เครือข่ายแรงงานนอกระบบจี้ WHO สอบกรณีแม่บ้านเอธิโอเปีย

สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) เร่งรัด ตรวจสอบ กรณีแม่บ้านชาวเอธิโอเปียอย่างเป็นธรรม หวั่นเอกสิทธิ์ทางการทูต เจ้าหน้าที่ชี้ว่า รัฐไทยสามารถระงับชั่วคราว
 
 
 
 
 
3 เม.ย. 2558 เวลา 11.00 น. หน้าองค์การสหประชาชาติหรือ UN สะพานมัฆวาน ตัวแทนสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ จำนวน 10 คน ยื่นหนังสือถึงองค์การอนามัยโลก ขอให้เร่งรัดตรวจสอบกรณีแม่บ้านหญิงชาวเอธิโอเปียซึ่งถูกนายจ้างทำร้าย หลังจากเป็นข่าว ในเวลาต่อมา Dr.Mukta Sharma (Technical Officer WHO Thailand) ตัวแทนองค์การอนามัยโลกออกมารับจดหมายเปิดผนึกก่อนจะแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและกล่าวว่าจะเร่งรัดตรวจสอบอย่างเคร่งครัดและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ เมื่อนักข่าวถามว่า กรณีนี้นายจ้างเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การอนามัยโลกจะได้รับเอกสิทธิ์พิเศษทางการทูตหรือไม่ เจ้าหน้าที่ตอบว่า เอกสิทธิ์พิเศษทางการฑูตมีให้เฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับสูงแต่รัฐบาลไทยสามารถระงับเอกสิทธิ์นี้ได้ชั่วคราว
 
ทั้งนี้ ในจดหมายเปิดผนึก ระบุชื่อ นายแพทย์โยนัส เทกเก้น ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยและภรรยา อ้างว่าเป็นนายจ้างผู้ซึ่งทำร้ายร่างกายแม่บ้านชาวเอธิโอเปียตลอดระยะเวลา 1 ปี 8 เดือน ซึ่งได้เข้าแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรปากเกร็ด จ.นนทบุรี ตามข่าว นอกจากนี้ ยังยื่นข้อเสนอให้สหประชาชาติตรวจสอบและพิจารณาทางจริยธรรมแก่เจ้าหน้าที่ภายในองค์กร (ตามจดหมายเปิดผนึก) เพื่อสร้างบรรทัดฐานการทำงาน รวมถึง เร่งรัดการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่ตำรวจของประเทศไทย
 
จันทนา เอกเอื้อมณี ตัวแทนเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า กลุ่มแรงงานทำงานบ้านในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 300,000 คน กรณีที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นกรณีศึกษาสำหรับลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย ลูกจ้างทำงานบ้านกลุ่มแรงงานข้ามชาติมักมีข้อจำกัดด้านการสื่อสารและการเข้าถึงกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของภาครัฐและภาคเอกชน นอกจากนี้ ลูกจ้างหลายรายยังได้รับผลกระทบจากการทำร้ายร่างกายและมีบาดแผลทางจิตใจที่ไม่สามารถประเมินได้ ตัวแทนแรงงานกล่าว
 
จดหมายเปิดผนึก
 
วันที่ 2 เมษายน 2558
 
เรื่อง ขอให้เร่งรัดการสืบสวนสอบสวนกรณีการละเมิดสิทธิลูกจ้างทำงานบ้านชาวเอธิโอเปียและข้อเสนอในการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้าน
 
เรียน  ผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (Un Resident Coordinator in Thalland)
 
สำเนาถึง 1.  เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ UN Secretary General 
2. นายกรัฐมนตรี
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
 
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวหน้าบีบีซีไทย ลงวันที่ 1 เมษายน 2558 ระบุว่า นายแพทย์โยนัส เทกเก้น ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยและภรรยา ได้ถูกลูกจ้างทำงานบ้านชาวเอธิโอเปีย ที่ได้ติดตามมาทำงานบ้านให้แก่นายแพทย์โยนัส และครอบครัว แจ้งความกล่าวโทษเป็นคดีอาญา 5 ข้อหา ซึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดด้านเสรีภาพ กักขังหน่วงเหนี่ยว ยักยอกทรัพย์ การนำคนลงมาเป็นทาสและการค้ามนุษย์ สืบเนื่องจากเมื่อลูกจ้างทำงานบ้านได้ทำงานให้กับนายแพทย์โยนัสและครอบครัวแล้ว ได้มีการละเมิดสิทธิและศักดิศรีความเป็นมนุษย์ลูกจ้าง อาทิ ถูกยึดหนังสือเดินทางอันเป็นทรัพย์สินของลูกจ้าง มิได้มีการจ่ายค่าตอบแทนลูกจ้าง และยังถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกกักบริเวณ เมื่อทำงานไม่เป็นที่พอใจ ลูกจ้างทำงานโดยไม่มีวันหยุด ให้นอนนอกตัวบ้านกับสุนัข โดยไม่มีพัดลมหรือแม้กระทั่งมุ้ง ให้รับประทานอาหารเพียงข้าวเปล่า รวมทั้งข่มขู่ทำให้ลูกจ้างมีความหวาดกลัวต่อการกระทำของฝ่ายนายจ้างที่เป็นบุคคลมีตำแหน่งและชื่อเสียงในสังคม
 
กรณีที่เกิดขึ้นนี้นับว่าเป็นกรณีศึกษาสำหรับลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่ามีลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทยประมาณ 300,000 คน รวมถึงลูกจ้างทำงานบ้านที่เป็นแรงงานข้ามชาติด้วยที่มีข้อจำกัดด้านการสื่อสารและการเข้าถึงกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของภาครัฐและภาคเอกชนที่ถึงแม้รัฐบาลไทยจะได้มีความพยายามในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านมากขึ้น แต่ลูกจ้างทำงานบ้านที่อาศัยอยู่กับนายจ้างโดยส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ อย่างเช่นกรณีดังกล่าว) มักจะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถเดินทาง เข้า-ออกบ้านพักของนายจ้างได้อย่างอิสระ  ลูกจ้างส่วนใหญ่ที่ขอรับการช่วยเหลือกรณีการถูกละเมิดสิทธิมักจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ตนสามารถหลบหนีออกมาจากบ้านพักของนายจ้างได้ นอกจากลูกจ้างทำงานบ้านจะถูกละเมิดสิทธิตามกฎหมายแล้ว ลูกจ้างหลายรายยังได้รับผลกระทบจากการทำร้ายร่างกายและมีบาดแผลทางจิตใจที่ไม่สามารถประเมินได้ว่าลูกจ้างจะพ้นภาวะความหวาดกลัวหรือฝันร้ายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร เครือข่ายประชากรข้ามชาติ เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย และองค์กรแนบท้าย จึงขอเรียกร้องและมีข้อเสนอแนะเร่งด่วนดังนี้  
 
1.ขอให้องค์การสหประชาชาติและผู้บังคับบัญชาของนายแพทย์โยนัส เทกเก้น เร่งทำการสืบสวนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และให้มีมาตรการลงโทษตามระเบียบขององค์การรสหประชาชาติ หากพบว่ามีการกระทำผิดตามข้อกล่าวหา
 
2.องค์การสหประชาชาติ ควรพิจารณาพัฒนาประมวลจริยธรรม (Code of conduct ) เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุมตรวจสอบภายในของเจ้าหน้าที่ในองค์กรและกำหนดมาตรการในการสืบสวน สอบสวนอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมอย่างชัดเจน 
 
3.ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจตามกฎหมาย เร่งสืบสวนสอบสวนนำตัวผู้กระทำความผิดและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่ชักช้า และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด 
 
4.ขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาดำเนินการเพื่อให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือตามสิทธิที่กำหนดไว้ในกฎหมาย 
 
5.ขอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการคุ้มครองและช่วยเหลือลูกจ้างในฐานะเหยื่อของการค้ามนุษย์  
 
6.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย เร่งพิจารณาลงนามในอนุสัญญาขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 189 ว่าด้วยเรื่องงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อขยายการคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างให้นอกเหนือไปจากสิทธิในการได้รับค่าจ้างหรือสวัสดิการเนื่องมาจากการทำงานต่างๆ กล่าวคือ การกำหนดให้ต้องมีมาตรการต่างๆเพื่อให้ลูกจ้างทำงานบ้านได้รับการคุ้มครองจากการล่วงละเมิด การคุกคาม และความรุนแรงในทุกรูปแบบ ซึ่งหากรัฐไทย ลงนามในอนุสัญญาฉบับดังกล่าวนี้ ก็จะสามารถทำให้มีเครื่องมือทางกฎหมายเพิ่มขึ้นในการป้องกันและคุ้มครองมิให้ลูกจ้างทำงานบ้านจากภัยความรุนแรงต่างๆนอกเหนือจากการคุ้มครองที่บัญญัติไว้ในกฎกระทรวงคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านอันมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย ฉบับที่ 14 พ.ศ.2554 ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 รวมทั้งยังช่วยลดการเลือกปฏิบัติต่อสิทธิของลูกจ้างทำงานบ้าน
 
7. ขอให้รัฐบาลไทย กำหนดให้นายจ้างที่มีลูกจ้างเด็กทำงานบ้านที่อายุ 15 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 18 ปี ส่งรายชื่อลูกจ้างเด็กแก่พนักงานตรวจแรงงาน เพื่อป้องกันมิให้มีการนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานบ้านที่เป็นเด็ก ทำงานในชั่วโมงการทำงาน และงานที่ทำอย่างเหมาะสม
 
8. ขอให้รัฐบาลพิจารณาปรับปรุง กำหนดให้มีการจัดทำชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมกับลูกจ้างทำงานบ้าน และให้ลูกจ้างทำงานบ้านมีสิทธิเลือกในการที่จะพักหรืออาศัยอยู่ในบ้านพักของนายจ้างหรือไม่ก็ได้เพื่อสนับสนุนให้ลูกจ้างทำงานบ้านมีเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายและเปิดโอกาสให้กลไกการคุ้มครองสิทธิสามารถเข้าถึงตัวลูกจ้างทำงานบ้านได้มากขึ้น
 
9. ปรับปรุงกลไกการทำงานของการพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานสามารถเข้าถึงสถานที่พักของนายจ้างที่มีการจ้างลูกจ้างทำงานบ้านนั้นอยู่ได้มากขึ้น และป้องกันการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบของพนักงานตรวจแรงงานมิให้ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกในที่รโหฐาน
 
10.ยกระดับคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของลูกจ้างทำงานบ้าน โดยการปรับปรุงกฎหมายประกันสังคม กฎหมายเงินทดแทน และกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เพื่อทำให้ลูกจ้างทำงานบ้าน เข้าถึงประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมและเงินทดแทน เช่นเดียวกันกับลูกจ้างในภาคกิจการที่ประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย และเพื่อสร้างโอกาสให้ลูกจ้าง ทำงานบ้านสามารถรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองกับนายจ้าง เพื่อให้เกิดการคุ้มครองลูกจ้างอย่างเป็นธรรมมากขึ้น
 
ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
รายชื่อองค์กรพัฒนาเอกชน
 
1. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Foundation for Labour and Employment Promotion)
2. สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (Homenet Thailand Association)
3. เครือข่ายประชากรข้ามชาติ
4. เครือข่ายปฏิบัติงานเพื่อแรงงานข้ามชาติ(ANM)
5.โครงการประสานชาติพันธุ์อันดามัน พังงา 
6. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
7. สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (stateless watch)
8. มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Prorights Foundation)
9. ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา
10. มูลนิธิผู้หญิง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท