Skip to main content
sharethis

นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพกรุงออสโล (PRIO) เขียนบทความในเว็บไซต์อีสเอเชียฟอรั่ม ระบุถึงกรณีที่ฝ่ายชาวพุทธชาตินิยมที่มีท่าทีเกลียดชังชาวมุสลิมในพม่าพยายามผ่านร่างกฎหมายที่มีการกีดกันผู้หญิงและกีดกันทางศาสนา รวมถึงการยุยงที่ชวนให้กังวลว่าจะส่งผลต่อการเลือกตั้งภายในอีกไม่นานนี้


16 มี.ค. 2558 มาร์ต นีลเซน นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพกรุงออสโล (PRIO) เขียนบทความถึงสถานการณ์ในพม่า ที่ถึงแม้ว่ากำลังจะมีการจัดการเลือกตั้งภายในปีนี้ซึ่งเป็นบททดสอบสำคัญในการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย แต่ร่างกฎหมายต่างๆ ที่กำลังพิจารณาอยู่ในที่ประชุมสภาแห่งสหภาพ (Assembly of the Union parliament) ก็กำลังทำให้พม่าล้าหลังลงในแง่เสรีภาพทางศาสนาและสิทธิสตรี โดยอาจจะทำให้มีการแบ่งแยกทางศาสนามากขึ้นในพม่าและอาจจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงก่อนหน้าการเลือกตั้ง

นีลเซนระบุว่ากลุ่มขบวนการชาวพุทธชาตินิยมในพม่าพากันวิ่งเต้นเพื่อให้มีการออกกฎหมายเหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "มะบ๊ะต๊ะ" (Ma Ba Tha) หรือ "องค์กรปกป้องเชื้อชาติและศาสนา" ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ไม่เหมือนกับกลุ่ม 969 (กลุ่มชาวพุทธชาตินิยมจัดอีกกลุ่มหนึ่งในพม่าที่เคยนำฝูงชนก่อจลาจลในเมืองมิตติลา) องค์กรมะบ๊ะต๊ะรวบรวมรายชื่อ 1 ล้านรายชื่อเรียกร้องให้มีกฎหมายปกป้องพระพุทธศาสนาจากศาสนาอิสลามซึ่งพวกเขากล่าวหาว่าเป็นภัย

นีลเซนชี้ว่าควรมีการพิจารณาร่างกฎหมายนี้โดยคำนึงถึงความรุนแรงทางเชื้อชาติและศาสนาที่มาจากกลุ่มชาวพุทธที่กระทำต่อชาวมุสลิมโดยเฉพาะเหตุการณ์ในรัฐยะไข่ (Rakhine) ที่มีกลุ่มชาวพุทธไล่เผาบ้านและสังหารชาวมุสลิมหลายพันคน

บทความระบุว่า ความคิดเชิงต่อต้านมุสลิมไม่ใช่เรื่องใหม่ในพม่า เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่ช่วงสมัยอาณานิคมแล้วเมื่อมีชาวเมียนมาร์จำนวนมากอพยพมาจากอินเดีย ทำให้มีการโจมตีชุมชนชาวฮินดูและมุสลิมหลายชุมชน และนำศาสนาพุทธกับแนวคิดชาตินิยมมาผูกติดกันจนศาสนาพุทธกลายเป็นอัตลักษณ์ประจำชาติได้ แต่การยุยงส่งเสริมความรุนแรงต่อชาวมุสลิมโดยกลุ่มชาตินิยมชาวพุทธในพม่ายุคปัจจุบันเป็นอันตรายตรงที่มีคนจ้องใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองอยู่ เพราะมันอาจจะถูกใช้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจคนจากการร่างรัฐธรรมนูญแบบไม่เป็นประชาธิปไตยและจากกองทัพ ทำให้กลายเป็นผลประโยชน์ต่อกลุ่มที่ไม่สนับสนุนประชาธิปไตยได้

กฎหมาย 4 ฉบับที่มีการนำเสนอต่อสภาแห่งสหภาพ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยการสมรสของสตรีชาวพุทธ, กฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนศาสนา, กฎหมายว่าด้วยการควบคุมประชากร และกฎหมายผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งร่างกฎหมายเหล่านี้ถูกวิจารณ์โดยกลุ่มด้านสิทธิพลเมืองและกลุ่มสตรีทั้งในพม่าและในต่างประเทศเช่นกลุ่ม '180 เมียนมาร์' ซึ่งเป็นกลุ่มประชาสังคมที่แสดงการต่อต้านกฎหมายนี้และมีการส่งแถลงการณ์ต่อต้านต่อสภา

นีลเซนระบุถึงกฎหมายว่าด้วยการสมรสว่าเป็นการเปิดโอกาสให้พ่อแม่ควบคุมผู้หญิงได้ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวระบุว่าผู้หญิงชาวพุทธจะต้องขออนุญาตจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองตามกฎหมายก่อนถึงจะแต่งงานกับคนศาสนาอื่นได้ และนอกจากนี้จะต้องได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่ทางการของเมืองนั้นๆ ด้วย หลังจากที่มีการประกาศแผนแต่งงานต่อสาธารณะล่วงหน้า 2 สัปดาห์ ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการคัดค้านการแต่งงานข้ามศาสนา

นอกจากนี้ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่สิทธิมนุษยชนต่อกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนศาสนาซึ่งห้ามไม่ให้บุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปีเปลี่ยนศาสนา และคนที่อายุผ่านเกณฑ์แล้วก็ยังต้องขออนุญาตจากทางการซึ่งต้องผ่านกระบวนการสัมภาษณ์หลายครั้งในช่วงเวลา 2-3 เดือน เพื่อให้รู้ว่าบุคคลที่ต้องการเปลี่ยนศาสนามีความคุ้นเคยและมีความเชื่อในศาสนาที่เขากำลังจะเปลี่ยนไปนับถือนั้นหรือไม่

ส่วนกฎหมายว่าด้วยการควบคุมประชากรซึ่งมีการผ่านร่างสภาสูงในพม่าแล้วเป็นกฎหมายที่อนุญาตให้มีการควบคุมจำนวนประชากรบางกลุ่มอย่างเข้มงวดถ้าหากประชากรกลุ่มดังกล่าวมีอัตราการเติบโตสูงกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ ซึ่งนีลเซนมองว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่จะถูกนำมาจำกัดใช้กับชาวโรฮิงญา

นีลเซนระบุว่ากฎหมายอีกฉบับหนึ่งคือกฎหมายว่าด้วยผัวเดียวเมียเดียวค่อนข้างชวนให้ถกเถียงน้อยกว่าเพราะเป็นกฎหมายที่มีใช้หลายแห่งในโลก โดยอาจจะขัดกับสิ่งที่ชาวมุสลิมอนุญาตให้ทำได้ แต่อย่างไรก็ตามถ้ามีการสั่งบังคับใช้กับประชากรทั้งหมดก็จะส่งผลต่อสังคมพม่าอย่างมากเพราะกฎหมายนี้ระบุให้ลงโทษการอยู่ร่วมกันกับผู้ที่ไม่ใช่คู่สมรสด้วย

นีลเซนระบุว่าถึงแม้การพิจารณาผ่านร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับอาจจะยังไม่เสร็จสิ้นง่ายๆ ภายในช่วงปิดประชุมกลางเดือน มี.ค. นี้ แต่ก็เป็นการเพิ่มความขัดแย้งทางศาสนาและส่งผลเสียหายต่อกระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยของพม่าที่มีความเปราะบาง หรือเลวร้ายกว่านั้นอาจจะทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อต้านชาวมุสลิมก่อนช่วงเลือกตั้งได้

นอกจากนี้นีลเซนยังระบุว่า การเรียกร้องของกลุ่มสุดโต่งทางศาสนาพุทธยังเป็นการนำศาสนามาเบี่ยงเบนความสนใจจากประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญกว่าอย่าง การจ้างงาน การศึกษา การสาธารณสุข สิทธิในการครอบครองที่ดิน การทำให้เป็นประชาธิปไตย การแบ่งสรรอำนาจ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการเบี่ยงเบนความสนใจนี้มีแต่พรรคยูเอสดีพีซึ่งเป็นพรรคที่มาจากผู้นำทหารและกองทัพพม่าเองเท่านั้น ขณะที่พรรคเอนแอลดีซึ่งเป็นพรรคที่เคยหนุนประชาธิปไตยและสิทธิด้านต่างๆ จะได้รับผลทางลบ และอาจจะเสียการสนับสนุนได้ถ้าหากการสร้างกระแสเกลียดชังทางศาสนาได้ผล

นีลเซนระบุอีกว่ามีความเสี่ยงในช่วงก่อนเลือกตั้งในพม่าที่ผู้เล่นการเมืองที่มีอิทธิพลจะใช้เป็นเครื่องมือสร้างความบาดหมางระหว่างศาสนาหรือเลวร้ายกว่านั้นคือการยุยงให้เกิดความรุนแรงเพื่อสร้างการสนับสนุนให้ตนเอง

เรียบเรียงจาก

Buddhist nationalism threatens Myanmar’s democratic transition, East Asia Forum, 12-03-2015
http://www.eastasiaforum.org/2015/03/12/buddhist-nationalism-threatens-myanmars-democratic-transition/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net