คุยรอบ3 กรณีขุดเจาะก๊าซบ้านนามูล พบปริศนาถุงสารเคมีอันตรายโผล่ร้านขายของเก่าชุมชน ?

 

7 เม.ย.2558  คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีการจัดประชุมติดตามประเด็นร้องเรียนของชาวบ้านในพื้นที่บ้านนามูล ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น กรณีบริษัทอพิโก้ (โคราช) จำกัด ซึ่งได้รับสัปทานลงมือสำรวจปิโตรเลียมในพื้นที่ โดยการประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ก่อนหน้านี้ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานในที่ประชุมได้ยื่นคำขาดว่าหากหน่วยงานราชการไม่มาให้ข้อมูลจะแจ้งความดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป เนื่องจากกรรมการสิทธิฯ มีอำนาจตามกฎหมายในการเรียกหน่วยงานมาให้ข้อมูล อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของบริษัทก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุม นพ.นิรันดร์ได้แจ้งที่ประชุมว่าจะมีการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ยังขาดตัวแทนบริษัทอพิโก้ด้วย

สำหรับการประชุมในวันนี้ประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้านกว่า 10 คน นักวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (สปก.)

ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวเป็นประเด็นร้อนแรงเมื่อไม่นานนี้ สืบเนื่องจากช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 13 – 19 ก.พ. 2558 กองกำลังเจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าควบคุมพื้นที่บริเวณบ้านนามูล เพื่อเปิดทางให้รถขนอุปกรณ์ของบริษัทผ่านของไปยังหลุมเจาะดงมูล 5 แปลงสัมปทาน L27/43 อยู่ในการสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 18 ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขต ต.กุงเก่า อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ อยู่ห่างจากหมู่บ้านเพียง 1.5 กิโลเมตร

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สรุปประเด็นเรื่องการร้องเรียนว่า ชาวบ้านร้องเรียนเนื่องจากมีความวิตกกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพราะการขุดเจาะก๊าซที่ผ่านมาในพื้นที่ใกล้เคียงเกิดปัญหามาแล้ว เช่น กรณีของบ้านนาเหล่า อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี มีการขุดเจาะในปี 2556 ปลายปีนั้นมีประชาชนได้รับผลกระทบ มีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดมาแสวงหาข้อเท็จจริงจนกระทั่งมีการจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านรายละ 3,000 บาทต่อรายแม้จะเล็กน้อยไม่พอค่ารถไปรักษาตัวแต่ก็ถือว่าหน่วยงานรัฐยอมรับแล้วว่าเกิดผลกระทบขึ้นจริง ส่วนที่บ้านคำไผ่ ต.หนองกุง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ มีชาวบ้านเจ็บป่วยราว 200 ราย มีบางรายเกิดอาการปากเบี้ยว และต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู ทางจังหวัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและพบว่าการขุดเจาะของบริษัทคาลเท็กซ์สร้างผลกระทบด้านสุขภาพกับชาวบ้านจริง ทั้งด้านการได้รับกลิ่น ตา การระคายเคืองผิวหนัง กรณีนี้ประชาชนไม่ต้องการค่าเยียวยาแต่ต้องการให้หยุดการขุดเจาะ และยุติการสำรวจอีก 5 หลุม

ไชยณรงค์ยังกล่าวถึง ผลกระทบด้านการเกษตร เนื่องจากบริเวณสวนยางพารารอบแท่นขุดเจาะบ้านคำไผ่นั้นเปลือกและใบร่อนออกเกือบทั้งหมด

“เรื่องเหล่านี้ มีการร้องเรียนไป ชาวบ้านเอาข้าว เอายางไปให้ตรวจสอบ แต่ไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบเลย ที่อุดรฯ ก็อ้างว่าไม่มีงบที่จะมาตรวจหาสาเหตุ” ไชยณรงค์กล่าวและว่า ยังมีผลกระทบเกี่ยวกับแหล่งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินในพื้นที่บ้านนาเหล่าด้วย เพราะระหว่างมีการขุดเจาะนั้นประชาชนไม่สามารถใช้น้ำได้ เนื่องจากน้ำมีกลิ่นและบางส่วนมีคราบน้ำมัน

สมิทธิ์ ตุงคะสมิต ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงประเด็นข้อสงสัยสำคัญหลังการลงพื้นที่ของคณะอนุฯ และพบถุงสารเคมีอันตรายที่ไม่ได้ระบุไว้ในอีไอเอ คือถุงใส่สารซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxcide) ขนาด 500  ก.ก. จำนวน 4-5 ถุง ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการขุดเจาะ พบที่ร้านขายของเก่าซึ่งระบุว่านำมาจากโรงเรียนซึ่งนำมาจากเจ้าหน้าที่บริเวณแท่นขุดอีกทีเพื่อนำมาใส่ขวดน้ำเปล่า โดยสมิธตั้งคำถามว่าถุงนี้มาอยู่ในชุมชนได้อย่างไร ทั้งที่ไม่มีอุตสาหกรรมใดในพื้นที่ที่จะใช้สารเคมีอันตรายนี้ ข้างถุงเขียนบรรยายเป็นภาษาอังกฤษซึ่งชาวบ้านไม่เข้าใจถึงความอันตรายด้วยว่า เป็นพิษสูงต่อสัตว์และพืชน้ำเป็นเวลายาวนาน อันตรายต่อสัตว์มีกระดูกสันหลังทุกชนิด และต้องกำจัดในสถานที่กำจัดขยะอันตรายเท่านั้น  นอกจากนี้เขายังถามว่าหลุมดังกล่าวใช้กระบวนการแฟรกกิ้ง (Fracking) ในการขุดเจาะใช่หรือไม่ กระบวนการนี้ใช้สารเคมีกับน้ำอัดเข้าไปในท่อเพื่อใช้ความดันให้ก๊าซที่อยู่ในหลุมคลายตัวออกมา อย่างไรก็ตามมันจะเกิดการปริออกของชั้นดินและสร้างผลกระทบกับแหล่งน้ำ ในแคนาดา ยุโรป อเมริกา เคยมีกรณีฟ้องร้องให้หยุดใช้วิธีการดังกล่าวมาแล้ว

วีระศักดิ์ พึ่งรัศมี รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ตอบคำถามดังกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ไม่มีการใช้สารเคมีดังกล่าวในกระบวนการ อีกทั้งยังไม่ทราบว่าถุงดังกล่าวมาได้อย่างไร ยืนยันว่าหลุมดงมูล 5 ไม่มีการทำแฟรกกิ้ง อย่างไรก็ดีจะกลับไปดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง

รองอธิบดียังกล่าวถึงการระบบไตรภาคีที่ตั้งขึ้นมาและทำการติดตามกระบวนการต่างๆ ตามอีไอเอทั้งหมด แต่ไม่สามารถระบุถึงรายละเอียดในอีไอเอได้เพราะขณะนี้เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองหลังชาวบ้านไปฟ้องร้องว่ากระบวนการทำอีไอเอมิชอบ ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วม นอกจากนี้ไตรภาคีที่ตั้งขึ้นซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนบริษัท ตัวแทนหน่วยราชาการ และตัวแทนชาวบ้านจำนวน 11 หมู่บ้านๆ 2 คนได้เข้าตรวจสอบแท่นเจาะด้วยในวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ถ้าเห็นอันตรายหรือมีผลกระทบจริงชาวบ้านน่าจะทราบก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม กรมโรงงานให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากเป็นอุตสาหกรรมปกติกรมโรงงนจะเป็นผู้เข้าไปตรวจสอบและดูแลเรื่องการใช้สารเคมีอันตรายต่างๆ โดยมีมาตรการชัดเจนว่าหากเป็นสารเคมีอันตรายในบัญชีชนิดที่ 3 นั้น ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออกและผู้ครอบครอง ต้องขอใบอนุญาตทั้งหมด แต่กรณีของการขุดเจาะก๊าซนั้น อำนาจในการให้สัมปทาน และอำนาจในการตรวจสอบต่างๆ อยู่ที่กรมเชื้อเพลิงฯ ทั้งหมด ด้านอนุกรรมการฯ ได้แสดงความกังวลใจในเรื่องดังกล่าวเนื่องจากควรแยกหน่วยงานตรวจสอบออกจากหน่วยงานอนุญาตสัมปทาน อีกทั้งกรมเชื้อเพลิงฯ ไม่มีประสบการณ์ในการดูแลเรื่องเหล่านี้มากเท่ากรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งทำงานด้านนี้มานานและพัฒนาระบบดูแลได้ดีพอสมควร

สำหรับข้อมูลแหล่งเจาะสำรวจอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงระบุว่า ที่อ.เมือง จ.กาฬสินธิ์ นั้นพบก๊าซนิดหน่อย แต่กระทบชาวบ้านเรื่องกลิ่น จึงได้จ่ายค่าชดเชยและปิดหลุมไป ส่วนที่ต.โนนสะอาด จ.อุดรธานี มีการเผาก๊าซ 11 วัน มีผลกระทบเรื่องแสงสว่างในการเผาก๊าซกับชาวบ้าน จึงปิดหลุมไป ที่หลุมดงมูล 5 หรือพื้นที่บ้านนามูลนี้ไม่มีการเผาก๊าซ ขณะนี้เจาะลึก 1,390 เมตร ยังไม่พบอะไร วางเป้าหมายการขุดเจาะไว้ที่ 3,000 เมตร เป็นการขุดเจาะเพื่อหาขอบของแอ่งก๊าซ หลังจากที่หลุมดงมูล 3 พบก๊าซซึ่งคาดว่าคาดการณ์การผลิตไว้ที่ 15-20 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซที่พบมีมีเทน 90% ไม่มีโรงแยกก๊าซ เพราะใช้กับ NGV และโรงไฟฟ้าเท่านั้น อย่างไรก็ตามบริษัทจำเป็นต้องหาอีกหลุมเพิ่มเติม เป็นสองหลุมเพื่อไม่ให้ความดันลดลง หากหลุมดงมูล 5 ไม่มีก็ต้องต้องเจาะหลุมอื่นที่เตรียมไว้

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนชาวบ้านได้เล่าถึงผลด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นแล้วกับชาวบ้านที่เฝ้าสำนักแม่ชีซึ่งอยู่ใกล้กับหลุมเจาะดังกล่าวไม่กี่ร้อยเมตร เบื้องต้นมีอาการวิงเวียน อาเจียน แน่นหน้าอก ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลในวันที่มีการขุดเจาะ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดคำถามเรื่องความปลอดภัยเนื่องจากนักวิชาการระบุว่ากระบวนการขุดเจาะอาจเกิดก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือ ก๊าซไข่เน่าซึ่งอันตรายต่อสุขภาพได้ เรื่องนี้รองอธิบดียืนยันว่าการขุดที่หลุมดงมูล 5 จะไม่พบไฮโดรเจนซัลไฟด์ ขณะที่นักวิชาการที่ได้อ่านอีไอเอระบุว่าในอีไอเอระบุว่า โครงสร้างดงมูลอาจพบไฮโดรเจนซัลไฟด์

นอกจากนี้ชาวบ้านยังตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรการรองรับต่อความเจ็บป่วยกระทันหันของชาวบ้านที่หน่วยงานราชการเคยกล่าวว่าจะรองรับเต็มที่แต่ท้ายที่สุดเมื่อเกิดความเจ็บป่วยยามวิกาล ทุกหน่วยโยนกันไปโยนกันมาและสุดท้ายจบที่ รปภ.ของบริษัทพาชาวบ้านที่ป่วยไปส่งโรงพยาบาล และใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารักษาตัว

ท้ายที่สุด นพ.นิรันดร์ ประธานในที่ประชุมกล่าวสรุปการดำเนินการขั้นต่อไปของคณะอนุกรรมการฯว่า  1. เสนอให้จังหวัดตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้เรื่องปัญหาเทคนิคต่างๆ เช่น สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ให้เข้ามาตรวจผลกระทบด้านสุขภาพ ผลิตผลทางการเกษตร น้ำดื่มน้ำใช้ เพื่อให้เป็นข้อสรุปสำหรับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในการให้สัมปทานขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในที่อื่น 2.ให้ สปก. ทบทวนการอนุมัติใช้พื้นที่โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สุขภาพของชุมชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน 3.ให้กรมการปกครองช่วยแจ้งผู้ว่าฯ ปรับคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งจะเป็นตัวทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น โดยให้เอาชาวบ้านที่รู้เรื่อง และคนที่เป็นที่ยอมรับเข้าไปเป็นคณะกรรมการ  ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะทำหนังสือถึง คสช. เพื่อให้รับรู้ปัญหานี้ด้วยเพราะที่ผ่านมา กอ.รมน.จ.ขอนแก่น ค่อนข้างแข็งขันในการใช้อำนาจกับชาวบ้าน ขยายความขัดแย้งในพื้นที่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท