ประวัติศาสตร์โดยสังเขปของสงครามเวียดนาม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

              

อีกเพียงเดือนเศษก็จะถึงวันที่ 30 เมษายน อันเป็นการครบรอบ 40 ปีที่กองทัพของเวียดนามเหนือได้เข้ายึดกรุงไซ่ง่อน (ปัจจุบันคือโฮจิมินห์ซิตี้) เป็นผลสำเร็จ อันนำไปสู่การรวมประเทศระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ได้ในที่สุด สงครามเวียดนามเป็นสงครามครั้งใหญ่สงครามหนึ่งซึ่งเกิดจากการดำเนินนโยบายทางการเมืองระหว่างมหาอำนาจและรัฐบริวารในสงครามเย็น สงครามนี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเวียดนาม (ประมาณกันว่ามีคนเวียดนามเสียชีวิตกว่า 2 ,000,000 คน) แล้วยังรวมไปถึงสังคม การเมือง เศรษฐกิจนโยบายต่างประเทศและทหารของสหรัฐอเมริกาอย่างมหาศาล  (มีทหารอเมริกันเสียชีวิตกว่า 58,000 คน)  อันเป็นสาเหตุที่ทำให้สหรัฐ ฯ ไม่สามารถทำการบุกรุกประเทศอื่นในขอบเขตขนาดใหญ่และเข้ายึดครองได้เป็นเวลา 25 ปี ดังที่เรียกว่าโรคกลัวเวียดนามหรือ Vietnam Syndrome จนถึงปี 2001 และ ปี 2003 ที่สหรัฐฯ ทำการบุกและยึดครองอัฟกานิสถานกับอิรักตามลำดับ (สำหรับปี 1991 นั้นกองทัพสหรัฐฯ เพียงแต่ขับไล่กองทัพอิรักออกจากคูเวตและคุมเชิงอยู่ห่างๆ เท่านั้น)
      
สงครามเวียดนามมีอีกชื่อหนึ่งว่าสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2  สำหรับชาวเวียดนาม พวกเขาเรียกว่า สงครามอเมริกัน  ตามความจริงแล้วสงครามอินโดจีนมีหลายครั้งก่อนหน้านี้ไม่ว่าตอนที่ไทยทำสงครามกับฝรั่งเศสเพื่อยึดบางส่วนของอินโดจีนคืนในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือญี่ปุ่นเข้ามายึดภูมิภาคอินโดจีนจากฝรั่งเศส แต่การนับอย่างเป็นทางการของฝรั่งนั้นจะถือว่าสงครามอินโดจีนเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงระหว่างปี 1945-1954  อันหมายถึงตอนที่ฝรั่งเศสพยายามกลับมาครอบครองอินโดจีนอีกครั้งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งจะกลายเป็นผลต่อเนื่องไปถึงสงครามเวียดนามดังต่อไปนี้
บทความนี้ต่อไปนี้เป็นการแปลและมีการตัดต่อจากเว็บ vietnam.vassar.edu (ของมหาวิทยาลัย Vassar)
    
สงครามอินโดจีนครั้งที่  2  ในช่วงปี 1954 -1975  เป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งอย่างยาวนานระหว่างฝรั่งเศสและเวียดนาม ในเดือนกรกฏาคม ปี 1954 ภายหลังกว่า 100 ปีของการปกครองแบบ   อาณานิคม ฝรั่งเศสถูกผลักดันให้ออกจากเวียดนาม กองกำลังของคอมมิวนิสต์นำโดยนายพลหวอ เงวียน ย๊าป ได้เอาชนะกองทัพพันธมิตรนำโดยฝรั่งเศสที่เดียน เบียน ฟู ซึ่งเป็นพื้นที่เชิงเขาแถบชนบททางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม สมรภูมิอันชี้ขาดในครั้งนี้ได้ทำให้ฝรั่งเศสเชื่อว่าพวกเขาไม่สามารถคงความเป็นเจ้าอาณานิคมเหนืออินโดจีนได้อีกต่อไป และกรุงปารีสก็เร่งรีบขอประกาศสงบศึก ขณะที่ทั้ง 2  ฝ่ายมาประชุมเพื่อเจรจาสันติภาพที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เหตุการณ์ทั้งหลายก่อนหน้านี้ก็ได้กำหนดอนาคตของอินโดจีนไว้แล้ว
   

สนธิสัญญาสันติภาพเจนีวา (Geneva Accord)

