ข้อเสนอให้ศาลพญามังรายเป็นพื้นที่สาธารณะ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในโอกาสที่เมืองเชียงใหม่ซึ่งสร้างโดยพญามังรายจะมีอายุครบรอบ 719 ปี ในวันที่ 12 เมษายน ศกนี้ ก็ควรจะถึงเวลาที่คนเชียงใหม่จะเริ่มรณรงค์เพื่อขอคืนพื้นที่ของศาลพญามังราย เป็นพื้นที่สาธารณะเสียที

ทางเดินเข้าไปบริเวณศาลพญามังราย สถานที่เสียชีวิตของพญามังราย ถ.พระปกเกล้า ใกล้สี่แยกกลางเวียง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันที่ตั้งของศาลอยู่ในเขตที่ดินเอกชน (ที่มา: เว็บบอร์ดเชียงรายโฟกัส)

ความเป็นมา

พญามังราย หรือพระญามังราย ประสูติในปี พ.ศ.1782  หรือ 776 ปีก่อน  ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ที่ 25 ของโยนกนคร ของพี่น้องคนไท-ยวน ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ในบริเวณอำเภอเชียงแสนปัจจุบัน เมื่อได้ตระหนักว่า แม่น้ำโขงเชี่ยวกรากและเต็มไปด้วยโตรกหิน ยากแก่การเดินเรือ  และได้ทราบว่าเมืองหริภุญไชยบนฝั่งแม่น้ำปิง เป็นเมืองที่เจริญก้าวหน้า เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญระหว่างสินค้าในเขตป่าเขาจากยูนนาน-ทางใต้ของจีน และเขตชายทะเลของมอญ แม่น้ำปิงไม่ได้มีหินผามากมายยากแก่การเดินทางเหมือนแม่น้ำโขง   พญามังรายจึงวางแผนเป็นขั้นๆ ในการขยายอิทธิพลมายังลุ่มแม่น้ำปิง ด้วยการสร้างเวียงเชียงรายขึ้นเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ในปี พ.ศ.1805

หลายปีต่อจากนั้น  ก็ยกทัพทวนแม่น้ำกกขึ้นไป สร้างเวียงฝาง-เวียงพร้าว-เวียงเชียงดาว    และหลังจากนั้น  ก็ยกไพร่พลเข้าโจมตีและยึดครองหริภุญไชยได้ในปี พ.ศ. 1824  ภายหลังจากนั้น ก็แสวงหาที่ตั้งของศูนย์กลางรัฐแห่งใหม่  และได้สร้างเวียงกุมกวม หรือเวียงกุมกามขึ้น   และได้พบลักษณะโดดเด่นของที่ราบแห่งใหม่จึงได้สร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นในปี พ.ศ. 1839

ตลอดรัชสมัยของพระองค์  พญามังรายไม่เพียงแต่รวบรวมเอา 2 รัฐสำคัญในหุบเขาคือ 1. โยนก และ 2. หริภุญไชย  เข้าด้วยกัน ทำให้เกิดรัฐขนาดใหญ่ขึ้นเป็นครั้งแรกในหุบเขาตอนเหนือ  ผนวกเอาที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง-วัง  และลุ่มแม่น้ำกก-อิง-โขงเข้าด้วยกัน นอกจากพระองค์ยังได้ส่งกองทัพออกไปทำสัมพันธไมตรีกับเมืองพะเยา เมืองหงสาวดี ของมอญ  เมืองอังวะของพม่า เมืองเชียงรุ่งที่สิบสองปันนา และยังได้สร้างเมืองเชียงตุงเพื่อให้เป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเชียงรายและเชียงใหม่  ด้วย  

การสร้างเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1839  บนที่ลาดระหว่างเชิงดอยสุเทพและแม่น้ำปิง  แสดงให้เห็นประสบการณ์การสร้างเมืองของพญามังราย   เพราะพระองค์มีบทเรียนสำคัญจากการสร้างเมืองมาแล้วหลายเมือง  เช่น เมืองเชียงราย  เวียงฝาง  เวียงพร้าว  และเวียงกุมกวม หรือกุมกาม บทเรียนเหล่านั้นทำให้ทำเลของเมืองเชียงใหม่มีความโดดเด่น  เช่น ไม่เคยมีน้ำท่วมเมืองตลอด 700 กว่าปีที่ผ่านมา   มีดอยด้านตะวันตกและแม่น้ำด้านตะวันออกเป็นเสมือนกำแพงธรรมชาติที่ป้องกันการรุกรานจากศัตรู อยุ่ไม่ไกลจากน้ำตก (ห้วยแก้ว) และป่าเขา มีแม่น้ำจากดอยไหลลงมาหลายสาย  เป็นทั้งคูเมืองล้อมรอบเวียง ป้องกันศัตรู และเป็นแหล่งน้ำป้อนชาวเมืองตลอดปี มีพื้นที่ลุ่มรองรับน้ำท่วมในฤดูฝนทุกปี คือเขตเมืองสมุทร  หนองใหญ่หนอีสาน (เหนือวันพันตาเกิน-หรือวัดชัยศรีภูมิ) และทุ่งช้างคลาน ด้านตะวันออกเฉียงใต้  ฯลฯ

พญามังรายจึงเป็นนักรบ  นักบริหาร  นักกฎหมาย (กฎหมายมังรายศาสตร์)   ผู้สร้างเมือง  และนักการทูต (จับมือกับพญางำเมืองแห่งพะเยาและพ่อขุนรามคำแหงแห่งสุโขทัย) เพื่อเตรียมตอบโต้การรุกรานของพวกมองโกล

เมืองเชียงใหม่เกิดขึ้นและได้กลายเป็นศูนย์กลางของรัฐล้านนาที่แข็งแกร่งเรื่อยมา ตลอดเวลา 262 ปีที่เป็นรัฐเอกราช (พ.ศ. 1839 – 2101) ก็ด้วยความสามารถและประสบการณ์ของพญามังรายเป็นหลัก และแม้จะต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเป็นเวลานานถึง 216 ปี (พ.ศ. 2101-2317)  เป็นเมืองขึ้นของสยามนานถึง 125 ปี (พ.ศ. 2317-2442)  ก่อนที่จะถูกยกเลิกฐานะประเทศราช  และกลายเป็นมณฑลหนึ่งของสยาม ในปี พ.ศ. 2442   กล่าวโดยสรุป  ไม่ว่าจะมีฐานะทางการเมืองอย่างไรในช่วง 700 กว่าปีที่ผ่านมา  เมืองเชียงใหม่ก็ยังคงเป็นเมืองที่มีความสำคัญของภาคเหนือตราบจนถึงปัจจุบัน

 

วาระสุดท้าย

จากเอกสาร “พงศาวดารโยนก”  (หน้า 278-279)

“อยู่จำเนียรมาลุศักราช 679 ปีมะเส็ง นพศก (พ.ศ. 1860)  เจ้าพระยาเมงรายมีชนมายุได้ 80 ปี   อยู่มาวันหนึ่ง  เสด็จไปประพาสตลาดกลางเมือง  อสนีบาตตกต้องเจ้าพระยาเมงรายทิวงคตในท่ามกลางเมืองนั้น   อยู่ในราชสมบัติได้ 60 พรรษาเป็นลำดับที่ 25  นับตั้งแต่ลาวะจักราชะเป็นต้นมา     เสนาพฤฒามาตย์ทั้งหลายเชิญพระศพเข้าพระโกศมาประดิษฐานไว้ในพระราชมนเทียร   อ  แล้วพร้อมกันอัญเชิญเจ้าพระชัยสงครามแต่เมืองเชียงรายลงมาครอบครองราชสมบัติในนครพิงค์เชียงใหม่  เจ้าพระยาชัยสงครามให้สร้างวิมานเมรุมาศขนาดใหญ่  อ กระทำฌาปนกิจพระศพเสร็จแล้ว   ให้สร้างพระเจดีย์ไว้ ณ ที่อสนีบาตตกต้องพระราชบิดาทิวงคตนั้น   เจดีย์นั้นยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้............”

คำถาม  แล้วเหตุใดปัจจุบัน  ศาลพญามังราย จึงตกไปอยู่ในที่ดินของเอกชน หลังร้านบริการขายรถมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ ตรงข้ามร้านเจริญมอเตอร์

จากหนังสือ ของคุณบุญเสริม สาตราภัย  ชื่อ เสด็จล้านนา  (พ.ศ. 2537)  ปรากฏภาพศาลพญามังราย โดยมีคำบรรยายระบุว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เสด็จประพาสเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2469 ศาลพญามังราย ก็ยังมีทุกอย่างตามที่เอกสารพงศาวดารโยนก ระบุไว้  มีต้นโพธิ์ ใหญ่ มีศาลาหลังใหญ่สำหรับคนที่ไปกราบไหว้ศาลแห่งนี้ อยู่ติดถนนพระปกเกล้า

นั่นย่อมแสดงว่าที่ดินและศาลพญามังรายแห่งนี้ ตกเป็นของเอกชนไปเมื่อหลัง พ.ศ. 2469 นี้เอง ก็คือ ราว 80 กว่าปี เป็นอย่างช้าที่สุด  

ที่ศาลพญามังราย นี้  มีป้ายเขียนว่าเจ้าของศาลนี้ชื่อ คุณสุรีย์พร คองประเสริฐ  เจ้าของร้านเจริญมอเตอร์ ซึ่งเป็นมารดา ของคุณณรงค์ คองประเสริฐ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ถือว่าเป็นตำแหน่งผู้นำสูงสุดในภาคธุรกิจของจังหวัด   ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (บุญเลิศ บูรณุปกรณ์) นายกเทศมนตรี (ทัศนัย บูรณุปกรณ์) ก็คงทราบเรื่องเหล่านี้ดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา ก็คงทราบเรื่องนี้ดีทุกคน

สิ่งที่ควรถูกตั้งคำถามก็คือ เหตุใดผู้นำใน จ.เชียงใหม่ทั้งหลาย จึงปล่อยให้พื้นที่สำคัญของสาธาณะ ที่ประชาชนชาวเชียงใหม่เคยไปกราบไหว้ในอดีต กลายเป็นที่ดินของเอกชนไปได้  และเปลี่ยนเป็นที่ดินของเอกชนได้อย่างไร  ปีไหน  เจ้าหน้าที่ของสำนักที่ดินจังหวัดคนไหนเป็นผู้อนุญาต  และด้วยเงินมูลค่าเท่าใด

เหตุใด ที่ดินที่ควรจะเป็นของทุกๆคนในจังหวัดเชียงใหม่ จะต้องเป็นสมบัติของคนเพียงตระกูลเดียว  ที่ล้อมรั้ว ปิดประตูไว้หมดในทุกๆเย็น  และทุกๆ วันอาทิตย์ คนที่อยากจะไปสักการะบูชา ก็จะทำได้เพียงยืนทำความเคารพอยู่ภายนอกรั้วและประตูเท่านั้น

 

ภารกิจของคนเชียงใหม่

บัดนี้  เชียงใหม่ใกล้จะถึงวาระฉลองครบรอบวันเกิดของเมือง   719 ปี และปีหน้า ก็จะครบ 720 ปีซึ่งเป็นวาระสำคัญยิ่ง   อีกทั้งปีหน้า จะเป็นปีครบรอบปีเกิด 777 ปี ของพญามังราย  (พ.ศ. 1782 – 1854)  เป็นไปได้อย่างไรที่จะมีการเวนคืนที่ดินและศาลพญามังรายนี้  ให้เป็นที่ดินของเอกชน  ให้ประชาชนทั่วทั้งจังหวัด  องค์กรเอกชน  องค์กรประชาชน  วัดวาอาราม  สถาบันการศึกษา  สื่อมวลชน  บริษัทห้างร้านต่างๆ  และหน่วยราชการส่วนภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งของจังหวัดได้ร่วมกันลงขัน  เปิดพื้นที่ดังกล่าว  ให้มีศาลาให้ประชาชนเข้าไปสักการะได้สะดวกทุกเมื่อ  กระทั่งอาจมีพื้นที่นิทรรศการพญามังรายในบริเวณนั้น

ท่านที่เป็นเจ้าของสถานที่จะมีส่วนอย่างไรในการคืนพื้นที่นี้ให้แก่สาธารณประโยชน์   ให้พื้นที่ตกเป็นสมบัติของสาธารณะ  เพราะพญามังรายเป็นผู้นำของอาณาจักรล้านนา ทั้งหมด  มิใช่เป็นสมบัติของตระกูลหนึ่งตระกูลใดของจังหวัดนี้ หรือภูมิภาคนี้  

จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คนเชียงใหม่จะรื้อฟื้นศาลพญามังรายให้เป็นสาธารณสมบัติ เพื่อที่บ้านเมืองจะต้องไม่ถูกตำหนิติฉินจากคนรุ่นหลังอีกต่อไป และได้เวลาจัดการแก้ไข  สิ่งที่ไม่ถูกต้อง ให้กลายเป็นความถูกต้องได้แล้ว

1 เมษายน 2558

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท