคัดเลือกและทดสอบฝีมือและการอบรมคนหางานก่อนจะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งคนหางานที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยบริษัทจัดหางาน และกรมการจัดหางานจัดส่ง จะต้องสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ ส่วนคนหางานที่แจ้งการเดินทางไปทำงานด้วยตนเองสามารถสมัครเป็นสมาชิก กองทุนฯ ได้ตามความสมัครใจ

เพื่อเป็นการจูงใจในการสมัครเป็นสมาชิก กองทุนฯ และเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมมากขึ้น จึงได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่สมาชิกในกรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพ ดังนี้ 1.กรณีทุพพลภาพและพิการ จากเดิมพิการ สงเคราะห์ 15,000 บาท ทุพพลภาพ สงเคราะห์ 30,000 บาท แก้ไขเป็น ทุพพลภาพ ร้อยละ 1-49 สงเคราะห์ 30,000 บาท และ ทุพพลภาพ ร้อยละ 50 ขึ้นไป สงเคราะห์ 50,000 บาท 2.กรณีเสียชีวิต จากเดิมเสียชีวิตในประเทศ สงเคราะห์ 30,000 บาท เสียชีวิตต่างประเทศ สงเคราะห์ 40,000 บาท แก้ไขเป็น เสียชีวิต สงเคราะห์ 50,000 บาทซึ่งคนหางานที่แจ้งการเดินทางไปทำงานด้วยตนเองที่ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกกองทุนจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนในวันสมัครเป็นสมาชิกในอัตราคนละ 300-500 บาท ตามอัตรากำหนดของประเทศที่คนหางานจะเดินทางไปทำงาน

สำหรับระเบียบอื่นๆ ที่จะต้องเยียวยาช่วยเหลือคนงานไทยเมื่อประสบภัยต่างๆ ในต่างประเทศยังคงเช่นเดิมได้แก่ กรณีถูกทอดทิ้งในต่างประเทศ มีสิทธิขอรับเงินสงเคราะห์เป็นค่าใช้จ่ายเดินทางกลับประเทศไทย ได้แก่ ค่าพาหนะ ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็น ตามที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท หากเกินวงเงินที่กำหนด อธิบดีกรมการจัดหางานมีอำนาจสั่งจ่ายเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนฯ

กรณีประสบปัญหาในต่างประเทศ ได้ตามที่จ่ายจริง ภายในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท หากเกินวงเงินที่กำหนด อธิบดีกรมการจัดหางานมีอำนาจสั่งจ่ายเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนฯ ส่วนกรณีประสบอุบัติเหตุ หรือประสบอันตรายก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ มีสิทธิขอรับเงินสงเคราะห์เป็นค่ารักษาพยาบาล ได้ตามที่จ่ายจริงภายในวงเงินไม่เกิน 30,000 ฯลฯ โดยสามารถยื่นคำร้องได้ที่ สำนักงานกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ กรมการจัดหางาน หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ฝ่ายกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ ชั้น 10 อาคารสำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่ 3

(บ้านเมือง, 9-3-2558)

เวียดนามพร้อมส่งคนทำงานไทยในปีนี้ ขอค่าจ้างเท่าคนท้องถิ่นแก้ปัญหาแรงงานเถื่อน

เหวียน แถ่ง ฮวา รัฐมนตรีช่วยกระทรวงแรงงานเวียดนาม กล่าวว่า เจ้าหน้าที่กำลังหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมทั้งการคุ้มครองแรงงาน และค่าแรง
       
“เวียดนามกำลังเรียกร้องให้แรงงานของประเทศได้รับค่าแรงเท่ากับแรงงานท้องถิ่น หรือประมาณ 500 ดอลลาร์ต่อเดือน (ประมาณ 16,000 บาท) สำหรับการทำงานในพื้นที่ห่างไกล 1,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 32,000 บาท) สำหรับการทำงานในพื้นที่พัฒนาแล้ว และสูงกว่านั้นตามเมืองใหญ่” เหวียน แถ่ง ฮวา กล่าว
       
