Skip to main content
sharethis
ทหาร-ตำรวจ-ครู-ข้าราชการสภา สนช.ฉลุย ผ่านกฎหมายขึ้นเงินเดือนแล้ว
 
เมื่อเวลา 10.20 น.วันที่ 19 มีนาคม มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธาน โดยได้แจ้งให้สมาชิกว่า เนื่องจากการประชุมในวันนี้ (19 มี.ค.) มีวาระการพิจารณากฎหมายและเรื่องอื่น ๆ จำนวนมาก จึงขอเลื่อนการรายงานความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญออกไปเป็นสัปดาห์หน้า นอกจากนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ส่งรายงานการชี้มูลความผิดของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์,นายภูมิ สาระผล อดืต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่งเนื่องจากมีพฤติการณ์ว่ากระทำผิดตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช.โดยส่อว่าทุจริต ส่อว่าใช้อำนาจหน้าที่ไม่ชอบปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติทำให้เกิดความเสียหาย จากกรณีการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งตนได้นัดประชุมนัดแรกในวันที่ 2 เมษายน เพื่อนัดวันแถลงเปิดคดี และเปิดโอกาสให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้เสนอพยานหลักฐานเพิ่มเติม และตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมเป็นต้นไปเพื่อให้สมาชิกรับเอกสารประกอบการพิจารณาได้ ซึ่งมีทั้งหมด 2 ชุด ประกอบด้วยชุดที่ 1 จำนวน 479 หน้า และชุดที่ 58,000 หน้า ส่วนสมาชิกคนใดต้องการยื่นญัตติซักถามก็สามารถยื่นได้ก่อนการประชุมครั้งที่ 2 ซึ่งจะได้การนัดประชุมต่อไป
 
จากนั้นเข้าสู่วาระพิจารณาเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่...) พ.ศ.... ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่....) พ.ศ....  ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่....) พ.ศ... และร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการรัฐสภา (ฉบับที่ ... ) พ.ศ... ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว โดยร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับบัญชีเงินเดือน การปรับอัตราเงินเดือนให้เหมาะสมเป็นธรรมและได้มาตรฐาน โดยคำนึงถึงค่าครองชีพที่เปลี่ยนไป และเพื่อแก้ไขปัญหาบางประเด็นอย่างเร่งด่วน โดยไม่เกี่ยวกับระยะยาวที่อาจต้องปรับทั้งระบบ อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับ ไม่มีมีสมาชิกคนใดอภิปราย ที่ประชุมจึงได้ลงมติเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยเอกฉันท์ ประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
 
นอกจากนี้ที่ประชุมยังให้ความเห็นชอบพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงินรอบที่6ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน และตารางข้อผูกพันเฉพาะสำหรับการค้าบริการด้านการเงินภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน โดยพิธีสารฉบับนี้มีสาระสำคัญ คือขยายความร่วมมือด้านการค้าบริการระหว่างประเทศสมาชิก โดยลด/ยกเลิกข้อจำกัดที่เป็น อุปสรรคต่อการค้าบริการภายใต้กรอบอาเซียนให้มากกว่าที่เปิดเสรีตามกรอบองค์การการค้าโลก ซึ่งได้ปรับปรุงตารางข้อผูกพันเฉพาะ (Schedule of Specific Commitments : SOC)  ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาประกันภัย และสาขาการธนาคาร โดยในสาขาประกันภัยได้ปรับเพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติของบริการนายหน้าและตัวแทน ใน Mode 3 (การจัดตั้งธุรกิจ) จากเดิมที่จำกัดไว้ไม่เกินร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน เป็นร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียน เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและแนวปฏิบัติในปัจจุบัน ส่วนสาขาการธนาคารปรับปรุงตารางข้อผูกพัน สาขาย่อยธนาคารพาณิชย์ใน Mode 3 ให้สอดคล้อง กับกฎหมายและแนวปฏิบัติในปัจจุบัน ยกเลิกข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรสำหรับบุคคลสัญชาติอาเซียน (Mode 4) โดยให้เป็นไปตามแผนของธุรกิจ แต่ยังต้องขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 19/03/2558)
 
เตือนแรงงาน! ระวังถูกหลอกไปทำงานก่อสร้างที่ลาว ยันไม่มีจริง
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวการแอบอ้างว่ามีบริษัทได้รับสัมปทานจากทางการสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้ก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้า สนามบินขนาดใหญ่ และรางรถไฟฟ้าคู่ขนานในประเทศลาว และต้องการคนงานจำนวนมากไปทำงานในตำแหน่งต่างๆ เช่น วิศวกร โฟร์แมน พนักงานขับรถ ช่างสาขาต่างๆ กรรมกรก่อสร้าง เป็นต้น โดยให้เงินเดือน 30,000 - 45,000 บาท มีประกันสังคม ประกันอุบัติเหตุ ประกันชีวิต ค่าอาหาร และที่พักฟรี และยังมีค่าล่วงเวลาให้วันละ 2 ชั่วโมงนั้น ขณะนี้ กรมการจัดหางานได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงไปยังทางการลาวถึงข้อกล่าวอ้างดังกล่าว จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบว่าข้อมูลไม่เป็นจริง
       
“เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานไทยเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงจากผู้ไม่หวังดี และอาจทำให้เสียทรัพย์สินเงินทอง จึงขอเตือนแรงงานไทยที่ประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศ อย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้างดังกล่าว และตรวจสอบข้อมูลการจ้างงานในต่างประเทศจากกรมการจัดหางาน หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดก่อน ซึ่งการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ ต้องผ่านการพิจารณาและได้รับอนุญาตจาก กกจ. ในทุกกรณี” อธิบดี กกจ. กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 19/03/2558)
 
กระทรวงแรงงานผนึกเอกชน จัดโครงการจ้างงานคนพิการในชุมชน
 
19 มี.ค. ที่กระทรวงแรงงาน พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน เป็นประธานแถลงข่าวและประกาศเจตนารมณ์ "คนพิการต้องมีงานทำ ทำงานเพื่อชุมชน : ทางเลือกใหม่ของการจ้างงาน" โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรคนพิการ 14 แห่งเข้าร่วม 
 
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีคนพิการที่จดทะเบียนกับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ 1.65 ล้านคน คนพิการวัยแรงงาน (อายุ 15- 60 ปี) ประมาณ 700,000 คน ซึ่งสามารถทำงานได้ 300,000 คน ในจำนวนนี้เป็นคนพิการที่นายจ้างต้องรับเข้าทำงานตามกฎหมาย 60,000 คน แต่ข้อเท็จจริงมีการจ้างงาน 30,000 คน ที่เหลืออีก 30,000 คนยังไม่ได้จ้าง เนื่องจากสถานประกอบการอยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรม แต่คนพิการส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบท รวมทั้งข้อจำกัดในการจ้าง เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการทำงาน ความรู้ความสามารถ วุฒิการศึกษา และทัศนคติในการทำงานร่วมกับคนปกติ 
 
"กระทรวงจึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม พัฒนารูปแบบการจ้างงานคนพิการรูปแบบใหม่ โดยส่งเสริมเจ้าของสถานประกอบการจ้างงานคนพิการทำงานด้านสาธารณประโยชน์ของบริษัทในพื้นที่/ชุมชน เพื่อให้เกิดต้นแบบการจ้างงานที่เป็นรูปธรรม นำไปสู่การขยายผลต่อไป" พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว 
 
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) พบว่า คนพิการที่มีงานทำส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม ประมง และป่าไม้ และมีธุรกิจเป็นของตนเอง ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าคนทั่วไป ขณะที่คนพิการวัยแรงงานที่มีศักยภาพอีกกว่า 3 แสนคนไม่มีงานทำ มีรายได้จากเบี้ยยังชีพเดือนละ 800 บาทเท่านั้น นอกจากนี้คนพิการส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาอยู่ที่ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ทำให้หางานยาก การจ้างงานในชุมชนจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้คนพิการมีงานทำ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
ด้านอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่า ปี 2557 สสส.ดำเนินโครงการนำร่องจ้างงานคนพิการในพื้นที่/ชุมชน 229 คน โดยส่งเสริมให้นายจ้างและเจ้าของสถานประกอบการกว่า 20 บริษัทชั้นนำจ้างงานคนพิการ พบว่าคนพิการที่เข้าร่วมโครงการมีความสุข ความภาคภูมิใจ รู้สึกตัวเองมีคุณค่า ขณะที่บริษัทก็รู้สึกพึงพอใจมากที่ได้ช่วยเหลือคนพิการและชุมชนไปพร้อมๆ กัน  
 
ขณะที่นายสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนา ตัวแทนเครือข่ายคนพิการ กล่าวว่า "คนพิการต้องมีงานทำ" เป็นคำประกาศที่ตรงใจมา การจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานชุมชนเป็นทางเลือกที่ดีและเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ตนขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงานอันทรงคุณค่าที่จะเอื้อประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรมต่อไป
 
(ข่าวสด, 19/03/2558)
 
สนช.ผ่านวาระแรกร่างกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
 
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ... ที่สาระสำคัญ คือ ให้ลูกจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนโดยให้นายจ้างหักจากค่าจ้าง และให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุนซึ่งต้องไม่ต่ำกว่า 2-15% ของค่าจ้าง
       
นอกจากนี้ยังให้ลูกจ้างสามารถจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนในอัตราที่สูงกว่าการจ่ายเงินสมทบของนายจ้าง โดยที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจประกาศให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินเข้ากองทุนได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความเหมาะสมต่อสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่
       
ทั้งนี้ ในการอภิปรายของสมาชิก สนช.มีการเสนอความคิดเห็น อาทิ นายกิตติ วะสีนนท์ สมาชิก สนช.กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้น่าจะเป็นการเปิดกว้างให้ลูกจ้างสามารถจ่ายเงินเข้ากองทุนได้มากกว่า 15% ของเงินเดือน แต่มีข้อสังเกตว่าจะเป็นการเปิดทางให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบไม่เท่ากับลูกจ้างหรือไม่ เช่น ลูกจ้างจ่ายเงิน 15% แต่นายจ้างจะจ่ายแค่ 10% หรือไม่ เป็นต้น ซึ่งส่วนตัวคิดว่าอย่างน้อยควรมีการเขียนให้รัดกุมมากขึ้น คือ ถ้ากรณีที่ลูกจ้างไม่มีความประสงค์จะจ่ายเงินเกิน 15% นายจ้างก็ควรจ่ายเงินสะสมในอัตราที่เท่าเทียมกัน
       
ด้านนายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ทุกประเด็นเป็นข้อเรียกร้องมาจากฝั่งลูกจ้างทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องมาโดยตรงหรือเรียกร้องผ่านสมาคมกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจำนวน 9 ครั้งตั้งแต่ปี 2553
       
จากนั้นที่ประชุมได้มีมติ 184 เสียงรับหลักการร่าง พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในรายละเอียดจำนวน 15 คน โดยจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
       
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ โดยมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ เช่นเดียวกับพนักงานรัฐวิสาหกิจจะต้องไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นโทษมาแล้วเกิน 5 ปี โดยที่ประชุม สนช.มีมติรับหลักการ 170 ต่อ 3 คะแนน พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 15 คน เพื่อพิจารณาในรายละเอียด
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 19/03/2558)
 
ย้ำรัฐบาลไม่ทอดทิ้ง เร่งช่วยเหลือแรงงานประมงไทย
 
วันนี้ (๒๐ มี.ค.๕๘) เวลา ๐๗.๓๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) ครั้งที่ ๑๒๔/๕๗-๕๘ เพื่อรับทราบปัญหาทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และร่วมหาแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม
 
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า จากกรณีมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ (Anti Human Trafficking Network - ATN) และศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือลูกเรือประมง (Seafarers Action Center - SAC) ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือแรงงานที่ตกเรือและประสบความทุกข์ยาก รวมถึงคนที่ถูกนายหน้าหลอกลวงมาทำงานเป็นลูกเรือประมงที่เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีทั้งชาวไทย เมียนมาร์ กัมพูชา และลาว โดยพบว่าลูกเรือส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารแสดงตนที่ถูกต้องนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งมีความห่วงใยแรงงานที่ประสบปัญหาดังกล่าว และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลรับผิดชอบการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ได้สั่งกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มกำลัง ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบปัญหาดังกล่าว พร้อมดำเนินการขับเคลื่อนตามที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญ จึงขอให้แรงงานที่ประสบปัญหาในขณะนี้สบายใจได้ว่า รัฐบาลไทยไม่ทอดทิ้งและจะเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ซึ่งตนได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ดำเนินการประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมเจ้าท่า กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือแรงงานดังกล่าว โดยนัดประชุมหารือเบื้องต้นเช้าวันนี้ เพื่อร่วมกันวางแผนปฏิบัติการเข้าช่วยเหลือและจะมีการจัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่เกาะอัมบน เพื่อพิสูจน์ทราบหาข้อมูลข้อเท็จจริงและช่วยเหลือแรงงานกลับสู่ประเทศไทยโดยเร็ว
 
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีเด็กหญิงวัย ๑๐ ขวบ ที่เป็นเด็กเรียนดี แต่ป่วยเป็นโรคเด็กดักแด้ ใช้ศิลปะบำบัดให้ตนเองลืมความเจ็บปวดและต้องช่วยแม่ดูแลน้องที่ป่วยเป็นโรคเด็กดักแด้เช่นกัน ซึ่งครอบครัวมีฐานะยากจน ที่จังหวัดนครราชสีมา ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครราชสีมา(พมจ.นครราชสีมา) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งให้การช่วยเหลือครอบครัวดังกล่าวในเบื้องต้น พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้เด็กได้รับการศึกษาในระยะยาวต่อไป
 
“ส่วนกรณีหญิงชราพิการตาบอด อายุ ๙๕ ปี ซึ่งเป็นชาวสิบสองปันนา นั่งร้องไห้หลังสามีเสียชีวิต เนื่องจากไม่มีใครดูแล เพราะอายุมากและตาบอด รวมทั้งมีฐานะยากจน ที่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงใหม่ (พมจ.เชียงใหม่) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งให้การช่วยเหลือหญิงชราดังกล่าวในเบื้องต้น พร้อมทั้งดูแลช่วยเหลือตามภารกิจกระทรวงฯ ในระยะยาวต่อไป” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย
 
(กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์, 20/03/2558)
 
แรงงานเวียดนาม 45 คนแจ้งจับนายจ้างญี่ปุ่นเบี้ยวค่าแรง
 
พ.ต.อ.กกุสนธ์ เหมือนปั้น พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ สภ.ลาดหลุมแก้ว ได้รับแจ้งความจากแรงงานชาวเวียดนามชายหญิงจำนวน 45 คน ซึ่งรวมตัวกันแจ้งความจับนายจ้างชาวญี่ปุ่นหลังจากถูกหลอกให้มาทำงาน ที่โรงงานรีไซเคิลอิเล็กทรอนิกส์ ไม่มีชื่อ เป็นโกดัง เลขที่ 36/25 หมู่ 4 ต.คลองพระอุดม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี แล้วเบี้ยวค่าแรง 
 
ด้าน นางเหงียม ทีหวี้ อายุ 32 ปี เป็นผู้ชักจูงชาวเวียดนาม ใช้หนังสือเดินทางเป็นนักท่องเที่ยวผ่านทางประเทศลาว ก่อนเข้าประเทศไทย เป็นชุด ๆ ชุดละกว่า 10 คน เข้ามาทำงาน 
 
โดยหนึ่งในแรงงานชาวเวียดนาม ให้การกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่จัดหางานว่า ตนเองและเพื่อนร่วมงานได้ถูกชักชวนกันมาทำงานในประเทศไทย โดยบอกว่า ให้ค่าจ้าง เดือนละ 1,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 32,000 บาท ให้มาทำงานรับจ้างรื้ออุปกรณ์ชิ้นส่วน แผงวงจรคอมพิวเตอร์ และเครื่องพริ้นเตอร์ เห็นว่า ได้ค่าจ้างดี จึงชักชวนกันมาทำงานหลายคน โดยได้รับค้าจ้างในเดือนแรกตามปกติ 
 
“หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับค่าจ้างอีกเลย เป็นเวลา 2 เดือน คิดเป็นเงิน ต่อคน 64,000 บาท รวมทั้งสิ้น 2,880,000 บาท โดยไม่สามารถติดต่อนายจ้างได้ มีแต่ผู้ดูแลเท่านั้น จึงได้รวมตัวกันเข้าแจ้งความ ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ลาดหลุมแก้ว ซึ่งเจ้าของโรงงานเป็นชาวญี่ปุ่น 3 คน ชื่อว่านาย ชาโต นายมิตะ และนากาสึ โดยทั้ง 3 คนเป็นผู้ว่าจ้างและหายตัวไปแล้ว” หนึ่งในแรงงานชาวเวียดนามระบุ 
 
ต่อมา พล.ต.ต.มนตรี ยิ้มแย้ม ผบก.ปทุมธานี ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ. วรินทร์ ทองตา รอง ผบก.ปทุมธานี เป็นหัวหน้าชุดสอบสวน พร้อม พ.ต.อ.กกุสนธ์ เหมือนปั้น พนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ สภ.ลาดหลุมแก้ว สอบสวนข้อเท็จจริง และได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองปทุมธานี เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัด และศูนย์ปะชาบดี เพื่อให้การช่วยเหลือ 
 
ซึ่งแรงงานเวียดนามทั้งหมด มีหนังสือเดินทางถูกต้อง แต่ไม่สามารถมาเข้าทำงานได้ ซึ่งทั้ง 45 คน จะถูกแจ้งข้อหาว่า เข้ามาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเจ้าหน้าที่จะประสานกับสถานทูตเวียดนาม เพื่อส่งตัวกลับประเทศของตนเองต่อ ส่วนผู้ว่าจ้างชาวญี่ปุ่นทั้ง 3 คน ถูกแจ้งข้อหาว่า ประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งอยู่ในระหว่างติดตามตัวมาดำเนินคดีต่อไป 
 
(เนชั่นทันข่าว, 20/03/2558)
 
แรงงานเวียดนามบุกแจ้งตร.ถูกเบี้ยวค่าจ้าง
 
(23มี.ค.58) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แรงงานชาวเวียดนาม จำนวน46คน ถูกหลอกมาทำงานที่โรงงานไม่มีชื่อ เป็นโกดังเลขที่36/25 หมู่4 ต.คลองพระอุดม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี แล้วเบี้ยวค่าแรงไม่จ่ายเงินเดือนพนักงาน จึงได้แจ้งความไว้ที่ สภ.ลาดหลุมแก้ว เพื่อขอความช่วยเหลือทวงถามเงินคืนและดำเนินคดีนายจ้างชาวญี่ปุ่น พร้อมประสานสถานทูตเวียดนามเพื่อส่งตัวทุกคนกลับ แต่เนื่องจากอยู่ในระหว่างดำเนินการสอบสวนและได้ประสานสถานทูตเวียดนามแล้ว อยู่ในระหว่างตรวจสอบหลักฐานทุกคน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอให้พักอยู่ในที่เดิมไปก่อนห้ามเคลื่อนย้ายที่อาศัยไปไหน ซึ่งชาวเวียดนามอาศัยอยู่ที่ห้องพักข้างวัดคลองสะอาด ต.คลองพระอุดม อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี
 
ด้าน นางเหงียนทีหวี่ อายุ32ปี ผู้ที่ชักชวนเพื่อนชาวเวียดนามเข้ามาทำงาน กล่าวว่า ได้รับการประสานให้เข้ามาทำงานจากนายจ้างชาวญี่ปุ่น พร้อมให้ชวนเพื่อนชาวเวียดนามเข้ามาทำงานในประเทศไทย ถ้าทำงานครบ1ปี จะย้ายไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นทุกคน แต่ละคนต้องจ่ายค่าหัวคิวคนละ4,500ดอลลาร์สหรัฐให้บริษัทที่ทำพาสปอร์ต แต่กลับได้พาสปอร์ตเป็นนักท่องเที่ยวที่สามารถอาศัยอยู่ที่ประเทศไทยแค่1 เดือนเท่านั้น ตอนนี้พาสปอร์ตขาด ทุกคนจึงเดือดร้อนและยังไม่ได้เงินจากนายจ้างมาเป็นเวลา2เดือน จึงได้ไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่เพื่อประสานสถานทูตให้การช่วยเหลือ และทวงถามเงินค่าจ้างดังกล่าว
 
(TNN, 23/03/2558)
 
แรงงานจี้ “บิ๊กเต่า” เคลียร์ปมนำเงินประกันสังคม ตั้ง บ.ซื้อหุ้นน้ำมัน
 
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีที่อนุกรรมการบริหารการลงทุนกองทุนประกันสังคม บางคนเปิดบริษัท เพื่อรอช้อนซื้อหุ้นบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของประเทศซึ่งสำนักงานประกันสังคมถือหุ้นอยู่ ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมเนื่องจากส่อว่าอาจจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ว่า ตนพอจะทราบเรื่องนี้แล้ว แต่ในรายละเอียดนั้น ยังไม่มีความชัดเจนมากพอ อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุน หรือกรณีบอร์ดประกันสังคมและอนุกรรมการบางคนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ส่อไปในทางลบนั้น ทาง คสรท. ได้ยื่นหนังสือให้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน เพื่อตรวจสอบแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา  และในสัปดาห์หน้า ตนจะขอเข้าพบฝ่ายการเมืองทั้ง รมว.แรงงาน รวมถึงนายนพดล กรรณิกา ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลประกันสังคม เพื่อหารือเรื่องความคืบหน้าในการตรวจสอบกรณีดังกล่าว
       
นอกจากนี้ น.ส.วิไววรรณ ได้กล่าวถึง การติดตามความคืบหน้าของการปฏิรูประบบประกันสังคมว่า ขณะนี้การปฏิรูปประกันสังคมดูเงียบหาย จนไม่รู้ว่ามีการดำเนินการอะไรไปถึงไหนบ้าง หรือมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นในขั้นตอนการปฏิรูปบ้าง จึงอยากตั้งคำถามว่า การปฏิรูปประกันสังคม ครั้งนี้ทำเพื่อใคร ถ้าทำเพื่อผู้ประกันตนจริงก็ขอเรียกร้องให้มีการเปิดเผยรายละเอียดความคืบหน้าของการปฏิรูปเป็นระยะๆ ไม่เช่นนั้นจะถูกมองได้ว่าเป็นการ เอื้อต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่มากกว่า เอื้อสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตน 
       
“คสรท. จะติดตามความคืบหน้า  ข้อเรียกร้องที่ขอให้มีการตรวจสอบประกันสังคมเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเพื่อไม่ให้เรื่องเหล่านี้เงียบหายไปจากสังคม” น.ส.วิไลวรรณ กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23/03/2558)
 
สอท.เผยเศรษฐกิจซบเซาฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯก.พ.ลดแตะ88.9 ลดลงเป็นเดือนที่2ติดต่อกัน แนะภาครัฐเร่งรัดเบิกจ่าย-ลงทุน
 
วันนี้ (24มี.ค.58) นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนก.พ. 2558 พบว่าอยู่ที่ระดับ 88.9 ลดลงจากระดับ 91.1 ในเดือนม.ค. ซึ่งปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มSMEs เนื่องจากความกังวลต่อภาวะซบเซาของเศรษฐกิจในประเทศ การชะลอการใช้จ่าย จากกำลังซื้อที่อยู่ในภาวะอ่อนแอ โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังในการดำเนินกิจการเพิ่มขึ้น
 
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐคือ ต้องการให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมเร่งเจรจาการค้ากับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อขยายตลาดและลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันขณะเดียวกันยังเสนอให้ภาครัฐเร่งพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน และระบบการรับรองความสามารถของกำลังแรงงาน และอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนด้านการขนส่งสินค้าให้มีความคล่องตัวมากขึ้น
 
(TNN, 24/03/2558)
 
ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ นายจ้างจ่ายค่าชดเชยไม่ตรงเวลาต้องจ่ายดอกเบี้ย
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กสร.ได้จัดสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นจากนายจ้าง ลูกจ้างต่อ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ฉบับของกสร. โดยเป็นการเสนอแก้ไขรายมาตราจำนวน 20 มาตรา เพื่อเพิ่มความคุ้มครองให้ลูกจ้างในสถานประกอบการมากยิ่งขึ้น
 
สาระสำคัญในร่างกฎหมายฉบับนี้ อาทิ การกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าภายใน 3 วันนับแต่วันที่เลิกจ้าง กรณีนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวต้องมีการกำหนดวันและสถานที่จ่ายค่าจ้างซึ่งลูกจ้างจะได้รับร้อยละ 75 ของเงินเดือนให้ชัดเจน
 
ส่วนกรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบการต้องแจ้งลูกจ้างล่วงหน้าภายใน30วัน หากลูกจ้างไม่ประสงค์จะทำงานสถานที่ใหม่ไม่ว่านายจ้างจะแจ้งก่อนหรือไม่ก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รับทราบหรือวันที่ย้ายสถานประกอบการ โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษตามสิทธิตามอายุงานและเงินเดือนของลูกจ้างภายใน 7 วัน หากนายจ้างผิดนัดจ่ายเงินข้างต้นต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี
 
นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ยังกำหนดว่านายจ้างต้องกำหนดให้ลูกจ้างมีวันลาไม่น้อยกว่า 6 วันต่อปี กรณีนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างและจัดวันหยุดให้ลูกจ้างภายในสัปดาห์ถัดไป
 
ส่วนกรณีการลาคลอดที่กำหนดให้ลาได้ 90 วันนั้นให้ถือว่าการลาเพื่อไปตรวจสุขภาพก่อนคลอดรวมอยู่ในกำหนดเวลานี้ด้วย อีกทั้งยังกำหนดว่าสถานประกอบการใดไม่กำหนดอายุเกษียณให้ใช้อายุเกษียณที่ 60 ปี และให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย
 
นอกจากนี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังกำหนดให้นายจ้างที่ไม่แจ้งสภาพการจ้างงาน และเจ้าพนักงานออกคำสั่งแต่ไม่ดำเนินการ ต้องมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
 
“เนื้อหาดังกล่าวนายจ้างและลูกจ้างที่เข้าร่วมรับฟังเห็นด้วย แต่มีข้อท้วงติงบางประการจากฝ่ายลูกจ้าง ที่อยากให้เพิ่มกรณีนายจ้างย้ายตัวลูกจ้างไปทำงานในพื้นที่อื่น ให้ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและได้รับเงินชดเชยเช่นเดียวกับการที่นายจ้างย้ายสถานประกอบการและมีข้อเสนอขอให้ลูกจ้างชายสามารถลาไปช่วยภรรยาที่เพิ่งคลอดเลี้ยงลูกได้” นายวรานนท์ กล่าวและว่า หลังจากนี้จะต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาประกอบการพิจารณาปรับปรุง ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับของกสร. จากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณากฎหมายของกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ความเห็นและเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อไป
 
(มติชน, 24/03/2558)
 
ญาติแรงงานประมงไทย ร้องขอรัฐช่วยเหลือกลับประเทศ
 
หลังจากที่รายการข่าว 3 มิติ รายงานเมื่อคืนที่ผ่านมาว่า แรงงานประมงตกเรือชาวยโสธร ยังมีชีวิตอยู่ สร้างความดีใจให้กับญาติ พร้อมขอให้รัฐเร่งช่วยเหลือกลับประเทศไทย 
 
นายพรานณรงค์ หรือตั้ก สายตา อายุ 24 ปี เขียนจดหมายถึงพ่อ นายเขียวหวาน ว่าคิดถึงอยากพูดคุยแต่ไม่มีการตอบรับ โดยระบุบ้านเลขที่ ที่บ้านนาโพธิ์ ต.กุดกุง อ.เขื่อนแก้ว จ.ยโสธร เพื่อต้องการให้ทีมข่าวช่วยเหลือกลับบ้าน พร้อมติดต่อให้ญาติทราบว่ายังมีชีวิตอยู่ หลังจากถูกหลอกไปลงเรือและตกค้างที่อินโดนีเซียมากว่า 1 ปี 
 
ทีมข่าวได้ไปหาตามที่อยู่ ได้ไปพบกำนันตำบลกุดกุง ทราบว่า ครอบครัวนายเขียวหวาน พร้อมภรรยา อพยพไปทำงานขับรถรับคนงานที่อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ นานว่า 10 ปี แล้ว 
 
ส่วนนายพรานณรงค์ ลูกชายแรงงานตกเรืออยู่กับนางสุนันทา ศิรพงษ์ มีศักดิ์เป็นป้า (พี่สาวนายเขียวหวาน) เลี้ยงดูและส่งเสียให้เรียนหนังสือจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งนางสุนันทา ดีใจมากหลังทราบหลานยังมีชีวิตอยู่ เพราะเขาหายสาบสูญกว่า 2 ปี หลังจากไปทำงานที่ กทม. กระทั่งมาทราบจากรายการข่าว 3 มิติเมื่อคืนที่ผ่านมา จึงได้โทรศัพท์แจ้งญาติ ๆ ส่วนพ่อของนายพรานณรงค์ ได้โทรมาหาเช่นกันว่าคิดถึงลูกชาย
 
สำหรับการช่วยเหลือแรงงานประมงไทยในอินโดนีเซียกลุ่มแรกที่สามารถดำเนินการช่วยเหลือกลับประเทศไทยได้ก่อน คือแรงงานทั้งกลุ่มที่ถูกหลอกและกลุ่มที่ประสงค์จะกลับประเทศไทยในช่วงที่ยังไม่ได้ออกเรือ แต่ต้องมีหลักฐานและสามารถติดต่อได้
 
ส่วนกลุ่มที่ 2 คนตกเรือและคนผี ที่ไม่มีเอกสารแสดงตัว รวมถึงกลุ่มที่ถูกหลอกไปค้าแรงงานจะต้องทำการพิสูจน์ทราบบุคคลที่ชัดเจนก่อน และสุดท้ายคือการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลในกลุ่มแรงงานไทยที่เสียชีวิตเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นใคร
 
ทั้งนี้ทางสถานเอกอัครฑูตไทยในอินโดนีเซีย จะนำข้อมูลของมูลนิธิ LPN และข้อมูลจากทีมข่าว คุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย มาวางแผนดำเนินการช่วยเหลือให้แรงงานกลับบ้านอย่างเร่ง รวมถึงการพิสูจน์ทราบแรงงานไทยที่เสียชีวิตแม้จะเป็นเรื่องยากที่จะหาหลักฐานแต่จำเป็นต้องสืบสวนข้อเท็จจริง โดยสุสานฝังศพคนไทยอีก 100 กว่าหลุมที่เกาะเบนจิน่า ส่วนใหญ่ไม่มีประวัติและเป็นศพนิรนาม
 
(ครอบครัวข่าว, 24/03/2558)
 
เผย ป.ตรีเสี่ยงตกงานมากที่สุด
 
นางสาวกิติมา หงส์ศิริกาญจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ศูนย์พัฒนาศักยภาพมนุษย์ สมาร์ท พีเอดี กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มแรงงานระดับการศึกษาปริญญาตรี มีปัญหาในการตกงานมากที่สุด แม้แต่ละปีจะผลิตนักศึกษาได้ประมาณ 3-4 แสนคนต่อปี แต่มีความต้องการแรงงานในกลุ่มนี้เพียง 150,000 คนต่อปีเท่านั้น ทำให้มีอัตราตกงานมากกว่า 50 % แม้ปัจจุบันไทยจะมีอัตราขาดแคลนแรงงานประมาณ 180,000 คน
 
เนื่องจากนักศึกษาเลือกเรียนคณะตามกระแสนิยม โดยไม่ได้ศึกษาความต้องการของตลาดแรงงานเมื่อเรียนจบ ขาดทักษะด้านภาษาและการเตรียมตัวเพื่อเข้าสมัครงาน โดยในช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป การเปิดเออีซีที่จริงจังมากขึ้นยิ่งทำให้แรงงานไทยกลุ่มนี้ มีเปอร์เซ็นการตกงานสูงขึ้น เพราะแรงงานในกลุ่มอาเซียนมีทักษะดีกว่าและต้นทุนค่าแรงถูกกว่า โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่เคลื่อนย้ายแรงงานได้ เสรี 7 อาชีพ ได้แก่ นักสำรวจ, วิศวกรรม, แพทย์, ทันตแพทย์, พยาบาล, บัญชี และสถาปัตยกรรม 
 
ทั้งนี้เพื่อให้นักศึกษาไทยได้สามารถวิเคราะห์ศักยภาพตัวเองได้ตรงตามความต้องการของตลาด ศูนย์พัฒนาศักยภาพมนุษย์ สมาร์ท พีดีเอ จึงได้จัด สเปียร์ เฮด โปรแกรม ขึ้นมาเพื่อช่วยจัดการกลไกด้านแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมุ่งเน้นนักศึกษาระดับปริญญาตรีปี 1 และปี 4 ในเชิงลึก เพื่อให้สามารถเลือกสายอาชีพและสายงานที่ทำได้ตรงกับความสามารถและทักษะของตนเองโดยมีเป้าหมายจะให้สถาบันการศึกษานำไปใช้พัฒนาทักษะ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้อัตราการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ระดับปริญญาตรีลดน้อยลง
 
(ครอบครัวข่าว, 25/03/2558)
 
ชี้ลูกเรือประมงติดเกาะในอินโดฯเป็นแรงงานเถื่อน ยืนยันรัฐเร่งหาทางช่วยกลับไทย 
 
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาแรงงานเรือประมงไทยที่ตกเรือและผู้ที่ถูกหลอกลวงมาทำงานประมงติดอยู่บนเกาะอัมบน เกาะตวน และเกาะเบจินาของประเทศอินโดนีเซีย ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ ว่า แรงงานกลุ่มดังกล่าวเป็นแรงงานเถื่อนที่ไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย แต่ตนยังพยายามแก้ปัญหานี้และปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งขอยืนยันว่าแก้ไขอย่างจริงจังแน่นอน โดยจะมีการวางระบบให้มีศูนย์รวมทุกหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบก่อนที่เรือประมงแต่ละลำจะออกจากท่าเรือว่าต้องเป็นเรือที่มีการจดทะเบียนถูกต้อง และติดตั้งระบบจีพีเอส รวมถึงต้องมีการตรวจสอบแรงงานของเรือลำนั้นๆว่าเป็นแรงงานที่ได้ลงทะเบียนอย่างถูกต้องให้เรียบร้อย อีกทั้งมีการตรวจสอบเครื่องมือทำประมง นอกจากนี้มีชุดเจ้าหน้าที่ติดตามเรือที่ออกสู่น่านน้ำ และเรามีการออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว ขณะเดียวกันเราได้ชี้แจงให้สหภาพยุโรป(อียู) ทราบถึงเรื่องเกี่ยวกับเรือประมงของไทย ทั้งนี้ในโอกาสที่เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เข้าพบตนที่กระทรวงกลาโหม เมื่อเช้าวันนี้ (25 มี.ค.) ตนได้ชี้แจงถึงเรื่องเรือประมงของไทยให้ฝ่ายเยอรมนีรับทราบ
 
เมื่อถามถึงการช่วยเหลือแรงงานเรือประมงไทยที่ติดอยู่บนเกาะในอินโดนีเซียกลับสู่ประเทศไทย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกหน่วยงานมีการเตรียมแผนและกำลังดำเนินการ โดยกระทรวงการต่างประเทศยังมีการติดต่อประสานงานกับรัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ ขณะที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)จัดส่งคณะเจ้าหน้าที่เดินทางไป และประสานงานให้กองทัพอากาศเตรียมพร้อมหากจำเป็นต้องส่งเครื่องบินไปรับกลับประเทศไทย นอกจากนี้ ในอนาคต รัฐบาลไทยและอินโดนีเซียจะมีการทำบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู)ร่วมกันในเรื่องความมั่นคงทางทะเลและเรือประมง เพราะทางการอินโดนีเซียระบุว่าเรือประมงเหล่านั้นเป็นเรือผิดกฎหมาย คนที่ทำงานเป็นแรงงานไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และลักลอบใช้อุปกรณ์จับปลาที่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้เดิมตนมีกำหนดการที่จะเดินทางไปยังอินโดนีเซีย ในวันที่ 26-27 มี.ค.นี้ แต่เนื่องจากประธานาธิบดีอินโดนีเซียต้องเดินทางไปต่างประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว ตนจึงต้องเลื่อนกำหนดการดังกล่าวออกไปก่อน แต่ยืนยันว่าจะต้องเดินทางไปที่อินโดนีเซียเพื่อชี้แจงประเด็นเกี่ยวกับเรือประมงของไทย
 
พล.อ.ประวิตรกล่าวอีกว่า ปัญหาเรือประมงไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมานานนับสิบปี มีการเตือนมาตลอดถึงการห้ามใช้แรงงานประมงผิดกฎหมาย แรงงานเรือประมงไทยที่ถูกจับกุมในอินโดนีเซียเป็นคนที่ถูกหลอกลวงหรือเป็นคนที่ไปทำงานอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนการเอาผิดกับผู้ประกอบการเจ้าของเรือประมงผิดกฎหมายนั้น กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องไปดำเนินการ ทั้งนี้ที่ผ่านมาเคยมีการเรียกกรมประมง กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาประชุมร่วมกันแก้ปัญหาและให้ช่วยกันชี้แจง รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจังและทำให้ถูกต้องตามหลักสากล
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 25/03/2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net