สนธิสัญญาสันติภาพเจนีวาที่ลงนามโดยฝรั่งเศสและเวียดนามในฤดูร้อนปี 1954 แสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดของสงครามเย็นที่แพร่ไปทั่วโลก มันถูกดำเนินการใต้เงามืดของสงครามเกาหลีที่เพิ่งจบสิ้นไปหมาด ๆ และยังเป็นสันติภาพที่น่ากระอักกระอ่วนใจสำหรับทั้งสองฝ่าย ด้วยแรงกดดันจากภายนอกคือสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชน ตัวแทนของเวียดนามต้องยอมให้มีการแบ่งประเทศตนออกเป็น 2  ส่วนชั่วคราวจากการใช้เส้นขนานที่ 17 เป็นตัววัด พวกมหาอำนาจของค่ายคอมมิวนิสต์กลัวว่าความไม่แน่นอนของสันติภาพจะทำให้ฝรั่งเศสและพันธมิตรที่เป็นมหาอำนาจคือสหรัฐอเมริกาโกรธแค้น ทางกรุงมอสโคว์และกรุงปักกิ่งไม่ต้องการจะเสี่ยงกับการเผชิญหน้ากับตะวันตกอย่างกระชั้นเกินไปหลังจากสงครามเกาหลี นอกจากนี้พวกคอมมิวนิสต์ยังเชื่อว่าพวกตนนั้นมีการจัดการองค์กรที่ดีกว่าในการเข้ายึดเวียดนามใต้ด้วยวิถีทางการเมืองเพียงอย่างเดียว
    
ตามมติของสนธิสัญญาเจนีวานั้น เวียดนามจะต้องมีการเลือกตั้งในปี 1956 เพื่อรวมประเทศเป็นหนึ่ง การแบ่งประเทศบนเส้นขนานที่ 17 นั้นจะหายไปกับการเลือกตั้ง สหรัฐฯและกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์จำนวนมากไม่ได้สนับสนุนสนธิสัญญานี้ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศคือนาย จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลลัสคิดว่าข้อตกลงทางการเมืองของสนธิสัญญาฉบับนี้ให้อำนาจแก่พวกเวียดนามคอมมิวนิสต์มากเกินไป เขาจะไม่ยอมให้พวกคอมมิวนิสต์เข้ายึดเวียดนามใต้โดยปราศจากการสู้รบ ดังนั้นเขาและประธานาธิบดี ดไวท์ ดี ไอเซนเฮาวร์ ก็สนับสนุนกลุ่มในเวียดนามที่อยู่ใต้เส้นขนานที่ 17 ในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯได้ส่งเสริมความพยายามครั้งนี้โดยการสร้างชาติเวียดนามใต้ผ่านข้อตกลงระหว่างชาติหลายฉบับอันก่อให้เกิดสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ซีโต้ (South East Asia Treaty Organization หรือ SEATO) ในปี 1954  สนธิสัญญาซีโต้ได้เสนอให้กลุ่มประเทศที่ลงนามมีการปกป้องซึ่งกันและกันทางทหารรวมไปถึงรัฐบาลของสาธารณรัฐเวียดนามหรือเวียดนามใต้
   
ในปี 1956 โง ดินห์ เดียม นักต่อต้านคอมมิวนิสต์ตัวยงได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งที่อื้อฉาวและได้เป็นประธานาธิบดีแห่งเวียดนามใต้ ในวันแรกที่มานั่งเก้าอี้เขาก็พบกับการต่อต้านจากฝ่ายตรงกันข้าม เดียมจึงเรียกร้องให้สหรัฐฯ ช่วยเหลือวิธีการต้านคอมมิวนิสต์ของตน โดยอ้างว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม (ดีอาร์วี)  หรือเวียดนามเหนือต้องการที่จะยึดเวียดนามใต้โดยกำลังทางทหาร ในช่วงปลายปี 1957 จากการช่วยเหลือของสหรัฐฯ เดียมก็โต้ตอบกลับโดยได้รับการสนับสนุนจากซีไอเอในการระบุว่าใครพยายามจะโค่นล้มรัฐบาลของตนและทำการจำกุมปรปักษ์หลายพันคน   ในปี 1959 เดียมก็ได้ออกนโยบาย 10/59  ซึ่งอนุญาตให้ทางการสามารถจับประชาชนขังคุกได้หากถูกสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์โดยไม่ต้องมีการตั้งข้อกล่าวหาอย่างเป็นทางการ

นับตั้งแต่ขึ้นมามีอำนาจ เดียมก็พบกับความลำบากแบบเลือดตาแทบกระเด็น นักเรียน ปัญญาชน ชาวพุทธและกลุ่มอื่นๆ ต่างเข้าร่วมกับพวกคอมมิวนิสต์ในการต่อต้านการปกครองของเดียม (ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวพุทธประท้วงคือเดียมพร้อมน้องชายและภรรยาต่างนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก -ผู้แปล)ยิ่งคนกลุ่มนั้นเข้าโจมตีกองทหารและตำรวจลับของเดียมมากเท่าไร เขาก็ยิ่งพยายามควบคุมกลุ่มประท้วงมากเท่านั้น ประธานาธิบดีผู้นี้ยืนยันว่าเวียดนามใต้คือประเทศประชาธิปไตยที่รักสันติภาพและคอมมิวนิสต์นั้นต้องการจะทำลายประเทศใหม่ของเขา

