วงเสวนากังวล แก้ กม.ยึดอำนาจ กสทช.-ประชาชนตามไม่ทัน

26 มี.ค.2558 ห้องประชุมชั้น 1 สำนักงาน กสทช. จัดประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และนโยบายที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ เรื่อง “ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปสื่อและการคุ้มครองผู้บริโภคภายใต้การปรับปรุงกฎหมาย กสทช.: อนาคต กสทช. ในยุค ‘ปฏิรูป’ ทางออกปฏิรูปสื่อ หรือ ทางตัน”

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ได้กล่าวเปิดงานการจัดเสวนาครั้งนี้เพื่อกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคและกระทบสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยเปิดเวทีสาธารณะเพื่อถกเถียงผลกระทบต่อสังคม และนำไปปรับแก้ร่างกฎหมาย จนไปสู่การปฏิรูปสื่อที่แท้จริงที่เป็นทางออกไม่ใช่ทางตัน 

จากนั้น นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกิจการโทรคมนาคม กล่าวเสริมว่า จากสถานการณ์ที่รัฐบาลมีนโยบาย เศรษฐกิจดิจิตอล โดยในช่วงแรกกลุ่มพลเมืองได้พูดเรื่องของกฎหมายสิทธิพลเมืองที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ได้มีการถกเรื่องกฎหมาย กสทช. จึงจำเป็นต้องจัดเวทีเพื่อถกปัญหา และเชิญทุกภาคส่วนให้ร่วมมือเนื่องจาก กฎหมาย กสทช. มีปัญหาต่อความจำเป็นในการปฏิรูปสื่อ

ทั้งนี้ได้เชิญวิทยากรที่มีความรู้เฉพาะด้านอาทิ อ.ชโลม เกตุจินดา เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผอ.มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา ดร.สุภาพร โพธิ์แก้ว คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ นายเจริญ  ถิ่นเกาะแก้ว สมาคมผู้ประกอบการวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย นายวิชาญ  อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ นายสุชัย    เจริญมุขยนันท เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข โครงการนำร่องทีวีชุมชน จ.อุบลราชธานี ผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว คณะนิเทศศาสตร์ฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อ.ปัณณพร ไพบูลย์วัฒนกิจ ตัวแทนเครือข่ายเพื่อปฏิรูปสื่อ และ รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ นักวิชาการอิสระ

ด้านตัวแทนจากภาคประชาสังคมได้กล่าวเรื่องการปฏิรูปสื่อว่า ผู้บริโภคนั้นสำคัญมากในยุคปัจจุบัน ทุกคนใช้สื่อทั้งหมด อาทิ โทรศัพท์มือถือผู้บริโภค จำเป็นต้องเสียค่าอินเตอร์เน็ตรายเดือนราคาสูง หรือสื่อโทรทัศน์ผู้บริโภคก็ต้องเสียค่าไฟฟ้าในราคาสูง ผู้บริโภคจึงสำคัญที่ต้องมีส่วนร่วมในการปฏิรูปสื่อ เพราะฉะนั้นการติดตามสื่อหรือทีวีดิจิตอล ต้องมีความหลากหลายมากขึ้น เพราะช่องฟรีทีวีปกติไม่ได้มีความหลากหลาย หลายช่องก็เป็นของทหาร ส่วนหนึ่งพอกลายเป็นช่องทีวีดิจิตอล จึงไม่ควรทำให้กลายเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด แต่สื่อต้องมีความหลากหลายในการนำเสนอ ในส่วนเรื่องการแก้กฎหมายเพื่อการปฏิรูป เมื่อสังเกตกลไกการตรวจสอบของ กสทช. มักไม่สามารถทำงานได้ แม้ว่ามีกฎหมาย แต่ กสทช. ไม่ได้บังคับใช้ มักใช้กระบวนการไกล่เกลี่ย ที่สำคัญกฎหมายบางอย่างมีปัญหาอยู่แล้ว ถ้าต้องการแก้กฎหมาย คณะยกร่างจำเป็นต้องดูส่วนนี้ด้วย

ส่วนนายเจริญ  ถิ่นเกาะแก้ว สมาคมผู้ประกอบการวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย กล่าวว่า เป้าหมายการแก้กฎหมาย มีความจงใจแก้บทบาทของ กสทช. หรือแก้เพื่อ ยึดอำนาจ กสทช. เนื่องจาก กสทช. เป็นองค์กรอิสระ แต่พอแก้ไขแล้วจะขาดความอิสระ จากการที่ กสทช. ต้องเข้าไปอยู่ภายใต้คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลแห่งชาติ ที่ไม่มีส่วนของภาคประชาชน เป็นข้าราชการทั้งสิ้น ถ้ามองในกรอบของกฎหมายที่ต้องแก้ไข เดิมที กสทช. ถูกวิจารณ์หนักเรื่องขาดขอบเขตในการบังคับใช้กฎระเบียบ ส่วนการฉบับร่างกฎหมายที่แก้ไขเมื่อดู มาตรา 4 ถ้าทำแผนแม่บทต่างๆของคลื่นความถี่ คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลแห่งชาติ เป็นคนรับผิดชอบอนุมัติ มาตรา 5 ให้แก้ไข มาตรา 41/1 เรื่องการชี้ขาด ส่วนนี้เป็นประเด็นที่ทำให้ กสทช. ไม่เป็นอิสระ ยิ่งในมาตรา 7 มีการเพิ่มคำเข้ามาอาจส่งผลให้รัฐครอบครองคลื่นมากขึ้น เพราะทุกคนสามารถอ้างได้ว่าทำเพื่อสาธารณะ ในมาตรา 8 มีความคลุมเครือ ไม่สามารถบอกได้ว่าใช้หลักเกณฑ์อะไรประกอบต้องมีรายละเอียดชัดเจน ส่วนมาตรา 9 ข้อนี้สะท้อนการทำงาน กสทช. เรื่องปัญหาการอนุญาตใช้คลื่นท้องถิ่น บางทีมีความทับซ้อนคลื่นชนกัน ที่สำคัญคือ มาตรา 13(6) แก้โดย คสช. ระบุว่า หากมีการเรียกคืนคลื่นต้องชดเชยเงิน

“เดิมทีกองทัพมีคลื่น 200-300 คลื่น ที่ใช้ฟรีและใช้ภาษีไปทำ แต่พอใกล้ถึงช่วงที่ กสทช. กำลังจะดึงคลื่นกลับ มีการเขียนกฎหมายต้องจ่ายชดเชยแถมพ่วงไป นี่เท่ากับเป็นการแก้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง เป็นการแก้ต้องการประโยชน์แฝง” นายเจริญกล่าว

ขณะที่ นายวิชาญ  อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ ได้ตั้งประเด็นไว้ว่า เมื่อดูจากร่างกฎหมาย นอกจากไม่เห็นทางออกยังนำไปสู่เหวลึก ต้องตั้งคำถามว่ากฎหมายชุดนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงปฏิรูปสื่อได้จริงหรือไม่ เมื่อแก้กฎหมายไม่ตรงจุด กสทช. มีปัญหาเรื่อการบังคับใช้กฎหมาย แต่ คสช. กลับไปแก้จุดเด่นของ กสทช. เรื่องความเป็นองค์กรอิสระ โดยให้ขึ้นกับคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอล ความเป็นอิสระกำลังหายไป ภาคประชาชนหายไป มีแต่ข้าราชการทั้งหมด ก่อนหน้ามีการต่อสู้มาหลายปีเรื่องให้มีองค์กรอิสระมาจัดสรรคลื่นความถี่ แต่พอมีการแก้กฎหมายทำให้ความเป็นอิสระของ กสทช. หายไปทั้งหมด  ทำให้ต้องออกมาส่งเสียงว่าข้อเสนอนี้ไม่มีสามารถสร้างการปฏิรูปสื่อได้ ยกตัวอย่างเรื่องของการคืนคลื่นวิทยุชุมชน จนตอนนี้ประชาชนไม่เคยได้คลื่นคืน วิทยุชุมชนใช้คลื่นชั่วคราวมาตลอด การแก้กฎหมายตอนนี้ไม่ตรงจุด อาจต้องรอประชาธิปไตยเพื่อคุยปัญหาอีกครั้ง เพราะถ้าคุยช่วงนี้คงลำบากเมื่อมองความเป็นจริงกฎหมายที่ผ่านช่วงรัฐประหารได้มาจากอำนาจเบ็ดเสร็จไม่ต้องฟังเสียงส่วนอื่นๆ

ด้านนายสุชัย    เจริญมุขยนันท เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข โครงการนำร่องทีวีชุมชน จ.อุบลราชธานี  กล่าวว่า พรบ.ดังกล่าวควรจะมีหลักการในการสนับสนุนให้ประชาชนถือครองคลื่นความถี่ในระดับท้องถิ่น ในระดับชุมชน ให้ชัดเจน ระบุเพียงเพื่อประโยชน์ท้องถิ่น ชุมชน ไม่ได้เน้นย้ำเรื่องสิทธิการเข้าถึงคลื่นความถี่ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหายไป การให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อหายไป  และถูกป้อนข้อมูลจากรัฐเท่านั้น เพราะถูกบังคับให้ฟังข้อมูลจากส่วนกลาง เมื่อลองคิดดูหากคนต่างจังหวัดฟังว่าตอนนี้ถนนสุขุมวิทรถติดให้เลี่ยงเส้นทางจราจร คนต่างจังหวัดได้ประโยชน์หรือไม่ เมื่อไม่ได้ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ไม่มีข้อมูลข่าวสารให้คนในท้องถิ่น หากต้องการปฏิรูปสื่อจำเป็นต้องให้สิทธิของประชาชนในการครอบครองคลื่น  

ขณะที่ อ.ปัณณพร ไพบูลย์วัฒนกิจ ตัวแทนเครือข่ายเพื่อปฏิรูปสื่อ จากภาคเหนือ 4 สถาบัน ประกอบด้วย คณะสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวว่า ข้อสรุปและข้อเสนอจากที่ประชุมสัมมนาที่มีกลุ่มตัวแทนจากภาควิชาการ นักศึกษา สื่อภาคชุมชน กลุ่มตัวแทนวิทยุชุมชน สื่อท้องถิ่น และสื่อภาครัฐ สะท้อนว่าไม่ต้องการตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง พร้อมแสดงท่าทีกังวล แต่ย้ำว่าในยุคสังคมดิจิตอลต้องมีกฎกติการ่วมกันและควรปฏิรูป กสทช. หากแต่ในร่างกฎหมายที่ออกมาไม่ได้สะท้อนและสอดคล้องในการสร้างสังคมดิจิตอล รัฐต้องรักษาสมดุลระหว่างความมั่นคงดิจิตอลและการส่งเสริมสังคมดิจิตอลในรูปแบบที่ไม่กระทบกับ สิทธิ เสรีภาพ และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ด้านผลกระบทจากการร่างกฎหมาย คือการที่ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบกลไกได้ เนื่องจากประชาชนไม่รับรู้การร่างกฎหมายและตามร่างกฎหมายไม่ทัน หากต้องการปฏิรูปจำเป็นต้องจัดเวทีไปตามท้องถิ่น ชุมชน ในแบบที่ กสทช. จัดในวันนี้ เพื่อให้ประชาชนเท่าทันการออกร่างกฎหมาย ควรกระจายทั่วภูมิภาคเพื่อให้กลไกตรวจสอบภาคประชาชนเข้มแข็งมากขึ้น ส่วนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างคณะกรรมการที่ดึงตัวแทนด้านความมั่นคงเข้ามาแล้วตัดตัวแทนภาคประชาชน ส่งผลให้เกิดผลเสียระยะยาวจากการไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐ จนเกิดความขัดแย้งในอนาคต

“การปฏิรูปสื่อไม่ใช่แค่เรื่องของการสื่อมวลชนและสิทธิ แต่เป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพความรับผิดชอบ เป็นเรื่องของการกระจายอำนาจ เพื่อเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างเป็นธรรม ควรจะให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ ตรวจสอบสื่อได้ ใช้สื่อเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม” ปัณณพรกล่าว

รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ นักวิชาการอิสระ แนะว่า หลายฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ ทุกคนเห็นตรงกันว่าในสิ่งที่ร่างมาลิดรอนสิ่งใดบ้าง เพราะฉะนั้นส่วนตัวไม่เห็นทางตัน ถ้าทุกภาคส่วนช่วยกัน ไม่ว่าทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคอีสาน กสทช. เมื่อร่วมมือกันย่อมเห็นทางรอด ย้ำว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ต้องสร้างมาตรฐานจริยธรรมองค์กรวิชาชีพสื่อ เพื่อความเป็นเอกภาพ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท