Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2558  คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดย นาย คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ส่งบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “แผนการให้มีกฎหมายว่าด้วยสิทธิชุมชน” และ “ร่างพระราชบัญญัติสิทธิชุมชน พ.ศ....” เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ  โดยคปก.มีความเห็นว่า ชุมชนรวมถึงชุมชนท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในปัจจุบันประสบปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชนอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แม้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มีบทบัญญัติที่รับรองหลักการสิทธิชุมชนไว้ก็ตาม แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่เข้ามารับรองสิทธิชุมชนหรือกำหนดนิยามความเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมไว้ คปก.จึงจัดทำร่างพระราชบัญญัติสิทธิชุมชน พ.ศ.... ขึ้นเพื่อเป็นการรับรองรองสถานภาพทางกฎหมายและสิทธิชุมชนขั้นพื้นฐานต่างๆ โดยมีสาระสำคัญที่กำหนดรับรองให้ชุมชน ชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายเทียบเท่านิติบุคคล เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้สิทธิและหน้าที่ในการทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ รวมถึงการออกข้อบังคับในการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ในนามของชุมชนได้ โดยร่างพระราชบัญญัติสิทธิชุมชนกำหนดให้กฎ ระเบียบหรือข้อตกลงที่ออกโดยชุมชนมีผลใช้บังคับได้จริง โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ในการสนับสนุนการกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิชุมชนตามที่ชุมชนมีคำขอมายังหน่วยงานของรัฐโดยอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วม

บทบัญญัติที่สำคัญประการหนึ่งของร่างพระราชบัญญัติสิทธิชุมชน พ.ศ....ฉบับนี้คือการกำหนดเหตุยกเว้นความรับผิดตามกฎหมายที่มีโทษทางอาญาในกรณีที่ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในชุมชนมายาวนานตามวิถีและประเพณีของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมนั้นๆ โดยชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมมีหน้าที่พิสูจน์ว่าได้ใช้ทรัพยากรดังกล่าวในขอบเขตหรือจารีตประเพณีท้องถิ่นดั้งเดิม

สำหรับในกรณีที่หน่วยงานของรัฐจะดำเนินการใดๆ อันมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของชุมชน หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องทำคำชี้แจงและเหตุผลก่อนการดำเนินการโดยให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในชุมชน ชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมประกอบการพิจารณาดำเนินการดังกล่าวและต้องกำหนดมาตรการเยียวยาผลกระทบที่เกิดหรืออาจเกิดจากการดำเนินการด้วย โดยคปก.เสนอแนะให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ามาทำหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้จัดทำรายงานดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา โดยจะต้องเผยแพร่ผลการติดตามตรวจสอบดังกล่าวต่อสาธารณชน

นอกจากนี้ คปก.เสนอให้นำวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกมาใช้ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างชุมชนกับชุมชน ชุมชนกับบุคคล และชุมชนกับหน่วยงานรัฐ ก่อนการฟ้องร้องข้อพิพาทเป็นคดีขึ้นสู่ศาลซึ่งจะช่วยให้การระงับข้อพิพาทเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย โดยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนและความเป็นกลาง

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติสิทธิชุมชนฉบับนี้ยังได้กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยสิทธิชุมชนทำหน้าที่วินิจฉัยตีความบทบัญญัติตามพระราชบัญญัตินี้ รวมถึงให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานรัฐเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติสิทธิชุมชน  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net