รัฐบาลของประธานาธิบดี จอห์น เอฟเคนนาดีดูเหมือนจะแตกแยกทางความคิดกันว่ารัฐบาลของเดียมนั้นแท้ที่จริงเป็นประเทศประชาธิปไตยและรักสันติภาพหรือไม่ ที่ปรึกษาของเคนนาดีหลายคนเชื่อว่า เดียมนั้นไม่ได้ทำการปฏิรูปทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างเพียงพอในการคงเป็นผู้นำที่มีเปี่ยมด้วยความสามารถของเวียดนามใต้ หลายคนเห็นว่าเดียมเป็น "คนดีที่สุดในกลุ่มคนเลว" ในขณะที่ทำเนียบข่าวกำลังประชุมกันเพื่อตัดสินอนาคตของนโยบายที่มีต่อเวียดนาม ก็มีการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ในระดับผู้นำสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์

ในช่วงระหว่างปี 1956-1960 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนามต้องการจะรวมประเทศโดยวิถีทางการเมืองเพียงอย่างเดียว มันได้รับเอารูปแบบการต่อสู้ทางการเมืองมาจากสหภาพโซเวียต และได้พยายามโค่นล้มรัฐบาลของเดียมโดยการเพิ่มแรงกดดันทางการเมืองภายในแต่ไม่สำเร็จ ภายหลังความสำเร็จของเดียมในการต่อสู้กับพวกแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ในเวียดนามใต้ กลุ่มคอมมิวนิสต์ที่อยู่ทางใต้เกลี่ยกล่อมให้พรรคนำเอาวิธีการที่รุนแรงกว่าเดิมเพื่อทำให้เดียมกระเด็นออกจากเก้าอี้ ในการประชุมใหญ่ของพรรคครั้งที่ 10  เมื่อเดือนมกราคม ปี 1959 ในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์ก็ตกลงที่จะใช้วิธีการรุนแรงในการโค่นล้มรัฐบาลของเดียม ในเดือนพฤษภาคมของปีเดียวกันนั้นและอีกครั้งในเดือนกันยายนปี 1960 พรรคเน้นย้ำการใช้ความรุนแรงและการผสมผสานระหว่างขบวนการต่อสู้ทางการเมืองและอาวุธ ผลก็คือการเกิดขึ้นของกลุ่มที่มีฐานปฏิบัติการอันกว้างขวางในการระดมชาวเวียดนามใต้เพื่อต่อต้านรัฐบาลในกรุงไซง่อน

   

กลุ่มปลดปล่อยชาติเวียดนาม (National Liberation Front)

กลุ่มใต้ดินที่มีชื่อว่า ยูไนเต็ดฟรอนท์มีรากฐานทางประวัติศาสตร์อันยาวนานในเวียดนาม ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 พวกคอมมิวนิสต์ได้ใช้กลุ่มนี้ในการระดมกองกำลังต่อต้านฝรั่งเศส กลุ่มใต้ดินได้นำเอาพวกที่ทั้งเป็นและไม่เป็นคอมมิวนิสต์มารวมกันเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายที่จำกัดแต่มีความสำคัญ ในวันที่ 20 ธันวาคม ปี 1960 กลุ่มใต้ดินแบบใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์คือกลุ่มปลดปล่อยชาติเวียดนาม (เอ็นเอลเอฟ) ก็ได้อุบัติขึ้น ใครก็ได้สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกตราบที่เขาคนนั้นต่อต้านโง ดินห์ เดียม ชาวเวียดนามที่ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์จำนวนมากที่เข้าร่วมกลุ่มใต้ดินอาจจะไม่ได้ตระหนักว่าท้ายสุดแล้วทางพรรคก็จะยุบกลุ่มปลดปล่อยชาติเวียดนามและจำกัดบทบาทของกลุ่มที่ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ในรัฐบาลผสมภายหลังสงคราม

ลักษณะของกลุ่มปลดปล่อยชาติเวียดนามและความสัมพันธ์ที่มีต่อพรรคคอมมิวนิสต์ในกรุงฮานอยได้ก่อให้เกิดการโต้เถียงกันในบรรดานักวิชาการและนักกิจกรรมต่อต้านสงครามรวมไปถึงนักวางนโยบายทั้งหลาย นับตั้งแต่กลุ่มปลดปล่อยชาติเวียดนาม ได้อุบัติขึ้นเมื่อปี 1960 เจ้าหน้าที่รัฐบาลในกรุงวอชิงตันอ้างว่ากรุงฮานอยนั้นได้ชี้นำให้กลุ่มปลดปล่อยชาติเวียดนาม โจมตีรัฐบาลไซง่อนอย่างรุนแรง จากชุด "เอกสารปกขาว"ของรัฐบาล คนข้างในกรุงวอชิงตันประณามกลุ่มปลดปล่อยชาติเวียดนามโดยอ้างว่ามันเป็นหุ่นเชิดของกรุงฮานอย ในทางกลับกัน กลุ่มปลดปล่อยชาติเวียดนามบอกว่ามันเป็นกลุ่มอิสระ ไม่ขึ้นกับพวกคอมมิวนิสต์ในกรุงฮานอย และสมาชิกส่วนใหญ่เป็นพวกที่ไม่ได้สังกัดพรรคคอมมิวนิสต์ กรุงวอชิงตันก็ยังคงทำลายความน่าเชื่อถือกลุ่มปลดปล่อยชาติเวียดนามและเรียกคนเหล่านั้นว่า "เวียดกง"อันเป็นคำแสลงที่หยาบคายสำหรับพวกคอมมิวนิสต์เวียดนาม (กระนั้นเพื่อความเคยชินกับคนอ่าน ต่อไปนี้ผู้แปลจะขอใช้คำว่าเวียดกงกับกลุ่มกลุ่มปลดปล่อยชาติเวียดนามตลอดไป  ผู้แปลก็ไม่รู้ว่ามันหยาบคายหรือไม่เพราะตอนไปเที่ยวที่โฮจิมินห์ซิตี้เมื่อ 2 ปีก่อนก็บอกกับคนเวียดนามว่าพวกเวียดกงนั้นเก่ง ก็เห็นเขาไม่พูดอะไร ได้แต่ยิ้มๆ )
   

