Skip to main content
sharethis


สุรพศ และ ถนอมสิงห์

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 ณ ห้องสมุดสันติประชาธรรม เจริญนคร มีการจัดเสวนา "บทบาทธรรมกายกับสังคมไทย" วิทยากรโดย สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านพุทธศาสนา อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาหัวหิน และ ถนอมสิงห์ โกศลนาวิน มูลนิธิหยดธรรม เชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย วริศ ลิขิติอนุสรณ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC)

เริ่มต้น วริศ ลิขิติอนุสรณ์ ตั้งคำถามกับวิทยากรทั้งสองด้วยประเด็นว่าธรรมกายเป็นปัญหาอย่างไรต่อสังคม

สุรพศ ทวีศักดิ์ กล่าวว่า จากการถกเถียงคงอยู่ที่สองประเด็นหลัก หนึ่ง เสรีภาพทางศาสนา สอง ความถูกผิดทางศาสนา แง่ของเสรีภาพเป็นแง่ที่ยกข้างธรรมกายว่าไม่เห็นจะผิดอะไรเลย ธรรมกายก็มีเสรีภาพที่จะตีความ ที่จะเผยแพร่ศาสนาตามแนวทางของเขาตามเสรีภาพของศาสนา และทางมหาเถรสมาคมไม่ควรมีอำนาจอะไรไปเอาผิดธรรมกายได้ทั้งแง่เสรีภาพทางศาสนาทั้งตัวคำสอนและการทำผิดธรรมวินัยไม่น่าไปเอาผิดอะไรธรรมกายได้

ส่วนตัวเวลาพูดถึงเสรีภาพทางศาสนา ความหมายคือการเลือกที่จะนับถือหรือไม่นับถืออะไรก็ได้ หรือจะเป็นการปฏิเสธที่จะไม่เชื่อศาสนาก็ได้ สำหรับพุทธศาสนา ฆราวาสค่อนข้างมีเสรีภาพมากในเรื่องของการปฏิบัติตามหลักศาสนา ไม่มีการบังคับ เช่นเรื่องศีลห้าจะปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ สมมติว่าเราปฏิบัติได้แค่ไหนก็ตามแต่เราจะเลือก ยกตัวอย่างอาจารย์สุลักษณ์ดื่มไวน์ แต่ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นปัญญาชนทางพุทธศาสนา เป็นเรื่องของเสรีภาพของอาจารย์สุลักษณ์ เพราะการเราที่จะปฏิบัติตามจริยธรรมทางศาสนาก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเรา ไม่มีกฎหมายกฎศาสนาอะไรมาเอาผิดลงโทษได้

ทีนี้ถ้าเป็นพระก็จะต่างจากฆราวาส โดยมีวินัยสงฆ์ที่กำหนดว่าทำอย่างนี้ผิด ทำอย่างนี้ถูก จะมีบทลงโทษในทางวินัยสงฆ์ เช่นปาราชิกสี่ข้อ ถ้าละเมิดก็จะขาดจากความเป็นพระ ไม่เหมือนชาวพุทธที่ทำผิดศีลแล้วไม่ถูกลงโทษ ไม่ขาดจากความเป็นชาวพุทธ

ประเด็นที่สองคือคำสอนผิดจากพระไตรปิฎกหรือผิดวินัยสงฆ์หรือไม่  ในเรื่องสอนผิดจากพระไตรปิฎกหรือไม่ ในแง่พระธรรมนูญก็ให้เสรีภาพ ไม่มีบทลงโทษ สอนผิดก็ไม่มีผลทางกฎหมาย ทีนี้ในแง่หลักของพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกมีบทลงโทษหรือไม่คำตอบคือไม่มี ในหลักของพุทธศาสนามีกรณีของชาวเมืองโกสามพลี ทะเลาะกันจนในที่สุดเกิดความแตกแยกและก็กลับมาปรองดองกันได้ จากนั้นก็มีชาวเมืองไปถามพระพุทธเจ้าว่าควรเชื่อฝั่งไหน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้ากลุ่มไหนปฏิบัติถูกต้องก็ให้เชื่อกลุ่มนั้น ถ้ากลุ่มไหนปฏิบัติไม่ถูกก็ไม่ต้องไปปฏิบัติตาม แปลว่าพระพุทธเจ้าให้ชาวพุทธเลือกเองตัดสินใจเองมีเสรีภาพว่าจะเลือกเชื่อใครไม่เชื่อใคร

สำหรับพระที่สอนผิดก็ไม่มีการลงโทษทางวินัยสงฆ์ให้ปาราชิก ก็คือในแง่สอนผิดสอนถูกของธรรมกายแม้ว่าเราจะบอกว่าเขาสอนผิด ในแง่นี้ของชาวพุทธที่ทำได้คือการวิพากษ์วิจารณ์ แต่จะบอกให้เถรสมาคมหรือรัฐบาลลงโทษเอาผิดเพราะธรรมกายสอนผิดมันทำไม่ได้ ไม่มีกฎหมายหรือพระธรรมวินัยไปเอาผิด สิ่งที่ทำได้คือเตือนกัน เราทำได้แค่วิพากษ์วิจารณ์ ความเชื่อมันห้ามกันไม่ได้

ทางด้านพุทธโทเลี่ยนอาจจะมองว่ากรณีธรรมกายปล่อยให้คนผิดลอยนวลหรือไม่ ยกตัวอย่างกรณีอาจารย์สุลักษณ์ก็ไม่ได้ออกมาเรียกร้องให้เอาผิดเรื่องที่ธรรมกายสอนผิด เพียงแต่วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ ส่วนที่อาจารย์สุลักษณ์ออกมาเรียกร้องให้เอาผิดคือเรื่องทำผิดวินัยสงฆ์ เพราะว่าในเรื่องการยักยอกทรัพย์สามารถเอาผิดทางวินัยสงฆ์ได้ กรณีที่มีการกล่าวหาว่ายักยอกทรัพย์ที่ผิดทางกฎหมายก็มีประเด็นทางวินัยสงฆ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ประเด็นทางกฎหมายก็ดำเนินไปถึงยกฟ้องคืออัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง

ส่วนประเด็นทางวินัยสงฆ์ระบุไว้ชัดเจนว่าภิกษุถือเอาทรัพย์ของคนอื่นที่มีราคา 1 บาทขึ้นไปต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระ วินัยสงฆ์มันไม่ใช่เรื่องของเสรีภาพที่แล้วแต่ใครจะตีความก็ได้ ถ้าไม่อยากทำตามวินัยสงฆ์หรืออยากตีความวินัยสงฆ์ในรูปแบบทำใหม่ ก็คือต้องไปตั้งนิกายใหม่เอง แต่ถ้าคุณบอกว่าคุณคือเถรวาทและยังให้คนเคารพนับถือเป็นพระเถรวาทมาตลอดแล้ววันหนึ่งคุณถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่นเงินแล้วบอกว่าไม่ผิด ฉันตีความใหม่ว่าเท่ากับไม่ปาราชิก คุณพูดแบบนี้ไม่ได้

ในกรณีธรรมกายมีพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราชให้ปาราชิก ต่อมามีมติเถรสมาคมบอกว่าไม่ปาราชิก แล้วก็ทำให้มีข้อถกเถียงกัน ประเด็นที่เถียงกันโดยส่วนตัวตั้งข้อสังเกตว่าทั้งสองฝ่ายก็อ้างพระธรรมวินัยทั้งคู่ ถามว่าทำไมไม่ทำตามพระธรรมวินัย นั่นคือการจะตัดสินใจว่าใครปาราชิกหรือไม่จะต้องทำตามหลักสัมมุขาวินัยหมายความว่าตัดสินต่อหน้าโจทก์และจำเลยทั้งผู้กล่าวหาและถูกกล่าวหา ไต่สวนโจทก์และจำเลยเอามาหักล้างกัน  ถ้าตัดสินลับหลังยังไม่ได้ไต่สวน ตัดสินล่วงหน้าโดยไม่ให้โอกาสคนที่ถูกกล่าวหามาแก้ต่างให้ตนเอง คำตัดสินจะถือเป็นโมฆะ เพราะฉะนั้น พระลิขิตพระสังฆราชก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักพระธรรมวินัยตามหลักสัมมุขาวินัย มติมหาเถรสมาคมก็เป็นการตัดสินลับหลังก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักสัมมุขาวินัย นี่คือปัญหา มันก็จบไม่ได้
 
“ชาวบ้านสามารถตรวจสอบพระได้คือสี่ข้อปาราชิก หนึ่งห้ามฆ่ามนุษย์ เป็นพระฆ่ามนุษย์ไม่ได้คือมีความเป็นพระหากฆ่ามนุษย์ก็หมดจากความเป็นพระ สองคือห้ามเสพเมถุนหรือมีเพศสัมพันธ์ เป็นพระเถรวาทคือเสพเมถุนไม่ได้ แต่ถ้าคุณเป็นพระนิกายอื่นเป็นพระญี่ปุ่นคือคุณเสพเมถุนได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง สามพระคอร์รัปชั่นเงินผู้อื่นตั้งแต่ 1 บาทขึ้นไปนี้ไม่ได้ ถ้าทำแบบนั้นเท่ากับชาดจากความเป็นพระ สี่คืออวดว่าตนเป็นอรหันต์ อวดด้วยเจตนาว่าหากินกับศรัทธาชาวบ้าน หลอกลวงให้คนมาเลื่อมใสแสวงประโยชน์จากตรงนั้น ชาวบ้านสามารถตรวจสอบได้สี่ข้อ เป็นความรับผิดชอบขั้นพื้นฐาน” สุรพศกล่าว

จากนั้น ถนอมสิงห์ โกศลนาวิน ได้ให้ความเห็นว่า ธรรมกายเกี่ยวข้องกับสังคมไทย ในสองบริบท หนึ่งคือเรื่องของศาสนา ชัดเจนว่าพระอาศัยศาสนาหากิน แต่ว่าพระทุกรูปก็เป็นแบบนั้นหากินกับศรัทธาชาวบ้าน เพราะฉะนั้น เวลาพระก่อนบวชก็มีกฎมีวินัย เช่น ถ้าเป็นโรคแบบนี้บวชไม่ได้ และเหมือนกับมีการกรองมาชั้นหนึ่งแล้วว่าหลังบวชต้องทำตัวอย่างไรในแง่ของเถรวาทประเทศไทยคือแบบนี้ พอยอมรับที่จะเป็นแบบที่สังคมไทยต้องการเป็นแบบในเถรวาทไทย ก็จะสามารถอนุญาตให้บวชได้ เราก็จะถือว่าพระทุกรูปเข้ามาในลักษณะแบบเดียวกันที่จะอาศัยศาสนาในแบบเดียวกันหากิน

ในสมัยพระพุทธเจ้าก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ในสมัยนี้ก็จะถือว่าเอาพระไตรปิฎกเป็นเกณฑ์ และพระไตรปิฎกในที่นี้ก็คือเอาพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นเกณฑ์ แต่ว่ามันก็จะมีการแปลเป็นภาษไทยในหลายเวอร์ชั่น อาจคลาดเคลื่อนกันเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ดีก็ไม่ได้มีสาระสำคัญเพราะพระไตรปิฎกแทบจะไม่ต่างกันเลยในสายเถรวาทแม้แต่ในพม่าหรือศรีลังกาก็ผิดกันอยู่นิดหน่อย อย่างเช่นไทยและพม่าต่างกันแค่ 11 บรรทัด และเวลาสวดสำเนียงไม่เหมือนกันแต่เนื้อหาเหมือนกันหมด ในเถรวาทใช้แบบนี้เป็นหลักเพราะว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปนานแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ที่เชื่อได้ที่สุดก็คือพระไตรปิฎก จะถูกหรือผิดเถรวาทก็เชื่อแล้วว่าคำว่าเถระคือพระเถระ 500 รูปได้ทำการสังคายนาครั้งที่ 1 หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปสามเดือน นี่คือสิ่งที่เถรวาทเรายึดถือมา ถึงอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงอะไรก็ตาม แต่ว่าพระไตรปิฎกครั้งแรกที่ถูกจารึกเมื่อสมัยนั้น คือสิ่งที่ชาวพุทธเถรวาททั่วโลกยึดถืออยู่เป็นสากลแต่ทำแค่ไหนเป็นอีกเรื่อง บางที่อาจตกหล่นไปบ้างแต่ว่าไม่ต่างกันเยอะ

ในกรณีของธรรมกายปัญหาคือ หนึ่งคือเปลี่ยนที่ตัวพระไตรปิฎก ตัวหลักของพระพุทธศาสนาจะสอนถึงลักษณะสามอย่างคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หมายถึง ความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง และความไม่ใช่ตัวตน แต่ธรรมกายเปลี่ยนที่แก่นตรงนี้เลย คือ ความเที่ยง เป็นความเปลี่ยนแปลง และเป็นความเป็นตัวเป็นตน เปิดไปหนังสือเล่มไหนของธรรมกายก็จะเจอ สองคือธรรมกายระดมพระเปรียญธรรมแล้วเขียนพระไตรปิฎกของตัวเองขึ้นมา ปรับเปลี่ยนหลายจุดในพระไตรปิฎกอาศัยวัดปากน้ำในการชำระอยู่ตลอดเวลา มีการระดมพระมาจากทั่วโลกทั้งพม่า ศรีลังกามาทำสังคายนาพระไตรปิฎกใหม่ ให้เงินเดือนรูปละ 30,000 บาท จ้างมาให้ช่วยอ่านทำสังคายนา ทำพระไตรปิฎกหินอ่อนไว้ที่พุทธมณฑล ซึ่งเป็นความเชื่อของตนเองถูกผิดไม่มีใครไปตรวจสอบ ถ้าเกิดวันหนึ่งประเทศไทยน้ำท่วมต่างๆ นานาไป เราก็จะมีพระไตรปิฎกที่เหลืออยู่เป็นพระไตรปิฎกหินอ่อน เป็นเรื่องศาสนาล้วนๆ

ในส่วนของการผิดวินัยเอาไว้อีกเรื่องหนึ่ง เอาเรื่องแก่นคำสอนก่อน การสร้างความชอบธรรมของธรรมกายโดยการอิงหลวงพ่อสดว่าเป็นครูบาอาจารย์ ว่าหลวงพ่อสดสอนมาแบบนี้ ทั้งๆ ที่หลวงพ่อสดก็ยอมรับว่าเคยสอนแบบนี้จริง แต่สอนผิด แล้วก็เขียนไว้ที่วัดมหาธาตุว่าความจริงตนสอนผิด และของถูกเป็นอย่างไร แต่ว่าธรรมกายไม่เอาส่วนนั้นมาเพราะถือว่าหากินได้แล้ว และนำเอาแม่ชีจันขนนกยูงมาขายต่ออันนี้เป็นเรื่องศาสนา ใช้ศาสนาเพื่อบอกบุญหาเงิน ชาวบ้านคนไทยไม่ได้สนใจว่าพุทธศาสนาสอนอะไรในแง่ลึกๆ เอาแค่ว่าวันนี้ฉันมีปฏิสัมพันธ์กับคน ฉันอยู่สบายแค่นี้ก็พอแล้ว คนไม่ได้อยากจะนิพพาน เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่สนใจว่าผิดตรงแก่นแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป เอาแค่หลักพุทธมีศีลห้า

ธรรมกายเล่าทุกอย่างทำเป็นนิทานลงศีลห้าหมดเลย หากคุณปวดหัวธรรมกายก็จะมีคำตอบในแบบนิทานที่ตายตัวว่าสาเหตุของการที่คุณปวดหัวมาจากชาติที่แล้วคุณทำ “กรรมสุรา” ไว้หรือรอบนี้คุณบาดเจ็บชาติที่แล้วคุณไปทำร้ายคนอื่นเขามีคำตอบที่โยงเข้าหลักของศีลห้าหมดเลย ตรงนี้โดยส่วนตัวมองว่ามีการเอาศาสนาไปใช้ในแง่มุมที่เหมือนจะถูกตามนิยายของศาสนาทั้งหลายเพราะเขาอ้างตัวว่าเป็นผู้มีคุณวิเศษ ไม่ถูกตามจริยธรรม ถ้าคุณเคยดูของธรรมกายเขาจะบอกว่าหลับฝันเป็นตุเป็นตะ ตื่นขึ้นมามีหาวหนึ่งตื่นเป็นนิยาย เริ่มทำนายเริ่มอ่านว่าคนคนนี้ที่เขียนจดหมายมาหาเขานี้บอกว่าลูกป่วยลูกบาดเจ็บพ่อปวดหัวตัวร้อนเกิดขึ้นเพราะอะไร บอกไปว่าลูกปวดหัวเพราะว่าลูกเคยไปทำกรรมสุรามา เจ็บตัวเพราะเคยไปทำร้ายคนอื่นมา คือเขาอาจะพูดในมุมที่เราก็รู้สึกว่าเป็นนิทานแต่เจตนาผู้คนก็ดูออกก็รู้ว่าคือการพยากรณ์ บอกว่าตนเองมีคุณวิเศษที่จะบอกได้ว่าใครเป็นอย่างไรเพราะอะไร ซึ่งสังคมไทยก็ไม่ได้สนใจ ถ้าสังคมไทยสนใจจริงอย่างเจน ญาณทิพย์และริว จิตสัมผัส พวกนี้คงไม่ได้เกิด และในส่วนที่สอง ส่วนอันนั้นคือในส่วนที่มีการเอาศาสนามาใช้โดยมีเอฟเฟคต่อชีวิตของคนแล้วมาสร้างศรัทธาและภาพที่มันสวยงามก็คือเรามาทำบุญกันเยอะๆ นะ และเราก็ช่วยกันมาเป็นสมาชิกเยอะๆ คือความจริงแล้วทุกวัดทำแบบนี้ เพียงแต่ธรรมกายทำสวยงามและอลังการกว่า

มีประเด็นที่ส่วนตัวแล้วสนใจไม่ได้มองในแง่ของศาสนา สิ่งที่ธรรมกายมีบทบาทกับสังคมชัดเจนคือธรรมกายไม่ได้ทำงานเฉพาะด้านศาสนา ธรรมกายทำงานในด้านของการสร้างพื้นที่ทางสังคมจำนวนมาก ขอให้ลืมภาพธรรมกายที่เป็นวัด ลองนึกธรรมกายเป็นแฟรนไชส์มินิมาร์ท และวัดอื่นๆ เป็นโชห่วย ธรรมกายจะเริ่มเอาเงินไปให้กับวัดในชุมชนหรือชวนเขามาเป็นพันธมิตรอัดฉีดเงินเข้าไป แล้วเข้าไปเทคโอเวอร์วัดและเข้าไปซื้อพื้นที่รอบวัด สำหรับสร้างโบสถ์สร้างวิหาร หลังจากนั้นจะมีบริษัทของนักการเมือง เข้าไปซื้อที่ในหมู่บ้านเป็นร้อยไร่พันไร่ เพื่อไล่คนยากคนจนออกจากชุมชน และก็สร้างรีสอร์ทสำหรับการปฏิบัติธรรมสำหรับสมาชิกเท่านั้น นอกจากนี้ธรรมกายยังทำอะไรอีก รู้จักบริษัทมอนซานโต้กันหรือไม่ มอนซานโต้เป็นบริษัทที่ทำเรื่องการตัดแต่งพันธุกรรมของสัตว์ของพืชผล บริษัทพวกนี้ก็จะมีการสร้างเครือข่ายกับบริษัทจำพวกปุ๋ย โฆษณาบริษัทอะไรต่างๆ ธรรมกายก็ทำ ธรรมกายก็สร้างเครือข่ายกับบริษัทใหญ่ๆ เช่น บริษัทเกี่ยวกับก่อสร้าง ขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อ บริษัทใหญ่ๆ รีสอร์ทใหญ่ๆ บริษัทน้ำอัดลม ชาเขียว การทำถนน แม้แต่ดารา เพื่อเวลามาถึงธรรมกายก็จะเป็นแพคเกจ

เวลาใครอยากก่อสร้าง อยากสร้างวัดไม่มีตังค์ อยากก่อสร้าง แต่ไม่มีทุน เขาก็บอกว่าไม่เป็นไรจะทำการหาทุนให้ ก็เขาไปให้ผู้นำบุญของธรรมกาย ผู้นำบุญก็จะเข้าไปธรรมกายไปบอกบุญ ว่าวัดต่างจังหวัดอยากได้ศาลา ธรรมกายก็ตกลงจัดการให้ ระดมทุน 30 ล้านไปสร้างศาลาที่วัดใดวัดหนึ่ง เวลานี้ที่บริษัทต่างๆ ที่เข้ามาเป็นลูกโซ่ก็จะเข้ามาพร้อมๆ กับบริษัทน้ำ-ไฟ บริษัทก่อสร้าง เข้ามาเป็นแพคเกจ เงินตรงนี้เจ้าอาวาสไม่ต้องรู้ไม่ต้องแตะต้องว่ามาจากไหนอย่างไร รู้เท่านี้ว่าคนนี้เป็นเจ้าภาพอย่างเดียว ภายในวัดก็จะมีการอนุโมทนา วัดก็ได้ศาลาใช้ สักพักเดียวเท่านั้น ธรรมกายก็เอาโครงการมาลง บวชแสนรูป ทั้งอุบาสก อุบาสิกา สามเณร เจ้าอาวาสก็รู้สึกไม่ดี ขอใช้พื้นที่ จากนั้นธรรมกายเอาสำนักงานมาลงเลย ที่ไม่พอธรรมกายแก้ปัญหาโดยการซื้อที่เพิ่มเป็นลักษณะเหมือนโรงงานอุตสาหกรรมพอธรรมกายมาลงทุน คนในพื้นที่ชุมชนเริ่มอยู่ไม่ได้ทำให้ต้องออกไปจากชุมชนชาวบ้านที่เคยมี เคยหารายได้จากชุมชน บ้านไม่ต้อง ก็หาเอาตามท้องนา น้ำก็วิดขึ้นมาหรือประปาหมู่บ้าน ตอนนี้ก็ต้องไปจ่ายค่าเช่าหอ ค่าเช่าบ้าน ค่าครองชีพดูเหมือนแฟร์ แต่ว่าความจริงคือกลไกการตลาดที่คนรวยเอาเปรียบคนจน เพราะเขาไม่ได้มีความรู้ว่าพอเขาออกจากพื้นที่เขาต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ได้เงินจากการขายที่มาสักพักก็ต้องเอาไปจ่ายค่าเช่าบ้าน ออกรถ จ่ายปัจจัยห้าต่างๆ ไม่นานก็หมด ปีสองปีหมด เพราะเขาซื้อบ้านใหม่ เขาไม่ได้เป็นวิศวกร เขาก็ยังเป็นแรงงานอยู่เหมือนเดิม จะจ่ายอะไรก็ไม่ไหว

“สุดท้ายก็กลายเป็นปัญหาสังคมเพิ่มเติม ปล้น ฆ่าตัวตาย ขายตัว เป็นต้น  โดยส่วนตัวคิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ธรรมกายช่วยสร้างปัญหาสังคมขึ้นมาไม่น้อยไปกว่าบรรษัทต่างๆ พวกระบบอุตสาหกรรมใหญ่ๆ” ถนอมสิงห์กล่าว

 

โปรดติดตาม

เสวนา ‘บทบาทธรรมกายกับสังคมไทย’: ตอน เถรวาทแท้? เมื่อธรรมกายใช้เงินซื้อเถรวาทไทย

ที่นี่ เร็วๆ นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net