เจ้าหน้าที่รัฐบาลเวียดนามคนเดิมยังกล่าวว่า ไทยมีความต้องการแรงงานสูงในภาคการก่อสร้างและประมง และนายจ้างสามารถจ้างแรงงานเวียดนามได้ภายใต้ข้อตกลงระยะเวลา 2-3 ปี
       
รายงานระบุว่า มีชาวเวียดนามระหว่าง 50,000-100,000 คน ที่ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ภาคกลางทำงานอยู่ในไทยอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งชาวเวียดนามเหล่านี้จะจ่ายเงินให้แก่นายหน้าเพื่อให้ช่วยเหลือในการเดินทางเข้าไทยในฐานะนักท่องเที่ยว และหางานทำหลังจากนั้น
       
สำหรับช่องทางที่ถูกต้องในการเข้าทำงาน ฮวา ให้คำมั่นว่าจะไม่มีความล่าช้าในการเดินเรื่องและแรงงานจะจ่ายเงินค่าธรรมเนียมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยจะตรวจสอบอย่างเข้มงวด และหากพบแรงงานเวียดนามผิดกฎหมายก็จะถูกลงโทษหนัก
       
ฮวา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่คาดหวังว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุปในเดือนนี้ และข้อตกลงการส่งออกแรงงานจะสามารถลงนามกันได้ในเดือน พ.ค. หรือเดือน มิ.ย. ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีเหวียน เติ๋น ยวุ๋ง เดินทางเยือนไทย
       
เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีคำสั่งเกี่ยวกับแรงงานชาวเวียดนาม ให้บรรดาแรงงานผิดกฎหมายในภาคก่อสร้าง ประมง และงานรับใช้ในบ้าน เข้าลงทะเบียนกับทางการเพื่อรับใบอนุญาตทำงานระยะเวลา 1 ปี

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 9-3-2558)

“ทีโอที” จ่อโละ 3,500 คนอ้างลดใช้จ่าย เตรียมเงิน 9 พันล้านจ้างพนักงานให้ออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำโครงการเกษียณอายุก่อนครบ 60 ปีบริบูรณ์ (เออร์ลี่รีไทร์) ประจำปี 2558-2559 เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร และเพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งปัจจุบันทีโอทีมีพนักงานประมาณ 16,500 คน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 13,900-14,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยพนักงานทีโอทีเงินเดือนเฉลี่ย 50,000 บาทต่อเดือน อายุเฉลี่ย 47 ปี อายุงานเฉลี่ย 22 ปี โดยปี 2567 ถ้าไม่มีการรับสมัครพนักงานใหม่ ทีโอทีจะเหลือพนักงานราว 10,000 คน ซึ่งแผนดังกล่าวจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทีโอที พิจารณาในวันที่ 13 มี.ค.2558 นี้

สำหรับแผนเออร์ลี่รีไทร์ ปี 2558 ตั้งเป้าว่า จะมีพนักงานร่วมโครงการ 2,000 คน ใช้เงินงบประมาณเกือบ 6,000 ล้านบาท ปี 2559 ตั้งเป้ามีพนักงานร่วมโครงการ 1,500 คน ใช้เงิน 3,200 ล้านบาท โดยพนักงานที่เข้าร่วมโครงการต้องมีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป และมีอายุงาน 15 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินตอบแทนสูงสุดไม่เกิน 40 เท่าของเงินเดือนงวดสุดท้าย ส่วนพนักงานที่จะเกษียณอายุในปี 2559 จะได้เงินตอบแทน 36 เท่าของเงินเดือนงวดสุดท้าย และเกษียณอายุในปี 2560 จะได้เงินตอบแทน 28 เท่าของเงินเดือนงวดสุดท้าย ทั้งนี้ แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล เพื่อทดแทนคนเกษียณและเข้าร่วมโครงการเออร์ลี่รีไทร์นั้น ผู้บริหารทีโอทีได้เสนอแนวทางดังนี้ คือ ผู้บริหารระดับสูงให้ใช้วิธีการสรรหามืออาชีพ, ปรับเปลี่ยนโยกย้ายพนักงานภายในองค์กรให้เหมาะกับงาน และสรรหาผู้ปฏิบัติงานใหม่ ด้วยวิธีการให้ทุนการศึกษา เป็นต้น แต่ทั้งนี้แผนการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น พนักงานได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก โดยต้องการให้ฝ่ายบริหารตรวจสอบสถานะของพนักงานทุกคนว่า ทำงานจริงจังและคุ้มค่าหรือไม่ เพราะทีโอทีมีพนักงานประจำที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างที่มีระยะเวลากำหนด ลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานจ้างเหมารวมกันมากกว่า 20,000 คน ซึ่งถือเป็นภาระค่าใช้จ่ายอย่างมาก


(ไทยรัฐ, 10-3-2558)

จี้ รบ.ปรับระบบดูแลแรงงานไทยในอิสราเอล แฉถูกเอาเปรียบ สวัสดิการห่วย

นางสุภางค์ จันทวานิช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในวันที่ 13 มีนาคมนี้ ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาสังคม จะเดินทางเข้าพบ นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาแรงงานไทยที่ถูกละเมิดสิทธิในประเทศอิสราเอล โดยล่าสุด มีผลวิจัยขององค์การด้านสิทธิมนุษยชน ในปี 2557 ที่สัมภาษณ์แรงงานไทยจำนวน 173 คน พบปัญหาต่างๆ เช่น ที่พักไม่ถูกสุขลักษณะ ทำงานเกินเวลา ได้รับค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนด และสวัสดิการ อื่นๆเช่น อาหารไม่เพียงพอ ไม่มีหลักประกันด้านสุขภาพ เป็นต้น
       
ทั้งนี้ อยากเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและอิสราเอลเจรจากันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว รวมทั้งในระดับกระทรวงขอให้เร่งหารือกับไอโอเอ็ม เพื่อทบทวนกระบวนการคัดเลือกแรงงาน การติดตามดูแล และการคุ้มครอง โดยให้รัฐบาลอิสราเอลคุ้มครองสิทธิแรงงานไทยตามกฎหมายอิสราเอล นอกจากนี้ขอให้ไทยส่งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปติดตามสภาพปัญหาสุขภาพของแรงงานไทย ตรวจสอบสภาพการทำงานและความปลอดภัยในการทำงานเช่นกลุ่มงานที่ใช้สารเคมี หากภายใน 3 - 6 เดือน ยังไม่ได้รับการแก้ไขขอให้กรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน ระงับการส่งแรงงานไทยไปอิสราเอลจนกว่าจะแก้ปัญหาได้เรียบร้อย
       
นางสุภางค์ กล่าวอีกว่า ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเศรษฐกิจ (ศก.) กระทรวงต่างประเทศ (กต.) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการแรงงาน ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เร่งพิจารณาป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานไทยถูกเอารัดเอาเปรียบ เร่งรัดให้มีการปรับปรุงสภาพการทำงานและการจ้างแรงงานไทยภาคเกษตรโดยเร่งด่วน ดูแลด้านสุขภาพ ที่พักอาศัยให้ถูกหลักอนามัย และเร่งชันสูตรพลิกศพแรงงาน ที่เสียชีวิตกว่า 122 ราย ในระหว่างปี 2551 - 2556 ที่ไม่สามารถระบุสาเหตุการเสียชีวิตได้จำนวน 22 ราย และให้ได้รับการคุ้มครองรวมทั้งค่าชดเชยตามสิทธิ และดูแลให้นายจ้างอิสราเอลปฏิบัติตามกฎหมาย ลงโทษนายจ้างในการละเมิดสิทธิแรงงานพร้อมแจ้งต่อทางการไทย

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 10-3-2558)

สรส.ยื่นร่าง กม.พัฒนารัฐวิสาหกิจให้นายกฯ ขอความชัดเจนปฏิรูป เตือนอาจพลาดเป็นแปรรูป

(10 มี.ค.) ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เมื่อเวลา 10.30 น. กลุ่มสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ประมาณ 30 คน นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สรส. เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านนายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน กรณีขอความชัดเจนในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ
       
ทั้งนี้ สรส.ขอให้รัฐบาลตระหนักถึงการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ หากผิดพลาดอาจจะนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่จะมีผลกระทบอย่างมากต่อประเทศชาติ และประชาชน ดังเช่นการแปรรูป ปตท. และการดำเนินการนโยบายสำคัญครั้งนี้ ขอให้นายกฯ และรัฐบาลควรที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาชน สรส.และสหภาคแรงงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอของ สรส.จะได้รับการพิจารณาจากนายกฯ
       
อย่างไรก็ตาม สรส.ได้แนบร่างพระราชบัญญัติพัฒนารัฐวิสาหกิจแห่งชาติ พ.ศ... ที่ร่างผ่านความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่เป็นองค์กรสมาชิกเพื่อให้นายกฯประกอบการพิจารณา โดย สรส.พร้อมที่จะชี้แจงรายละเอียดประเด็นต่างๆ หากนายกฯ มีประสงค์มา

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 10-3-2558)

ค่ายรถจีเอ็มไทยแลนด์ประกาศปรับลดคนงานลดค่าใช้จ่าย

วันที่ 11 มีนาคมนายวรานนท์ ปีติวรรณ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าบริษัทผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ เตรียมปรับลดพนักงานและกำหนดให้มีวันหยุดเพิ่มเพื่อลดค่าใช้จ่าย ว่า จากการติดตามข้อมูลพบว่ามีเพียงบริษัท บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด(จีเอ็ม) เท่านั้นที่ประกาศปรับโครงสร้างพนักงานโดยให้ลาออกตามความสมัครใจ ร้อยละ 30 ของพนักงานทั้งหมด ภายในสิ้นเดือนมีนาคม

เป็นผลสืบเนื่องมาจากการลดขนาดธุรกิจในประเทศไทย กสร.จะติดตามว่าพนักงานกลุ่มนี้ได้รับค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หรือไม่แต่เชื่อว่าน่าจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายเนื่องจากเป็นบริษัทต่างชาติ มีระบบการจ้างงานที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ส่วนค่ายรถยนต์อื่นๆ ยังไม่มีสัญญาณเตือนว่าจะมีการปรับลดจริงหรือไม่ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ก็อยู่ระหว่างเฝ้าติดตามว่าจะมีการปรับลดพนักงานหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุนบางส่วนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสถานการณ์การเลิกจ้างยังไม่อยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด แต่กสร.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จากสถิติผู้ประกันตนที่มาขึ้นทะเบียนกรณีว่างงานในเดือนมกราคมที่ผ่านมามีจำนวนทั้งหมด 45,705 คน แบ่งเป็นลาออกจำนวน 37,895 คนและถูกเลิกจ้างจำนวน 7,810 คน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่าเพิ่มขึ้นจำนวน 5,295 คน คิดเป็นร้อยละ 13.10 โดยมีผู้ที่ลาออกเพิ่มขึ้นจำนวน 4,017 คน และถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นจำนวน 1,278 คน

ด้าน นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมรถยนต์ขณะนี้อยู่ในสถานการณ์ทรงตัว มีการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่บ้างบางส่วน แต่ก็มีรถยนต์ที่ผลิตสต็อกไว้ซึ่งยังต้องมีการระบายออกสู่ตลาด อีกทั้งมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องยานยนต์ เช่น เบาะรถยนต์ ได้ย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนการปรับลดพนักงานนั้นทราบว่า บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มีการปรับลดพนักงาน ในขณะที่บางบริษัทปรับลดพนักงานเหมาช่วง(ซับคอนแทรค)และหลายบริษัทก็มีการปรับลดระยะเวลาโอที ทำให้รายได้ลดลง นอกจากนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือค่ายรถยนต์หลายแห่งมีการจ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น โดยอาศัยระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทำให้คนไทยถูกแย่งงาน

“ที่ผ่านมามีบางบริษัทกดดันให้พนักงานคนไทยลาออกเพื่อนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานแทน เนื่องจากไม่มีอำนาจในการต่อรอง ทั้งที่ปัจจุบันคนไทยยังว่างงานเป็นจำนวนมาก” นายยงยุทธ กล่าวและว่า เครือข่ายแรงงานเตรียมขอเข้าพบ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อขอหารือในเรื่องนี้ต่อไป

(มติชนออนไลน์, 10-3-2558)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net