Skip to main content
sharethis

รวมความคืบหน้าคดีไต่สวนการตาย 10 เม.ย.53 'เกรียงไกร' ถูกกระสุนจากเจ้าหน้าที่ทหารแยกสวนมิสกวัน ตั้งแต่บ่าย ‘จรูญ-สยาม’ ถูกยิงหน้าร.ร.สตรีวิทยา วิถีกระสุนปืนยิงมาจากฝ่ายทหาร ขณะที่ ‘ฮิโรยูกิ-วสันต์-ทศชัย’ ศาลนัดฟังคำสั่ง 30 เม.ย.นี้

 

ดูภาพขนาดใหญ่

ผ่านมาแล้วกึ่งทศวรรษกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในวันที่ 10 เม.ย.2553 ผู้เสียชีวิต 27 ราย เป็นประชาชน 22 ราย ทหาร 5 ราย (อ่านรายละเอียด)โดยกระบวนการแสวงหาความจริงและความยุติธรรมนั้นยังคงดำเนินไป ผ่านการไต่ชันสูตรพลิกศพในฐานะกระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เพื่อให้ศาลสั่งเบื้องต้นว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์การตายเป็นอย่างไร ใครกระทำ จากนั้นอัยการจึงจะส่งฟ้องเป็นคดีอาญา โดยมีรายละเอียดความคืบหน้าดังนี้

มานะ เขาดิน : ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ

มานะ อาจราญ ลูกจ้างของสวนสัตว์ดุสิตแผนกบำรุงรักษา ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตเมื่อกลางดึกของวันที่ 10 เม.ย. 53 บริเวณสวนสัตว์ดุสิต ภายหลังการสลายการชุมนุมในช่วงค่ำบริเวณแยกคอกวัวและถนนดินสอสงบลง ทั้งนี้ ลานจอดรถของสวนสัตว์ดุสิตเป็นจุดพักของเจ้าหน้าที่ทหารจากค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา จำนวนหลายกองร้อย

ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 ก.พ.56 ระบุว่า  "นายมานะ อาจราญ ถึงแก่ความตายในสวนสัตว์ดุสิตในคืนวันที่ 10 เม.ย.53 โดยถูกกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงที่ศีรษะทำลายเนื้อสมอง โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ”

ศาลระบุด้วยว่า ผู้ร้องไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุว่าผู้ยิงเป็นทหารหรือบุคคลใด ไม่มีพยานยืนยันการใช้อาวุธปืนของทหารซึ่งมีการนำสืบว่าหมอบอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ แม้ รปภ.สวนสัตว์ดุสิตจะเบิกความว่ามีการยิงของทหารจากด้านในสวนสัตว์โดยยิงเฉียงขึ้นฟ้าไปทางฝั่งรัฐสภา แต่ก็เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุกำลังวิ่งเข้าไปที่อาคารจอดรถ ไม่ใช่จุดที่นายมานะถูกยิงเสียชีวิตและไม่ใช่จุดที่พบทหารหมอบอยู่ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ที่เข้าเวรคู่กับนายมานะได้วิ่งออกมาหลังได้ยินเสียงปืนก็พบกับทหารที่หมอบอยู่ ทหารก็ไม่ได้มีท่าทีจะทำร้ายนายบุญมี หากทหารกลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ทำร้ายนายมานะ นายบุญมีก็คงถูกยิงเช่นกัน ส่วนแพทย์จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ตรวจแนววิถีกระสุน จำลองแนววิถีกระสุนได้เพียงจุดยิงกว้างๆ ไม่อาจสันนิษฐานว่าเป็นจุดเดียวกับที่ทหารหมอบอยู่ ส่วนปลอกกระสุน 2 ปลอกที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุนั้น ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นกระสุนที่ใช้ยิงผู้ตายหรือไม่ เพราะไม่มีหัวกระสุนมาตรวจสอบ และจากการตรวจสอบอาวุธปืน 29 กระบอกที่กองกำลังค่ายสุรนารีเบิกใช้ก็ไม่ตรงกับปลอกในที่เกิดเหตุ (อ่านรายละเอียด)

จรูญ-สยาม หน้า ร.ร.สตรีวิทยา : วิถีกระสุนปืนยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงาน

สำหรับการไต่สวนการเสียชีวิตของ จรูญ ฉายแม้น ผู้ตายที่ 1 และสยาม วัฒนนุกูล ผู้ตายที่ 2 ถูกยิงเสียชีวิตหน้า ร.ร.สตรีวิทยา ถ.ดินสอ  ศาลสั่งเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 56 ระบุว่า "วิถีกระสุนปืนยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปที่บริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้แยกสะพานวันชาติ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ"

ศาลระบุว่า ได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องแล้วเห็นว่า ผู้ร้องมีประจักษ์พยาน 4 ปากอยู่ในที่เกิดเหตุบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ต่างเบิกความยืนยันว่า เห็นประกายไฟจากกระบอกปืนและได้ยินเสียงปืนจากทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปบริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้สี่แยกสะพานวันชาติ ซึ่งขณะนั้นประจักษ์พยานเห็นผู้ตายทั้งสองล้มลงที่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา จึงเชื่อว่าพยานทั้ง 4 ต่างเบิกความไปตามความจริงที่ได้รู้เห็นมา ประกอบกับแพทย์จากนิติเวชที่ชันสูตรศพผู้ตายทั้งสองยืนยันว่านายจรูญ ผู้ตายที่ 1 ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลกลาง โดยสาเหตุการตายเกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง

ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบพบเศษลูกกระสุนปืน เศษตะกั่ว เศษเหล็กในศพของผู้ตายที่ 1 (จรูญ) ส่วนนายสยาม ผู้ตายที่ 2 เสียชีวิตระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาลกลาง ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน ตรวจพบเศษตะกั่วในศพผู้ตายที่ 2 ประกอบกับผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนยืนยันว่า เศษลูกกระสุนปืนที่พบในศพของผู้ตายที่ 1 เป็นอาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ใช้ในวันเกิดเหตุ และแม้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเศษตะกั่วที่พบในศพผู้ตายที่ 2 มีขนาดเท่าใด แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ตายทั้งสองอยู่ในบริเวณเดียวกันและล้มลงในช่วงระหว่างที่เจ้าพนักงานใช้อาวุธปืนยิงมาทางผู้ชุมนุมที่ติดตามเข้าไป จึงเชื่อว่าผู้ตายทั้งสองถูกกระสุนปืนที่ยิงมาจากบริเวณเดียวกัน นอกจากนี้ คำเบิกความของพยานยังสอดคล้องกับผู้ตรวจวิถีกระสุนในบริเวณที่เกิดเหตุ จากข้อเท็จจริงและเหตุผลทั้งหมดที่ได้วินิจฉัยมา เชื่อได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายทั้งสองนั้น มีวิถีกระสุนปืนที่ยิงมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ แต่พยานของผู้ร้องทั้งหมดที่นำสืบมา ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ (อ่านรายละเอียด)

เกรียงไกร : ถูกยิงบ่าย3 วิถีกระสุนมาจากทหาร

เกรียงไกร คำน้อย อายุ 23 ปี โชเฟอร์รถตุ๊กตุ๊ก ที่ถูกยิงเสียชีวิตเป็นศพแรกในเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช. บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการ

โดยเมื่อวันที่ 4 ก.ค.57 ศาลมีคำสั่งว่า มีนายเกรียงไกร เสียชีวิตที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2553  ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือดมาก จากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งมีวิถีกระสุนมาจากเจ้าหน้าที่ทหารในการปฎิบัติหน้าที่ขอคืนพื้นที่ จากทางด้านแยกสวนมิสกวัน ผ่านหน้ากระทรวงศึกษาธิการ มายังสะพานมัฆวานรังสรรค์ ตามคำสั่งของศอฉ. โดยไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำ

ซึ่งศาลระบุด้วยว่า เวลา 15.00 น. (วันที่ 10 เม.ย.53)เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงถูกนายเกรียงไกร ที่ยืนอยู่บนทางเท้าข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการที่หน้าอกและลำตัวจนได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่กู้ภัยจึงนำตัวนายเกรียงไกร ส่งร.พ.วชิรพยาบาล ต่อมานายเกรียงไกรได้เสียชีวิตลงเนื่องจากเสียเลือดมาก ในวันที่ 11 เมษายน 2553  เนื่องจากหลอดเลือดใหญ่บริเวณอุ้งเชิงกรานฉีกขาดจากกระสุนความเร็วสูงที่ยิงมาจากทางเจ้าหน้าที่ทหาร

ฮิโรยูกิ วสันต์และทศชัย ศาลนัดฟังคำสั่ง 30 เม.ย.นี้

สำหรับ คดีของ ฮิโรยูกิ มูราโมโตะ นักข่าวญี่ปุ่น วสันต์ ภู่ทอง และทศชัย เมฆงามฟ้า ผู้ชุมนุม นปช. ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในช่วงเวลาและบริเวณเดียวกับ จรูญ สยาม คือ หน้า ร.ร.สตรีวิทยา นั้น กระบวนการไต่สวนการตายได้เสร็จสิ้นแล้ว และศาลได้ฟังคำสั่งในวันที่ 30 เม.ย.นี้

นอกจากนี้ การณีการเสียชีวิตของ นายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ และนายอำพน ตติยรัตน์ ที่ถนนตะนาวและถนนดินสอ ในวันเดียวกันนั้น ดีเอสไอ เคยออกมาเปิดเผยแล้วว่าได้ส่งสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ ไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาลแล้ว เนื่องจากมีพยานหลักฐานน่าเชื่อได้ว่าเป็นการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ในขณะนั้น

อย่างไรก็ตามคดีการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 ที่ศาลมีคำสั่งจากการไต่สวนการเสียชีวิตในช่วงที่ผ่านมาแล้วว่ามาจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหาร และพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ อดีต ผอ.ศอฉ. ขณะนั้น เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59, 80, 83, 84 และ 288 จากกรณีที่ ศอฉ. มีคำสั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ในการขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมของ นปช. ในช่วงเวลาดังกล่าวจนส่งผลมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย

แต่ศาลอาญาก็มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ส.ค.57 ว่า ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ และคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตด้วย (อ่านรายละเอียด)

และต่อมา 24 ก.พ.58 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีดังกล่าวและมีมติแจ้งข้อกล่าวหากับอภิสิทธิ์และสุเทพ โดย วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. แถลงถึงมติ ด้วยว่า ภายหลังจากที่ได้มีการใช้กำลังทหารเพื่อขอคืนพื้นที่ในวันที่ 10 เม.ย. 53 แล้วปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิต และ ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก การที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นผู้มอบนโยบายในการขอคืนพื้นที่ กลับละเว้นไม่สั่งระงับ ยับยั้ง ทบทวนวิธีการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหาร และวิธีการควบคุมการปฏิบัติงานให้รัดกุมยิ่งขึ้น รวมถึงไม่ได้ปรับแผนปฏิบัติให้สอดคล้องประสานกัน ทั้งในระดับนโยบาย การบังคับบัญชาและการปฏิบัติในพื้นที่ ในการใช้กำลังทหารเข้าขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงและอาวุธ แต่ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ และ ประชาชนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม (อ่านรายละเอียด)

แต่ด้วยคำพิพาษาของศาลนั้นทำให้กระบวรการพิจารณาคดีจากคดีความผิดต่อชีวิต กลายเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ไป ซึ่งมีโทษหรือความรับผิดชอบจากความผิดที่แตกต่างกันด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net