เอกสารปกขาวเดือนธันวาคม ปี1961

ปี 1961 ประธานาธิบดีเคนนาดีได้ส่งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญไปยังเวียดนามเพื่อรายงานสถานการณ์ในเวียดนามใต้และประเมินความต้องการการช่วยเหลือจากอเมริกาในอนาคต รายงานซึ่งปัจจุบันเป็นรู้จักกันว่า "เอกสารปกขาวเดือนธันวาคม 1961"  ได้ร้องขอให้มีการเพิ่มความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ทางเทคนิคและทางทหาร รวมไปถึงแนะนำให้ส่งกลุ่มที่ปรึกษาอเมริกันจำนวนมากเพื่อเสริมสร้างให้รัฐบาลของเดียมมีเสถียรภาพและยังสามารถบดขยี้พวกเวียดกง ในขณะที่เคนนาดีกำลังชั่งใจถึงข้อดีข้อเสียจากคำแนะนำเหล่านั้น ที่ปรึกษาของเขาคนอื่นๆ ได้แนะนำให้ประธานาธิบดีถอนตัวจากเวียดนามโดยอ้างว่ามันเป็น"ทางตัน"

ตามวิสัยของเคนนาดีแล้ว ประธานาธิบดีท่านนี้จะชอบเดินทางสายกลาง แทนที่จะส่งกองกำลังทางทหารอย่างมโหฬารตามที่เอกสารปกขาวเรียกร้องหรือไม่ก็ถอนตัวออกไปทันที เคนนาดีมุ่งไปที่ความสัมพันธ์อันมีขีดจำกัดกับเดียม สหรัฐฯ จะเพิ่มระดับของการเกี่ยวข้องทางทหารในเวียดนามใต้ผ่านที่ปรึกษาและอาวุธยุโธปกรณ์ ไม่ใช่ส่งทหารจำนวนมากเข้าไป กลยุทธ์แบบนี้มีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น และในไม่ช้ารายงานจากเวียดนามระบุว่าพวกเวียดกงเริ่มมุ่งเน้นการยึดพื้นที่ในชนบทของเวียดนามใต้ เพื่อเป็นการต่อต้านความพยายามเหล่านั้น กรุงวอชิงตันและกรุงไซง่อนก็ได้เริ่มต้นส่งกองกำลังทหารเข้าไปในแถบชนบท ดังที่เรียกว่า แผนยุทธวิธีแฮมเล็ต (Strategic Hamlet Program) แผนการต่อต้านพวกใต้ดินนี้คือต้อนชาวบ้านทั้งหลายไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่สร้างโดยทหารเวียดนามใต้ นั่นคือความพยายามในการสกัดพวกเวียดกงออกจากชาวบ้านธรรมดาๆ ซึ่งเป็นฐานสนับสนุน แผนการนี้ได้มาจากประสบการณ์ของทหารอังกฤษในมาเลเซีย แต่ปัจจัยต่างๆ ในเวียดนามใต้กลับแตกต่างออกไปและแฮมเล็ตก็หาได้ผลมากนัก จากการสัมภาษณ์ต่อที่ปรึกษาของสหรัฐฯ ในพื้นที่ แผนยุทธวิธีแบบนี้ส่งผลลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไซง่อนและบรรดาชาวนา เมื่อก่อนชาวเวียดนามชนบทจำนวนมากเห็นว่าเดียมนั้นเป็นเพียงบุคคลที่น่ารำคาญ แต่แผนยุทธวิธีได้นำนโยบายรัฐบาลมาลุกล้ำชนบท ชาวบ้านจำนวนมากจึงโกรธแค้นที่ถูกผลักดันออกจากพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งพวกเขาอาศัยอยู่กันตั้งแต่บรรพบุรุษ ที่ปรึกษาบางคนแนะนำว่าความล้มเหลวของแผนยุทธวิธีนี้ได้ทำให้จำนวนสมาชิกกลุ่มเวียดกงเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
    

การทำรัฐประหาร

ในช่วงฤดูร้อนปี 1963 ด้วยความสำเร็จของเวียดกงและความล้มเหลวของตัวรัฐบาลเอง (ความจริงต้องบอกด้วยว่ายังเกิดจากความฉ้อฉลของตัวรัฐบาลอีกด้วย -ผู้แปล) รัฐบาลของเดียมกำลังอยู่ในสภาวะใกล้ล่มสลาย น้องชายของเดียมคือ โง ดินห์ นู ได้โจมตีเจดีย์ของศาสนาพุทธตามจุดต่างๆ ในเวียดนามใต้ โดยอ้างว่าเป็นแหล่งส่องสุมของพวกคอมมิวนิสต์ที่ทำลายเสถียรภาพของรัฐบาล ผลลัพธ์ก็คือการประท้วงอย่างหนักหน่วงบนท้องถนนของกรุงไซง่อนและพระภิกษุรูปหนึ่งได้ทำการเผาตัวเองจนมรณภาพ ภาพถ่ายพระที่จมอยู่ในกองเพลิงได้กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกและนำความอับอายอย่างมากมายมาสู่กรุงวอชิงตัน ปลายเดือนกันยายน การประท้วงของชาวพุทธได้ทำให้เวียดนามใต้แทบจะแตกเป็นเสี่ยงๆ จนรัฐบาลของเคนนาดีต้องสนับสนุนให้กลุ่มนายพลทำรัฐประหาร ในปี 1963 นายพลของเดียมเองหลายนายในกองกำลังของสาธารณรัฐเวียดนามก็ได้ติดต่อกับสถานทูตของสหรัฐฯในกรุงไซง่อนในการวางแผนโค่นเดียม เมื่อกรุงวอชิงตันขยิบตาให้ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ปี 1963 เดียมและและน้องชายก็ถูกจับกุมและถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม แต่ 3  อาทิตย์หลังจากนั้น ประธานาธิบดีเคนนาดีก็ถูกลอบสังหารบนถนนในเมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส

ในช่วงเวลาที่ทั้งเคนนาดีและเดียมถูกสังหาร มีที่ปรึกษาทางทหารของอเมริกาถึง 16,000  นายในเวียดนามใต้ รัฐบาลของเคนนาดีได้จัดการให้มีการทำสงครามโดยปราศจากการส่งทหารจำนวนมากเข้าไป อย่างไรก็ตามปัญหาทางการเมืองที่เรื้อรังในกรุงไซง่อนได้ทำให้ประธานาธิบดีคนใหม่คือลินดอน เบนส์จอห์นสันเชื่อว่าปฏิบัติการที่ก้าวร้าวกว่าเดิมเป็นสิ่งจำเป็น หรือบางทีจอห์นสันนั้นมีใจฝักใฝ่ไปทางการส่งกำลังทหารหรือบางทีเหตุการณ์ในเวียดนามได้บีบให้ประธานาธิบดีต้องเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น แต่แล้วหลังจากที่เกิดเหตุการณ์การโจมตีของกลุ่มบุคคลที่สงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ต่อเรือรบของสหรัฐฯ 2ลำในอ่าวตังเกี๋ย รัฐบาลของจอห์นสันได้ร้องขอรัฐสภาเพื่ออนุมัติให้ประธานาธิบดีมีอำนาจในการสั่งการต่อการทำสงครามครั้งใหญ่
    

มติอ่าวตังเกี๋ย (Gulf of Tonkin Resolution)

วันที่ 2 สิงหาคม ปี1964 เพื่อเป็นการโต้ตอบต่อความพยายามในการก่อวินาศกรรมของสหรัฐอเมริกาและเวียดนามใต้บริเวณพื้นที่ชายฝั่ง เวียดนามเหนือได้โจมตีเรือรบของสหรัฐ ฯ บริเวณอ่าวตังเกี๋ย การโจมตีครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้นในวันที่ 4  ถึงแม้หวอ เงวียน ย๊าป และผู้นำทางทหารของเวียดนามเหนือ รวมไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯคือ โรเบิร์ต เอส แม็คนามาราจะสรุปก่อนหน้านี้ว่าจะไม่มีการโจมตีครั้งที่  2    ก็ตาม รัฐบาลของจอห์นสันก็ได้ใช้การโจมตีในวันที่ 4  นี้ในการขอมติของรัฐสภาในการให้อำนาจอย่างเต็มที่ต่อประธานาบดี มติซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า"มติอ่าวตังเกี๋ย" ได้ผ่านทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาโดยมีเสียงคัดค้านเพียง 2 เสียง (นั้นคือวุฒิสมาชิกมอร์สจากรัฐโอเรกอนและเกรนนิงจากรัฐอะแลสกา) มตินั้นได้ให้มีการโจมตีทางอากาศอย่างจำกัดเพื่อเป็นการตอบโต้เวียดนามเหนือ

ตลอดช่วงฤดูใบไม้ผลิตและช่วงหน้าหนาวของปี 1964 รัฐบาลของจอห์นสันได้ถกเถียงกันถึงกลยุทธ์อันเหมาะสมในเวียดนาม เสนาธิการทหารต้องการขยายสงครามทางอากาศไปถึงเวียดนามเหนืออย่างรวดเร็วในการช่วยให้รัฐบาลของใหม่ของกรุงไซง่อนมีเสถียรภาพ ฝ่ายพลเรือนในเพนตากอนต้องการให้มีการทิ้งระเบิดที่จำกัดพื้นที่และเลือกเป้าเพื่อเป็นการเพิ่มแรงกดดันทีละเล็กทีละน้อย มีเพียงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศคือจอร์จ บอลล์ที่คัดค้านโดยบอกว่านโยบายของจอห์นสันนั้นเป็นการยั่วยุเกินไปและได้ผลตอบแทนที่ไม่มากนัก ในช่วงต้นปี 1965  พวกเวียดกงได้โจมตีเวียดนามใต้รวมไปถึงฐานทัพของสหรัฐฯที่ประจำอยู่ ดังนั้นจอห์นสันได้สั่งให้มีการทิ้งระเบิดเหนือเวียดนามเหนือซึ่งเป็นปฏิบัติการที่กองทัพได้แนะนำตลอดมา

การทิ้งระเบิดซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า "ปฏิบัติการสายฟ้าฟาด"  (Operation Rolling Thunder) และการนำกองกำลังสหรัฐฯเข้ามาในปี 1965 ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ต้องประเมินยุทธวิธีในสงครามเสียใหม่ ในช่วงปี 1960 จนไปถึงปลายปี 1964 พรรคเชื่อว่าตนสามารถรบเอาชนะเวียดนามใต้ได้ใน"ช่วงเวลาเพียงสั้นๆ " การพยากรณ์แบบมองโลกในแง่ดีจนเกินไปนี้ตั้งอยู่บนสถานการณ์ของสงครามที่มีพื้นที่จำกัดในเวียดนามใต้และไม่ได้นับการเข้ามาเกี่ยวข้องของกองทัพสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามเมื่อพบกับศัตรูคนใหม่ พรรคก็เปลี่ยนเป็นสงครามแบบยืดเยื้อ ความคิดของพวกเขาก็คือต้องทำให้สหรัฐฯติดหล่มในสงครามที่ไม่สามารถเอาชนะการต่อสู้ได้และต้องสร้างเงื่อนไขที่ไม่เอื้อต่อชัยชนะของอเมริกา พรรคคอมมิวนิสต์เชื่อว่าตนจะสามารถเอาชนะในสงครามแบบยืดเยื้อเพราะสหรัฐฯนั้นไม่มีกลยุทธ์ที่ชัดเจน จึงอาจเอือมละอาต่อสงครามและต้องการเจรจาในการสงบศึก ดังนั้นการพยากรณ์ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของกรุงฮานอยในปี 1965 จึงขึ้นกับกลยุทธ์เช่นนี้
    

สงครามในอเมริกา

หนึ่งในเรื่องกลับตาลปัดอันยิ่งใหญ่ที่สุดในสงครามที่อุดมด้วยเรื่องพรรค์นี้คือการที่กรุงวอชิงตันมุ่งเน้นไปที่สงครามจำกัดขอบเขตในเวียดนาม รัฐบาลของจอห์นสันต้องการสู้สงครามครั้งนี้แบบ"เลือดเย็น" นั้นหมายความว่าอเมริกาจะทำการรบแบบต้องให้มีผลกระทบน้อยที่สุดต่อวัฒนธรรมภายในชาติตน สงครามขอบเขตจำกัดต้องการให้มีการระดมทรัพยากร วัสดุและมนุษย์ที่ไม่มากนัก และนำไปสู่ความวุ่นวายเพียงน้อยนิดในชีวิตประจำวันของชาวอเมริกัน จากเหตุการณ์สำคัญในสงครามเย็นและการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ สงครามขอบเขตจำกัดย่อมเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับนักวางกลยุทธ์ทั้งหลายทั้งในและนอกกรุงวอชิงตัน แน่นอนพวกเขาไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเช่นนั้นได้ สงครามเวียดนามมีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อชีวิตของชาวอเมริกันและรัฐบาลของจอห์นสันถูกกดดันให้พิจารณาถึงผลกระทบจากการตัดสินใจที่มีต่อในบ้านตัวเองทุกวัน ในที่สุดแล้วไม่มีอาสาสมัครเพียงพอในการไปรบในสงครามที่ยืดเยื้อเช่นนี้ และรัฐบาลก็ทำการเกณฑ์ทหาร เมื่อมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นและคนอเมริกันถูกส่งไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลของจอห์นสันก็พบกับการต่อต้านสงครามทวีคูณขึ้น

ในขั้นแรกนั้นการประท้วงเกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัยและในเมืองใหญ่ๆ แต่ในปี 1968 ทุกมุมของประเทศต่างก็รู้สึกถึงผลกระทบของสงคราม หนึ่งในเหตุการณ์ที่อาจจะโด่งดังที่สุดในการต่อต้านสงครามคือการจลาจลในชิคาโก้ในช่วงการประชุมครั้งใหญ่ของพรรคเดโมแครต ประชาชนหลายแสนคนเดินทางมายัง       ชิคาโก้ในเดือนสิงหาคมเพื่อประท้วงการที่สหรัฐฯเข้าไปยุ่งในเวียดนามและบรรดาผู้นำของพรรคเดโมเครตก็ยังคงให้มีการทำสงครามต่อไป

ยุทธการวันตรุษญวน (Tet Offensive)

ปี 1968 ทุกสิ่งดูจะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ สำหรับรัฐบาลของจอห์นสัน ปลายมกราคม ทั้งเวียดนามเหนือและเวียดกงต่างร่วมกันโจมตีตามเมืองใหญ่ ๆของเวียดนามใต้ การโจมตีเป็นที่รู้จักกันในนามว่า ยุทธการวันวันตรุษญวน ถูกวางแผนมาเพื่อ"ทำลายเจตจำนงอันก้าวร้าว" ของรัฐบาลจอห์นสันและบังคับกรุงวอชิงตันให้ขึ้นโต๊ะเจรจา พรรคคอมมิวนิสต์เชื่อว่าคนอเมริกันต่างก็เบื่อสงครามเต็มทนและกรุงฮานอยสามารถทำให้จอห์นสันขายหน้าและต้องขอเจรจาสงบศึก ทว่าคำพยากรณ์เกี่ยวกับยุทธการวันตรุษญวณของพรรคคอมมิวนิสต์ผิดพลาด ทหารคอมมิวนิสต์พบกับการล้มตายอย่างมหาศาลในทางใต้และการสังหารหมู่ผู้ที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ในเมืองเว้ทำให้ผู้สนับสนุนกรุงฮานอยขุ่นเคืองใจ นอกจากนี้ใครหลายคนคิดว่าแผนของยุทธการวันตรุษญวนนี้มีความเสี่ยงเกินไป สิ่งนี้ทำให้เกิดความหมางใจระหว่างพวกคอมมิวนิสต์ที่อยู่ในเวียดนามเหนือและใต้ จอห์นสันผู้อับอายประกาศว่าจะไม่สมัครลงเลือกตั้งประธานาธิบดีอีก และบอกเป็นนัยๆ ว่าเขาจะขึ้นโต๊ะเจรจากับพวกคอมมิวนิสต์เพื่อยุติสงคราม

รัฐบาลสมัยนิกสัน

จอห์นสันได้เปิดโต๊ะเจรจากับพวกเวียดนามเหนืออย่างลับ ๆในฤดูใบผลิตปี 1968 ที่กรุงปารีส และในไม่ช้าก็ประกาศว่าสหรัฐฯและเวียดนามเหนือกำลังตกลงเพื่อเจรจาการยุติสงครามที่ราคาแสนแพงนี้ ถึงแม้ว่าจะมีความสำเร็จที่กรุงปารีส แต่พรรคเดโมเครตไม่สามารถเอาชนะผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกันคือริชาร์ด      นิกสันซึ่งประกาศว่ามีแผนลับในการยุติสงคราม  แผนลับของนิกสันปรากฏว่าเป็นการยืมมาจากแผนของ   ลินดอน จอห์นสันเมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีคนใหม่ยังคงดำเนินการแผนที่เรียกว่า "การทำให้เป็นเวียดนาม" (Vietnamization) ชื่อน่าเกลียดที่บอกเป็นนัยว่าชาวอเมริกันจะไม่ต่อสู้และตายในป่าทึบของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกต่อไป   กลยุทธ์นี้คือการนำทหารอเมริกันกลับบ้านและเพิ่มการโจมตีทางอากาศยังเวียดนามเหนือและพึ่งพิงกับการโจมตีภาคพื้นดินของกองทัพเวียดนามใต้มากขึ้น

ในช่วงเวลานี้ สหรัฐฯยังพบกับการขยายสงครามไปยังเพื่อนบ้านคือลาวและกัมพูชา  ในขณะที่ทำเนียบขาวพยายามอย่างสิ้นหวังในการทำลายที่พักพิงและเส้นทางลำเลียงเสบียงของพวกคอมมิวนิสต์ (Ho Chi Minh trails) การโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงในกัมพูชาปลายเมษายนปี 1970 ทำให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรงในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วอเมริกา ที่มหาวิทยาลัยเคนท์สเตทในรัฐโอไฮโอ นักศึกษา 4 คนถูกฆ่าโดยกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิซึ่งถูกระดมพลมารักษาความเรียบร้อยในมหาวิทยาลัยภายหลังจากมีการประท้วงต่อนิกสันหลายวัน ก่อให้เกิดความตกตะลึงไปทั่วประเทศเมื่อนักศึกษาที่มหาวิทยาแจ๊กสันสเต็ทที่รัฐมิสซิสซิปปีก็ถูกยิงจนเสียชีวิตเหมือนกันด้วยเรื่องการเมืองเดียวกันนี้ ผู้เป็นแม่คนหนึ่งถึงกลับร่ำไห้ "พวกเขาฆ่าลูก ๆ ของพวกเราที่เวียดนามและยังตามมาฆ่าที่บ้านอีก"

กระนั้นการทำสงครามทางอากาศที่ขยายไปทั่วก็ไม่สามารถสกัดกั้นพวกคอมมิวนิสต์ได้แถมยังทำให้มีการเจรจาที่กรุงปารีสยากเย็นขึ้นไปอีก แผนการทำให้เป็นเวียดนามของนิกสันทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเทศเบาลง แต่การพึ่งพิงกับการทิ้งระเบิดที่ดำเนินไปเรื่อย ๆ ของเขาทำให้พลเมืองอเมริกันเดือดดาล ต้นฤดูใบไม้ร่วงปี 1972 ที่ปรึกษาความมั่นแห่งชาติ เฮนรี คิสซิงเจอร์และ เลอ ดุค โธตัวแทนของเวียดนามเหนือก็ได้ร่างแผนสันติภาพสำเร็จ (ต่อมาทั้งคู่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1973 แต่เลอ ดุค โธปฏิเสธเพราะกล่าวว่าสงครามยังไม่สิ้นสุดจริงๆ - ผู้แปล)  กรุงวอชิงตันและกรุงฮานอยก็สันนิฐานว่าเวียดนามใต้จะยอมปฏิบัติตามข้อตกลงที่ถูกเขียนในกรุงปารีสโดยปริยาย แต่ ผู้นำคนใหม่ในเวียดนามใต้คือประธานาบดีเหงียน วัน เทียน และรองประธานาธิบดี เหงียน เกา กีย์ปฏิเสธร่างสันติภาพและต้องการไม่ให้มีการประชุมใด ๆ ทั้งสิ้น พวกเวียดกงเองก็ปฏิเสธร่างในบางส่วน สงครามกลับเข้มข้นขึ้นเมื่อรัฐบาลนิกสันได้สั่งให้มีการทิ้งระเบิดอย่างหนักหน่วงเหนือเป้าหมายในเมืองใหญ่ ๆของเวียดนามเหนือเช่นกรุงฮานอยและนครไฮฟอง การโจมตีซึ่งบัดนี้เป็นที่รู้จักกันว่า "การทิ้งระเบิดช่วงคริสต์มาส" ทำให้นานาชาติประณามและกดดันให้รัฐบาลนิกสันต้องพิจารณากลยุทธ์และเรื่องการเจรจาอีกครั้ง

สนธิสัญญาสันติภาพกรุงปารีส  (Paris Peace Accords)

ในช่วงต้นมกราคม ปี1973 ทำเนียบขาวได้ให้คำมั่นกับรัฐบาลเวียดนามใต้ว่าจะไม่ทอดทิ้งกันถ้าพวกเขายอมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ  ดังนั้นในวันที่ 23 ร่างสัญญาชุดสุดท้ายก็ปรากฏเป็นรูปเป็นร่าง ส่งผลถึงการสิ้นสุดสงครามอย่างเป็นทางการระหว่างสหรัฐฯและเวียดนามเหนือ นอกจากการหยุดยิงทั่วเวียดนามแล้วสหรัฐฯ ยังต้องถอนกำลังพลรวมไปถึงที่ปรึกษาทางทหารออกจากเวียดนามให้หมดเช่นเดียวกับการรื้อถอนฐานทัพของสหรัฐฯ ในเวียดนามใต้ภายใน 60 วัน เวียดนามเหนือยังตกลงที่จะปล่อยเชลยศึกทั้งอเมริกันและชาติอื่นทั้งหมด กระนั้นสนธิสัญญาสันติภาพก็ไม่ได้ยุติสงครามเสียจริงๆ ในเวียดนาม เมื่อรัฐบาลของเทียและกีย์ยังคงทำสงครามกับพวกคอมมิวนิสต์ต่อไป ช่วงระหว่างมีนาคม ปี 1973 จนมาถึงการล่มสลายของกรุงไซง่อนในวันที่ปลายเดือนเมษายนปี1975 กองทัพได้ต่อสู้อย่างสิ้นหวังเพื่อรักษาเวียดนามใต้ไว้ ฉากสุดท้ายก็มาถึงเมื่อรถถังของกองทัพเวียดนามเหนือได้แล่นอยู่บนถนนหลวงในเวียดนามใต้ ในเช้าวันที่ 30 เมษายนนั้นกองทัพคอมมิวนิสต์ก็เข้ายึดทำเนียบรัฐบาล อันเป็นการจบสิ้นสงครามเวียดนามหรือสงครามอินโดจีนครั้งที่  2 อย่างแท้จริง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท