Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



 

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา วารสารวิชาการระดับนานาชาติชื่อ Journal of Contemporary Asia ได้เผยแพร่บทความวิชาการชื่อเรื่องว่า  Branding Dissent: Nitirat, Thailand's Enlightened Jurists โดยมีผู้เขียนร่วมกันสองคน คนแรกคือ Duncan McCargo นักวิชาการชาวอังกฤษผู้มีผลงานศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี ส่วนผู้เขียนอีกคนคือพีรเดช ตันเรืองพร นักวิจัยชาวไทย

บทความที่ว่านี้มุ่งศึกษาบทบาททางการเมืองของกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งอย่างที่รู้กันดีว่ากลุ่มนิติราษฎร์เป็นการรวมตัวของอาจารย์ด้านกฎหมายมหาชนในคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ดังนั้นความน่าสนใจของบทความนี้ก็คงจะอยู่ที่แทนที่จะใช้มุมมองทางกฎหมาย ผู้เขียนกลับเอามุมมองทางการเมืองมาใช้วิเคราะห์กลุ่มนิติราษฎร์ โดยศึกษาตั้งแต่การก่อตัว แนวทางเคลื่อนไหว ลักษณะของกลุ่ม ไปจนถึงผลทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์ โดยผู้เขียนบทความได้เก็บข้อมูลทั้งจากเอกสาร การสัมภาษณ์ และการลงพื้นที่ภาคสนาม

ผมได้อ่านบทความนี้แล้วคิดว่ามีเนื้อหาน่าสนใจ เหมาะจะนำมาถ่ายทอดสู่สาธารณะเพื่อให้เป็นประเด็นขบคิดกันในวงกว้างมากขึ้น จึงอยากขอหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสนี้

ผู้เขียนบทความมองว่า นิติราษฎร์ได้ก้าวไปไกลกว่าการเป็นปัญญาชนสาธารณะ (public intellectual) อย่างที่คุ้นเคยกันจากบทบาทของคนอย่างนิธิ เอียวศรีวงศ์ ชัยอนันต์ สมุทวณิช หรือเกษียร เตชะพีระ แต่นิติราษฎร์ได้ก้าวไปถึงขั้นเป็นคนมีชื่อเสียง (celebrity) ที่มีพลังมากพอจะดึงดูดคนมาฟังงานสัมมนาแต่ละครั้งได้ล้นห้องประชุม นอกจากนี้ผู้เขียนยังชี้ว่าสถานะของสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์เอง ทั้งการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จบการศึกษาจากต่างประเทศ แม้กระทั่งปัจจัยเรื่องรูปร่างหน้าตา ได้มีผลทำให้สถานะของแนวคิดเชิงต่อต้าน (dissent) มีโอกาสเข้าถึงชนชั้นกลางในเมืองมากขึ้น ทั้งที่แนวคิดแบบเดียวกันนี้หลายอย่างก็มีการพูดถึงกันอยู่แล้วในกลุ่มเสื้อแดง แต่เนื่องจากแกนนำเสื้อแดงมักมีบุคลิกท่าทีที่ดึงดูดคนชนบทมากกว่าคนในเมือง ทำให้แนวคิดเหล่านี้มักถ่ายทอดไปไม่ถึงคนในเมืองเท่าไหร่นัก ทั้งนี้สมาชิกนิติราษฎร์เองบางคนยังยอมรับว่าทางกลุ่มตระหนักดีว่าต้องสร้าง "แบรนด์" บางอย่างขึ้นมาเพื่อให้คนจดจำ เห็นได้จากการมีเว็บไซต์ โลโก้ และของที่ระลึกต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่านิติราษฎร์ต่างจากปัญญาชนสาธารณะยุคก่อนๆ มากแค่ไหน

สำหรับเหตุการณ์ที่ทำให้นิติราษฎร์ขึ้นมาเป็นที่รู้จักของสังคมอย่างมากนั้น ผู้เขียนบทความมองว่ามีอยู่สามเหตุการณ์ด้วยกัน หนึ่งคือการจัดเสวนาเรื่องสถาบันกษัตริย์ในเดือน ธ.ค. ปี 53 สองคือการออกข้อเสนอลบล้างผลพวงรัฐประหารปี 49 และสามคือการร่วมเคลื่อนไหวในนามคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก. 112) บทบาทของนิติราษฎร์ในทั้งสามกรณีทำให้ชื่อของนิติราษฎร์ปรากฏมากขึ้นในสื่อกระแสหลัก เรียกทั้งเสียงเชียร์และเสียงด่าได้มากมายจากคนในสังคม

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนบทความก็มีคำวิจารณ์ต่อกลุ่มนิติราษฎร์อยู่ไม่น้อย ซึ่งคำวิจารณ์หลายข้อก็น่าสนใจ จะขอยกตัวอย่างบางข้อ ดังนี้

1.) กลุ่มนิติราษฎร์ยึดติดอยู่กับสถานะการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สะท้อนภาพของการเป็นชนชั้นนำ ความรู้คือสิ่งที่สร้างและถ่ายทอดจากบนลงล่าง สืบทอดวัฒนธรรมสูง-ต่ำแบบไทยๆ ต่อไป

2.) การเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์บางครั้งสะท้อนความไร้เดียงสาทางการเมือง ดูจากการที่นิติราษฎร์มักโยนข้อเสนอของกลุ่มออกมาโดยไม่ยอมปรึกษาหรือสร้างแนวร่วมกับใคร ทำให้หลายครั้งข้อเสนอของกลุ่มไม่ได้รับการตอบรับหรือสานต่อเท่าที่ควร เห็นได้ชัดที่สุดคือกิจกรรมของ ครก.112 ที่แม้แต่คนที่อยากแก้กฎหมายเรื่องนี้บางคนก็ไม่ยอมเข้าร่วม หรือถ้าร่วมลงชื่อก็ไม่เต็มใจ เพราะไม่เห็นด้วยที่นิติราษฎร์ยังเสนอให้มีโทษจำคุกอยู่ นอกจากนี้ยังมีกรณีการเคลื่อนไหวช่วงหลังๆ ที่ไม่มีผลต่อสังคมมากเหมือนเมื่อก่อน เช่นการเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ หรือข้อเสนอเรื่องนิรโทษกรรม ซึ่งผู้เขียนบทความมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ทำได้ไม่ดีพอ

3.) ประเด็นความไร้เดียงสาทางการเมืองที่ว่านี้ ทางนิติราษฎร์เองอาจจะโต้ตอบว่าตนเป็นกลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมาย ไม่ใช่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ข้อเสนอของกลุ่มตั้งอยู่บนหลักวิชาการ จึงไม่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงจังหวะหรือลูกไม้ทางการเมืองต่างๆ แต่อย่างใด ซึ่งในเรื่องนี้ ผู้เขียนบทความมองว่าเป็นจุดอ่อนอีกประการหนึ่ง คือนิติราษฎร์ยังสับสนว่าบทบาทของตนคือการเคลื่อนไหวทางวิชาการหรือทางการเมืองกันแน่ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อเสนอแต่ละเรื่องของกลุ่มนั้นล้วนเกี่ยวพันกับประเด็นร้อนแรงทางการเมือง การจะอ้างแต่หลักวิชาการโดยไม่สนใจบริบททางการเมืองเลยนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้
4.) จากประเด็นเมื่อครู่นี้ ผู้เขียนบทความยังได้วิเคราะห์ลึกซึ้งไปอีกขั้นหนึ่ง โดยกล่าวว่า ยิ่งนิติราษฎร์ยืนยันว่าตนคือกลุ่มนักวิชาการและไม่ใช่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็ยิ่งเป็นการช่วยผลิตซ้ำวาทกรรมของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในไทยที่ได้ทำให้ "การเมือง" เป็นเรื่องสกปรก น่ารังเกียจ ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยว ในขณะที่ "วิชาการ" คือความสูงส่ง บริสุทธิ์ ไม่มีผลประโยชน์

5.) ข้อวิจารณ์ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือผู้เขียนบทความมองว่านิติราษฎร์เชื่อมั่นในกฎหมายมากเกินไป คิดว่าปัญหาต่างๆ ในเมืองไทยล้วนสามารถแก้ไขได้โดยกฎหมาย เชื่อว่ากฎหมายที่เป็นไปตามหลักวิชาการย่อมจะบรรเทาความขัดแย้งในสังคมลงได้ ข้อวิจารณ์ข้อนี้บ่งบอกได้ชัดเจนที่สุดถึงการปะทะกันระหว่างผู้เขียนบทความซึ่งเป็นนักรัฐศาสตร์ กับกลุ่มนิติราษฎร์ซึ่งเป็นอาจารย์นิติศาสตร์ เพราะผู้เขียนบทความมองว่าปัญหาทางการเมืองย่อมมีความสลับซับซ้อนและเกี่ยวพันกับผู้คนและปัจจัยต่างๆ มากมาย ปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ได้โดยหวังพึ่งแต่พลังของกฎหมายเพียงอย่างเดียว

บทความชิ้นนี้อาจถือได้ว่าเป็นงานศึกษาบทบาททางการเมืองของนิติราษฎร์ชิ้นแรกที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ นับว่าเป็นบทความวิชาการที่มีมุมมองแหลมคมมากชิ้นหนึ่ง และน่าจะช่วยจุดประกายถกเถียงในสังคมไทยได้ไม่น้อย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net