Skip to main content
sharethis

กิจกรรมนอกรั้วมหา'ลัยจากแดนใต้ เมื่อคนหนุ่มสาวจากสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง (ม.อ.ตรัง) โบกรถออกทำกิจกรรมศึกษาประวัติศาสตร์ สภาพปัญหาชุมชน รวมถึงทำกิจกรรมใช้แรงงานและระดมทุนเพื่อสร้างโอกาสการศึกษาให้กับเยาวชนชนบทในพื้นที่กันดารร่วมกับชาวชุมชน

รถกระบะ 4-5 คันค่อยๆ ลำเลียงนักศึกษาชาย หญิงประมาณ 50 ชีวิต จากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (เพชรเกษม) บริเวณหน้าองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เลี้ยวซ้ายเข้าซอยแรกข้างๆ อบต. แล้วเดินทางลัดเลาะตามถนนลาดยาง คอนกรีต และเส้นทางดินลูกรัง ลึกไปประมาณ 12 กิโลเมตร และที่สุดมาถึง ‘เหมก’ ในเวลาประมาณ 18.30 น. ท่ามกลางสายฝนแรกของฤดูร้อนที่โปรยปรายลงมา

นักศึกษาม.อ.ตรัง โบกรถไปออกค่าย

นับตั้งแต่บ่ายโมง ถึง 4 โมงเย็น ของวันที่ 3 เมษายน 2558 นักศึกษาชาย หญิง ต่างทยอยโบกรถเดินทางจากหน้ามหาวิทยาลัยไปยังหน้า อบต.ละมอ อันเป็นจุดที่นัดรวมตัวกันครั้งสุดท้าย ก่อนมุ่งเข้าสู่ ‘เหมก’ หมู่บ้านที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ทเลย ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของค่ายกิจกรรมอาสาสร้างของกลุ่มนักศึกษา Sholar Of People แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง (ม.อ.ตรัง)

ในทันทีที่พวกเขาและเธอมาถึง กลุ่มนักศึกษา Sholar Of People ม.อ.ตรัง และทีมรุ่นพี่ที่ปรึกษา อย่าง กลุ่มแตกหน่อประชาธิปไตยประชาชน ก็เรียกขึ้นไปรวมตัวกันบนศาลาไม้ที่หลังคายังมุงไม่เสร็จดี ซึ่งติดป้ายริมบันไดว่า ‘ศูนย์ศึกษาภาษานานาชาติ ม.9 ต.ละมอ อ.นาโยง จ.ตรัง’ หากมองไปข้างๆศาลา ก็เห็น ห้องน้ำ3-4 ห้องที่ชาวบ้านรีบโหมทำให้เสร็จก่อนนักศึกษามาออกค่ายครั้งนี้ไม่ถึง 1 วัน

บนศาลาเริ่มด้วยการให้ชาวบ้าน ‘เหมก’ อย่าง นายอานนท์ ศรีเพ็ญ ซึ่งเป็นทั้งผู้ประสานงานศูนย์ศึกษาภาษานานาชาติฯ และผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด เท้าประวัติความเป็นมาของ ‘เหมก’  เล่าถึงสภาพปัญหาของคนเหมก คนละมอ หนทางแก้ปัญหาและสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงแนวทาง แนวความคิดในอนาคตด้วย

‘เหมก’ คำเหยียดคนบ้านนอกของ ‘ตรัง’

อานนท์ เริ่มต้นด้วยการอธิบายคำว่า ‘เหมก’ ว่า ‘เหมก’ เป็นคำเรียกเชิงดูถูกคนบ้านป่า คนบ้านนอกของคนในจังหวัดตรัง ความหมายของ ‘เหมก’ หนักกว่าและเลวร้ายกว่าคำว่า ‘หมง’ ที่เป็นคำเรียกเชิงดูถูกคนบ้านป่า คนบ้านนอกของคนภาคใต้เช่นเดียวกัน อานนท์ ยกตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจน คือ การเรียกของคนตรัง และสร้างภาพลักษณ์ เหยียดการแต่งตัวเชยๆ ไม่ทันยุคทันสมัยว่า “แต่งตัวเหมือนพวกเหมก” จนทำให้คนเหมกเองไม่กล้าเปิดเผยตัวว่าอยู่เหมก


ชุมชนมุสลิมโบราณ250-300 ปี เส้นทางสัญจร 2 ฝั่งทะเล

อานนท์ เท้าความว่า ‘เหมก’ มีชื่อเรียกอีก 2 ชื่อ คือ บ้านสำนักหินปัก ส่วนอีกชื่อหนึ่งในทางราชการ คือ บ้านกลาง หมู่ที่ 9 ตำบลละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ประวัติความเป็นมาคนเฒ่าคนแก่เล่าว่า ‘เหมก’ เส้นทางการสัญจรไปมาระหว่างทะเล 2 ฝั่งทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ของผู้คนในสมัยก่อนที่ต้องข้ามเทือกเขาบรรทัดบริเวณนี้ ข้ามจากฝั่งพัทลุง มายังตรังใช้ระยะเวลา 2 ชั่วโมง และด้วยเหตุผลของการเป็นเส้นทางสัญจรโบราณนี่เองจึงได้ก่อเกิดเหมก หรือสำนักหินปักขึ้นเมื่อ 250-300 ปีที่แล้ว

อานนท์ สันนิษฐานที่มาของชื่อสำนักหินปัก ว่า มาจากหลุมฝังศพ (กุโบร์) ที่มีหินปักข้างบน รวมถึงชื่อเรียกลำธาร ลำห้วย ชื่อคุ้มบ้าน ชื่อต้นไม้โบราณในหมู่บ้านที่ถูกเรียกด้วยศัพท์ภาษา หรือชื่อของมุสลิม เหมก หรือสำนักหินปักน่าจะเป็นหมู่บ้านมุสลิมโบราณ ส่วนที่มาของคำว่าเหมกนั้นน่าจะมาจากคำว่า ‘เมฆ’ อันหมายถึงที่สูง ไกลสุดล้าฟ้าเขียวจากเมือง


ฐานที่มั่นพคท.หลอมนักรบป่าเป็นแกนชาวบ้าน

“หลังปี 2517 เหมก ถือเป็นฐานสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ชาวบ้านที่นี่เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เข้าร่วม ส่งลูกหลานเข้าร่วม คอยให้ความช่วยเหลือ เป็นแนวร่วม พคท. เป็นฐานที่มั่นต้นๆ ของ พคท.บนเทือกเขาบรรทัดทีเดียว” อานนท์ ผู้ซึ่งเป็นอดีตทหารปลดแอก เล่า

อานนท์ สะท้อนสิ่งที่ตัวเขาและคนที่นี่ได้เรียนรู้ปัญหาสังคมจากพคท. ว่า หลังป่าแตกชาวบ้านที่เป็นมวลชนของ พคท.ก็กลับมาตั้งใจทำมาหากิน เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และพอมีหลักคิดที่เข้าใจการเมืองอยู่ระดับหนึ่งร่วมกันพัฒนาหมู่บ้าน ตำบล ดังนั้นแกนนำชาวบ้านหลักๆ ในปัจจุบัน คือคนที่ออกมาจากป่า ทั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำองค์กรชาวบ้าน


ปัญหาที่ดินรุงรัง ม็อบบนท้องถนน-สู้ช่องกฎหมาย

ร้อยละ 70 ของคนตำบลละมอมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ทับที่ถึง 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านละมอ บ้านคลองลำปริง บ้านทุ่งส้มป่อย บ้านวังหยี และบ้านกลาง อันหมายถึง ‘เหมก’ หรือบ้านสำนักหินปัก ที่มีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน และอยู่อาศัยด้วย

ที่สาธารณะประกาศทับที่ถึง 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านควนหนองเจาะ บ้านหนองยวน บ้านต้นเหรียง และบ้านหาญเพ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าคลองลำชานทับที่ถึง 7 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านละมอ บ้านควนเจาะ บ้านหนองยวน บ้านต้นเหรียง บ้านหาญเพ บ้านวังหยี และบ้านนาหาร

อานนท์ ย้อนอธิบายถึงต้นเหตุปัญหาเรื่องที่ดินของคนละมอ ว่า เกิดจากเมื่อปี 2525 รัฐประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ทับที่อยู่อาศัยที่ทำกินของชาวบ้านทั้งในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง โดยไม่ได้ลงสำรวจจริง ต่อมากลับกลายเป็นว่าชาวบ้าน คือจำเลยไปบุกรุกสร้างที่อยู่อาศัยที่ทำกินในเขตอุทยานฯ พอชาวบ้านโค่นยางพาราที่หมดสภาพเพื่อปลูกใหม่ก็ถูกข้อหาบุกรุก ถูกตรวจยึด ตัดฟันอาสิน มีปัญหาในการประกอบอาชีพโดนทั้งคดีอาญา ทั้งคดีแพ่ง

อานนท์  เล่าถึงกระบวนการต่อสู้เรื่องปัญหาที่ดินของคนละมอ คนเหมก ว่า เริ่มมาตั้งแต่ปี 2533 มีแกนนำชาวบ้านรวมกลุ่มกับผู้นำหมู่บ้านปรึกษากัน ต่อมาปี 2543 ซึ่งเป็นก้าวที่ 2 ที่สำคัญได้รวมตัวกับชาวบ้านจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง จำนวน 13 องค์กร ร่วมก่อตั้งเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดขึ้น ร่วมต่อสู้ในระดับประเทศกับ ‘สมัชชาคนจน’

“ต่อมาปี 2553 เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ได้เล็งเห็นช่องทางพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 ในการแก้ไขปัญหาที่ดิน และมีมติว่าให้สมาชิกเครือข่ายฯ ในแต่ละตำบลศึกษาเรียนรู้ ตำบลไหนพร้อมก็ร่วมก่อตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลในตำบลของตัวเองได้เลย โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลละมอถูกก่อตั้งเมื่อปี 2555 และถือว่าสามารถแก้ไขปัญหาที่ดินร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐไปได้ระดับหนึ่ง” อานนท์ ให้ภาพเส้นทางการต่อสู้

ฝันศูนย์ศึกษาภาษานานาชาติ สร้างโอกาสเด็กชนบท

ศูนย์ศึกษาภาษานานาชาติตำบลละมอ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ‘เหมก’ หรือสำนักหินปัก เป็นแนวคิดเบื้องต้นของอานนท์ เสนอผ่านสภาองค์กรชุมชนตำบลละมอ และเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ปัจจัยผลักคือความเป็นคนเหมก ที่เป็นหมู่บ้านทุรกันดารในหุบเขาห่างไกลความเจริญ

อานนท์ บอกถึงความคับแค้นว่า ในรอบ 50-60 ปีที่ผ่านมา คนเหมก หรือคนสำนักหินปัก ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีโรงเรียน จึงขาดโอกาสในการเล่าเรียน ต่อมาเมื่อกาลเวลาผ่านไปคนในหมู่บ้านได้มีโอกาสออกไปเล่าเรียนข้างนอก มีโอกาสเรียนจบสูงๆ และมีหน้าทีการงานดีๆ แต่ก็ยังถือว่าเป็นส่วนน้อยของคนเหมกอยู่

“ผมมองว่าคนเหมกไม่ได้โง่ แต่คนเหมกขาดโอกาส เข้าไม่ถึงโอกาสต่างหาก ปัจจุบันนี้เด็กจบป.6 แล้วก็เลิกเรียนเพราะความห่างไกลจากโรงเรียน และฐานะทางบ้านที่อัตคัด เด็กที่นี่น่าจะมีโอกาสมากกว่านี้”

อานนท์ สะท้อนความรู้สึกลึกๆ  และคิดว่า ปีนี้ 2558 เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยนขณะเดียวกัน ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ด้อยเรื่องภาษามาก อานนท์อยากพัฒนาเด็กในหมู่บ้าน และเด็กในตำบลได้เรียนภาษา

“จากประสบการณ์ที่ทำงานในขบวนการชาวบ้าน งานเพื่อสังคม ได้พบได้เห็นแนวคิดเบื้องต้นหลายๆ แนวคิด แนวคิดหนึ่งที่ได้เห็น คือ โรงเรียนร้อยหวันพันป่า ที่บ้านควรไม้บ้อง ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราชภายใต้การดูแลและแนวความคิดของนายสุรศักดิ์ เย็นทั่ว สมาคมอาสาสมัครนานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคม (ดาหลา) จึงมีอยากให้มีที่เหมกบ้าง”  อานนท์ บอกถึงที่มาของแนวคิดอยากเปิดศูนย์ศึกษาภาษานานาชาติ

เมื่อได้รู้จักและสัมพันธ์กับสมาคมอาสาสมัครนานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคม (ดาหลา) อานนท์จึงได้เล็งเห็นช่องทางที่จะขออาสาสมัครชาวต่างชาติเข้ามาสอนเด็กๆ ในศูนย์ศึกษาภาษานานาชาติ ‘เหมก’ หรือสำนักหินปัก จึงได้ชักชวนชาวบ้าน ผู้นำในหมู่บ้าน ผู้นำในตำบล รวมถึงสภาองค์กรชุมชนตำบลละมอ และเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดไปดูงานที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการพูดคุยสร้างความเข้าใจ สร้างความมั่นใจในการก่อสร้าง และพัฒนาศูนย์ศึกษาภาษานานาชาติ ‘เหมก’ หรือสำนักหินปักร่วมกัน

อานนท์ ตั้งใจว่า จะเปิดศูนย์ศึกษาภาษานานาชาติ ‘เหมก’ หรือสำนักหินปักอย่างเป็นทางการประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2558 นี้ จึงพยายามเร่งระดมทุน เร่งระดมแรงจากภาคส่วนต่างๆ ในการพัฒนาศูนย์ฯ ซึ่งนักศึกษาจาก ม.อ.ตรัง ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์แห่งนี้ เพราะที่ผ่านมาเคยมาจัดค่ายอาสาช่วยขุดดินปรับสภาพพื้นที่ครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเดือนมกราคม 2558 ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2

อานนท์ ตั้งใจว่า อยากจะปรับสภาพพื้นที่และก่อสร้างเป็นอาคารโรงอาหาร 1 หลัง อาคารบ้านพัก 4 หลัง ห้องน้ำ 3 หลัง อาคารที่ทำเป็นห้องสมุดและจัดนิทรรศการ 1 หลัง อาคารกองอำนวยการอีก 1 หลัง รวมถึงสร้างฝายแม้วและทำประปาภูเขาด้วย

ทว่าศูนย์ศึกษาภาษานานาชาติ ‘เหมก’ หรือสำนักหินปัก ยังขาดแคลนงบประมาณและทุนทรัพย์อยู่มาก ที่ผ่านมาได้ยืมเงินของเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด 5 หมื่นบาทเพื่อก่อสร้างและพัฒนาศูนย์ฯ ต่อมาได้รับงบประมาณหนุนเสริมจากโครงการวิจัยชุมชนของนักศึกษามหาวิทยาลัยทักษิณจำนวน 9 พันบาท รวมถึงการเปิดรับบริจาคจากชาวบ้านในชุมชน

“คาดว่าในอีกไม่นานคงต้องหางบประมาณ หาเงินทุนในการพัฒนาศูนย์ฯ ต่ออีกเยอะ ผมคิดไว้คร่าวๆ แล้วว่าอาจมีการจัดกิจกรรมเลี้ยงน้ำชาเพื่อระดมทุน” อานนท์ บอกถึงสภาพจำกัด ความต้องการ และแนวทางในการหางบประมาณมาพัฒนาศูนย์ ฯ


ฟัง ‘บทบาทของนักศึกษาในสังคมไทย’

ค่ำคืนวันที่ 3 เมษายน 2558 เกือบล่วงเข้าสู่ 19.15 น.ซึ่งเป็นช่วงปลายๆ เวลาละหมาดมัฆริบของนักศึกษามุสลิม กลุ่มนักศึกษา Sholar Of People ม.อ.ตรัง และทีมรุ่นพี่ที่ปรึกษา อย่าง กลุ่มแตกหน่อประชาธิปไตยประชาชน จึงรีบปล่อยนักศึกษามุสลิมเพื่อทำภารกิจละหมาดมัฆริบ-อีชา รวมถึงการอาบน้ำชำระร่างกายของนักศึกษาพุทธ-มุสลิม แล้วกินข้าวปลา อาหารร่วมกันภายใต้เต็นท์ที่จัดไว้เฉพาะ และเรียกนักศึกษาชาย หญิงมารวมตัวกันอีกครั้งบนตัวศาลาไม้ในเวลา 21.10 น.

จากนั้นก็เริ่มด้วยกิจกรรมละลายพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ จากนายศราวุธ จิตแหง และนายรัฐประชา พุฒนวล สลับการกีตาร์ร้องเพลงค่ายของ ‘ตู่ ลมเถื่อน’ ซึ่งทั้ง 3 มาจากกลุ่มแตกหน่อประชาธิปไตยประชาชน ก่อนเข้าสู่การบรรยายในหัวข้อ ‘บทบาทของนักศึกษาในสังคมไทย’ โดยนายสุชานนท์ สินธิทันยา ซึ่งอยู่ในกลุ่มแตกหน่อประชาธิปไตยประชาชน เช่นกัน

สุชานนท์  เริ่มบรรยายด้วยการเชื่อมโยงถึงการเกิดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึงเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของสยาม ที่ถือกำเนิดจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น ณ ตึกยาวข้างประตูพิมานชัยศรีในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ 2452

สุชานนท์  บรรยายตามด้วยการเกิดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ภายใต้การริเริ่มของ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์  ผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือนหลังการปฏิวัติสยาม 2475 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง 2476 ขึ้นเมื่อ17 มีนาคม และมีผลบังคับใช้เมื่อ 20 มีนาคม ในปีเดียวกัน

“คณะราษฎร เกิดจากกลุ่มนักศึกษาที่ไปเรียนยังต่างประเทศในทวีปยุโรป ที่เห็นปัญหาของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงทำการเปลี่ยนแปลงปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475” สุชานนท์ ย้ำให้เห็นว่าปฏิวัติสยาม 2475 ก็เกิดจากพลังนักศึกษา

แล้วสุชานนท์ ก็ข้ามไปยังการประท้วงของนักศึกษาต่อการเลือกตั้งสกปรกของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามในปี 2500 จนนำไปสู่การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 และทำให้ขบวนการนักศึกษาซบเซาตั้งแต่ 2501-2506 แล้วขบวนการนักศึกษาก็เริ่มก่อรูปขึ้นมาใหม่อีกครั้งในปี 2508 ได้จับกลุ่มทำกิจกรรมออกค่ายอาสาตามพื้นที่ชนบท กระทั่งปี 2516 ขบวนการนักศึกษาเติบโตและเบ่งบานเต็มที่ นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่นักศึกษามากกว่า 5 แสนคน เรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร

“ทว่าความเติบโตและเบ่งบานเต็มที่ของขบวนการนักศึกษาทำให้เกิดกลุ่มที่ต่อต้านขบวนการนักศึกษาด้วยวิธีการโจมตีให้ร้ายว่านักศึกษาเป็นพวกเป็นพวกหัวรุนแรง เป็นคอมมิวนิสต์ จนนำไปสู่การปราบปรามเข่นฆ่านักศึกษาครั้งใหญ่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทั้งที่นักศึกษาประท้วงการกลับประเทศของจอมพลถนอม ซึ่งถูกบีบให้ออกไปอยู่นอกประเทศตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516” สุชานนท์ สาธยายยุคเฟื่องฟูของขบวนการนักศึกษา ก่อนนำมาสู่การปราบปราม

สุชานนท์ อธิบายต่อว่า หลังการปราบปรามเข่นฆ่านักศึกษาเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาก็หนีตายเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หลังป่าแตก หรือการล่มสลายของพคท.หลังปี 2522-2525 นักศึกษาที่เคยเข้าป่าเหล่านั้นก็หลั่งไหลเข้าสู่งานองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ)

“เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่นักศึกษา ประชาชน เอ็นจีโอเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่รัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 จนวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ผู้นำทั้ง 2 ฝ่าย คือพลเอกสุจินดา และพลตรีจำลอง ศรีเมือง  โดยผู้ที่นำเข้าเฝ้าคือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ต่อมาพลเอกสุจินดา ก็ลาออกจากตำแหน่ง ตามด้วยมีการทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ ให้นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ รักษาการ  และมีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศเมื่อ 13 กันยายน 2535 พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงลำดับหนึ่ง และนายกฯ คนที่ 20  คือนายชวน หลีกภัย” สุชานนท์ บรรยายถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และบริบทต่อเนื่อง

ทว่าขณะที่สุชานนท์ บรรยายเกี่ยวกับ ‘บทบาทของนักศึกษาในสังคมไทย’ ถึง ณ ตอนนี้เวลาก็ปาเข้าไป 23.00 น. ทั้งนักศึกษา ทั้งรุ่นพี่ที่ปรึกษาก็ล้าและง่วงนอนมากแล้ว จึงตัดสินใจหยุดการบรรยายลง แล้วปล่อยให้ทุกคนแยกย้ายกันไปนอนพักผ่อน โดยผู้หญิงนอนบนศาลา ขณะที่ผู้ชายผูกเปล และกางเต็นท์นอน ส่วนใครที่อยากสนทนาต่อก็ตามอัธยาศัย ใครอยากล้อมวงกินเหล้าต่อก็แยกย้ายกันไปกินเป็นสัดเป็นส่วน

ใช้แรงงาน ขุด-ขน-ถมดิน ปรับสภาพพื้นที่

บรรยากาศยามเช้าวันที่ 4 เมษายน 2558 ของค่ายอาสาหลังเขาเป็นไปด้วยความเรียบง่าย นักศึกษามุสลิมตื่นแต่เช้ามืดเพื่อละหมาดซุบฮิ์ ก่อนปล่อยตัวอ้อยอิ่งเคล้าหมอกยามเช้า ทอดเท้าเดินบนดิน สัมผัสกอหญ้าที่มีน้ำค้างพร่างพรม เพื่อรอเพื่อนๆ ที่ทยอยตื่น แล้วก็ทยอยพากันไปอาบน้ำเย็นๆ ใสๆ ในลำธาร ลำห้วยขนาดเล็กซึ่งคดเคี้ยวผ่านราวป่า เขา ควน ผ่านบ้านชาวบ้าน ผ่านสวนยางพารา ก่อนไหลไปสู่เบื้องล่าง คือ แม่น้ำตรัง บ้างก็อาบน้ำในห้องน้ำที่บ้านของชาวบ้านใกล้ๆ ค่าย

ใครที่กลับมาแล้วก็แต่งเนื้อแต่งตัว นั่งล้อมวงสนทนาดื่มกาแฟกันไปพลางคุยกันอย่างออกอรรถรส ขณะเดียวกันภายใต้อาณาบริเวณเต็นท์ใหญ่ อาหารเช้า ถูกจัดเตรียมปรุงหุงหาโดยฝ่ายสวัสดิการ มีข้าว มีแกง พืชผัก น้ำท่า ล้างช้อน ถ้วย จานฯลฯ และต่อมาในเวลา 07.45 น. ก็กินอาหารเช้าร่วมกัน

กิจกรรมของค่ายอาสาเริ่มขึ้นอีกครั้งบนศาลาไม้ในเวลา 08.20 น. ด้วยกระบวนการละลายพฤติกรรมของแต่ละคน สลายกลุ่มเพื่อนสนิทดั้งเดิมที่ผูกติดกันมา โดยผ่านการเล่นเกม ร้องเพลงจนแบ่งกลุ่มได้ 3 กลุ่ม เพื่อแบ่งหน้าที่งานกันทำ โดยกลุ่มหนึ่งรับหน้าที่ขุดดินบริเวณที่จะปรับให้เป็นเวที และลานกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ภาษานานาชาติ อีกกลุ่มหนึ่งรับหน้าที่ขุดดินบริเวณที่จะปรับให้เป็นโรงอาหาร ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งรับหน้าที่ขนดินแล้วใส่ดินลงในกระสอบ แล้วแยกย้ายกันใช้แรงงาน ขุด ขน ถมดินในเวลา 09.30 น.

สองมือหนุ่มสาว 9-10  คน จับจอบจวกลงไปบนดินสันควนที่แข็งโป๊ก ดินที่สลับกับหิน ด้ามแล้วด้ามเล่าจน 2 มือแดงฉ่ำจนเป็นปุ่มน้ำใสๆ แสบร้อน ด้วยแรงเสียดสีและความที่ไม่เคยทำงานหนัก เหงื่อแตกพลั่กๆ เหงื่ออาบเสื้ออาบฮิญาบเปียกชุ่ม  ขณะที่หนุ่มสาวอีกชุดราว 15 คน ก็พาบุ้งกี๋ ถัง และกระสอบเย็บสอดลำไผ่ 2 ด้านสำหรับขน 2 คน พวกเขาและพวกเธอเที่ยวแล้วเที่ยวเล่านำดินใส่ในกระสอบปุ๋ยที่มีอีกกลุ่มประมาณ 6-7 คน คอยเปิดปากกระสอบใส่ดิน จากนั้นก็มีชาวบ้าน ‘เหมก’ คอยช่วยวางถมทับริมลำธารเพื่อกันเป็นคันสำหรับการทำฝายแม้ว ส่วนหนุ่มสาวอีกชุดซึ่งมีด้วยกันประมาณ 15 คน  แยกออกไปยังขุดสันควนอีกสันหนึ่งริมต้นไผ่หลังศาลาเพื่อปรับสภาพสำหรับสร้างให้เป็นโรงอาหารในอนาคต

คนไหนที่รับหน้าที่ขุดจนเหนื่อยหอบก็หยุดพัก สลับให้ชุดใหม่อีกชุดมาทำหน้าที่ขุด บางครั้งบางที่กลุ่มซึ่งขนดิน กลุ่มที่คอยเปิดปากกระสอบ หรือแม้แต่ฝ่ายสวัสดิการก็มาช่วยขุด ด้วยอยากลงแรกออกเหงื่อ คนไหนเหนื่อยก็พักดื่มน้ำแดงหวานๆ ที่ฝ่ายสวัสดิการจัดมาให้ ชงดื่มกาแฟซองที่เตรียมไว้ใกล้ๆกับหม้อต้มน้ำร้อน ผู้ชายบางส่วนก็ปลีกตัวสูบบุหรี่ พอพักไปสักชั่วครู่ก็ลุกขี้นจับจอม จับบุ้งกี๋ ถัง และกระสอบเย็บสอดลำไผ่ 2 ด้าน ฮึดลงแรงกันอีกรอบ ก่อนจะพักในเวลา 12.00 น. เพื่อกินข้าวกลางวัน และละหมาดดุฮิ์รี

บ่ายโมงครึ่ง ก็รวมตัวกันอีกครั้ง จับจอม จับบุ้งกี๋ ถัง และกระสอบเย็บสอดลำไผ่ 2 ด้าน ฮึดด้วยแรงงานหนุ่มสาวขุดจากสันควนสูงกลายเป็นที่ราบต่ำลงเรื่อยๆ เป็นเวที และลานกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ภาษานานาชาติเริ่มเป็นเค้าราง พื้นที่ที่จะสร้างโรงอาหารก็เช่นกัน ขณะที่ริมลำธารก็เต็มไปด้วยกระสอบบรรจุดินถมยาวเหยียด เมื่อหมดกระสอบใส่ดินสำหรับถมริมลำธารแล้วก็นำดินที่ขนไปถมยังที่ลุ่มๆ ให้เสมอกับพื้นดินโดยส่วนใหญ่ ระหว่างนั้นในเวลาบ่าย 3 โมงครึ่ง นักศึกษามุสลิมก็แยกตัวไปละหมาดอัศรี แล้วก็กลับมาช่วยงานต่อจนตกเย็น 17.30 น. ก็เลิก

ค่ำคืนนั้นมีการจัดกิจกรรมรอบกองไฟ มีการเล่นกีตาร์ร้องเพลงค่าย มีชาวบ้าน ‘เหมก’ นายอานนท์ ศรีเพ็ญ นายสมปอง บุญรอด นายสายัญ คงสมมาเล่าสภาพปัญหาที่ดิน ปัญหาชุมชน แนวทางในการต่อสู้ รวมถึงแนวคิดในการสร้างศูนย์ศึกษาภาษานานาชาติ มีนายสุรศักดิ์ เย็นทั่ว จากสมาคมอาสาสมัครนานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคม (ดาหลา) มาอ่านบทกวี และพูดถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ศูนย์ศึกษาภาษานานาชาติ ในการเจริญรอยตามโรงเรียนร้อยหวันพันป่า ในระหว่างนั้นนักศึกษามุสลิมก็แยกย้ายกันไปละหมาดมัฆริบ-อีกชากันตามอัธยาศัย

เวลา 20.30 น. เมื่อกินข้าวร่วมกันเสร็จ แล้วก็มาร่วมกิจกรรมรอบกองไฟกันต่อ มีการเชิญชวนนักศึกษาร่วมแสดงความรู้สึกของการมาค่ายครั้งนี้ โดยส่วนมากสะท้อนว่าการมาค่ายครั้งนี้ก็เพื่อหวังชั่วโมงกิจกรรม 18 ชั่วโมงเพื่อกู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.) เท่านั้น มหาวิทยาลัยบังคับว่าหากกู้เงิน กยศ.ต้องทำกิจกรรม 18 ชั่วโมงใน หนึ่งเทอม แต่พอมาสัมผัสบรรยากาศค่ายแล้วถึงแม้ว่าจะเหนื่อยมาก แต่ก็สนุก และเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพ แปลกใหม่จากค่ายเดิมๆ ที่เคยไปโดยไม่ได้เรียนรู้ปัญหาชาวบ้านจริง เรื่องเกี่ยวกับขบวนการนักศึกษาก็ไม่เคยได้เรียนรู้ และลงท้ายด้วยว่าถ้าหากมีค่ายหน้าจะมาอีก ฯลฯ หลังจากนั้นก็มีการนำมันและข้าวโพดหมกไฟกินกัน และเลิกจนดึกดื่น

5 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของค่ายท่ามกลางหุบเขาอันเหน็บหนาว นักศึกษามุสลิมตื่นแต่เช้ามืดเพื่อละหมาดซุบฮิ์ ส่วนคนอื่นๆ ที่ทยอยกันตื่นก็ล้อมวงน้ำชา กาแฟสนทนากันเพื่อรอสมทบกับคนที่ตื่นหลัง และคนที่ละหมาดเสร็จ  ส่วนฝ่ายสวัสดิการก็เตรียมอาหารเช้ากันอย่างขะมักเขม้นเพื่อบริการเพื่อนพ้องสมาชิกของค่าย ขณะที่บางกลุ่มทยอยกันไปอาบน้ำลำธาร ลำห้วย ใกล้ๆ ชายอาบน้ำอยู่คุ้งหนึ่ง หญิงก็เล่นตามอยู่คุ้งหนึ่ง หรืออาจจะเป็นห้องน้ำของบ้านชาวบ้านใกล้ๆ ครั้นเมื่อทุกคนอาบน้ำแต่งเนื้อแต่งตัวเสร็จก็มากินอาหารเช้าพร้อมกันในเวลา 08.00 น.

เดินสายเปิดหมวกออกค่าย บริจาคสบทบทุนสร้างศูนย์

เวลา 08.30 น. กิจกรรมของค่ายอาสาเริ่มขึ้นอีกครั้งบนศาลาไม้ ด้วยกระบวนการเล่นเกมละลายพฤติกรรม รวมถึงร้องเพลงค่าย ต่อมาก็ปล่อยใช้แรงงานให้ลงมือขุด ขนดินกันอีกครั้งในเวลา 09.30 น.  ก่อนพักเที่ยงในเวลา 12.30 น. อาบน้ำอาบท่า กินอาหารกลางวัน และละหมาดดุฮ์รี กระทั่งนักศึกษาถูกเรียกตัวมารวมตัวกันอีกครั้งบนศาลาไม้ในเวลา 14.10 น. เพื่อให้ทุกคน สะท้อน แสดงความรู้สึกของตัวเองจากการมาค่ายอาสา

จากนั้นก็มีการถ่ายรูปหมู่รวมกัน และบริจาคเงินที่พวกเขาและพวกเธอได้มาจากการเรี่ยไรเปิดรับบริจาคตามถนนคนเดิน ตลาดเซ็นเตอร์พอยท์ ฯลฯ ในตัวเมืองตรังเพื่อมาทำค่ายอาสา และสบทบทุนสร้างและพัฒนา ‘ศูนย์ศึกษาภาษานานาชาติ ม.9 ต.ละมอ อ.นาโยง จ.ตรัง’ จำนวนหนึ่ง

และกลับออกมาจาก ‘เหมก’ ในเวลา 15.50 น.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net