Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ชี้เหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมที่ทุ่งยางแดง เป็นเชื้อเพลิงหล่อเลี้ยงความขัดแย้ง จี้รัฐลงโทษเจ้าหน้าที่ที่มีความผิด เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพ พร้อมขอสื่ออย่าเสนอความจริงด้านเดียว

เมื่อวานนี้ 30 มี.ค. 2558 เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ออกแถลงการณ์ต่อกรณีวิสามัญฆาตดรรม 4 ศพ โดยที่ 2 ใน 4 เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฟาฎอนี และการควบคุมตัวชาย 22 คน ชี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวแปรหล่อเลี้ยงความขัดแย้ง ซึ่งส่งผลต่อบรรยากาศของขบวนการสันติสุข พร้อมยื่นข้อเสนอต่อรัฐลดเชื้อเพลิงความขัดแย้ง

แถลงการณ์เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ฉบับที่ 1/2558
กรณีวิสามัญฆาตกรรม 4 ศพกับอีก 22 คนถูกควบคุมตัวที่ทุ่งยางแดง

เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2558 เวลาประมาณ 17.00 น.ได้เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงและขัดกับหลักมนุษยธรรม สากลอย่างปฏิเสธไม่ได้นั่นคือเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าได้ปิดล้อมจับตายเยาวชน 4 คน ซึ่ง 2 ใน 4 คน ที่เสียชีวิตนั้น เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฟาฏอนี และควบคุมตัวชายฉกรรจ์จำนวนทั้งหมด 22 คน ที่บ้านโต๊ะชูด ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสสูงของกระบวนการสันติภาพสันติสุข ซึ่งส่งผลให้อารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่มีความคาดหวังสูงว่า สันติภาพสันติสุขคงเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ แต่ความคาดหวังสูงดังกล่าวก็ต้องมาติดลบอีกครั้งด้วยเหตุการณ์สลดใจสะเทือนขวัญในครั้งนี้

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เหตุการณ์ครั้งนี้ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญของการขยายตัวเป็นเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความขัดแย้งจนส่งผล กระทบต่อบรรยากาศของกระบวนการสันติภาพสันติสุขนั้นคือ การสรุปและมองเหตุการณ์ในครั้งนี้ของทางภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะญาติๆ ผู้สูญเสียและเพื่อนพ้องน้องพี่ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับ มหาวิทยาลัยฟาฏอนีนั้น สรุปและมองเหตุการณ์ครั้งนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง

ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวการสรุปเหตุการณ์ของภาครัฐ โดยผ่านการชี้แจงเบื้องต้นหลังเหตุการณ์เกิดขึ้นได้ 1 วัน ของโฆษก กองอำนวยการรักษาความั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ดังนี้

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เผยกับคลื่นข่าว 100.5 ว่า “จาก การที่เจ้าหน้าที่ปะทะผู้ก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่ ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี วานนี้ คนร้ายเสียชีวิต 4 คน สามารถควบคุมแนวร่วมได้ 22 คน ยึดอาวุธปืน 4 กระบอก เป็นปืนอาก้า 3 กระบอก ปืนพก 1 กระบอก ระบุ เหตุดังกล่าวเป็นไปตามปฏิบัติการทุ่งยางแดงโมเดล หลังประชาชนแจ้งเบาะแสพบความเคลื่อนไหวของผู้ก่อเหตุความรุนแรงเตรียมเข้ามาโจมตีฐานปฏิบัติในพื้นที่ โดย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้วยความระมัดระวัง”

แต่ข้อสรุปของบรรดาญาติๆ และชาวบ้านต่อ เหตุการณ์นี้คือ ผู้เสียชีวิตทั้ง 4 คนนั้นไม่ใช่คนร้าย และไม่ใช่แนวร่วมขบวนการฯแต่อย่างใด อีกทั้ง 2 ใน 4 คน ที่เสียชีวิตนั้นยังเป็นนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาด้วยซ้ำ

เมื่อข้อสรุปของภาครัฐและประชาชนต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ต่างกันสุดขั้วนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าได้เกิดแรงกระเพื่อมขยายสร้างและเพิ่มเงื่อนไขหล่อเลี้ยง ความขัดแย้งยืดเยื้อโดยปริยาย กล่าวคือ

1.เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบไปบั่นทอนบรรยากาศของกระบวนการสันติภาพสันติสุขที่กำลังเป็นกระแสสูง และยิ่งตอกย้ำ ความรู้สึกของประชาชนว่าไม่สามารถไว้วางใจต่อนโยบายหรือข้อตกลงหรือการรณรงค์ใดๆ ซึ่งคาบเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพสันติสุขที่มาจากภาครัฐ

2.เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมหรือหลักนิติรัฐแห่งประเทศไทยโดยตรง หากปลายทางของการตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งมาจากกลไกที่มีความน่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่นั้นสรุปว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีความผิดจริง แต่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถลงโทษทางอาญาได้ ยิ่งทำให้ประชาชนเพิ่มความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมและยิ่งเพิ่มความรู้สึกร่วมกับขบวนการปลดปล่อยปาตานีอย่างเข้าใจว่า ที่ขบวนการฯได้ใช้กิจกรรมทางอาวุธต่อสู้กับรัฐนั้นเป็นสิ่งที่ชอบธรรม โดยภาวะวิสัยตามสภาพความเป็นจริงแล้ว

เพื่อเป็นการลดทอนน้ำหนักการเป็นเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความขัดแย้ง ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ในครั้งนี้และเชื่อว่าภาครัฐเองก็คงเห็น ด้วยที่จะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความขัดแย้ง เสมือนเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีเป็นอันแน่

เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพจึงมีข้อเรียกร้องต่อภาครัฐ ดังต่อไปนี้

1.ระดับนโยบายของภาครัฐต้องแสดงความจริงจังต่อการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อกระบวนการสันติภาพสันติสุข โดยการเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ปรากฏต่อสาธารณและหากผลสรุปตรงตามข้อมูลข้อ เท็จจริงของชาวบ้าน คือ เจ้าหน้าที่รัฐมีความผิดจริงนั้น รัฐต้องลงโทษทางอาญาอย่างไม่มีข้อยกเว้นใดๆ

2.หากกลไกการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของ ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ มีผลสรุปออกมาว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ปะทะกับผู้ก่อเหตุรุนแรงจริง อีกทั้งผู้เสียชีวิตทั้ง 4 คน และผู้ถูกควบคุมตัว 22 คน ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆกับอาวุธปืนทั้ง 4 กระบอกดังกล่าว ขอให้ภาครัฐระดับนโยบายทำการแถลงข่าวชี้แจงเพื่อแก้ข่าวให้ตรงตามความเป็นจริงด้วยในทันที

3.ขอเรียกร้องต่อสื่อ อย่าทำตัวเสมือนเป็นโฆษก กอ.รมน. เสียเอง เมื่อมีเหตุการณ์อ่อนไหวที่สร้างความสูญเสียชีวิตต่อประชาชนดังเช่น เหตุการณ์ในครั้งนี้ ขอความกรุณาอย่านำเสนอข้อมูลจาก กอ.รมน. เพียงด้านเดียว มิเช่นนั้นสื่อเสียเองที่จะสร้างเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความขัดแย้งระหว่างรัฐ กับประชาชน

ด้วยจิตรักสันติภาพและประชาธิปไตย
เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ
30 มีนาคม 2558

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net