Skip to main content
sharethis

ญี่ปุ่นซึ่งประเทศที่ได้รับคำชื่นชมในความก้าวหน้าหลายๆ ด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และระเบียบวินัย แต่ในเรื่องหนึ่งที่ญี่ปุ่นด้อยกว่าหลายๆ ประเทศ นั่นก็คือเรื่องความเสมอภาคทางเพศ โดยเฉพาะเรื่องการทำงานและการเมือง

ปัญหาช่องว่างระหว่างเพศทั้งในเรื่องการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและการเมือง เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญในญี่ปุ่น (ที่มาภาพ: japantimes.co.jp)

World Economic Forum ได้ทำการประเมินเรื่องช่องว่างระหว่างเพศ (Global Gender Gap Index) ซึ่งได้ทำการจัดอันดับประเทศต่างๆ โดยใช้มาตรวัดในด้านการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ, ด้านการศึกษา, ด้านสุขภาพและการดำรงชีพ และในด้านการเมือง ในปี ค.ศ. 2014 ญี่ปุ่นถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 104 จาก 142 ประเทศ โดยอันดับ 1 คือไอซ์แลนด์ อันดับ 142 เยเมน และประเทศที่น่าสนใจ ได้แก่ รวันดา ได้อันดับที่ 7 (อันดับสูงสุดของทวีปแอฟริกา) ฟิลิปปินส์ ได้อันดับ 9 (ซึ่งถือเป็นอันดับสูงสุดของเอเชีย) ส่วนไทยอยู่อันดับที่ 61 [1]

ญี่ปุ่นไม่มีช่องว่างระหว่างเพศในเรื่องการศึกษาสุขภาพและการดำรงชีพมากนัก และแม้ว่าญี่ปุ่นจะมีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมกันทางเพศในการจ้างงาน เพื่อห้ามการปฏิบัติที่เป็นการกีดกันผู้หญิงมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 และมีการแก้ไขเพิ่มความเข้มงวดในการใช้ให้จริงจังเมื่อปี ค.ศ. 2006 มาแล้วก็ตาม แต่ยังพบว่าแต่สำหรับเรื่องการทำงานแล้ว ผู้หญิงญี่ปุ่นยังประสบปัญหาที่สะท้อนมากจากวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมที่ฝังลึกรวมทั้งกลไกต่าง ๆ ที่ยังไม่เอื้อต่อการแบ่งเบาภาระทางบ้านของผู้หญิง

 

"ฉันไม่ได้แต่งงาน ฉันไม่ได้มีลูก ฉันเลยทำงานได้เหมือนผู้ชาย แต่ฉันไม่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดี เพราะนี่เป็นค่านิยมทั่วไปของผู้หญิงญี่ปุ่น เราต้องเลือกว่าจะทำงานหรือมีลูก ๆ "

นาโอมิ โคชิ (Naomi Koshi)
นายกเทศมนตรีของเมือง Otsu

"การเลือกตั้งนั้นเป็นเรื่องของผู้ชายมาโดยตลอด มันเป็นสมรภูมิ และเมื่อคุณลงชิงชัยในฐานะเป็นผู้สมัคร คุณก็ต้องเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมของผู้ชายโดยสิ้นเชิง คนส่วนมากไม่เข้าใจหรอกว่าคุณมีปัญหาอะไรมากมาย คุณยังต้องมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว เราจึงต้องให้คำแนะนำและให้กำลังใจพวกเธอ"

คุนิโกะ ทานิโอกะ (Kuniko Tanioka)
นักการเมืองหญิงคนสำคัญจากพรรค Democratic Party of Japan (DPJ)

โดยเฉพาะภาระการเลี้ยงลูกที่ถือว่าเป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้หญิง ในขณะที่สถานรับเลี้ยงเด็กในญี่ปุ่นนั้นยังมีจำนวนน้อยมากรวมทั้งมีราคาสูง ทำให้มากกว่าร้อยละ 60 ของผู้หญิงญี่ปุ่นต้องทิ้งโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ ด้วยการออกจากงานประจำเพื่ออยู่บ้านเลี้ยงลูกและทำงานบ้านหากเธอแต่งงานมีครอบครัว

นายชินโซ อะเบะ (Shinzo Abe) นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของญี่ปุ่น เคยประกาศไว้ว่าจะผลักดันผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานให้มากขึ้น เพราะในปัจจุบันนี้มีผู้หญิงญี่ปุ่นอยู่ในตลาดแรงงานน้อยมากคือประมาณร้อยละ 40 เท่านั้น โดยหนึ่งในกลไกที่นายอาเบะประกาศไว้ก็คือจะเพิ่มสถานที่เลี้ยงเด็กเกิดขึ้นถึง 5 แสนแห่ง เพื่อปลดภาระให้คุณแม่ทั้งหลายเดินหน้าเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ง่ายขึ้น

ด้านทัศนคติของภาคธุรกิจในญี่ปุ่นที่แม้จะยอมลงทุนมากในการฝึกอบรมลูกจ้างพนักงาน แต่ภาคธุรกิจยังติดอยู่กับค่านิยมที่ไม่วางใจที่จะจ้างพนักงานหญิงในระยะยาว เพราะผู้หญิงมักจะต้องลาออกจากงานถ้าแต่งงานหรือมีลูก  การมองแบบนี้ของภาคธุรกิจจึงทำให้ไม่อยากเสี่ยงที่จะจ้างผู้หญิง รวมทั้งค่าตอบแทนจากการทำงานที่ผู้หญิงญี่ปุ่นได้รับเงินค่าจ้างน้อยกว่าผู้ชายถึงร้อยละ 30 แม้ว่าจะทำงานอย่างเดียวกันก็ตาม ส่งผลให้ผู้หญิงรู้สึกไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน และอีกประเด็นก็คือการไต่เต้าขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรต่างๆ เป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับผู้หญิงญี่ปุ่น

 

คนทำงานบ้าน… อีกหนึ่งปัญหา

แรงงานงานแม่บ้านในญี่ปุ่นยังหายากและต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง (ที่มาภาพ: ajw.asahi.com)

จากข้อมูลในปี 2010 พบว่าผู้หญิงญี่ปุ่นที่ทำงานอยู่แล้วประมาณ 1 ใน 3 จะต้องลาออกจากงานเมื่อแต่งงานและมีลูก ซึ่งอีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือการหาแม่บ้านมาทำงานบ้านและเลี้ยงลูกแทนนั้นยากมาก  เนื่องจากบริษัทนายหน้าหางานในญี่ปุ่นจะคิดค่าแรงงานแม่บ้านเป็นรายเดือนในอัตราที่สูง และการที่แม่บ้านญี่ปุ่นไม่ยอมจ้างแม่บ้านเนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงนี้เองพวกเธอจึงต้องยอมลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำงานแม่บ้านแทน

อีกประเด็นที่สำคัญคือลักษณะการจ้างงานแรงงานแม่บ้านจากต่างชาตินั้น ปกติแล้วแม่บ้านชาวต่างชาติจะพักอาศัยอยู่กับครอบครัวนายจ้าง (เช่นในกรณีของฮ่องกง, สิงคโปร์ และไทย) แต่ที่อยู่ในอาศัยในญี่ปุ่นนั้นมีราคาสูงมาก และเพียงพอสำหรับแค่การอยู่อาศัยของครอบครัวนายจ้างเท่านั้น การจ้างแม่บ้านในญี่ปุ่นจึงมีค่าใช้จ่ายโดยรวมสูงมากหากต้องออกค่าที่พักต่างหากให้แม่บ้านชาวต่างชาติ

ทั้งนี้พบว่าบริษัทนายหน้าหางานในญี่ปุ่นจะคิดค่าแรงงานแม่บ้านเป็นรายเดือนในอัตราที่แพงมากประมาณเดือนละ 469 ดอลลาร์สหรัฐในการทำงานเพียงวันละ 3 ชั่วโมง เพื่อทำความสะอาดบ้านในระยะสั้นของแต่ละวัน เทียบกับอัตราค่าจ้างแม่บ้านในฮ่องกงที่ได้เฉลี่ยเดือนละ 517 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ทำงานเต็มวันและอยู่กับนายจ้าง รวมทั้งปัญหาการขอวีซ่าเข้าประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทางการไม่ค่อยออกวีซ่าสำหรับผู้หญิงต่างชาติที่เข้ามาทำงานในฐานะแม่บ้านมากนัก

ญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงน้อยที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

จากอันดับ Global Gender Gap Index 2014 ที่กล่าวไปแล้วว่าภาพรวมของญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 104 จาก 142 ประเทศนั้น เมื่อลงลึกในมาตรวัดต่างๆ พบว่าในด้านการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจอันดับที่ 102 และด้านการเมืองญี่ปุ่นได้อันดับ 129 เลยทีเดียว (ส่วนด้านการศึกษาอันดับที่ 93 และด้านสุขภาพและการดำรงชีพอันดับที่ 37) [2]

ส่วนในภาครัฐแม้ว่าเมื่อปี ค.ศ. 2014 ที่ผ่านมา นายอาเบะจะเคยสร้างปรากฏการปรับคณะรัฐมนตรีให้มีรัฐมนตรีหญิงมากที่สุดในรอบ 13 ปี คือ 5 คน นับตั้งแต่สมัยนายจุนอิชิโร โคอิสึมิ (Junichiro Koizumi) ในปี ค.ศ. 2001  แต่กระนั้นตำแหน่งในกระทรวงสำคัญๆ ก็ยังคงเป็นผู้ชายอยู่

รวมถึงข่าวคราวการเหยียดเพศในการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติของญี่ปุ่นที่เป็นข่าวอยู่เนืองๆ ก็แสดงให้เห็นว่า สำหรับเรื่องการเมืองแล้วนั้นผู้หญิงญี่ปุ่นคงจะต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรที่จะได้แสดงบทบาทความสามารถในด้านการบริหารของพวกเธอได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้นายอาเบะเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าภายในปี ค.ศ. 2020 ญี่ปุ่นจะมีอัตราผู้หญิงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในองค์กรต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ขณะที่สถิติล่าสุดเมื่อปี 2014 นั้นยังอยู่ที่ร้อยละ 11 ในภาคเอกชน และเชื่อกันว่าในภาครัฐนั้นมีน้อยกว่านี้มาก.

 

เชิงอรรถ

[1] ดูอันดับต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ http://reports.weforum.org/global-gender-gap-report-2014/rankings/

[2] ดูตัวชี้วัดต่างๆ ของญี่ปุ่นโดยละเอียดที่ http://reports.weforum.org/global-gender-gap-report-2014/economies/#economy=JPN

ประกอบการเขียน

Japan Supports US-Led Girls Education Effort, Faces Gender Gap (Brian Padden, VOA, 19/03/2015)
http://www.voanews.com/content/michelle-obama-touts-let-girls-learn-initiative-in-japan/2686535.html

คอลัมน์: BUSINESS WORLD: เมื่อ 'คุณแม่' ต้องไปทำงาน, (โดย อุษณีษ์ สาลิฟา, หนังสือพิมพ์โลกวันนี้, 19/05/2014)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net