เครื่องแบบ: เครื่องบ่งอำนาจ(นิยม)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ผมเข้าใจว่าการใส่เครื่องแบบต่อสาธารณชนหรือการใส่เครื่องแบบมาทำงาน  โดยเฉพาะเครื่องแบบข้าราชการนั้นเป็นวัฒนธรรมพิเศษจำเพาะของคนไทยที่มีค่านิยมนี้มานาน เห็นได้จาก สำนวนการพูดที่ว่า สิบพ่อค้าไม่เท่าพระยาเลี้ยง เป็นต้น สิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมต่อการประกอบอาชีพข้าราชการได้เป็นอย่างดี ไม่ต้องดูอื่นไกล สามารถดูได้จากการรับสมัครบรรจุข้าราชการในจำนวนจำกัด แต่ปรากฏว่ามีผู้สมัครเป็นจำนวนมาก มีการแข่งขันกันสูงมากทุกครั้ง

การที่ข้าราชการมีเครื่องแบบนั้นใส่ไม่ใช่เรื่องแปลก ในนานาประเทศก็มีเครื่องแบบข้าราชการเหมือนกัน โดยเฉพาะงานด้านความมั่นคง เช่น ทหาร ตำรวจหรือหน่วยงานด้านความปลอดภัย  ในส่วนของสหรัฐอเมริกาเองข้าราชการหรือพนักงานของรัฐต่างก็มีเครื่องแบบแตกต่างกันออกไปในแต่ละหน่วยงานเช่นเดียวกับพนักงานของรัฐประเทศอื่นๆ

ความสำคัญของเครื่องแบบในประเทศประชาธิปไตยตะวันตกอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกานั้น อยู่ที่การสร้างเครื่องแบบสำหรับอาชีพต่างๆ เป็นไปเพื่อแสดงถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่บุคคลผู้ทำหน้าที่การงานนั้นๆ   ซึ่งในสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ที่จำเป็นต้องแต่งเครื่องแบบส่วนใหญ่คือเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง เช่น ตำรวจ ทหาร  เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)   เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เป็นต้น  เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทนี้จำเป็นต้องพกอาวุธ  และต้องมีการตรวจตราดูแลด้านความปลอดภัย การแสดงตนขณะอยู่ในเครื่องแบบจะทำให้ผู้ถูกตรวจสอบทราบว่าคนที่ตรวจสอบเป็นเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่ผู้ร้ายปลอมตัวมา ส่วนเจ้าหน้าที่หน่วยงานนอกเหนือจากหน่วยงานด้านความมั่นคงก็มีเครื่องแบบอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เห็นการแต่งเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่รัฐด้านที่มิใช่หน่วยงานด้านความมั่นคงมากนัก  ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำงานด้านความมั่นคงแต่งกายสุภาพธรรมดาๆ มิหนำซ้ำหลายหน่วยงานทั้งของรัฐบาลกลางและท้องถิ่นอนุญาตให้พนักงานแต่งกาย รวมถึงการไว้ทรงผมตามสบาย 

นอกเหนือไปจากที่ในอเมริกาเองเครื่องแบบครูก็ไม่มีให้ดูชมกันแต่อย่างใด

การใช้เครื่องแบบของเจ้าหน้าที่รัฐด้านความมั่นคงตามแบบวัฒนธรรมอเมริกันจึงไม่ได้สะท้อนถึงลักษณะความเป็นอำนาจนิยมเหมือนดังวัฒนธรรมไทยแต่อย่างใด การใส่เครื่องแบบพนักงานรัฐของอเมริกันถูกกฎหมายขีดให้อยู่ในกรอบเวลาและสายสัมพันธ์บังคับบัญชาระหว่างพนักงานในองค์กรเดียวกัน พ้นจากเวลาทำงานไปแล้วพนักงานของรัฐก็คือพลเมืองธรรมดาคนหนึ่ง มีสิทธิเท่ากันกับพลเมืองธรรมดาคนอื่นๆ  ตัวอย่าง นายทหารระดับผู้บัญชาการกองกำลัง (Base) ยืนต่อแถวเข้าคิวร่วมกับทหารยศต่ำกว่าหรือร่วมกับประชาชนทั่วไปรอซื้อของในร้านบีเอ็กซ์ (Base exchange) โดยปราศจากการสำแดงอภิสิทธิ์แม้แต่กับบุคคลในหน่วยงานเดียวกัน (ที่มีการทำงานแบบสายบังคับบัญชา) อาจเป็นเรื่องแปลกสำหรับวัฒนธรรมข้าราชการไทย ที่มักมีคำอ้าง “ผู้ใหญ่ต้องมาก่อน” อยู่เสมอ รวมถึงคำว่า “ต้องให้เกียรติต่อผู้ใหญ่” ก็เช่นกัน

เครื่องแบบพนักงานของรัฐในความหมายของวัฒนธรรมอเมริกัน เป็นแค่เครื่องหมายแห่งการทำหน้าที่การงานอาชีพนั้นๆ ไม่ได้มีความหมายแห่งความสัมพันธ์กับพลเมืองคนอื่นๆ เชิงอำนาจนิยม เช่น การตีตนเหนือกว่าพลเมืองคนอื่นๆ การรับบริการสาธารณะก่อนพลเมืองคนอื่นๆ  หรือการได้รับอภิสิทธิ์เหนือกว่าพลเมืองคนอื่นๆ โดยทั่วไป หากเมื่อหมดจากหน้าที่การทำงานแล้ว หรือไม่อยู่ในสายงาน ความสำคัญของเครื่องแบบพนักงานของรัฐก็ย่อมหมดความหมายหรือหมดความสำคัญเชิงหน้าที่การลงไปด้วย เช่น (เครื่องแบบ) ทหารหรือตำรวจ เมื่อออกนอกค่ายหรือที่ทำงานบุคคลในเครื่องแบบด้านความมั่นคงปลอดภัยเหล่านี้ก็คือพลเมืองคนหนึ่งเท่ากับคนอื่น แม้อยู่ในเครื่องแบบก็ตาม แต่ไม่มีความสำคัญในแง่ของ “อำนาจข่มทับ” หรือ “การแสดงความเหนือกว่า” พลเมืองคนอื่นแต่ประการใด มิหนำซ้ำยังต้องระมัดระวังตัวมากกว่าพลเมืองทั่วไปเสียด้วยซ้ำ ดังบางรัฐเช่น รัฐเนวาดา กำลังจะออกกฎหมายบังคับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดกล้อง (แบบเคลื่อนที่) ไว้กับตัวตลอดเวลาของการทำงาน ไม่รวมถึงการติดกล้องไว้ในรถตำรวจแทบทุกคันที่นิยมทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว

เครื่องแบบของพนักงานหรือของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นตัวสะท้อนถึงวัฒนธรรมอเมริกันที่งอกเงยขึ้นมาภายหลัง  โดยพัฒนามาจากงานด้านความปลอดภัย  ในยุคสมัยคาวบอยช่วงแรกๆ นายอำเภอยังไม่มีเครื่องแบบด้วยซ้ำ มีแต่ตราสัญลักษณ์เพื่อแสดงว่าเป็นนายอำเภอเท่านั้น เมื่อจะจับผู้ร้ายหรือสืบสวนสอบสวนคดีความต่างๆ ก็แสดงตราสัญลักษณ์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ถึงทุกวันนี้นอกจากเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงปลอดภัยแล้ว หน่วยงานรัฐอเมริกันส่วนใหญ่ประเภทที่ไม่ต้องใช้อาวุธ แม้บางหน่วยงานมีเครื่องแบบ แต่ก็แทบไม่มีพนักงานใส่เครื่องแบบมาทำงาน มีแค่ป้ายแขวนไว้ที่หน้าอกบอกชื่อ และหน้าที่หรือตำแหน่งเท่านั้น เมื่อเลิกงานก็ปลดป้ายออก

ลักษณะของวัฒนธรรมอเมริกันดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมของอเมริกันนั้นไม่แคร์ต่อพลังอำนาจที่เกิดจากเครื่องแบบพนักงานรัฐ คนอเมริกันมองว่าเรื่องความเท่ากันของปัจเจกชนมากกว่าอย่างอื่น ตามสำนวนที่แม้แต่พนักงานของรัฐผู้ใส่เครื่องแบบเองก็ชอบพูดว่า “it’s just a job.” –มันก็แค่งานเท่านั้นเอง ไม่มีไรมากไปกว่านี้ เมื่อออกมาอยู่นอกปริมณฑลของงานแล้วทุกคนมีค่าเท่ากันในความเป็นพลเมืองของรัฐ

นอกจากนี้หากสังเกตก็จะพบว่า ความนิยมในเครื่องแบบสอดคล้องกับความนิยมเผด็จการ เผด็จการเอกของโลกอย่างฮิตเลอร์ก็ปลุกระดมบนฐานของการอาศัยเครื่องแบบเป็นตัวเดินเกม เครื่องแบบและเครื่องหมายสัญลักษณ์ของนาซีสะท้อนถึงอำนาจนิยม และเป็นอำนาจนิยมแบบรวมศูนย์อีกด้วย โดยเฉพาะเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีความโดดเด่นสะดุดตามากที่สุด เช่นเดียวกับเครื่องแบบของรัฐราชการฟาสซิสต์อิตาเลียนภายใต้การนำของมุสโสลินี

หากพิจารณาวัฒนธรรมเครื่องแบบในบางประเทศ อย่างเช่น ประเทศไทยที่มีการให้ความสำคัญกับเครื่องแบบนับแต่การสร้างค่านิยม “อำนาจนิยมโดยเครื่องแบบ” ตั้งแต่พลเมืองของประเทศอยู่ในช่วงปฐมวัย ซึ่งก็คือเครื่องแบบนักเรียนนั่นเอง โดยมีข้อน่าพิจารณาว่าเครื่องแบบนักเรียนหรือแม้กระทั่งเครื่องแบบของนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ นั้น ก็คือการจัดชั้น (classified) คัดแยกพลเมืองออกเป็นพลเมืองประเภทต่างๆ นั่นเอง

เครื่องแบบนักเรียน (หรือแม้แต่ทรงเกรียน) สะท้อนถึงภาวะอำนาจนิยมของผู้ใหญ่ ครู หรือเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น ที่กดทับความเป็นอัตลักษณ์ของนักเรียนเอาไว้ โดยที่บรรยากาศในห้องเรียนส่วนใหญ่ก็เป็นในเชิงอำนาจนิยม ภายใต้การกำกับการเรียนการสอนโดยครูหรือผู้สอนวิชาต่างๆ ส่วนเครื่องแบบนักศึกษาไทยนั้น อีกด้านหนึ่งคือสิ่งสะท้อนถึงความเหนือกว่าพลเมืองโดยทั่วไปในแง่อำนาจนิยมที่แฝงอยู่กับการศึกษา  ทั้งนี้ หากมองย้อนกลับไปก่อนหน้า 30-40 ปีที่ผ่านมาลงไป ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่าสถานะของนักศึกษาไทยมีความสำคัญในแง่ความเหนือกว่าชาวบ้านมากเพียงใด โดยเฉพาะนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เครื่องแบบเป็นสิ่งบ่งถึงอำนาจภายใต้สถานะของความเป็นนักศึกษาได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้เครื่องแบบนักศึกษามหาวิทยาลัยกับเครื่องแบบนักศึกษาอาชีวะจึงให้ความรู้สึกที่แตกต่าง ขณะเดียวกันเครื่องแบบครู อาจารย์ก็ให้ความรู้สึกถึงพลังอำนาจกดทับที่มีต่อนักเรียน นักศึกษา รวมถึงต่อพ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียน นักศึกษาเหล่านั้นด้วย

อีกตัวอย่างหนึ่ง เพื่อนที่อยู่ในเขต 3 จังหวัดภาคใต้เล่าให้ฟังหลายปีมาแล้วว่า ชาวบ้านหลายรายไปนั่งรอคิวเพื่อติดต่อราชการที่อำเภอหนึ่งตั้งแต่เช้ามืด พวกเขารอกันอยู่หลายชั่วโมง แต่พอชายผู้หนึ่งซึ่งแต่งชุดข้าราชการเข้ามา ชายในชุดข้าราชการผู้นั้นกลับแซงคิวได้ทำธุระก่อนชาวบ้าน

ในอเมริกานั้น อย่าว่าแต่อำนาจแห่งเครื่องแบบพนักงานของรัฐจะแทบไม่ค่อยมี (ยกเว้นต่อผู้ร้ายที่กระทำผิดกฎหมาย)แล้ว แม้แต่ผู้ที่แต่งกายสุภาพ เช่น ใส่สูทผูกเน็กไท ก็อาจถูกมองได้ว่าเป็นพวกซ่อนตัวหรือ ปกปิดตัวเองด้วยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ทำนองกลบเกลื่อนสร้างภาพเอาได้ ดังมีคำเรียกพวกใส่สูท แต่งตัวดีจำพวกนี้ว่า “monkey suit”  เช่นเดียวกับที่เมืองไทยมีคำกล่าวว่า “โจรเสื้อนอก” เพียงแต่ในที่สุดแล้ววัฒนธรรมไทยก็ยังคงอิงอยู่กับประกายรัศมีที่เกิดจากเครื่องแบบอยู่ดังเดิม

วัฒนธรรมนิยมเครื่องแบบ จึงเป็นลักษณะการมุ่งต่อการใช้อำนาจในการสร้างความเหมือนให้เกิดขึ้นในสังคม  ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับความดำรงความเป็นอัตลักษณ์   รวมถึงแสดงถึงสถานะความเหนือกว่าพลเมืองทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแบบประเภทใดก็ตาม โดยเฉพาะเครื่องแบบราชการ (เจ้าหน้าที่รัฐ) ที่เป็นทั้งการแสดงถึงอำนาจนิยมและศูนย์กลางนิยมอยู่ในตัว.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท